http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 07/08/2024
สถิติผู้เข้าชม14,389,521
Page Views16,722,105
« November 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

เที่ยวทำบุญกับมูลนิธิสมเพิ่ม กิตตินันท์ ปีที่ 30

เที่ยวทำบุญกับมูลนิธิสมเพิ่ม กิตตินันท์ ปีที่ 30

เที่ยวทำบุญกับมูลนิธิสมเพิ่ม กิตตินันท์ ปีที่ 30

โดย มณี บันลือ เรื่อง-ภาพ

ครอบครัวคุณนายบัวจันทร์ กิตตินันท์ 

           ปีพ.ศ.2529 มูลนิธิสมเพิ่ม กิตตินันท์ ก่อตั้งด้วยวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมการศึกษาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ระดับอนุบาล-ปริญญาตรี เพื่อส่งเสริมสุขภาพและอนามัยนักเรียนทุน เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และร่วมมือกับองค์กรกุศลอื่นๆและไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง จนถึงวันนี้ ปีที่ 30 คณะกรรมการมูลนิธิสมเพิ่ม กิตตินันท์ ยังยึดมั่นตามปณิธานมั่นคง “คนเราเกิดมาไม่เท่ากัน จึงอยากให้โอกาสแก่คนที่ด้อยโอกาสได้มีโอกาสบ้าง”


ท่านอุดม-อำไพ หิรัญพฤกษ์ นำขบวนเที่ยวทำบุญปีที่ 30

            นายอุดม หิรัญพฤกษ์ ประธานกรรมการมูลนิธิได้กำหนดการ “เที่ยวทำบุญกับมูลนิธิสมเพิ่มกิตตินันท์ ปีที่ 30 ระหว่างวันที่ 15-18 มกราคม 2559 ดังนี้คือ

            วันที่ 15 มกราคม 2559 เวลา 07.00 น.ออกเดินทางจากสมาคมศิษย์เก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถนนพหลโยธิน ด้วยรถตู้ 3 คัน จำนวน 24 คน แวะพักตามระยะทางที่เหมาะสมเพื่อเข้าห้องสุขาปัสสาวะและรับประทานน้ำชากาแฟและอาหาร บนเส้นทางกรุงเทพ-นครสวรรค์-พิษณุโลก-อุตรดิตถ์-เด่นชัย-แพร่-อำเภอเวียงสา-จนถึงเวลา  17.30 น.เข้าพักแรมที่บ้านกิตตินันท์ ตำบลศรีสะเกษ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน


ท่านสมหมาย ดอนจันเขียว ประธานชมรมผู้อาวุโสกรมป่าไม้ มอบเงินแด่ประธานกรรมการมูลนิธิ

บ้านริมน้ำ

บ้านมูลนิธิฯ

            แยกย้ายกันเข้าพักแรมในบ้านพักสำนักงานมูลนิธิอาคาร 2 ชั้น  1 หลัง ห้องสุขา 3 ห้อง มีเครื่องทำน้ำอุ่น 1 เครื่อง  บ้านชมรมคุณเหี่ยว 1 หลัง ห้องสุขา 1 ห้อง มีเครื่องทำน้ำอุ่น 1 เครื่อง บ้านหลังเขา 2 ชั้น 1 หลัง ห้องสุขา 2 ห้อง มีเครื่องทำน้ำอุ่น 2 เครื่อง บ้านริมน้ำริมสระน้ำกลางหมู่บ้าน 1 หลัง ห้องสุขา 2 ห้อง ไม่มีเครื่องทำน้ำอุ่นแต่อย่างใด


            แต่เมื่อไปถึง ได้เวลาอาหารพอดี หัวหน้าสมพล จินดาคำ หัวหน้าหน่วยจัดการต้นน้ำห้วยสามสบได้ตั้งโต๊ะอาหารรับรองที่สนามหญ้าหน้าอาคารเรียนกลางหมู่บ้าน  พร้อมคาราโอเกะบริการ อาหารหวานคาวก็สไตล์บ้านๆ ไม่มีสเต๊ก ไม่มีปิสซ่า มีแต่น้ำพริกอ่องผักลวกจิ้ม แกล้มแคบหมู ต้มยำปลาคังแม่น้ำน่าน ยำไก่บ้านใส่มะแขว่น


แม่ครัวหัวป่าก์บ้านกิตตินันท์

               อิ่มหนำสำราญตามสมควรก็เข้าที่พักแรมคืน ส่วนใครจะอาบน้ำหรือไม่อาบในยามหนาว ก็แล้วแต่ภูมิต้านทานของแต่ละคน  อากาศในเดือนมกราคมไม่หนาวจนเกินไป แม้ว่าภูมิอากาศปีนี้ค่อนข้างแปรปรวน แต่อย่างไรก็ตาม กำหนดการได้แจ้งว่า เวลา 05.30 น.จะออกเดินทางไปชมทะเลหมอกที่ดอยเสมอดาว ทุกคนจึงเฝ้ารอคอย


               วันที่ 16 มกราคม 2559 ได้เวลาตีห้าครึ่ง  ทุกคนพร้อมออกเดินทาง จากบ้านพักกลางหุบเขาห้วยสามสบ รถตู้ 2 คันพร้อมนักท่องเที่ยวทริปเที่ยวทำบุญพร้อม รถตู้แล่นไปตามถนนสายเวียงสา-นาน้อย(ถนนเจ้าฟ้า) ระยะทาง 12.5 กม. เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนสายนาน้อย-อุทยานแห่งชาติศรีน่าน(ผาชู้) ถนนลาดยางอย่างดี รถแล่นฝ่าสายหมอกบางๆที่ไหลเอื่อยๆไปทั่วบริเวณระยะทาง 16 กม.


              ถึงดอยเสมอดาว-ผาหัวสิงห์ รถตู้จอด นักท่องเที่ยวลงไปสัมผัสบรรยากาศยามเช้าตรู่ ลมพัดพรูเย็นยะเยือก แต่ไม่มีใครหลบในรถ ทุกคนสู้ๆ ที่ลานดอยเสมอดาวคลาคล่ำไปด้วยเต็นท์นอนของนักท่องเที่ยว เต็มบริเวณ บนสันดอยริมเชิงเขาผาหัวสิงห์นักท่องเที่ยวเบียดเสียดกันรอชมทะเลหมอกและตะวันขึ้น บ้างก็เซลฟี่ตนเอง บ้างก็เซลฟี่เป็นกลุ่ม


               นักท่องเที่ยวมีทุกวัย ตั้งแต่เด็กน้อย 3-4 ขวบขึ้นไปจนถึงวัย 80 ปี คนหนุ่มก้าวไปข้างหน้า คนแก่ค่อยๆย่องตามขึ้นไปทีละก้าวๆ เด็กน้อยวิ่งปรื๊ดเดียวถึงยอดเขา ความสับสนวุ่นวายเกิดขึ้นเมื่อมีเสียงตะโกนว่า หมอกขึ้นแล้ว ๆ เร่งเร้าให้คนแก่อย่างผมต้องเร่งก้าวย่างอย่างเหนื่อย เมื่อยข้อเข่าแต่ก็กลัวจะไม่ทันหมอก บ้าก็บ้าวะ

               แต่ธรรมชาติของทะเลหมอกที่ผาชู้หรือที่ดอยเสมอดาว หากคืนใดลมแรง เช้าทะเลหมอกจะไม่ค่อยขึ้น แต่ถ้าวันใดลมอับหนาวจัด วันรุ่งขึ้นทะเลหมอกจะขึ้นหนา สวยสมใจ วันนี้จึงเป็นอีกวันที่ความแปรปรวนเกิดอย่างเคย แต่ถึงอย่างไร ดอยเสมอดาวก็โด่งดังจนนักท่องเที่ยวอยากไปรอชม แม้จะสมใจบ้างไม่สมใจบ้างก็ตาม


บ้านทาร์ซาน บ้านกิตตินันท์

              นี่คือแรงโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านโลกโวเชียลเน็ตเวิร์ค  ประกอบกับคำว่า กระซิบรักที่เมืองน่าน ได้ทำให้เกิดกระแสเที่ยวน่าน  อำเภอนาน้อยวันนี้จึงไม่เหมือนอำเภอนาน้อยในอดีตอีกต่อไป ตลาดมีร้านอาหารเพิ่มขึ้น รีสอร์ทที่ไม่เคยมีเลยก็มีมากขึ้นๆ ที่พักแรมบนอุทยานกลายเป็นเรื่องล้าสมัย ทุกคนไปนอนรีสอร์ทและนอนเต็นท์กันเสียส่วนใหญ่


หน.กลิ่นศักดิ์ ปิติวงษ์ เจ้าของกิจการกาแฟชะมดแม่ฟ้าหลวง

              หลังจากนั้น รถตู้ของนักท่องเที่ยวทริปเที่ยวทำบุญก็นั่งกลับมายังหุบเขารอรักเหมือนเดิม ข้าวต้มเครื่องรออยู่ใต้ร่มต้นไทร กาแฟร้อนปีนี้ไม่ธรรมดา

              เมื่อ กลิ่นศักดิ์ ปิติวงษ์ อดีตผู้ช่วยหัวหน้าหน่วยปรับปรุงต้นน้ำห้วยสามสบ ปัจจุบันหัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าดอยตุง นำกาแฟชะมดมาเปิดนิทรรศการให้ชิมฟรี


             กลิ่นศักดิ์ มีผู้ร่วมงานเป็นชาวเขาเผ่ามูเซอแดงและชาวอาข่า แต่ละคนปลูกกาแฟไว้ใต้ร่มไม้ดอยตุง กลิ่นศักดิ์เพาะเลี้ยงอีเห็นข้างลายและอีเห็นเครือ ซึ่งเป็นสัตว์ป่าไม้คุ้มครองให้อาหารด้วยเมล็ดกาแฟ แล้วนำขี้ชะมดไปเข้ากระบวนการผลิตกาแฟชะมด ได้รับความสนใจจากคณะกรรมการมูลนิธิสมเพิ่มกิตตินันท์จำนวนมาก


ผอ.สุมิตรา ฉั่วตระกูล ชี้แจงลักษณะบัญชี

             เวลา 10.00 น. คณะกรรมการมูลนิธิสมเพิ่ม กิตตินันท์ เข้าประชุมกรรมการสามัญประจำปีพ.ศ.2558 ผู้เข้าร่วมประชุมกรรมการครบตามระเบียบ สรุปว่า

             ปีการศึกษา พ.ศ.2558 ได้บริจาคทุนไปดังนี้คือ

             ระดับอนุบาล จำนวน 4 ทุนๆละ 500 บาทเป็นเงิน 2,000 บาท


             ระดับประถมศึกษา จำนวน 22 ทุนๆละ 800 บาท เป็นเงิน 17,600 บาท       

             ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 5 ทุนๆละ 3,500 บาท เป็นเงิน 17,500 บาท

             ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 9 ทุนๆละ 6,000 บาท  เป็นเงิน 54,000 บาท


             ระดับอุดมศึกษา จำนวน 10 ทุนๆละ 10,000 บาท  เป็นเงิน 100,000 บาท

             ทุนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ  จำนวน 1 ทุนๆละ 10,000 บาท

             รวมเป็น 51 ทุน เป็นเงิน 201,100 บาท


             ปีการศึกษา 2559 คณะกรรมการได้อนุมัติเงินทุนดังนี้คือ

             ระดับอนุบาล จำนวน 6 ทุนๆละ 500 บาทเป็นเงิน 3,000 บาท

             ระดับประถมศึกษา จำนวน 22 ทุนๆละ 800 บาท เป็นเงิน 17,600 บาท      


รศ.ประคอง อินทร์จันทร์  กก.กิตติมศักดิ์

             ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 5 ทุนๆละ 3,500 บาท เป็นเงิน 17,500 บาท

             ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 10 ทุนๆละ 6,000 บาท  เป็นเงิน 60,000 บาท

             ระดับอุดมศึกษา จำนวน 7 ทุนๆละ 10,000 บาท  เป็นเงิน 70,000 บาท


             ทุนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ  จำนวน 1 ทุนๆละ 10,000 บาท

             รวมเป็น 51 ทุน เป็นเงิน 201,100 บาท 178,100 บาท 


ท่านอุดม หิรัญพฤกษ์ ประะานฯ

หน.สมพล จินดาคำ กล่าวรายงาน

             หลังการประชุมเสร็จสิ้น คณะกรรมการมูลนิธิ กรรมการกิตติมศักดิ์ และผู้ร่วมบริจาคได้ร่วมกันแจกทุนต่างๆแก่นักเรียนนักศึกษา  คณะจากมูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถีนำโดยนางสาวเบญจวรรณ ขำภรัตน์ และคณะได้มอบเวชภัณฑ์ต่างๆแก่หัวหน้าสมพล จินดาคำ เพื่อให้ใช้ในการรักษาพยาบาลแก่ชาวบ้านในหุบเขาแห่งนี้ต่อไป


             กรรมการอีกหลายท่านได้ร่วมกันแจกของเล่นเด็กๆ เป็นที่น่าชื่นชมยิ่ง เยาวชนแต่ละรุ่นที่ได้รับทุนการศึกษาได้ออกมาแสดงการเต้นการฟ้อนอย่างสวยงามและสนุกสนาน ได้รับรางวัลกันไปตามธรรมเนียม  บรรยากาศสนุกสนานกันตามประสาคนใจบุญ นักเรียนทุน นางสาว ปาริชาติ ยอดทิพย์ ชั้นม.6 เป็นตัวแทนนักเรียนทุน ออกมากล่าวขอบคุณ


             สุดท้าย บัณฑิตใหม่ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีจำนวน 2 คนได้แก่

             นางสาว ทิพย์กมล ใจทิพย์ คณะครุศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย  และนางสาว พิมพ์ชนก กำอิน เอกภาษาไทย  จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่  ได้ออกมากล่าวแสดงความขอบ คุณแก่คณะกรรมการมูลนิธิสมเพิ่ม กิตตินันท์  ทำเอายิ้มน้อยยิ้มใหญ่กันไปด้วยความภูมิใจในความสำเร็จของนักเรียนทุน


              ปิดจ๊อบด้วยท่านผู้ใหญ่บ้านทองชั้น ธิเขียว ได้กล่าวขอบพระคุณคณะกรรมการและผู้ร่วมจิตกุศลในครั้งนี้เช่นเคย หลังจากนั้นก็ร่วมรับประทานอาหารกลางวันกันใต้ร่มต้นไทรข้างสนามโรงเรียนนั่นเอง  เวลาจากลามาถึงแขกผู้มีเกียรติเดินไปหยิบของฝากประเภทฟักหอมเขียว ฟักทอง ของฝากจากชาวบ้านป่าติดไม้ติดมือกันไป ไม่ให้ชาวบ้านเสียน้ำใจ


ผู้ใหญ่ทองชั้น ธิเขียว

           ทุกงานการรับรอง ต้องขอขอบคุณทัศนีย์ กาพรม ตำแหน่งลูกจ้างประจำหน่วยจัดการต้นน้ำห้วยสามสบ และคณะๆที่ร่วมกันจัดทำและให้บริการเสมอมาตลอด 30 ปี ก็ขอให้อายุยืนๆและโชคดีมีสุขภาพแข็งแรงทุกคนๆ ทำดีแม้อยู่เบื้องหลัง เจ้าพ่อพรานโตนต้องไม่ลืมแน่ๆ  791 584 528 เลือกเอานะๆ เลขนี้อาตารย์ธงให้เอง


              จากบ้านกิตตินันท์ หุบเขาในอำเภอนาน้อย ด้านใต้ของจังหวัดน่าน พวกเราขึ้นรถตู้แล้วออกเดินทางไปยังเป้าหมายคืนที่ 2 จะไปนอนที่อุทยานแห่งชาติขุนน่าน อ.บ่อเกลือ ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านเหนือของจังหวัดน่าน จึงต้องเดินทางผ่าน อำเภอเมือง ข้ามแม่น้ำน่านผ่านไปวัดพระธาตุแช่แห้ง ก็แล้วจะไม่แวะไปไหว้กันละหรือ ย่อมไม่ได้


รถตู้คัน 3 ผมถ่ายรูปให้เอง

              หลังจากนั้นจึงเดินทางมุ่งหน้าไปตามถนนสายเมืองน่าน-สันติสุข เมืองจัง-ไต่ระดับความสูงของขุนเขาไปทางด้านเหนือฝั่งซ้ายของแม่น้ำน่าน วิวทิวทัศน์ที่เห็นเป็นภูเขาสลับซับซ้อนหัวโล้นผสมกับป่าไม้ที่หลงเหลืออยู่ มีหมู่บ้านตั้งอยู่ทุกระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 350-580-800-980 จนไล่ขึ้นไปเรื่อยๆ ถึง 1100 เมตร


ภูเขาหัวโล้นก็สวยนะ

              ตะวันลับขอบฟ้าไปแล้วเมื่อผ่านโครงการภูฟ้า อำเภอบ่อเกลือ และเข้าเขตอำเภอบ่อเกลือก็มืดพอดี  อากาศหนาวเย็นขึ้นตามระดับความสูง  เมื่อรถตู้จอดที่อุทยานแห่งชาติขุนน่าน ก็เห็นร้านอาหารเปิดไฟสว่างไสว ทุกคนกรูกันลงไป 3 รถตู้ เพื่อเดินไปยังห้องสุขาทำหน้าที่ให้สุขสบายก่อนอื่นใด  สบายเนื้อสบายตัวแล้วจึงเดินกันกลับเข้าที่รับประทานอาหาร(สั่งไว้)

              บ้านพักอุทยานแห่งชาติขุนน่านสะดวกสบายตามฐานะ มีถึง 3 หลัง นอนได้ 9 คนหลังหนึ่ง ห้องละ 3 คนอีก 1 หลัง และขนาด 6 คนนอนอีก 1 หลัง กางเต็นท์เพื่อความสะใจอีก 4 เต็นท์ อากาศหนาวเย็นลงทุกขณะ ภาวการณ์บอกว่าสบายๆได้สัมผัสอีกบรรยากาศหนึ่ง ซึ่งพร้อมเพรียงในการรองรับมากกว่าบ้านพักของมูลนิธิในหุบเขา

              เช้ามืดวันที่ 17 มกราคม 2559 รถตู้พร้อมรถนำขบวนไปชมทะเลหมอกของอุทยานแห่งชาติขุนน่าน เป็นทะเลหมอกที่ฝังตัวอยู่ในหุบเขาเลียบชายแดนประเทศลาว มีหมู่บ้านมองเห็นไรๆในเงาหมอก เจ้าหน้าที่บอกว่าข้ามสันเขาลูกนั้นไปก็เป็นประเทศลาวแล้ว พระอาทิตย์ขึ้นทางฝั่งเขาประเทศลาว แต่ต้นไม้บดบังหมดจึงมองไม่เห็น ได้ภาพตามที่เห็นนี่ละ


              หลังอาหารเช้าท่ามกลางสายหมอกบางๆ แสงแดดสาดใส่อุ่นขึ้นทีละนิดๆ เป็นบรรยากาศกลางหุบเขาบนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,000 เมตร เย็นสบายจริงๆ

อิ่มแล้วก็เตรียมพร้อมที่จะออกเดินทางไปชมบ่อเกลือโบราณ ซึ่งเป็นเกลือสินเธาว์  ไม่มีไอโอดีน แต่ต่อมาได้มีการเติมไอโอดีนเข้าไปด้วย จึงเป็นเกลือที่ทรงคุณค่าขึ้น


                  บ่อเกลือโบราณแห่งนี้ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบจังหวัดน่าน เยาวชนน้อยแปลงร่างเป็นไกด์นำเที่ยวและอธิบายเรื่องราวเก่าแก่ให้ได้ความรู้ประกอบการท่องเที่ยวยามเช้า มีร้านขายผลผลิตเกลือมากมาย ร้านเสื้อผ้าทอมือ และที่ขาดไม่ได้ก็ร้านกาแฟร้อนๆ นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมและแวะดื่มชีลๆได้เลย

                 จากนั้นเดินทางต่อไปยังอุทยานแห่งชาติดอยภูคา เพื่อให้สมาชิกกลุ่มที่ไม่เคยไปได้สัมผัสนิดนึง  ได้แวะเข้าห้องสุขาลดน้ำหนัก แล้วก็ฟังเรื่องเล่าเกี่ยวกับต้นชมพูภูคา และต้นเต่าร้างยักษ์ จากนั้นเป็นการเดินทางลงจากดอยภูคาเข้าไปยังตลาดอำเภอปัว ที่นี่ได้นั่งกินข้าวซอยเมืองปัว เป็นอาหารกลางวัน


ดอกทองหลางป่า ไม้ในถิ่นกำเนิด ถ้าปลูกเยอะๆจะสวยไหม

กัลปพฤกษ์ ไม้ไทยในถิ่นกำเนิด น่าปลูก

ดอกกัลปพฤกษ์ สวยหวานสำราญใจ

                อิ่มแล้ว เดินทางต่อไปแวะชมเครื่องเงินที่ร้านขายของที่ระลึกอำเภอท่าวังผา  จนบ่ายคล้อยจึงเคลื่อนขบวนไปยังอำเภอสองแคว จังหวัดน่าน แล้วมุ่งหน้าไปยังอุทยานแห่งชาติถ้ำสะเกิน อุทยานแห่งชาติที่มีถ้ำทองเป็นอันซีนหนึ่ง ตั้งอยู่เหนือหมู่บ้านสะเกิน เพียงข้ามห้วยไปก็เข้าเขตจังหวัดพะเยา ตั้งอยู่บนที่ราบในหุบเขาสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 800 เมตร


บ้านพักถ้ำสะเกินอยู่สูงไปหน่อย ขึ้นลงยากมากๆ

               คืนนี้ หลับนอนที่นี่ อุณหภูมิประมาณ 19 องศาเซลเซียส โดยไม่ต้องมีเครื่องปรับอากาศ และต้องปิดประตูหน้าต่างมิดชิด เป็นบรรยากาศบ้านพักเชิงเขาสูง ท่ามกลางแมกไม้ แต่ไม่มีมุมมองวิวทิวทัศน์ใดๆ เห็นแต่ภูเขาเบื้อขวาเป็นหน้าผาสูงชัน อันเป็นที่ตั้งของถ้ำหลวงและถ้ำทองอันแปลกประหลาดนั่นเอง

                “ที่นี่มีถ้ำทองเป็นอันซีน และมีฟอสซิลหอยทะเลอายุกว่า 299ล้านปี สัตว์ป่าสำคัญนี่มีเลียงผามากมายตามหน้าผา น้ำตกก็แปลกเพราะว่าเป็นสีเขียวมรกตครับ ส่วนทะเลหมอกนั้น อยากให้ไปชมกันพรุ่งนี้ที่ดอยจี๋ครับ เวิ้งว้าง กว้างขวาง อลังการมากกว่าไปชมทางด้านดอยภูลังกาครับ”

                หัวหน้าอุทยานแห่งชาติถ้ำสะเกิน รณกฤต จักรเงิน เล่าให้ฟัง  

                 เช้ามืดวันที่ 18 มกราคม 2559  เจเจ ธีระภาพ พัฒนใหญ่ยิ่ง อาสาสมัครคนเดิมขับรถมารอคณะเพื่อนำไปยังจุดหมาย แต่เจเจต้องนำอีกคณะไปยังดอยภูลังกา จ.พะเยา จุดชมวิวยอดนิยม  ส่วนรถปิ๊กอัพอุทยานฯพาไปจุดชมวิวดอยจี๋ ระยะทาง 8 กม.เขตจ.น่าน ระดับความสูง 980 เมตรจากน้ำทะเลปานกลาง


เพื่อนเก่าเหล้าดี ฟรีอีกต่างหาก 

                 รวมตัวกันได้ครบแล้วก็ออกเดินทาง  ด้วยอารมณ์เวลาจะไปเหมือนไก่จะบิน ร่าเริงบันเทิงใจแม้ต้องนั่งกระบะท้ายรถ โต้ลมหนาวที่สาดซัด มือที่จับขอบกระบะเย็นแทบแข็ง โชคดีมีหมวกสวมใส่ป้องกันใบหน้าไว้จากกระแสลมที่พัดจัด  ระยะทาง 8 กม.ไม่ไกลถ้ายามร้อน แต่ยามหนาวกับสภาวะต้องโต้ลม ยากจะบรรยาย


หนาวก็สู้ อยากดูทะเลหมอก

                 ถึงดอยจี๋ กระโดดลงจากรถแล้วก็รี่ไปยังจุดชมวิว ได้ภาพมาอย่างที่เห็นนี่แหละครับ ไม่เหมือนดอยเสมอดาว อำเภอนาน้อย ไม่เหมือนดอยหัวหมด อำเภออุ้มผาง ไม่เหมือนห้วยน้ำดัง อำเภอปาย และไม่เหมือนดอยอ่างขาง อำเภอฝาง แต่เป็นทะเลหมอกที่ไล้ไปตามยอดไม้ปลายดอย เป็นริ้วรายคล้ายภาพวาดเขียนจีนมากกว่า


             ชมและถ่ายรูปกันจนหนำใจ ก็เดินทางกลับ สภาพที่เห็นคือนักท่องเที่ยวรุ่นเดอะทั้งสิ้น แต่หัวใจวัยรุ่น ทุกคนยังสดใสและไม่มีร่องรอยบุบสลายใดๆ กล้าแกร่งดุจเหล็กไหล  หลังอาหารเช้า ออกเดินทางกลับกรุงเทพมหานคร ผ่านเชียงม่วน-เมืองสอง ร้องกวาง และเด่นชัย ที่นี่แวะเยี่ยมบัณฑิต พัชรินทร์ อะริยะวงศ์ ที่เปิดร้านขายของที่ระลึกและอาหารพื้นบ้าน


เยี่ยมร้านขงพัชรินทร์ อริยะวงศ์ บัณฑิตของมูลนิธิสมเพิ่มกิตตินันท์ที่เด่นชัย

               ถ่ายรูปหมู่ไว้เป็นที่ระลึกให้กับพัชรินทร์ อัดแล้วขยายภาพติดฝาผนังร้านเป็นสิริมงคล รวยๆๆๆ หนึ่งในอดีตนักเรียนทุนของมูลนิธิสมเพิ่ม กิตตินันท์ ที่ทุกคนภูมิใจ

Tags : มูลนิธิเฮียะ เปาอินทร์

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view