#Travelingintherain
ล่องแพยางกลางลำน้ำเข็ก สุดมันส์
Season Change At the Route 12
โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ
อนุสนธิจากผลการศึกษาวิจัยของรองศาสตราจารย์ ดร.จิรวัฒน์ พีระสันต์ แห่งมหาวิทยาลัยนเรศวร(มน.) จังหวัดพิษณุโลก โดยสำนักประสานงานการวิจัยและพัฒนาเชิงพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง สกว.ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ฤดูที่แตกต่าง บนเส้นทาง Route 12 (Season Change At the Route 12)
ครั้งนี้เป็นการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ “Traveling in the rain ท่องเที่ยวในฤดูฝน” เน้นจะจะเลยคือการล่องแพแม่น้ำเข็ก เลียบถนนสาย 12 ซึ่งเป็นหนึ่งใน 321 แหล่งท่องเที่ยวบนเส้นทางถนนสายพิษณุโลก-หล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ในงานนี้ได้มีการประกวดภาพยนตร์สั้นเพื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ด้วย
การเดินทางด้วยสายการบินนกแอร์จากสนามบินนานาชาติดอนเมืองมุ่งตรงสู่สนามบินนานาชาติพิษณุโลก ได้ความรู้สึกที่ตอกย้ำคำว่า “คนเหนือเมฆ” อย่างโบราณว่าจริงๆ ใครเลยจะไปคิดว่า มนุษย์จะศึกษาวิจัยและสร้างเครื่องบินให้โบยบินไปได้ในท้องนภากาศ อันเป็นมันสมองของมนุษย์เดินดินกินข้าวแกงอย่างเราๆนี่แหละ
ผมนึกถึงละครเรื่องเมฆขลาที่มาล่อแก้ว ควงลูกแก้วหลอกล่อรามสูรย์ เป็นฟ้าแลบและฟ้าร้อง ก็เลยคว้ากล้องถ่ายรูปมาถ่ายเมฆที่ผมเหาะเหิรเดินอากาศผ่านไปไว้ เพื่อใช้เป็นภาพประกอบแถมไปด้วย คนแก่คิดเยอะ
จากสนามบินรถตู้คณะปชส.โครงการได้พาไปชม “ตลาดใต้” ได้เดินเป็นพระยาน้อยชมตลาดไปอีกแล้ว ซึ่งในชีวิตที่ผันผ่านมายาวนาน ไม่ว่าจะไปทำงาน ณ ที่แห่งใดจังหวัดไหน ส่วนใหญ่ช่วงเช้ามืดก่อนอาหารเช้าผมก็ชอบไปเดินชมตลาดพื้นบ้านล้านถิ่นเสมอมา จัดมาคราวนี้ถูกใจยิ่งนัก จังหวัดพิษณุโลกยังเหลือตลาดใต้ให้ได้เดินชมพืชผักและวิถีชีวิตแบบบ้านๆ ชอบๆๆ
ผ่านตลาดจากศาลเจ้าแม่ทับทิม ได้เห็นแม่ค้าห่อกระทงใบตองใส่ดอกอัญชันสดสีม่วงน้ำเงิน และดอกอัญชันแห้งในถุงพลาสติกใส ได้ความว่า ใช้ชงชาด้วยน้ำร้อนดื่มแทนน้ำ เป็นสมุนไพรไล่ไขมันและน้ำตาลในหลอดเลือด ได้เห็นผักพื้นบ้านเช่นหนามปู่ย่ารสเปรี้ยวติดปลายลิ้นเมื่อนำไปใส่แกงแคไก่หรือลวกจิ้มน้ำพริก ฝรั่งเห็นยังกลัว คนไทยกินพืชมีหนามได้
แผ่นขนุนอ่อนฝานไว้น่ามอง แกงขนุนอ่อนหรือตำน้าพริกกะปิต้มขนุนอ่อนจิ้มอร่อย พอเหลือบไปเห็นน้ำเขียวๆใส่ถุงพลาสติกใสๆ ใช่เลยน้ำใบย่านางที่คั้นและกรองผ่านผ้าขาวบางแล้ว วันนี้น้ำใบย่านางเป็นน้ำดื่มสมุนไพรมีคุณค่าที่ได้รับความนิยม ไม่ใช่แค่ใช้ใบย่านางต้มตัดกรดยูริกกับหน่อไม้อย่างแต่ก่อนแล้ว อนาคตน้ำผักพื้นบ้านอาจบรรจุขวดขาย ไชโยๆๆ
ผมนี่เป็นจอมตากละ ได้เห็นกบเขียดวางขายก็ได้แต่นึกถึงรสชาติอาหารที่จะปรุงแต่ง ยิ่งเห็นเนื้อท้องปลาเทโพ โอยต้องใส่ผักบุ้งแม่น้ำแกงคั่ว อร่อยจนต้องคดข้าว(ตักข้าว)สองจานพูนๆ แต่ก็ได้แต่น้ำลายไหล เมื่อเดินไปเห็นพระสงฆ์บิณฑบาตกลางตลาด คิดถึงวลีหนึ่ง “เวลาเปลี่ยน คนเปลี่ยน” พระสงฆ์ท่านจึงขายตรงมารอบิณฑบาตกลางตลาด อำนวยความสะดวกให้ทั้งแม่ค้าใจบุญและแม่บ้านที่เดินซื้อหากับข้าวเข้าครัว นี่ไง Direct Delivery บุญ นะจ๊ะ
หลุดจากตลาด น้องพลอยและคณะพาไปนั่งโซ้ยต้มเลือดหมูกับข้าวสวยร้อนๆ ถูกใจอีก แถมด้วยหมูกรอบ หมูแดง มีให้เพิ่มเติมได้หลายอย่าง
พระพุทธชินราช
พระพุทธชินสีห์
อิ่มกันแล้วก็ได้เดินทางไปไหว้พระพุทธชินราชในวัดใหญ่ วัดพระศรีมหาธาตุวรวิหาร ซึ่งแต่ละคนก็ได้แต่บอกต่อๆกันว่า มาถึงพิษณุโลกแล้ว ไม่ไปกราบไหว้ท่านได้อย่างไร ทำใจไม่ได้เลย ต้องไป แต่ครั้งนี้ได้น้องทีมประชาสัมพันธ์ชวนเชิญให้เดินไปกราบไหว้พระพุทธชินสีห์อีกด้วย แถมยังได้ไปเดินชมพระพุทธรูปปางประทานพรที่ด้านหลังวัด ไหว้กันจนรอบวัดกันทีเดียว นับดูแล้วก็มีหลวงพ่อขาว หลวงพ่อดำ หลวงพ่อคง หลวงพ่อ......เพียบ
ตะวันส่องฟ้าแดดจัดจ้าเกินเวลาเช้าตรู่แล้ว จึงเดินไปหลบกันที่ใต้ร่มเงาต้นโพธิ์นั่งพักเหนื่อยและกดรูปที่ถ่ายมาดูกัน ไม่พอใจได้รูปไม่สวยก็รีบไปถ่ายใหม่ได้ ก่อนที่รถจะพาเคลื่อนขบวนไปท่องเที่ยวต่อ ที่วัดพระศรีมหาธาตุวรวิหารแห่งนี้ นอกจากมีร้านขายของฝากมากมายแล้วยังมีห้องสุขาให้ใช้บริการได้อย่างสบายใจ สะอาดจ้า บริจาคค่าดูแลกันนิดหน่อย
หลวงพ่อดำ
แหล่งท่องเที่ยวถัดไปเป็นตำนานของจ่าทวี บูรณเขตต์ ผู้รักการสะสมของพื้นบ้านเช่นตับปิ้งปกปิดอวัยวะเพศของเด็กหญิง เครื่องเชี่ยนหมากหลากหลายรูปแบบ เครื่องสังคโลก เครื่องมือทำมาหากินเช่นลันดักปลาไหล สุ่มจับปลาน้ำตื้น แร้วดักสัตว์ ซุ้มล่อนก กระชุดักเม่น เครื่องมือทำนาสารพัดชนิด เครื่องใช้ไม้สอบในชีวิตประจำวันเช่นกระต่ายขูดมะพร้าว
อาคารแต่ละหลังจัดวางวัสดุสิ่งของไว้อย่างเป็นระเบียบระบบ สามารถค้นหาหรือเดินชมได้ไปทีละอาคารๆ วัสดุสิ่งของที่จัดหามาได้อาจได้รับบริจาคหรือต้องซื้อหามาสะสมไว้ทีละชิ้นอย่างใจเย็น มีกระทั่งห้องพิพิธภัณฑ์ปลาพื้นบ้านเมืองสองแคว และจำหน่ายของที่ระลึกให้กับนักท่องเที่ยว จ่าทวีได้รับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จึงเรียกขานกันว่า ดร.จ่าทวีฯ
ออกจากแหล่งท่องเที่ยวที่เปรียบเสมือนเป็นแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมการอยู่การกินของพี่น้องแต่อดีตซึ่งแทบจะมองหาไม่เห็นเครื่องมือ วัสดุเช่นนั้นอีกแล้ว เหมือนเป็นโบราณวัตถุ เหมือนเป็นร่องรอยอารยะธรรม วัฒนธรรมการกินการอยู่ หรือเป็นภูมิปัญญาของชนเผ่า ความสามารถในการถักทอผ้าไหม ผ้าฝ้าย เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องใช้
บ่าย 3 โมงเย็น ณ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิร์ลด จังหวัดพิษณุโลก ชั้นล่าง เวที Saeson Change At Route 12 “Traveling In The Rain” รศ.ดร.เสมอ ถาน้อย ผู้ประสานงานสำนักงานการวิจัยและพัฒนาเชิงพื้นที่ ภาคเหนือ ตอนล่าง (สกว.) ได้กล่าวรายงานแก่รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก นายวิทูรัช ศรีนาม ประธานในพิธีเปิดการประกวดภาพยนตร์สั้นเพื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ Saeson Change At Route 12 “Traveling In The Rain” โดยมีรศ.ดร.จิรวัฒน์ พีระสันต์ เป็นหัวหน้าทีมงานศึกษาวิจัย
หลังจากนั้นได้มีการฉายภาพยนตร์สั้น 21 เรื่อง โดยมีคณะกรรมการพิจารณาให้คะแนน และมีการลงทะเบียนผู้เข้าร่วมงานจำนวน 50 รายให้เป็นผู้ร่วมโหวดครั้งนี้ด้วย ผลปรากฎว่ามีผู้ได้รางวัลที่1 ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท รองชนะเลิศได้ 30,000 บาท และรางวัลที่ 3 ได้เงินรางวัล 20,000บาท สร้างความแปลกใหม่ให้กับจังหวัดพิษณุโลกเป็นอย่างมาก
นพ.สุวิทย์ เกียรติเสวีและรศ.ดร.เสมอ ถาน้อย
ทั้งนี้มีสื่อมวลชนจากส่วนกลางที่เข้าร่วมเป็นสักขีพยานดังนี้คือ นพ.สุวิทย์ เกียรติเสวี นสพ.เดลินิวส์ รายวัน คอลัมม์มองคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม วันอาทิตย์ นายสุเทพ พวงมะโหด นสพ.สยามดารารายวัน นายศักดา สุวรรณศรีไพศาล www.idotraveller.com นายเจษฎาภิวัฒน์ ศศิธร นิตยสาร world express รายการทีวีช่อง mono 29 นายสมบัติ ศรีนา เจ้าของรายการคนผ่านทาง ทีวีดาวเทียมช่องIPM 95 และนายธงชัย เปาอินทร์ www.thongthailand.com รวม 8 สื่อ
ค่ำนี้ งานจบลงด้วยดี ได้ภาพยนตร์สั้นโฆษณา Saeson Change At Route 12 “Traveling In The Rain” 3 ชิ้นที่จะใช้ประชาสัมพันธ์ ต่อไป
เช้าตรู่ ทุกคนไปรวมตัวกันที่ วนาธารรีสอร์ท เพื่อเตรียมล่องแพยางกลางลำน้ำเข็ก ความแรงระดับ 4-5 ว่ากันว่าแม้จะล่องแพยางได้เพียงปีละ 2 เดือน แต่เป็น 2 เดือนที่เร้าใจอย่างโหด ว่างั้นเถอะ เป็นการรวมมวลชนจำนวนมากถึง 25 ลำแพ แล้วต้อแห่กันขึ้นไปเหนือรีสอร์ทแห่งนี้อีก ไกล พนักงานแพยางช่วยซักซ้อมความเข้าใจนักล่องแก่ง
พร้อมด้วยชุดเสื้อชูชีพ ผูกรัดถูกต้องได้มาตรฐาน นักท่องเที่ยวที่จะล่องแพตื่นเต้นอย่างเห็นได้ชัด พลังมวลชนคนหนุ่มสาวเหล่านี้ใบหน้าสดใส รู้สึกได้ว่ามีความสุขสนุกสนานเบิกบานใจ แต่สำหรับคนแก่อย่างพวกเราสื่อมวลชนคนอยากได้ภาพถ่ายไปใช้งานรู้สึกเกร็งๆ กลัวๆ ตกลงใจว่าจะไปดักรอที่ผานางคอยเพื่อถ่ายรูป ก็โอเค
แพยางล่องมาตามลำน้ำเข็กสีขุ่นๆ นายท้ายและหัวเรือตั้งท่าเตรียมพร้อม นักท่องเที่ยวเกร็งแต่ก็รู้สึกได้ว่าน่าจะสนุก ได้เห็นรอยยิ้ม หัวเราะร่าเริง และพร้อมผจญภัย เป็นอีกมิติหนึ่งในการท่องเที่ยวหน้าฝนของ Route 12 เป็นไฮไลท์ของปีหนึ่งมีเพียง 2 เดือนเท่านั้นที่สามารถล่องได้อย่างสนุกสนาน
รีบเลยนะครับ ถ้าอยากสนุกแบบสุดๆ ต้องไปที่การล่องแพแม่น้ำเข็ก ปีหนึ่งล่องได้แค่ 2 เดือน โปรดจดจำให้แม่น
ล่องแพยางน้ำเข็กมันสุดๆ