ธันวาคมทุกปี
ต้องหนีไปเที่ยวเชียงรายชมดอกไม้เมืองหนาวแสนงาม
โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ
ไร่สตรอเบอรี่ม่อนเคียงดาว-ไร่ชาฉุยฟง
ค่ำลงที่เชียงราย การเดินทางไกลกว่า 800 กิโลเมตรจบสิ้น แวะกราบอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช แล้วไปสงบราบคาบบนที่นอนในหน่วยจัดการต้นน้ำห้วยหมากเลี่ยม ริมฝั่งแม่น้ำกก ซึ่งติดแอร์ธรรมชาติเย็นเฉียบ (16องศาเซลเซียส) แม้คืนที่ดาวพราวฟ้าแต่เหนื่อยล้าจากการเดินทางไกล จึงหลับใหลกันไปแบบไม่สมประดี ขอบคุณหัวหน้ามานพ รอดแก้ว ที่กรุณาจัดหาที่นอนให้อย่างดีเยี่ยม
เช้าตรู่ หมอกไล้ไปทั่วบริเวณสำนักงานบ้านพัก อากาศเย็นสบาย กาแฟร้อนพร้อมดื่มในมือช่วยให้ไออุ่นซ่านไปทั้งร่าง อยากกำจนลืมดื่ม หน่วยจัดการต้นน้ำห้วยหมากเลี่ยมตั้งมาแต่ปีพ.ศ.2522 โดยหัวหน้าพินิจ ศรลัมม์ (อดีตป่าไม้จังหวัดหลายจังหวัด) ดำเนินการปลูกป่าฟื้นฟูต้นน้ำลำธารให้ฟื้นคืนสู่สภาพธรรมชาติ ปัจจุบันนี้กิจกรรมเปลี่ยนไปตามระบบราชการ
หลังกาแฟพร้อมดื่ม รถ 7 ที่นั่งจากเปาอินทร์คาร์เซ็นเตอร์ หลักสี่ กรุงเทพมหานคร ผู้บริหารกิจการ คุณโยธิน เปาอินทร์ โทร.086-3230011 อีซูซุ มิว 7 ทะยานไปตามถนนเลาะเลียบริมแม่น้ำกก ได้ชมวิวแม่น้ำสลับขุนเขาแทรกซ้อนด้วยชุมชนและวิถีชีวิตบ้านๆ ผ่านตัวเมืองเชียงราย หาอาหารเช้ารองท้องย่านหอนาฬิกากลางเมือง แล้วมุ่งหน้าไปยังไร่สตรอเบอรี่ม่อนเคียงดาว อำเภอแม่จัน ไม่ไกลเลย
โชคดีได้พบและได้ฟัง คุณวิศนุ พุ่มประจำ เล่าเรื่องราวการสละชีวิตชาวกรุงเทพมหานครแล้วจรมาอยู่ถึงไร่ม่อนเคียงดาว พร้อมคู่เคียงคู่ชีวิตที่มีความสุขกับภูมิอากาศกลางแจ้ง ปลอดมลภาวะป่าปูนและก๊าซเรือนกระจก
“แฟนผมเป็นภูมิแพ้ แต่ถูกโฉลกกับอากาศหนาวเย็นและสะอาดที่ไร่นี้ แถมเป็นคนชอบกินสตรอเบอรี่ เผอิญคู่ของเราไม่มีพันธะผูกพัน ไม่มีลูก จึงตัดสินใจมาทำไร่สตรอเบอรี่และปลูกผักปลอดสารพิษด้วยระบบอินทรีล้วนๆ ซื้อที่ดินไว้รวม 8 ไร่ สร้างบ้านไม่ติดแอร์ 1 หลัง ห้องกาแฟและขนมหลังนี้รับรองแขก ทุกอย่างทำเองครับ” แววตาคุณวิศนุเปล่งประกายหวาน
“สตรอเบอรี่ของผมลูกใหญ่เท่าไข่ไก่นะครับ” กดมือถือโชว์ภาพให้ชม ใหญ่จริงๆ
“แรกผมปลูกแค่ไร่เดียว พอชำนาญก็ลงเพิ่มพื้นที่อีกเป็น 3 ไร่ ผมขายกิโลกรัมละ 600 บาท ผลผลิตไร่ละ 1000 กิโลกรัมครับ รายได้อยู่ได้ทั้งปี แต่งานหนัก ต้องเฝ้าระวังใกล้ชิดและทำงานทุกวัน แทบจะไม่ไปไหนเลยตลอดช่วงหนาวที่ผลผลิตจะออกครับ”
บัวลอยน้ำขิงฝีมือคุณวิศนุ อร่อย
“ช่วงสตรอเบอรี่ออกผล รถยนต์เต็มไปหมด ลูกค้าส่วนใหญ่ต้องจองครับไม่เช่นนั้นไม่ได้กิน หมดเกลี้ยง” คุณวิศนุเล่าไปยิ้มไป เบอร์โทร081-6680707 ม่อนเคียงดาว
ผมเหลียวมองไปรอบไร่ไม่เห็นม่อนใดๆสักม่อนจึงสงสัย ได้ความกระจ่างว่า
“ม่อนคือชื่อเจ้าเชาเชาหมาของแฟนผมครับ” ถึงเวลาหัวเราะสิ ฮา
“ออกจากไร่ผมก็เลี้ยวไปตามป้ายสื่อความหมายนะครับ เพื่อไปให้ถึงไร่ชาฉุยฟงเจ้าดัง วันนี้ใครๆก็ไปถ่ายรูปที่ไร่ชาฉุยฟง ไม่ไปไม่ได้แล้ว เดี๋ยวจะตกเทรน
บนเนินเขาหลายลูกติดต่อกัน หนาแน่นไปด้วยไร่ชาเขียวปี๋ ริ้วรายของต้นชาในแนวระดับน้ำทะเล(contour line)สวยงาม รถยนต์จอดกันมากมาย นักท่องเที่ยวลงไปยืนแอ๊คชั่นถ่ายรูปเป็นที่ระลึก ส่วนใหญ่ถ่ายกันด้วยมือถือแล้วก็โหลดเข้าไลน์ เฟสบุ๊ก ออกสู่สังคมโลกออนไลน์ทันที ดังทะลุมิติจริงๆ
มุมโปรดของนักท่องเที่ยว
ดอยตุง ตำนานอุทยานดอกไม้แสนงาม
จอดรถแล้วเดินไปซื้อบัตรเข้าชม 3 จุดคือ สวนสมเด็จพระราชชนนี พระตำหนักดอยตุง และสวนรุกขชาติกุหลาบพันปี ทุกคนแยกย้ายกันไปตามความชอบ ผมลงไปไล่เรียงดอกไม้เมืองหนาวตามถนัด ความเปลี่ยนแปลงของดอยตุงคือ ความงดงามที่ยังแตกต่างไปจากทุกๆปี ดอกไม้และการจัดสวนมะลังมะเลืองเฟื่องฟู
นักท่องเที่ยวหลากหลายชาติพันธุ์ หน้าตาจีนๆมากหน่อย ญี่ปุ่น เกาหลี ฝรั่งอั้งม๊อก็มี แต่ที่มีหนาตาก็คนไทยที่ชมชอบการท่องเที่ยวยามหนาว และต้องมาดูดอกไม้เมืองหนาวด้วยถึงจะสาสมใจ วัยของนักท่องเที่ยวก็หลากหลาย ที่เป็นเด็กๆก็สนุกกับการได้เข้าไปในวงล้อมดอกไม้งาม ที่เป็นวัยรุ่นก็เซลฟี่ตนเองด้วยมือถือ ที่เป็นคนสูงวัยวันนี้ก็เซลฟี่
มีเพียงผมละกระมังที่ยังแบกขากล้องจ้องถ่ายรูปดอกไม้ไปทีละช่อๆ เมื่อจบสิ้นกระบวนดอกไม้ในสวนสมเด็จก็เดินย้อนขึ้นไปยังสวนดอกไม้หน้าพระตำหนัก ความสวยงามยังเหมือนเดิม แต่ชนิดดอกไม้เปลี่ยนไปบ้าง จะอย่างไรก็ตาม เสน่ห์แห่งสีสันดอกไม้งามอร่ามดอยตุง ภาพความสวยงามยังตราตรึงใจ และชวนให้หลงใหล ผมนั่งเฝ้าชมนิ่งๆ คนเดียวแต่.......
สวนรุกขชาติกุหลาบพันปีนั้นต้องนั่งรถขึ้นไปยังดอยสูง ไม่ไกลนัก แต่ช่วงเวลาที่ควรไปนั้นว่ากันตามจริงต้องไปช่วงเช้าๆ ท้องฟ้าสดใส จะได้ภาพดอกไม้สีสันสวยงามกว่าการเดินทางไปในช่วงเย็น ไปเดี๋ยวเดียวตะวันก็ลับขอบเขา แสงหมด ดอกไม้หม่นหมอง ไม่ต้องแสงสวยๆ เซ็งเป็ด ต้องขอบอกกล่าวว่า สวนรุกขชาติกุหลาบพันปีควรไปเที่ยวช่วงเช้าครับ
ค่ำคืนบนดอยสูงนับพันเมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง หนาวเย็นเอาการ บ้านพักแรมของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าดอยตุง ให้ความสะดวกสบาย
เทศกาลเชียงรายดอกไม้งามและดนตรีในสวน ครั้งที่ 12
11ปีมาแล้วที่เทศบาลนครเชียงรายจัดงานเทศกาลเชียงรายดอกไม้งามและดนตรีในสวน สถานที่จัดงานยังเป็นสวนตุงและโคม พื้นที่ขนาดเล็กๆแต่กะทัดรัดจัดการดอกไม้ได้หลากหลายชนิด ล้วนสวยงามอร่ามตา แลตะลึงปึงๆๆๆๆ เจ้าหน้าที่น่ารัก กิจกรรมเพิ่มมากขึ้นๆ จนแทบจะกลายเป็นงานหลักของทุกฤดูหนาวของเชียงราย
ปีก่อนเน้นดอกทิวลิบและลิลี่สีต่างๆ แต่ปีนี้เพิ่มชนิดดอกไม้มากขึ้น และการจัดสวนเปลี่ยนไป แนวการจัดสวนใช้ดอกไม้ชนิดเดียวหลากสีจัดเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ซึ่งให้ภาพออกมาดูอลังการไปอีกมิติหนึ่ง แต่เนื่องจากพื้นที่มีขนาดไม่กว้างขวางนัก บริเวณงานจึงดูเหมือนเมืองการ์ตูน นักท่องเที่ยวแห่แหนกันเข้ามาตามแรงการโฆษณาประชาสัมพันธ์
เวทีดนตรี เตรียมไว้ใจกลางพื้นที่เหมือนเดิม แต่เวลาที่แสดงยามค่ำนั้น บอกตามตรง เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่พักแรมในเมืองหรือคนท้องถิ่นที่อยู่ใกล้เคียงมาพักผ่อน สำหรับคอชมดอกไม้ในยามค่ำนั้นไม่เร้าใจเพราะว่าดูยังไงก็ไม่สวยใสเหมือนดูตอนกลางวัน จึงไม่มีภาพดนตรีในสวนมาอวดนะจ๊ะ งานเทศกาลเชียงรายดอกไม้งามและดนตรีในสวนจัดตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2558-14 กุมภาพพันธ์ 2559 กันเลยทีเดียวเชียวครับ
มหกรรมไม้ดอกอาเซี่ยนเชียงราย สวนไม้งามริมน้ำกก ครั้งที่11
งานนี้จัดโดยองค์การบริหารส่งจังหวัดเชียงราย เปิดงานตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2558 -10 มกราคม 2559 สถานที่จัดงานก็ที่เดิม สวนไม้งามริมน้ำกก ฝั่งเหนือแม่น้ำกกช่วงสะพานข้ามจากฝั่งเชียงรายไปฝั่งแม่จัน-แม่สาย ถ้าหันหน้าขึ้นเหนือจะอยู่ฝั่งขวามือ พื้นที่จัดงานกว้างขวางมาก กิจกรรมการจัดงานหลากหลายสไตล์ยกมาทั้งจังหวัด
ด้านสวนดอกไม้งามมีทั้งดอกไม้เมืองหนาวและดอกไม้เมืองร้อน ชนิดและปริมาณมากมายหลายร้อยชนิด รูปแบบการจัดสวนกระจายเต็มพื้นที่สวนริมน้ำกก แต่ละส่วนของสวนดอกไม้ให้เจ้าหน้าที่คอบตอบข้อสงสัยและอยากรู้ชนิดพันธุ์ไม้ไว้ทุกมุม ดอกไม้แต่ละส่วนจัดวางไว้อย่างมีศิลปะการจัดสวน สวยและอลังการ
ด้านวัฒนธรรม มีส่วนที่จัดแสดงด้วยชนเผ่าต่างๆ ทั้งรูปแบบบ้านเรือนที่อยู่อาศัย วิถีชีวิตวัฒนธรรมการแต่งกายของแต่ละชนเผ่า มีตัวตนจริงของแต่ละเชื้อชาติมาอวดด้วย แต่ส่วนนี้ หมดแรงเดินเสียก่อนจึงไม่มีภาพประกอบจ้า ฝากไว้ก่อน หากปีหน้ามีโอกาสมาเยือนอีกครั้งจะเติมให้เต็มพิกัดของงาน
ด้านการประกวดธิดามหกรรมดอกไม้อาเซี่ยนเชียงรายครั้งที่ 11 ตั้งเวทีประกวดไว้ริมแม่น้ำกก เพื่อให้นางงามหลายสิบชีวิตได้เดินอวดโฉมต่อคณะกรรมการและนักท่องเที่ยวที่เข้าชมงาน ช่วงที่ไปชมนั้นเหล่านางสาวเชียงรายได้แต่เดินไปเดินมาด้วยชุดเสื้อผ้าพื้นเมืองสวยๆ แต่ก็อย่างที่กล่าว ยามค่ำคืนนั้นนักท่องเที่ยวอย่างเราขอบาย
หอนาฬิกาเฉลิมชัย...ร้องเพลง
ตะวันรอนอ่อนแสงลง อากาศเย็นเริ่มเข้ามาแทน อาหารค่ำมีให้เลือกมากมาย แต่เพื่อความสะดวกและทันกับเหตุการณ์สำคัญ หาร้านอาหารบนถนนสายหอนาฬิกาดีที่สุด เดิมทีเดียวหอนาฬิกาเชียงรายก็เหมือนหอนาฬิกาทั่วๆไป แต่ด้วยอิทธิพลของอาจารย์ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ผู้สร้างตำนานวัดร่องขุ่นจนโด่งดังด้วยศิลปะเฉพาะตัว
หอนาฬิกาเชียงรายจึงได้ถูกประดิษฐ์ขึ้นใหม่ กลายเป็นศิลปะรูปแบบของอาจารย์เฉลิมชัย ซึ่งมีเอกลักษณ์และรูปแบบศิลปะที่แตกต่างไปจากศิลปินคนอื่นๆ และแล้วก็เกิดไอเดียกระฉูดจนถึงหอนาฬิกาและป้ายถนนจนถึงซอย ล้วนได้เอกลักษณ์มาจากงานศิลปะของอาจารย์เฉลิมชัย ผู้ทำให้เชียงรายกลายเป็นแรงบันดาลใจในการไปท่องเที่ยว
ได้ร้านอาหารรับประทานตามชอบ ไม่จำกัดว่าจะต้องเลือกร้านเดียวกัน แต่เมื่อถึงเวลาที่นาฬิกาจะร้องเพลงตอน 19.00 น.ก็จะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติไปยืนถ่ายรูปและรอชมการเปลี่ยนสีของหอนาฬิกาอย่างน่าตื่นตะลึง เพลงที่ร้องบรรเลงก็มีทั้งเพลงฝรั่งที่ฟังไม่รู้เรื่องและเพลงดังประจำจังหวัด “เชียงรายรำลึก”
คริสต์มาสเชียงราย ไม่อลังการ
หนึ่งในรายการที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้คือ ไปเยือนเชียงรายในช่วงเทศกาลดอกไม้บานในเดือนธันวาคมนั้น เอนเอียงให้ไปในช่วงคริสต์มาส 25 ธันวาคม ด้วยแหละ เพราะคิดเอาเองว่ามีโบสถ์คริสต์มากมายในจังหวัดเชียงราย อาจมีไฟคริสต์มาสหรือประเพณีแห่ดาวอย่างจังหวัดสกลนคร แต่ผิดหวังเต็มๆ มีเพียงไฟประกอบน้อยนิด
ในค่ำคืนอันหนาวเย็นเห็นเดือนส่องประกายบนท้องฟ้า ถ้าถนนหนทางในเชียงรายจะมีประเพณีแห่ดาวหรือประดับประทีปโคมไฟให้เกิดเป็นภาพความสวยงามอีกสักอย่าง คงเพิ่มสีสันการเดินอาบไอหนาว “ณ ราตรีหนึ่งซึ่งยังฝังใจ เชียงรายฟ้าแจ่ม คืนนั้นวาวแวมด้วยแสงจันทรานภาสดใส ริมน้ำกกเย็น.................. คืนนั้นเชียงราย มีเธอและฉันร่วมสัมพันธ์ไม่คลาย