http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม13,956,188
Page Views16,262,460
« March 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31      
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

สกว.ร่วมสร้างเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวสีเขียวเขาค้อ

สกว.ร่วมสร้างเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวสีเขียวเขาค้อ

สกว.ร่วมสร้างเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวสีเขียวเขาค้อ

#Green KhaoKho Green TOGETHER

โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

รศ.ดร.ชฎา ณรงค์ฤทธิ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

             เขาค้อ สมรภูมิความแปลกแยกทางความคิด แต่เมื่อสถานการณ์สงบลง เขาค้อกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอันเนื่องมาจากสภาพภูมิประเทศเอื้ออำนวย  เป็นพื้นที่ภูเขาสลับซับซ้อนที่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางระหว่าง 800-1,500เมตร  อากาศเย็นสบายตลอดปี ทัศนียภาพสวยงาม ไม่ไกลจากกรุงเทพมากนัก เส้นทางคมนาคมสะดวก เดินทางไปถึงได้ในเวลาสั้นๆ


            เมื่อการท่องเที่ยวเกิด การสร้างโรงแรม รีสอร์ท ร้านอาหาร ร้านของฝาก และพืชผลทางการเกษตรที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบย่อมเกิดตาม แต่การท่องเที่ยวที่เกิดจากกลุ่มทุนหลายระดับทำให้เกิดความแตกต่าง หลายด้านส่อไปในทิศทางเสื่อมลง และนั่นคือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้สำนักงานประสานงานวิจัยและพัฒนาเชิงพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง

     

           ได้นำเสนอสกว.จนได้รับอนุมัติให้เกิดโครงการวิจัย “การพัฒนาการเรียนรู้ของเครือข่ายความร่วมมือทางเกษตรกรรมเชิงพื้นที่เพื่อสร้างภาพลักษณ์” ภายใต้การนำของ      รศ.ดร.ชฎา ณรงค์ฤทธิ์ คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก  มุ่งเน้นการท่องเที่ยวสีเขียวเขาค้อ นี่เอง


ดอกกระดาดดารดาด

เขาค้อวันนี้ สตรอเบอรี่มาได้ไง

             ผมไปเขาค้อเมื่อปีพ.ศ.2514 ไปสำรวจปริมาณการใช้ไม้ของประชาชนให้กับ FAO ถนนลาดฝุ่นแดงเถือก ตามมุมถนนมีทหารยืนระวังภัยอยู่เป็นจุดๆ สองฝั่งถนนยังเป็นป่าเขาที่มีป่าไม้หนาแน่น จะกินข้าวแต่ละครั้ง วนหาไปเถอะ


             แต่มาปีนี้ 2559 เมื่อผมมาถึงและได้มองเห็นความเปลี่ยนแปลง ทั้งถนนหนาแน่นไปด้วยรีสอร์ท โรงแรม ร้านอาหาร ร้านของฝาก และที่มากเป็นพิเศษคือไร่สตรอเบอรี่ กับป้ายสีแดงรูปลูกสตรอเบอรี่ มึนๆงงๆ เป็นพิเศษ ป่าไม้หายไปสิ้น  เศร้า


พี่น้องม้งคือเกษตรกรผู้ปลูกสตรอเบอรี่เขาค้อ

             ว่ากันตามจริง สภาพโรงแรม รีสอร์ทของแต่ละแห่งแตกต่างกันไปตามสถานะของผู้ประกอบการ ดูแล้วว่ามีทั้งผู้ประกอบการท้องถิ่นและผู้ประกอบการต่างถิ่น สภาพจึงแตกต่างไปตามสภาพเงินลงทุน

             ป้ายสื่อความหมาย อันเป็นป้ายบอกแหล่งแห่งที่ของกิจการ แต่ละป้ายก็ทำกันไปตามสภาพทางเศรษฐกิจของแต่ละเจ้าของกิจการ  ขนาดป้าย สีสันของป้าย รูปลักษณ์ป้าย บของแต่ละเจ้าของเลยทีเดียว บอกตามตรง ต้องจัดระเบียบป้ายสื่อความหมายทั้งถนนบนเขาค้อ


ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย เล่าเรื่องย่อๆให้ฟัง

             น่าแปลกใจมากที่มีแปลงปลูกสตรอเบอรี่มากมายหลายร้อยเจ้าของ อยู่ริมถนนทั้งสองฝั่ง และที่ปลูกเลยเข้าไปก็มากมายหลายหลาก  เพราะว่าสตรอเบอรี่นั้นดังมากจนถึงกับมีงานวันสตรอเบอรี่ที่อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่    


ผลผลิตกำลังออก วันวาเลนไทร์คงได้เวลากิน

Green KhaoKho Green TOGETHER

              ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ นายบัณฑิตย์ เทวีทิวารักษ์ ประธานเปิด Green KhaoKho Green TOGETHER ผู้ร่วมงานประกอบด้วย นายอำเภอเขาค้อ นายฐิติศักดิ์ กันเขตต์  รองผู้อำนวยการ สกว. ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย  นายอรุษ นวราช กรรมการผู้จัดการโรงแรมสามพรานริเวอร์ไซต์ เลขาธิการมูลนิธิสังคมสุขใจ คุณลลดา ทองพินิจ จากFarmer shop รศ.ดร.ชฎา ณรงค์ฤทธิ์  หัวหน้าโครงการวิจัยฯ ผศ.ดร.จุฑามาศ วิศาลสิงห์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนากลยุทธ์แบรนด์  ฯลฯ


ภาพหมู่เป็นเอกลักษณ์งานแถลงข่าว

              รศ.ดร.เสมอ ถาน้อย สำนักประสานงานวิจัยและพัฒนาเชิงพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง คณบดีคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นผู้กล่าวรายงาน ณ สนามหญ้าหน้าโครงการพระราชดำริเขาค้อ


ดร.เสมอ ถาน้อย กล่าวรายงาน

คุณสุทธิพงศ์ สลสยม วิศวกรหนุ่มใหญ่ผู้หันมาทำการเกษตรอินทรีย์ บ้านไร่ไออุ่น

            หลังจากการเปิดงาน ได้ปลูกต้นนางพญาเสือโคร่ง เพื่อสร้างให้พื้นที่มีสีเขียวและให้ดอกสวยงามยามหน้าหนาว  ต่อจากนั้น ได้เดินทางไปยังบ้านไร่ไออุ่นของนายสุทธิพงศ์ พลสยม ชมการเกษตรอินทรีย์และไร่สตรอเบอรี่อินทรีย์  เพื่อเน้นย้ำคุณภาพเกษตรกรรมสีเขียวปลอดสารเคมี



เก๊กฮวย

คาโมมาย

เลขาธิการมูลนิธิสังคมสุขใจ สวนสามพราน ชื่นชม

ชมทะเลหมอกที่เขาค้อ แปลกตาน่าชม

            ค่ำคืนในรีสอร์ทที่เขาค้อ ระดับความสูงจากน้ำทะเลปานกลาง 950 เมตร  ผมเปิดแอร์แค่ครึ่งคืน แล้วปิด  แต่อากาศหนาวเย็นทำให้หลับสนิทนิทรารมย์ โดยไม่ต้องห่มผ้าห่มแต่อย่างใด พร้อมตื่นขึ้นมาชมทะเลหมอกแต่เช้า


หมอกไหลที่เขาค้อ

             โดยสภาพภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน รีสอร์ทถูกสร้างกระจายไปทั่วทิวเทือก ทะเลหมอกที่นี่แปลกกว่าที่อื่นๆที่เคยพบพาน หมอกลอยตัวขึ้นบางๆ แล้วไหลไปไหลมา โอบทิวเขาโน้นแล้วก็ไหลไปโอบทิวเขาอีกเทือก

             ไม่ใช่ทะเลหมอกหนาแน่นอย่างห้วยน้ำดัง จังหวัดเชียงใหม่ หรืออย่างดอยเสมอดาว จังหวัดน่าน ไม่ใช้ทะเลหมอกอย่างดอยหัวหมด จังหวัดตาก


             ผมนั่งดื่มกาแฟร้อนยามเช้าสบายๆ มองไกลออกไปในเวิ้งว้างกลางหุบเขา  ได้เปลี่ยนมุมถ่ายภาพไปตามทะเลหมอกที่หลามไหลไปเรื่อยๆ ทำให้ได้ภาพแปลกแตกต่างไปจากภาพเดิมๆ ตั้งแต่เช้าตรู่จนสายโด่ง แดดจ้า แต่ทะเลหมอกที่เขาค้อยังชวนชม


ริ้วรายพรายพลิ้วไปทั่ว

พื้นที่เขาค้อจะได้อะไรจากการทำโครงการวิจัยด้านเกษตรเชิงคุณค่า

             ดร.สีลาภรณ์  บัวสาย ได้กล่าวว่า การวิจัยด้านการเกษตรเชิงคุณค่า จะช่วยให้ผลผลิตทางการเกษตรเสริมสร้างการท่องเที่ยวสีเขียวอีกมิติหนึ่ง พืชผักผลไม้ที่ปลูกบำรุงด้วยระบบการเกษตรอินทรีย์ เป็นการเสริมสร้างให้องค์ประกอบในการท่องเที่ยวมีคุณค่าและปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว  การวิจัยจะช่วยให้การพัฒนามีทิศทางชัดเจน


           ในช่วงเวลาการถอดบทเรียนการเกษตรเพื่อการท่องเที่ยวและสุขภาพ ได้ร่วมกันเล่าถึงประสบการณ์ที่แต่ละคนได้ทำเพื่อการเกษตรอินทรีย์ และความคาดหวัง


           พิธีกรชายผศ.ดร.จตุรพร รักษ์วร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และพิธีกรหญิงดร.เกษวดี พุทธภูมิพิทักษ์ คณะบริหารธุรกิจฯ มหาวิทยาลัยนเรศวร นำทีมขึ้นสู่เวทีเสวนาที่ห้องประชุมเขาค้อทะเลภู เปิดเวทีแล้วให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรอินทรีย์เล่าความขยายเรื่องให้ฟัง 


            คุณสนธิ์ ชมดี เจ้าของบริษัทเขาค้อทะเลภู  เชาค้อทะเลภูมีพื้นที่กว้างขวางถึง 200 ไร่ ผสมผสานไปด้วยป่าไม้และผลผลิตการเกษตร  บ้านพักแทรกซ้อนในป่าไม้ใบบัง ศูนย์สุขภาพองค์รวมในป่าไผ่ชายน้ำ ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพมากมายในอาคารไม้สวยเก๋


             คุณอรุษ นวราช เลขาธิการมูลนิธิสังคมสุขใจ จากสวนสามพราน  สวนสามพรานผ่านกิจกรรมของสมาคมสังคมสุขใจ ปลอดภัยด้วยอาหารอินทรีย์ ข้าว พืชผัก การสร้างเครือข่าย การเปิดตลาดเพื่อรองรับผลผลิต การตรวจสอบก่อนนำผลผลิตมาจำหน่าย เพื่อตอกย้ำความปลอดภัยอย่างแท้จริง


            คุณลลดา ทองพินิจ  จาก Farmer Shop   Farmer Shop  ไม่ได้รับซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้า แต่เป็นเพื่อนที่ไปร่วมขยายแนวคิดการผลิตตามแนวคิดการเกษตรอินทรีย์ เป็นเครือข่าย เป็นเพื่อนมากกว่าเป็นนายทุนผู้รับซื้อ และไม่เจาะจงว่าต้องเป็นเขาใหญ่หรือแหล่งใดๆ ขึ้นอยู่กับความปรารถนาร่วมกัน


           นายอำเภอเขาค้อ นายฐิติศักดิ์ กันเขตต์ คาดหวังและมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเขาค้อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวมีคุณค่า ปลอดภัย ท่องเที่ยวได้ตลอดปี มีโรงแรมรีสอร์ทและร้านอาหารร้านขายของฝากรองรับอย่างมีคุณภาพ เพราะว่าอยู่มานานและอยากอยู่เพื่อเกษียนราชการที่นี่เป็นแห่งสุดท้ายในชีวิราชการ


          ขอตอกย้ำว่า เขาค้อวันนี้  พื้นฐานโรงแรม รีสอร์ท เป็นไปตามแนวคิดและทิศทางของกลุ่มทุน  การตบแต่งยังเป็นของใครของมันตามใจชอบเช่น สีสันของอาคารสถานที่และป้ายสื่อความหมาย  ดอกไม้ประดับตามความชอบ โดยรวมไม่มีเหลือพื้นที่ที่เป็นเอกลักษณ์เขาค้อ


          ร้านจำหน่ายของฝากของที่ระลึกตามความถนัดของแต่ละคน  ผลผลิตทางการเกษตรกรรมทั้งสดและแห้งยังไม่มีมาตรการตรวจสอบหรือสร้างพื้นฐานความปลอดภัยให้กับลูกค้าหรือนักท่องเที่ยว           โดยเฉพาะสตรอเบอรี่ที่กำลังเบ่งบานอย่างมากมาย ปลูกกันตามชอบ


ชากระชายดำไอกรุ่นๆนุ่มละไม

เหลียวหลังแลหน้าร่วมค้นหาภาพลักษณ์ท่องเที่ยวสีเขียวเขาค้อ

           ณ ลานศูนย์สุขภาพองค์รวม ของเขาค้อทะเลภู ดร.เพชรศรี นนท์สิริ คณะบริหารธุรกิจ ฯมหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้ดำเนินรายการแนะนำผู้เข้าร่วมการเสวนาแมทสุดท้ายของงาน ประกอบด้วย


           ผศ.ดร.จุฑามาศ วิศาลสิงห์ กก.บริหารบริษัทperfect link consulting group ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาแบรนด์  กล่าวว่าการสร้างแบรนด์เขาค้อยังทำได้ หากแต่ต้องประมวลภาพรวมความร่วมใจของเจ้าของกิจการทุกสาขาให้คิดและทำตรงกัน                  


           รศ.ดร.จิรวัฒน์ พิระสันต์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร  ยังมุ่งมั่นที่จะค้นหาแหล่งท่องเที่ยวแปลกใหม่ป้อนให้กับนักท่องเที่ยวพร้อมการเผยแพร่สู่กลุ่มเป้าหมายด้วยเครือข่ายผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ โลกออนไลน์


            คุณจุลพงษ์  คุ้นวงศ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเพชรบูรณ์ และประธานชมรม ธุรกิจท่องเที่ยวเขาค้อ  ยืนยันว่าการท่องเที่ยวเขาค้อเติบโตปีละกว่า 20% จากนักท่องเที่ยวปีละ 2 แสนกว่าเพิ่มเป็น 1.8 ล้านคน มีมูลค่าการใช้จ่าย 1,200 บาท/หัว กระแสเศรษฐกิจเขาค้อปีหนึ่งกว่า 2,000 ล้านบาท มันจะโตอีก 


           และคุณณัฐวัฒน์ วัฒนาประสิทธิ์ แห่ง เรนฟอเรสท์ รีสอร์ท พิษณุโลก  เล่าถึงความพยายามใช้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงและความปลอดภัยของอาหารปลอดสารพิษ การจัดการให้รีสอร์ทเป็นแหล่งพักผ่อนธรรมชาติ


           ทุกทิศทางมุ่งหวังให้การท่องเที่ยวเขาค้อสีเขียว แต่จะทำได้เพียงใดหรือไม่ การพัฒนาการเรียนรู้ของเครือข่ายความร่วมมือทางเกษตรกรรมเชิงพื้นที่เพื่อสร้างภาพลักษณ์ ซึ่งได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย( สกว.) นำโดยหัวหน้าโครงการ รศ.ดร.ชฎา ณรงค์ฤทธิ์ จะบอกเล่าเรื่องราวได้เพียงใด โปรดติดตามต่อไป


ผักอินทรีย์ที่เขาค้อทะเลภูรีสอร์ท

ดอกไม้ประดับตามรีสอร์ทต่างๆ

                   ปล.ในฐานะนักวิชาการป่าไม้ ใคร่ขอเสนอแนะเกี่ยวกับการคัดเลือกชนิดไม้ประดับเพื่อปลูกที่เขาค้อ ซึ่งมีความสูงจากระดับน้ำทะเลตามถนนตลอดสายเฉลี่ย 800-1,000 เมตรจากน้ำทะเลปานกลางนั้น ยังไม่สูงพอที่จะปลูกต้นนางพญาเสือโคร่งอย่างภูลมโล ช่างเคี่ยน ขุนสถาน อช.แม่วาง ดอยอ่างขาง  ฯลฯ ซึ่งมีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,200-2,100 เมตร อากาศหนาวเย็นจัดจ้านกว่า และหนาวเย็นนานกว่า จึงให้ดอกที่ดกและสวยงามอร่ามตา  ต้นไม้ที่ให้ดอกในช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์มีอีกหลายชนิดเช่น ต้นงิ้วแดง งิ้วเหลือง ทองหลางป่า(ดอกแดง) กัลปพฤกษ์ (ดอกสีชมพู-ขาวตามระดับความสูงของน้ำทะเลและภูมิอากาศ) หรือมิเช่นนั้นต้องปลูกด้วยพันธุ์ไม้นำเข้าจากต่างประเทศที่เหมาะสม


              

Tags : ดอกไม้เทศและดอกไม้ไทย ต้น 46.ลิลี่

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view