http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 07/08/2024
สถิติผู้เข้าชม14,331,281
Page Views16,660,706
« October 2024»
SMTWTFS
  12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031  
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

ท่องอุบลแบบคนอุบล ๙ การศึกษายุคแรกในอุบลราชธานี

 ท่องอุบลแบบคนอุบล ๙  การศึกษายุคแรกในอุบลราชธานี

          ท่องอุบลแบบคนอุบล ๙

การศึกษายุคแรกในอุบลราชธานี

 

โดย เอื้อยนาง

 

 

ท่องอุบลตอนนี้ขอเล่าประวัติศาสตร์การศึกษานะคะ

วัดสุปัฏนารามวรวิหาร  วัดแรกเพื่อสอนอักษรสมัย ภาษาไทย และบาลีในอุบลราชธานี

            ย้อนหลังไปดูประวัติศาสตร์อุบลราชธานี  ตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔  หลังจากหลบหนีภัยไล่ล่าจากราชสำนักเวียงจันทน์  ไปหลายแห่งจนสูญเสียบรรพบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ พระวอ พระตา ผู้นำพาลูกหลานเป็นสายธารซึมซ่านพงไพรไปแล้ว  เจ้าคำผง(พระประทุมสุรราช)ได้สืบหน่อแทนแนวอันห้าวหาญ ด้วยจิตวิญญาณแห่งความรักอิสระก็ได้พาลูกหลาน  ว่านเครือ  ที่เหลือจากเวียงดอนกองชายนครจำปาศักดิ์มาตั้งอยู่ดอนมดแดง  ขยับสู่บ้านท่าบ่อ บ้านห้วยแจระแม(ประมาณ พ.ศ.๒๓๒๑) ภายใต้พระบรมโพธิสมภารแห่งพระเจ้ากรุงธนบุรี  และต่อมาก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นพระประทุมวรราชสุริยวงศ์เจ้าเมือง  ยกบ้านห้วยแจระแมเป็นเมืองอุบลราชธานีศรีวนาไลยประเทศราช  เป็นช่วงต้น ๆ ที่เปลี่ยนเมืองหลวงจากกรุงธนบุรีมาเป็นกรุงรัตนโกสินทร์  การปกครองยุคแรกตั้งอุบลราชธานียังใช้จารีตการปกครองแบบล้านช้าง คือ มีตำแหน่งสูงสุด ๔ ตำแหน่ง  ได้แก่ เจ้าเมือง  อุปฮาด(อุปราช)  ราชบุตร  ราชวงศ์ ซึ่งล้วนเป็นลูกหลานเชื้อสายจากพระวอ พระตา

            จากห้วยแจระแมขยับขยายเข้าดงอู่ผึ้ง บุกเบิกถากถางตั้งบ้านเรือน เรือกสวน ไร่ นา  ไม่กี่ปีอุบลราชธานีก็สร้างเนื้อสร้างตัวเติบโตมั่นคงขึ้นทุกด้านทั้งการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม ศาสนาและการศึกษา


            ในด้านการศึกษานั้นเจริญควบคู่กับด้านการศาสนา  เมื่อลงหลักปักฐาน ก่อร่าง สร้างบ้าน แปลงเมือง ก็รวมเอาวัดวาอารามเป็นสถานที่สำคัญที่ต้องก่อสร้างไปพร้อมกัน ซึ่งนายช่าง และพระสงฆ์องค์เจ้าก็ล้วนสืบทอดจากล้านช้างเวียงจันทน์ จำปาศักดิ์มาด้วยกัน  วัดหลวงซึ่งเป็นวัดแรกของอุบลราชธานี ที่เจ้าคำผงพ่อเมืองคนแรกนำพาการก่อสร้างนั้นมีโบสถ์เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมล้านช้างผุดขึ้นอย่างสง่างาม ณ ริมฝั่งแม่น้ำมูล แล้ววัดอื่น ๆ ก็ผุดพรายขึ้นเหมือนดอกบัวสีสดสวยชูก้านเบ่งบานท่ามกลางใบสีเขียวของดงอู่ผึ้ง  เป็นที่พึ่งทางใจให้ความสงบสุขร่มเย็นหลังการถูกไล่ล่ามาเกือบกึ่งศตวรรษ  เป็นแหล่งเรียนรู้ฝึกและสอนกุลบุตร กุลธิดา ของประชาชาวเมืองแห่งดงอู่ผึ้ง กุลบุตรนั้นนอกจากจะได้เรียนรู้พระธรรมคำสอนด้านศาสนา ภาษาไทน้อย ไทขอมแล้วยังได้ฝึกฝนด้านงานช่าง งานฝีมือ  ฮูปแต้ม เขียนสี ลงรักปิดทอง สับลายหยวกกล้วย และอื่น ๆ ไปด้วย  ส่วนกุลธิดาได้เรียนรู้ขนบ จริยะธรรมจรรยา ตลอดงานฝีมือ แต่งขันห้า ขันแปด ประดิดประดอยเพื่อการเคารพและบูชา จากผู้เฒ่าเหล่าญาติโยมในวัดไปด้วย(ขัน-พาน)

            ทั้งหมดล้วนเป็นไปตามจารีตล้านช้าง แม้การหัดเรียนเขียนอ่านก็เรียนภาษาลาว ภาษาบาลีด้วยตัวอักษรไทน้อย(ลาว) และอักษรขอม 


            และด้วยความสัมพันธ์กับทางราชสำนักกรุงเทพฯ ทำให้มีพระภิกษุจากอุบลราชธานีได้รับการศึกษาจากสำนักในวัดที่กรุงเทพฯโดยตรงกลับมาเผยแพร่ในอุบลราชธานีช่วงต้น ๆ ที่เป็นที่รู้จักคือ ท่านเจ้าคุณพระอริยะวงศาจารย์(สุ้ย)วัดทุ่งศรีเมืองซึ่งได้รับการศึกษาจากสำนักวัดสระเกศ

            แต่โรงเรียนแห่งแรก  ตั้งขึ้นที่วัดสุปัฏนารามวรวิหาร ซึ่งเป็นวัดในนิกายธรรมยุตวัดแรกของอุบลราชธานีและอีสานด้วย  นับเป็นวัดแรกที่ตั้งเป็นโรงเรียนสอนภาษาบาลีและภาษาไทย อักษรไทยในอุบลราชธานีเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๓๙๖ - ๒๔๐๔ (เริ่มสร้างวัด๒๓๙๓สมัยพระพรหมวรราชสุริยวงศ์ เจ้าเมืองคนที่ ๓ ของอุบลราชธานี (๒๓๘๘-๒๔๐๖) โดยมีบุคคลสำคัญจัดการด้านการเรียนการสอน คือ ท่านพันธุโล(ดี)เจ้าอาวาส  และท่านเทวธัมมี(ม้าว)รองเจ้าอาวาส พร้อมกับท่านสมฺปนฺโน(ก่ำ)ซึ่งเป็นชาวเมืองโขง(สีทันดร)ซึ่งต่างเป็นสัทธิวิหาริกของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้รับการศึกษามาจากวัดสำนักวัดบวรนิเวศน์วิหาร มาด้วยกัน (ต่อมาท่านสมฺปนฺโน ได้ไปตั้งวัดที่เมืองโขงบ้านเกิด)  ช่วยกันสั่งสอนกุลบุตรอุบลราชธานีในเวลานั้นจนมีผู้ศรัทธาเลื่อมใสมากขึ้น  ทั้งลูกเจ้าบ้าน หลานเจ้าเมือง ตลอดจนลูกกรมการเมือง  ลูกพ่อค้าคหบดีและประชาชนทั่วไปจึงมีการขยับขยายออกไป จากวัดสุปัฏนารามวรวิหาร  ก็มีการสร้างวัดธรรมยุตในอุบลราชธานีขึ้นอีก เป็นลำดับคือ วัดสีทอง(วัดอุบลศรีรัตนาราม)  วัดสุทัศน์ และวัดไชยมงคล

            เมื่อวัดธรรมยุตตั้งมั่นในอุบลราชธานีแล้วนั้น  พระสงฆ์ในอุบลราชธานีจึงมี ๓ ลัทธิคือ  “พระคองลาว” เป็นพระที่ยึดตามแบบเดิมจากล้านช้าง  “พระคองไทย” เป็นสายท่านเจ้าคุณพระอริยะวงศาจารย์(สุ้ย)ที่รับมากจากรุงเทพมหานครก่อนตั้งวัดสุปัฏนาราม  ส่วนพระธรรมยุตเรียก “พระคองมอญ” (คอง-ครรลอง ...ผู้เขียน)

            ในปีพ.ศ.๒๔๓๙ พระญาณรักขิต(ต่อมาคือพระอุบาลีคุณูปมาจารย์-จันทร์ สิริจนฺโท)ได้มอบหมายให้มหาอ้วน  ติสฺโส(สมเด็จพระมหาวีระวงศ์) และคณะรวบรวมอุปกรณ์การศึกษาจากกรุงเทพมหานครมาเพื่อจัดตั้งโรงเรียนขึ้นที่วัดสุปัฏนารามอย่างเป็นทางการ ชื่อ โรงเรียนอุบลวิทยาคม” สอนทั้งพระเณรและคฤหัสถ์ชายในภาษาบาลี ภาษาไทย โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานทรัพย์จำนวน ๑๐ ชั่งเป็นทุนใช้จ่ายในการเรียนการสอน เมื่อมีนักเรียนมากขึ้นโรงเรียนคับแคบจึงได้ย้ายไปตั้งที่มุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือของทุ่งศรีเมือง (บริเวณที่ตั้งโรงเรียนอนุบาลอุบลราชธานีในปัจจุบัน) ได้นามว่า โรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลอุบลราชธานี เบ็ญจะมะมหาราช เป็นโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชหลังแรกและมีการย้ายออกไปอีกสองแห่งกระทั่งมาเป็นโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชอุบลราชธานีในปัจจุบันซึ่งเป็นสหศึกษา 


            โรงเรียนสำหรับกุลธิดาในอุบลราชธานีแห่งแรกเริ่มเมื่อ พ.ศ.๒๔๒๘ โดยนางจงราชกิจ(หนู ศิริโสถติ์)ได้จัดตั้งขึ้นที่บ้านของท่าน จึงถูกเรียกกันทั่วไปว่าโรงเรียนแม่หนู

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๔๓ พระญาณรักขิต(พระอุบาลีคุณูปมาจารย์)เจ้าคณะมณฑลอุบลราชธานีได้ตั้งชื่อโรงเรียนแห่งนี้ว่า นารีนุกูล โรงเรียนนี้ได้ตั้งหลักฐานมั่นคงขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๐ ณ บริเวณบ้านเหนือ  และย้ายอีกครั้งไปตั้งด้านทิศตะวันออกของทุ่งศรีเมือง  จนถึงปี พ.ศ.๒๕๑๕ ได้สร้างอาคารเรียนแห่งใหม่ขึ้น ณ สถานที่ในปัจจุบันและจัดการศึกษาแบบสหศึกษา

            ด้านการศึกษาของอุบลราชธานีนอกจากทางวัดพุทธศาสนา และทางราชการได้จัดขึ้นหลายแห่งแล้วยังมีเอกชน และบาทหลวงในคริสต์ศาสนาจัดตั้งโรงเรียนสอนกุลบุตรกุลสตรีอุบลราชธานีเพิ่มขึ้นอีกด้วย


            ในปีพ.ศ.๒๔๒๔ คณะบาทหลวงคาทอลิก   นำโดยหลวงพ่อโปรดอมม์(กงสตองซ์ ฌอง บัปติสต์ โปรดอมม์-Constant Jean Baptiste Prodhomme)มาถึงอุบลราชธานี เจ้าเมืองขณะนั้น(พระพรหมเทวานุเคราะห์)จัดให้เข้าพักในจวนข้าหลวง  ต่อมาจึงย้ายเข้าอยู่ในบริเวณบ้านบุงกะแทว(บุ่งกาแซว) ได้สร้างบ้านพักเด็กกำพร้า และที่สอนหนังสือเด็กกำพร้าขึ้นด้วย  เป็นจุดเริ่มต้นของโรงเรียนอาเวมารีอา  และได้ตั้งอย่างเป็นทางการในพ.ศ.๒๔๙๐  ครั้นพ.ศ.๒๔๙๒ ได้รับอนุญาตให้เปิดสอนระดับชั้นมูลถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ นับเป็นโรงเรียนคาทอลิกแห่งแรกในอุบลราชธานีซึ่งต่อมาก็มีเพิ่มอีกหลายแห่ง

           สำหรับโรงเรียนเอกชน หรือโรงเรียนราษฎร์ในอุบลราชธานี ในยุคแรกได้มีผู้ก่อตั้งขึ้น เช่น

            โรงเรียนมัธยมวัดศรีทอง ตั้งเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๖ โดยรองอำมาตย์ตรีทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ใช้สถานที่ในวัดศรีทอง(ปัจจุบัน คือ วัดศรีอุบลรัตนาราม)เป็นเวลา ๑๐ ปีจึงย้ายไปตั้งที่ถนนศรีณรงค์ ต่อมาภายหลังได้รวมกับโรงเรียนวิไลวัฒนา 

           สำหรับสถานที่ในวัดศรีทองนี้นายฟองสิทธิธรรมได้ตั้ง โรงเรียนเทพอำนวยวิทยาลัย ขึ้นในเวลาต่อมาก็ย้ายไปอยู่ถนนชยางกูร เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนสิทธิธรรมศาสตร์ศิลป์ ซึ่งในปัจจุบันเป็นที่ตั้งวิทยาลัยโปลีเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 

           โรงเรียนวิไลวัฒนา โดยเจ้าศรีรัฐ ณ จำปาศักดิ์ เป็นเจ้าของและผุ้จัดการ ตั้งขึ้นประมาณ พ.ศ.๒๔๘๐ ในบริเวณบ้านพักของท่าน  ถนนพิชิตรังสรรค์ มีเจ้านางวิไลพรรณ ณ จำปาศักดิ์ เป็นครูใหญ่  ดำเนินมาจนหลังสงครามอินโดจีน ไทยได้จำปาศักดิ์คืน จากฝรั่งเศส เจ้าศรีรัฐ ณ จำปาศักดิ์ได้รับแต่งตั้งไปดำรงตำแหน่งนายอำเภอโพนทอง จังหวัดจำปาศักดิ์ โรงเรียนจึงย้ายไปอยู่ ณ วังสงัด ซึ่งเป็นที่ประทับเดิมของพลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลอุบลราชธานี พ.ศ.๒๔๓๖-๒๔๕๑  ต่อมาโรงเเรียนนี้ได้ย้ายไปอยู่สถานที่แห่งใหม่รวมกับโรงเรียนศรีทองวิทยา ชื่อใหม่ว่า โรงเรียนศรีทองวิไลวิทยา

          ยังมีโรงเรียนอีกหลายแห่งที่ตั้งขึ้นในยุคแรก ๆ ของอุบลราชธานีที่เปิดสอนระดับประถมและมัธยมศึกษาก่อนจะตั้งโรงเรียนฝึกหัดครู ซึ่งต่อมาคือวิทยาลัยครูอุบลราชธานีสถานศึกษาที่ครอบครัวเรา  นับจากพ่อ(เรียนโรงเรียนฝึกหัดครู) เอื้อยนาง และน้องทั้งสองได้ร่ำเรียนความเป็นครูมาค่ะ

๐๐๐

 

           

            

Tags : นกก้านตองหน้าผากสีทอง

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view