http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 07/08/2024
สถิติผู้เข้าชม14,331,321
Page Views16,660,746
« October 2024»
SMTWTFS
  12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031  
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

ทริปเที่ยวทำบุญกับมูลนิธิเฮียะ เปาอินทร์

ทริปเที่ยวทำบุญกับมูลนิธิเฮียะ เปาอินทร์

ทริป เที่ยวทำบุญ

กับมูลนิธิเฮียะ เปาอินทร์

โดย อินทรี ดำ เรื่อง-ภาพ-ธงชัย เปาอินทร์

ปณิธานที่หาญมุ่ง ด้วยเศษเงินติดกระเป๋า

             ผมเป็นคนที่มีเงินน้อย แต่ด้วยปณิธานที่หาญมุ่ง หมายผดุงอุดมการณ์ของมูลนิธิเฮียะ เปาอินทร์ ซึ่งตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือผู้สูงอายุตามระเบียบของมูลนิธิ แก่คนชราอายุเกินกว่า 60 ปีขึ้นไปจนถึงวันสิ้นอายุไข  สิ้นใจแล้วก็จ่ายเป็นค่าทำศพให้เรียบร้อย และสมาชิกของมูลนิธิที่ทุพพลภาพ ทุกปี  ผมใช้วิธีหยอดเศษเงินติดกระเป๋าทุกวันตั้งแต่ 1 บาทขึ้นไปจนถึง 100 บาท เกินกว่านั้นผมไม่หยอด เดี๋ยวไม่มีจะกิน


              ทุกเดือนธันวาคมของทุกปี ผมเปิดตู้นับเศษเงินที่สะสมบุญเอาไว้ไปทำทาน ปีนี้ผมนับได้ถึง 4,970 บาท ผมหอบเงินเหรียญไปไล่แลกให้กับพ่อค้าแม่ค้าที่รู้จักกัน เอาไว้ใช้ทอนลูกค้า แล้วนับเงินแบงค์มาแทน เพื่อสะดวกในการพกพาไปร่วมทำบุญ ประธานกรรมการมูลนิธิ นายช่วงชัย เปาอินทร์ แจ้งว่า จะเดินทางไปประชุมสามัญกรรมการมูลนิธิในวันที่ 14-17 ธันวาคม 2558 ที่สำนักงานมูลนิธิในหุบเขาห้วยสามสบ อ.นาน้อย จ.น่าน


เพื่อนร่วมทางบุญ แม้ไม่มากแต่เงินฝากก็เยอะ

              ถึงวันเดินทาง ประธานมูลนิธิฯแจ้งว่าติดภารกิจสำคัญเนื่องจากได้รับโปรดเกล้าให้เป็นผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชนและคดีเด็กจังหวัดอ่างทอง ต้องไปอบรมและถวายสัตย์ปฏิญาณ เหลือแต่คณะกรรมการสิรี เปาอินทร์ เลขานุการ ธงชัย เปาอินทร์ และญาติที่เมตตา พี่เจริญ โทนุรักษ์  พี่วิชัย เคารพ พี่วิไล และญาติๆ เต็มรถตู้ 1 คัน พอดี

              ก็บอกแล้ว แม้คนไปน้อยแต่เงินฝากเยอะ ที่จำได้ก็เช่น นพ.สุวิทย์ เกียรติเสวี          รศ.บำรุง ตันติเสวี  นายห้างประสิทธิ์ วงศ์ชนะชัย  ประธานกรรมการฯ ช่วงชัย เปาอินทร์ เข็มชาติ เปาอินทร์ ต่อสุข เปาอินทร์ ปัทมิกา เปาอินทร์  ทิฆัมพร บันลือหาญ   มณี บันลือหาญ  ทับทิม เปาอินทร์ สมศักดิ์ ตันติรักษาชัย  เรียม รัชพงษ์ไทย  ประเทือง เดชคง  วิชัย เคารพ และญาติมิตรรวมกันแล้วได้ผู้บริจาคเป็นเงินถึง 47,970 บาท คนชราธงชัย เปาอินทร์บริจาคเพิ่มอีก 2,160 บาท รวมเป็น 50,130 บาท ก็โอเคนะ

ค่ำคืนในหุบเขาเฝ้าดูดาวตก แต่ว้า...ผิดหวัง

              เดินทางด้วยรถตู้เหมาตลอดทริป ถึงที่หมายสำนักงานบ้านพัก มูลนิธิเฮียะ เปาอินทร์ หลังอาหารค่ำ พวกเราเฝ้ารอดูดาวตก ตามที่สื่อออนไลน์และสื่อสารมวลชนโปรโมทข่าวกันเต็มที่ แต่แล้วก็ได้แต่กินแห้ว ไม่เห็นดาวตกชั่วโมงละ 140 ดวง อย่างหวัง ผมตั้งกล้องเก้อจนเขิน แต่ถึงอย่างไรก็ดี พวกเราก็ได้นั่งกลางแจ้งหน้าที่ทำการ ตากอากาศเย็นๆสบายๆ

              คืนนั้น ไม่เห็นแสงเดือน แต่ได้เห็นดาวเต็มท้องฟ้า อากาศไม่หนาวเย็นเกินไป จึงสามารถนั่งพูดคุยกันไปตามประสาคนชรา  หยอกเย้ากันบ้าง ถกถียงกันบ้าง นินทาหมอหยองหมอที่ดังแต่ไม่ได้ดูดวงตัวเองมั่ง หมดมุกก็ล้อกันเล่นให้เห็นขำจากเรื่องราวในอดีตของแต่ละคน ก็ได้บรรยากาศพื้นๆที่ไม่เคร่งเครียดและรู้สึกมีความสุขกันทั่วหน้า

              ได้เห็นพี่เจริญหัวเราะก็แฮปปี้แล้วนะ


เช้ามืดตื่นไปชมทะเลหมอกที่ดอยเสมอดาว

               หัวหน้าสมพล จินดาคำ หน่วยจัดการต้นน้ำห้วยสามสบ มาปลุกผมที่บ้านชมรมคุณเหี่ยว วน.15 ผมรีบคว้ากล้องถ่ายรูปแล้วเดินตามไปขึ้นรถ ทุกคนรออยู่พร้อมหน้า เสียงแซว

               “ตาแก่ช้าอยู่คนเดียว” เสียงหัวเราะเยาะเย้ยดังกันลั่นสนั่นรถตู้


               ด้วยการประสานงานของหัวหน้าสมพล รถตู้จอดได้แค่ปากทางเข้าดอยเสมอดาว เนื่องจากทั้งนักท่องเที่ยวที่นอนเต็นท์ และที่ขับรถขึ้นมาจากรีสอร์ทเชิงดอย หนาแน่น ที่จอดรถไม่พอเพียง จึงต้องเดินกันเข้าไปให้ถึงดอยเสมอดาว (บ้านทาร์ซาน-ดอยเสมอดาว 26 กม.ใช้เวลาเดินทาง 25 นาที)


               ผมตัดสินใจไม่เดินตามไป แต่แวะถ่ายรูปทะเลหมอกจากศาลาแปดเหลี่ยมข้างทาง ได้ภาพตามที่เห็นนี่แหละครับ

                ปีพ.ศ.2521 ผมมาเป็นหัวหน้าหน่วยปรับปรุงต้นน้ำห้วยสามสบ รับผิดชอบแค่พื้นที่ลุ่มน้ำห้วยสามสบ 62,500 ไร่ ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 300-1,100 เมตรแต่ด้วยความคิดกว้างไกล ประกอบกับผมชอบท่องเที่ยวจึงได้ขึ้นมาเที่ยวที่ผาชู้ ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 700-1,200 เมตร จุดที่ผาชู้ราวๆ 700-900 เมตร และลงไปนอนแช่น้ำเย็นๆที่แก่งหลวง ผ่านไร่ข้าวโพดบนขุนเขาเพียบ


               ผมเสนอขอจัดตั้งหน่วยย่อยที่ผาชู้ ให้คุณประสิทธิ์ พัฒนใหญ่ยิ่ง ผู้ช่วยหัวหน้าหน่วยฯขึ้นมาเป็นหัวหน้าหน่วยย่อยน้ำกาด เพื่อยึดพื้นที่ไร่ข้าวโพดคืนมาปลูกป่าต้นน้ำ แต่กว่าจะยึดคืนได้ คุณประสิทธิ์ก็ถูกวางยาด้วยสลอดใส่น้ำประปาภูเขาท้องไส้ปั่นป่วนขี้ไหลไปหลายวัน


                ต่อมาอธิบดีกรมป่าไม้ นายผ่อง เล่งอี้ เดินทางมาตรวจเยี่ยมและบันทึกภาพยนตร์เรื่อง”คืนป่าสู่แผ่นดิน” บันทึกสั่งการให้ตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติศรีน่าน(ผาชู้) คุณสมบัติ เวียงคำ เป็นหัวหน้าอุทยานฯคนแรก และพัฒนาไร่ข้าวโพดเป็น “ดอยเสมอดาว”จุดกางเต็นท์และดูทะเลหมอกยอดฮิตตราบทุกวันนี้


ตะวันขึ้นแล้ว จึงลงไปดื่มกาแฟ “บ้านทาร์ซาน”

                ริมถนนเจ้าฟ้าหน้าบ้านทาร์ซานบนต้นมะค่ายักษ์ มีร้านกาแฟร้อนเปิดให้บริการ คณะลงไปนั่งในเรือนแพลอยน้ำแล้วสั่งกาแฟร้อนบ้าง กาแฟเย็นบ้าง แม้แต่ชาเขียวเย็นก็มีให้ดื่มได้ แต่เนื่องจากสั่งจองข้าวต้มเครื่องไว้ด้วย จึงนั่งกินกันที่นี้ไปเสียคราวเดียว ได้เห็นการพัฒนาบ้านทาร์ซานและร้านกาแฟควบคู่กันไปแล้วอดชื่นชมหัวหน้าสมพลไม่ได้เลย เยี่ยมๆ


                 อิ่มหนำสำราญกันแล้วก็เดินข้ามสะพานไม้ไผ่ไปชมบนบ้านทาร์ซานบนต้นมะค่าโมงยักษ์ เป็นบ้านขนาดเล็กๆมีหนึ่งห้องนอนนอนได้ 2-3 คน กางมุ้งให้นอนดื่มด่ำกับบรรยากาศทะโมนไพร ปลอดภัยด้วยความแข็งแรงและมีห้องสุขาให้ใช้บริการด้วย  เป็นความตั้งใจของหัวหน้าสมพลที่มานะพัฒนาจนสวยงามและเป็นธรรมชาติมากๆ


                แซม ยุรนันท์ ภมรมนตรี กับวรรณิสา ศรีวิเชียร        เคยมาถ่ายหนังบทโรแมนติกบนบ้านทาร์ซาน “ปรารถนาแห่งหัวใจ”ของพิศาล อัครเศรณี เป็นความทรงจำของชาวบ้านกิตตินันท์ที่ได้เคยเห็นและสัมผัสจริง บ้านทาร์ซานทำให้นักเดินทางผ่านไปมาหยุดชมและขึ้นมาถ่ายภาพเป็นที่ระลึกตั้งแต่ปีพ.ศ.2525  เมื่อบ้านสร้างแล้วเสร็จ วันนี้ ยังมีเสน่ห์อยู่เสมอ


ถวายสังฆทานพระมหาเปรียญสี่ประโยคอยู่เอกาฉันเอกา

                กำหนดการนำเที่ยวทำบุญกับมูลนิธิเฮียะ เปาอินทร์ นำพาให้คณะผู้มีจิตเมตตาได้ไปร่วมทำถวายสังฆทานที่วัดกิตตินันท์วนาราม บนดอยลูกเตี้ยๆหลังหมู่บ้าน ท่านเป็นพระสงฆ์ที่อยู่เอกาและฉันเอกามานานถึง 30 ปีแล้ว การเดินทางขึ้นไปไม่ยาก ด้วยว่ารถยนต์ตู้เหมาจ่ายขึ้นไปได้ถึงศาลาวัดทรงไทยแฝด


                 หลังการถวายและรับพรจนอิ่มบุญทั่วหน้าแล้ว  ก็เดินทางกลับไปยังบ้านพักสำนักงานมูลนิธิกลางหุบเขา ทำธุรกิจส่วนตัวเรียบร้อย พักผ่อนตามอัธยาศัย อากาศยามเช้ายังมีหมอกลอยอ้อยอิ่งให้เห็นจางๆ แดดเช้าสาดส่องลงมาเพิ่มแสงสว่าง บ้านเรือนของชาวเหนือเรียบง่าย มีเสียงไก่ขานขันให้ได้ยินมาแต่ไกล  กระรอกกระแตไต่ไปตามกิ่งไม้เบื้องหน้า

                น้ำในสระกลางหมู่บ้านนิ่งสนิท อากาศไม่หนาวจัดจึงไม่มีไอหมอกลอยขึ้นจากผิวน้ำ  


การประชุมสามัญประจำปีกรรมการมูลนิธิเริ่มขึ้น

                คณะกรรมการมูลนิธิเฮียะเปาอินทร์ทยอยกันเดินมา ผู้ใหญ่บ้านทองชั้น ธิเขียว เจตน์ ก่ำบุญ รอด ทาอิน อเนก จันเป็ง หัวหน้าสมพล จินดาคำ  สิรี เปาอินทร์ ประสิทธิ์ พัฒนใหญ่ยิ่ง เหรัญญิก ธีรภาพ พัฒนใหญ่ยิ่ง(แทนเธียรทอง พัฒนใหญ่ยิ่ง ผู้ช่วยเหรัญญิก)  และธงชัย เปาอินทร์ เลขานุการ ทำหน้าที่แทนประธานการประชุม 


                สรุปการประชุมดังนี้คือ ประธานแจ้งให้ทราบว่า ประธานกรรมการมูลนิธิ ช่วงชัย เปาอินทร์ ได้รับโปรดเกล้าให้เป็นผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชนและคดีเด็ก จังหวัดอ่างทอง ต้องเข้ารายงานตัวและถวายสัตย์ปฏิญาณ ไม่สามารถเดินทางมาร่วมประชุมได้


                รายได้ของมูลนิธิ ประจำปี 2558 คือ

                1.ดอกเบี้ยเงินฝากของมูลนิธิฯ 27,500 บาท  การบริจาครวม  47,970 บาท  คนชราธงชัย บริจาค 2,160 บาท  รวมรายได้เงินบริจาค 50,130 บาท ค่าบำรุงของสมาชิก   16,200 บาท  รวมรายได้ทั้งสิ้น 93,830 บาท ผ้าขนหนู 24 ผืน ผ้าถุงสตรี 10 ผืน

                2.รายจ่ายของมูลนิธิ เพื่อผู้สูงอายุ จำนวน 34 ราย เสียชีวิต 1 ราย เป็นเงินรวม 69,290 บาท ได้มอบให้กรรมการและเหรัญญิก รับมอบไปแจกจ่ายต่อไป


                 3.เหลือเงินสมทบเข้ามูลนิธิจำนวน 24,540 บาท ให้นายธงชัยนำเข้าบัญชีสหกรณ์ออมทรัพย์กรมป่าไม้เลขที่0201006247 ซึ่งมีเงินทุนอยู่ 709,936.60 บาท รวมเป็นเงิน 734,478.60 บาท

                4.รายละเอียดการบริจาครอรายงานจากกรรมการและเหรัญญิก สรุป หลังจากนั้นได้ถ่ายรูปร่วมกัน  แล้วรับประทานอาหารเที่ยง ขนมจีนแกงเขียวหวานหมู เจ้าเก่า

                ในนามกรรมการมูลนิธิเฮียะ เปาอินทร์ ขอกราบขอบพระคุณทุกท่านที่เมตตาบริจาคเงินและสิ่งของสมทบให้กับผู้สูงอายุ


ขุนสถาน วิมาณชั้นฟ้า

                จากหุบเขาห้วยสามสบ สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 350 เมตร รถตู้ไต่ขึ้นเขาไปจนถึงอุทยานแห่งชาติขุนสถาน สูงจากระดับน้ำทะเล 1345 เมตร รถตู้ไต่ไปตามไหล่เขา ได้แวะชมสินค้าพื้นเมืองของชาวเขาเผ่าม้ง บางคนซื้อบัวหิมะ บางคนซื้อมะเขือเทศ บางคนซื้อสตรอเบอรี่ แต่ผมชิมและชมพร้อมกับถ่ายรูปไปด้วย ได้ภาพท้องฟ้าสีสวยๆของขุนสถานมาฝาก และได้ภาพที่พวกเราต้องเดินขึ้นสถานีวิจัยขุนสถานเพราะว่าทางกำลังราดยาง พี่สาวผมอายุ 71และ75 เดินกันตัวปลิว  โดยมีหมาดำนำหน้า แต่มีทองดำเดินตามหลัง อ้วนจนเดินขึ้นไม่ไหว ในที่สุดหัวหน้าสถานีกรุณาส่งรถมอเตอร์ไซต์ลงมารับขึ้นไป 


                คืนนี้ อากาศหนาวเย็นลงกว่าคืนวานนี้ เพราะว่าอยู่บนเขาสูง แต่ก็ไม่เท่าเมื่อปีพ.ศ.2557 ซึ่งหนาวลงไปจนถึง 6-7 องศาซี หนีเข้าห้องนอนกันเกลี้ยงหลังอาหารค่ำ และยิ่งเดือนมกราคมด้วยแล้วดอกนางพญาเสือโคร่งบานสะพรั่ง สวยไปทั่วด้วยสีชมพูแสนหวาน แต่เมื่อมาไวไปดอกนางพญาเสือโคร่งไม่บาน แค่ตูมๆ ก็เลยไม่สวยเท่าปีที่ผ่านมา  การท่องเที่ยวจึงขึ้นอยู่กับช่วงเวลาด้วยเหมือนกัน

 

                    แต่ เจเจ ธีรภาพ พัฒนใหญ่ยิ่ง บัณฑิตมหาวิทยาลัยพะเยา เหนื่อยที่สุดเพราะต้องแบกเสบียงอาหารค่ำจากห้วยสามสบมาส่งจนถึงยอดดอยขุนสถาน  หนุ่มหน้าใสใจรักการบริการคนนี้ ถูกป้าๆแย่งรักกันไปหมด บ่นเสียดายที่มีแต่ลูกชายเหมือนกัน อยากได้เป็นลูกเขย 5555


หนาวจนดื่มกาแฟร้อนกันทุกคน

คนเกิดปีขาลต้องไปไหว้พระธาตุช่อแฮ จ.แพร่

                ประธานกรรมการฯช่วงชัย เปาอินทร์ เกิดปีขาล แค่ออกปากว่าจะมาประชุมมูลนิธิประจำปี 2558 และจะไปไหว้พระธาตุช่อแฮและพระเจ้าทันใจ ก็ได้ผลบุญทันใจได้รับโปรดเกล้าให้เป็นผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชนและคดีเด็กจังหวัดอ่างทอง เที่ยวทำบุญจึงได้เดินทางไปกราบไหว้ตามกำหนดการ อิ่มบุญอิ่มวาสนากันไปทั่วหน้า


พี่เจริญ โทนุรักษ์ 75 ปีแค่นั้น

รูดการ์ดทำบุญก็ได้เน้อ

                แต่ปีนี้พิเศษกำหนดการได้เพิ่มให้ไปชม “คุ้มเจ้าหลวง”  อันเป็นวังของเจ้าผู้ครองนครแพร่องค์สุดท้าย ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองภายใต้สยามประเทศ ที่ประทับใจมากคือได้ไปเห็นวัฒนธรรม ประเพณี ของเจ้าฝ่ายเหนือ ซึ่งแตกต่างไปจากเจ้าฝ่ายใต้ สำหรับผมแล้วอยากไปชมเพราะว่า “ผู้ชนะสิบทิศ” อมตะนวนิยายขายดีนิรันดรกาลนั้นแต่งโดยหลานปู่ของเจ้าผู้ครองนครแพร่  “ยาขอบ” หรือ นายโชติ แพร่พันธุ์ หรือนามจริง เจ้าอินทรเดช เทพนคร


อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย อดีตแห่งความรุ่งเรือง

                  เดิมชื่อเมืองเชลียงตั้งอยู่บริเวณแก่งหลวง ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองศรีสัชนาลัย ประกาศเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลศรีสัชนาลัย  ตำบลสารจิตร ตำบลหนองอ้อ ตำบลท่าชัย ส่วนตัวเมืองโบราณศรีสัชนาลัยอยู่ในเขตหมู่บ้านพระปรางค์ ตำบลศรีสัชนาลัย มีพื้นที่ทั้งหมดประณ 45.14 ตารางกิโลเมตร ในสมัยกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงขึ้นครองกรุงสุโขทัย และได้สร้างเมืองขึ้นใหม่เป็นศูนย์กลางการปกครองแทนเมืองเชลียง


                อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย มีโบราณสถาน และโบราณวัตถุทั้งหมด 215 แห่ง สำรวจค้นพบแล้ว 204 แห่ง 

                อุทยานฯ เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 - 17.00 น. อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 40  บาท หรือสามารถซื้อตั๋วรวมได้ ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 150 บาท ในกรณีที่นำยานพาหนะเข้าภายในเขตอุทยานฯ เสียค่าธรรมเนียมอีก ราคา 10 - 50 บาท  


                บริการรถรางนำชมโบราณสถานทั่วบริเวณ ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 30 บาท  แต่พวกเราเข้าไปด้านหลังอุทยานฯ ประตูด้านวัดนางพญา ต้องเหมารถรางนำเที่ยว 300 บาท โดยพนักงานได้ขับนำไปให้ถ่ายรูปที่วัดช้างล้อม  วัดเจดีย์เจ็ดแถว และวัดนางพญา เพียง 3 จุด ก็ส่งลงที่ประตูตอนขึ้นรถ 


จุดแรกวัดช้างล้อม

จุดสองวัดเจดีย์เจ็ดแถว

จุดสามวัดนางพญา

                หากนักท่องเที่ยวที่ต้องการขอวิทยากรนำชม หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย  อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย  64130 โทร. 0 - 5567 – 9211พลาดไปเสียแล้ว เลยได้ภาพมา 3 จุดที่เห็นนี่แหละ       


ภาพที่สี่ผนังสวยวัดนางพญา

               การเดินทางด้วยรถยนต์จำสั้นๆว่า อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยห่างจากอำเภอศรีสัชนาลัย 11 กม. ห่างจากกรุงเทพมหานคร 550 กม.ถนนสายกรุงเทพ-พิษณุโลก-สุโขทัย-สวรรคโลก-ศรีสัชนาลัย  สบายใจกว่า และโปรดเข้าด้านหน้าของอุทยานฯ อย่าไปเข้าด้านหลังเด้อ จะถูกต้มอย่างเราโดนกัน 3 จุด 300 บาท 5555             

               เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2534 อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย พร้อมด้วย อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ได้รับเกียรติให้ลงทะเบียนเป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโก ภายใต้ชื่อว่า"เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร" (Historic Town of Sukhothai and Associated Historic Towns)


ผิดหวัง ไม่ได้เข้าไปถ่ายแสงสีน้ำเงินวัดพระมหาธาตุ

                เช้าตรู่พี่โอ๊คปลุกแต่ตีห้า  ผมคาดหวังว่าจะเดินเข้าไปถ่ายรูปแสงสีน้ำเงินวัดพระมหาธาตุ แต่ผิดหวังด้วยว่าอุทยานฯเปิด 08.00 น.

                จึงเดินไปชมตลาดวัดตระพังทอง ได้เห็นสภาพตลาดสดใหม่ยามเช้า แต่เป็นอาหารหวานคาวอย่างสมัยวันนี้ เหลือขนมเพียงไม่กี่ชนิดที่เป็นของเก่า

                สิ่งที่ผมมองหาคือร้านกาแฟแบบบ้านๆทั่วไป ไม่อยากนั่งห้องแอร์หรู ไม่อยากแดก เอ้ย ดื่มกาแฟร้อนยี่ห้อดังๆ แพงๆ แต่อยากกินกาแฟโอวยั๊วธรรมดาๆ กับปลาท่องโก๋


                ตลาดสดไหนในประเทศไทยไม่มีร้านกาแฟยามเช้า เชยตายเลย  เดินจนไปเจอเข้าจนได้

                “โอวยั๊ว ปาท่องโก๋” ผมสั่งแล้วเดินไปหาที่นั่งกับพี่โอ๊คเพื่อนร่วมเดินทาง

                แม้ค้าสาวสุโขทัยขายอาหารถุงแทนที่จะใส่กาละมังตักขาย หนุ่มพุงยื่นยืนตักกับข้าวจากหม้อใส่ถุงขายสดๆ หน้าตาดีทั้งชายและหญิง


                “แฟนกันเหรอ” ผมถามหนุ่ม เขาส่ายหน้าแทนคำตอบ

                “เมียชาวบ้าน” แล้วหลบตาลง ผมเดินหนีไปตามทาง เชอะ หาสาวโสดๆ หามีไม่

อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย มรดกโลกเลื่องชื่อ

                  ขบวนกรรมการมูลนิธิเฮียะ เปาอินทร์ กินอาหารเช้าตามมีตามเกิด ได้ที่ร้านตาแป๊ะริมถนนหน้าอุทยานฯ พร้อมแล้วก็เดินไปขึ้นรถตู้ มุ่งหน้าไปซื้อบัตรเข้าไปชม

                 ไปกันทั้งหมด  8 คน แต่เสียค่าบัตร 1 ใบ เพราะอายุไม่ถึง 60 เพียงคนเดียว  30บาทและค่ารถตู้เข้าชมอีก 50 บาท สบายไปอีกแบบหนึ่ง ไม่ต้องพึ่งรถลากที่มีไกด์นำทาง


                 “จุดแรกที่ไปจอดให้ปีนขึ้นไปถ่ายรูปคือวัดพระมหาธาตุครับ” ผมตะโกนบอกพี่ด้วยว่าต้องเสียงดังๆ แต่ละคนแก่ชรา หูค่อนข้างตึง  ฮา

                   พี่สาวผมอายุ 75 ปี คลานขึ้นบันไดชึ้นเป็นคนแรก แล้วตามกันไปทีละคน ได้เสียงหัวเราะกับท่าคลาน


                 “ชักแถว เตรียมถ่ายรูปหมู่นะคร๊าบ ภาพตรงนี้เป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ครับ” ช่างภาพชราตั้งท่า ลูกทัวร์เดินเรียงเข้าหากัน ไม่ได้จัดลำดับสูงต่ำดำขาว และก็ไม่ได้เรียงตามอายุว่าใครแก่กว่าใคร “ไม่ค่อยแตกต่าง”

                ถ่ายภาพได้ 2 แช๊ะก็เดินงุมมะงาหรากันหาทางลง ต้องค่อยๆเดินลงทางเดิมแล้วก็เปลี่ยนไปถ่ายรูปอีกที่องค์พระใหญ่เป็นจุดที่สอง  จากนั้นก็ไปถ่ายที่องค์พระยืนปางห้ามญาติ มีกำแพงอิฐฉาบปูนบีบสองข้าง ผมสั่งให้ตั้งท่าหน้ารูปแล้วยกมือขวาทำท่าเลียนแบบปางห้ามญาติ


                “มึงอย่าบีบกู มึงอย่าบีบกู”เสียงตะโกนขึ้นเหมือนประชดประชันอะไรสุกอย่าง

                 ขึ้นรถตู้แล้วก็วนไปรอบๆพอเป็นพิธี ไม่มีจุดน่าสนใจจะลงไปถ่ายรูปก็ออกเดินทางต่อไปยังจังหวัดตาก เป้าหมาย ไหว้พระเจ้าตากสินมหาราช


นางแบบนะเนี่ย ค่าตัวแพง 30 บาทค่าเข้า

สถานีวิทยุกระจายเสียงและนสพ.เสียงเสรี จังหวัดตาก

                จากอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย รถตู้จอดที่สถานีวิทยุกระจายเสียงและนสพ.เสียงเสรี จังหวัดตาก คณะเข้าไปเยี่ยมเยียนเพื่อนเก่าเจ้าของกิจการขนาดเล็กที่ไม่ธรรมดา ท่านนายกสมาคมสื่อมวลชนจังหวัดตาก คุณจุฑาวัลย์ บัวกลิ่น เพื่อการเรียนรู้เพราะว่าจะได้นำไปพัฒนาสถานีวิทยุกระจายเสียงเสียงอ่างทอง


เสื้อลายเจ้าของสถานี

                ที่สถานีฯ มีการประชาสัมพันธ์ด้านธุรกิจ ในสถานีมีเครื่องเสริมความงาม เครื่องถนิมพิมพาภรณ์ประเภทพลอยให้ชม และยังให้”แมวดำ”สาธิตการออกอากาศวิทยุด้วย หลังจากนั้นได้ถ่ายรูปเป็นที่ระลึก และพาไปดื่มกาแฟที่ร้านครัวแมกไม้ริเวอร์ไซต์ อิ่มอร่อยแล้วก็เดินทางต่อ แต่ก็ไม่ลืมไมตรีที่เพื่อนเก่ามอบให้  

              

ศาลพระเจ้าตากสินมหาราช จังหวัดตาก

                ศาลพระเจ้าตากสินมหาราชสร้างขึ้นเมื่อพ.ศ.2514 ถวายเป็นราชสักการะ เทิดทูนพระคุณของพระยาตากผู้กู้แผ่นดินคืนจากพม่าข้าศึกเมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่ 2  ที่ตั้งศาลอยู่บนเนินรับลมเย็นๆ ผู้คนวนเวียนกันมาเคารพบูชา แก้บนกันด้วยหัวหมูบ้าง ไก่ต้มบ้าง ผลหมากรากไม้มากมายหลายอย่าง บ้างกถวายด้วยม้าทรง


               ภายในศาลมีภาพวาดจำลองภาพที่พระองค์เคยออกศึก สวยงาม แม้ไม่มีรายละเอียดแต่ก็เห็นภาพที่พระองค์ทรงม้านำทัพตีฝ่าพม่าออกไปยังจังหวัดชายทะเลฝั่งตะวันออก ผมไปเคารพนบไหว้ที่ศาลนี้หลายครั้ง แต่เมื่อมีโอกาสได้ผ่านไปก็อดใจที่จะแวะกราบไหว้เสริมสิริมงคลให้กับชีวิตเสียมิได้ พระองค์ทรงเป็นมหาราชผู้กอบกู้แผ่นดินคืน 


จุดสุดท้ายปลายทางเที่ยวทำบุญกับมูลนิธิเฮียะเปาอินทร์

                หลังอาหารเที่ยงแมกไม้ริเวอร์ไซต์ จังหวัดตาก  ริมถนนพหลโยธิน รถตู้แวะให้หาซื้อของฝากริมทาง 2-3 แห่ง และมาถึงวัดวรนาถบรรพต จังหวัดนครสวรรค์ อันเป็นวัดเดิมที่ชื่อเขากบ เป็นวัดบนเขาเหนือเมืองนครสวรรค์ มีถนนลาดยางขึ้นไปจนถึงบนยอดเขา ไหว้หลวงพ่อโตแล้วก็กราบเจดีย์ทองบนเขากบ แน่นอนว่าพุทธศาสนิกชนคนไทยต้องปิดทองพระด้วย


                 ลงจากวัดก็แวะเข้าไปกินข้าวต้มหัวปลาหม้อไฟชลบุรีแต่มาเปิดขายในตลาดนครสวรรค์ อิ่มอร่อยแล้วก็นั่งหลับๆตื่นๆจนถึงจุด “สุดท้ายที่กรุงเทพ” แยกกันกลับด้วยสบายใจ ไม่ลืมที่จะแยกของฝากให้ถูกต้อง ฟักทองจากน้ำใจคนชราบ้านกิตตินันท์ไม่มีใครลืมเพราะลิ้มรสแล้วอร่อยติดใจ ต้มหรือนึ่งจิ้มน้ำพริกหนุ่มหรือน้ำพริกตาแดง อร่อยเหลือ

Tags : ดอกไม้เทศและดอกไม้ไทย ต้น 46.ลิลี่

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view