http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม13,942,033
Page Views16,247,413
« March 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31      
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

จากเห็ดถอบถึงเห็ดหอบ แต่อร่อยทุกปี

จากเห็ดถอบถึงเห็ดหอบ  แต่อร่อยทุกปี

จากเห็นถอบถึงเห็ดหอบ แต่อร่อยทุกปี

โดย เอื้อยจันทร์  เรื่อง-ภาพ

เห็ดถอบในป่าเต็งรัง

            ร้อนแท้ ร้อนอบอ้าว ร้อนไม่เกรงอกเกรงใจ ต้นไม้ในป่าเต็งรังหรือป่าแพะเชิงดอยพระธาตุทิ้งใบลดการคายน้ำตามธรรมชาติ เหมือนทุกปีๆมากว่า 46 ปีแล้ว(อายุคนเขียน) มองไปทางไหนมีแต่สีน้ำตาล กิ่งไม้แห้งๆ โกร๋นไปทั้งต้น  ซ้ำร้าย ไฟป่ามาเร็วกว่าที่คิด ไหม้ไปตามพื้นดินทีมีเชื้อไฟ เชื้อไฟหนาก็ไหม้จนเปลือกต้นเต็ง ต้นรัง ต้นเชือก มะเกิ้ม มะกอกป่า มะเม้า ต้นพลวงหรือต้นตองตึงใบใหญ่ๆ  ต้นพลอง ฯลฯ ไหม้จนดำ แต่ต้นไหนยังเป็นลูกไม้ต้นเล็กๆก็ไหม้จนตายไปไม่น้อย


            ต้นไม้ในป่าแพะหรือป่าเต็งรังนั้นส่วนใหญ่จะมีเปลือกหนาเพื่อป้องกันไฟ มีเหง้าใต้ดินสะสมอาหาร เมื่อยังเล็กๆอยู่ ถูกไฟไหม้ต้นบนดินตายไป แต่เหง้าซึ่งสะสมอาหารอยู่ไม่ตาย พอฝนลงสักโครมสองโครม ก็จะแตกหน่อใหม่ขึ้นเป็นต้นบนดินได้อีก ธรรมชาติจากความแห้งแล้ง ไฟป่าที่ไหม้ทุกปี  และสภาพดินลูกรัง ดินหินปน บางทีก็เรียกว่าดินกรวดขี้แมว น้ำไหลเลยง่าย ซึมลงดินได้น้อย ความชื้นในดินก็ต่ำ  ดินก็แห้งแล้ง ไม่อุ้มน้ำ ดินในป่าแพะจึงมีหน้าดินบาง แทรกตามโขดหิน รากไม้


            มีนาคม-เมษายน  จะเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดพอฝนเทลงมาแค่โครมเดียว ต้นไม้ป่าเหล่านี้ก็จะผลิใบอ่อนๆขึ้นทั้งราวป่า ชั่วเวลา 1-2 สัปดาห์ป่าที่เคยแห้งเกรียมก็เขียวขจี ด้วยใบไม้หลากสีสันตามเหล่าพันธุ์พืชนั้นๆ บางต้นใบอ่อนสีเขียวอ่อน บางต้นใบอ่อนสีสนิมเหล็ก บางต้นสีเหลืองแกมเขียว และบางต้นใบอ่อนสีแดงเลือดหมูสดใส  เป็นความสวยงามของผืนป่าที่ผลิใบใหม่ๆ


เห็ดถอบหนัง

            แต่พอย่างเข้าต้นเดือนพฤษภาคม เวลาเปลี่ยนคนเปลี่ยน ไม่สนใจกันแล้วว่าจะร้อนจะแล้ง แต่จะเตรียมอุปกรณ์การเก็บเห็ดถอบ เสียมสั้นๆขนาดเล็กๆพอเหมือมือ ซ่าหรือตะกร้าหรือกระบุงไม้ไผ่สาน มีสายคล้องไหล่  หมวกสานกันแดด ผ้าขาวม้าซับเหงื่อ และห่อข้าวนึ่งกับหมูปิ้ง  บ้านแต่ละหลังจะมีสัก 1-2 คนที่จะไปหาเก็บเห็ดถอบ หรือเห็ดเผาะ เว้นแต่ บ้านไหนจะเก็บไปขายก็จะแห่กันไปแทบยกครัว

เห็ดถอบฝ้าย

            เป้าหมาย ป่าแพะเชิงดอยที่มีต้นไม้ป่าแพะหรือป่าเต็งรังหนาแน่นจนถึงแทบไม่เหลือป่าอยู่แล้ว  แรกก็เดินเรียงหน้ากระดานกันขึ้นไป แต่ด้วยความเก่งของแต่ละคนไม่เท่ากัน การเดินก้มๆเงยๆขุดแซะหาเห็ดถอบจึงเริ่มกระจายพลัดพรายไปทั่วผืนป่า ไม่มีลำดับความเรียงแถวอีกต่อไป ใครมีกำลังและเห็นช่องทางได้เห็ดมากกว่าก็เร่งเดินไปด้วยความชำนาญ


            ใบตองตึงที่มักแตกจากตอ จะใบใหญ่ เหนียว แก่จะใช้มุงหลังคาบ้านหรือฝาบ้าน แต่ในป่าแตกใบใหม่อย่างป่าแพะ ใบเขียวๆใหญ่ๆของตองตึงจะใช้ห่อเห็ดถอบในรูปกรวย แล้วเย็บปากด้วยไม้กลัด เต็มกรวยก็เก็บใส่ก้นซ่า  ทีละห่อๆ เพื่อป้องกันแดดและลมที่จะทำให้เห็ดถอบกระด้าง  แต่แม่บ้านถุงพลาสติกบางคนก็เตรียมมาแล้ว ใส่ถุงพลาสติกแล้วก็มัดปากถุงใส่ในตะกร้าได้เหมือนกัน

            ยิ่งก้มๆเงยๆ เหงื่อกาฬก็ไหลจากตีนผมบนหน้าผากโหนก เหยาะลงที่ใบหน้า แล้วไหลรวมลงคอ ไหล่ หลัง ท้อง จนเปียกชุ่มไปทั่ว อากาศร้อนอบอ้าวยิ่งช่วยเพิ่มเหงื่อให้มากขึ้นๆ พอเงยหน้ามองเห็นก้นเพื่อนเก็บเห็ดไปไกลมากขึ้น ก็ต้องเร่งฝีเท้าและการก้มๆเงยๆ ไต่ขึ้นไปตามลาดเนิน อาการเหนื่อยเริ่มมาเยือน อาการท้อยังไม่เกิดด้วยว่าทุกครั้งที่ก้าวไปข้างหน้าคือได้เห็ดถอบมากขึ้นๆ


            แต่ถ้าเดินขึ้นไปแล้ว หาเห็ดไม่ทันเพื่อนๆ ก็จะเริ่มรู้สึกว่า ตกลงที่มาเดินหานี่มันเป็นเห็ดถอบ หรือว่าเห็ดหอบกันแน่ อาการเหนื่อยล้าเริ่มก่อกวนจิตใจ และชักจะลังเล เหลียวมองไปรอบๆก็รู้สึกว่า เพื่อนๆหายไปตามไหล่เขาด้านไหนกันหนอ  ในที่สุดก็นั่งลงโคนต้นเต็งที่แตกใบเขียวจนร่มครึ้มแล้ว พลิกห่อใบตองตึง นับจำนวน แล้วก็เริ่มรู้สึกว่า พอกินไปหลายมื้อแล้วนะ เอาแค่นี้ละมั่ง เห็ดหอบ


ใบตองตึง

            บ้านนอกถิ่นเหนือกับบ้านนอกถิ่นอีสาน มีพื้นที่ป่าเต็งรังหรือป่าแพะกระจายไปทั่ว จึงเป็นแหล่งผลิตเห็ดถอบสำคัญของแผ่นดิน เป็นตลาดที่สามารถเก็บหาของกินจากป่าได้ในทุกฤดูกาล เช่นหาเห็ดถอนหน้าร้อน หาผักหวานป่าหน้าร้อน หน้าฝนก็จะเป็นเห็ดหอม เห็ดด่าน เห็ดสารพัดชนิด ใบไม้ชนิดไหนกินได้ แตกมาใหม่ได้เวลาก็เป็นอาหารของชาวบ้าน มันคือภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบสานกันมายาวนาน  และชาวบ้านก็รู้ว่า ถ้าไปเด็ดใบต้นสามใบตายมากินละก็ได้ตายสมใจ


เห็ดถอบ

            เห็ดถอบหรือเห็ดเผาะในป่าแพะบ้านเรานั้น มี 2 ชนิด  เรียกว่าเห็ดฝ้าย(A. asiaticus )กับเห็ดเผาะหนัง(A. odoratus)  เห็ดทั้งสองชนิดนี้เกิดจากเชื้อรา Ectomycorrhiza แต่มีรูปลักษณะแตกต่างกัน  เห็ดเผาะฝ้ายจะมีขนาดใหญ่กว่า นุ่ม และมีเส้นใยเชื้อราผิวด้านนอก ส่วนเห็ดเผาะหนังจะกลม เรียบ ผิวนอกกรอบผิวในนุ่ม  เห็ดถอบหรือเห็นเผาะนั้นพบทั่วไปในเขตอบอุ่นถึงเขตร้อน หลายทวีป หลายประเทศ

            ในประเทศไทย จะพบว่าเห็ดถอบจะขึ้นในป่าแพะหรือป่าเต็งรัง  ทั้งภาคเหนือและภาคอีสาน  ในอเมริกาเหนือ จะพบใต้ร่มต้นสนและต้นโอ๊ค  ในอินเดียจะพบตามใต้ร่มต้น รัง และต้นสน  ที่เนปาลเคยพบเห็ดถอบสูง 3,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง  ฤดูกาลเก็บเห็ดถอบในประเทศไทยไปแล้ว ตอนนี้ที่เหลือพอหากินได้จะเป็นเห็ดถอบกระป๋องในน้ำเกลือ

            ทุกปี ปลายแล้งต้นฝน จะเป็นฤดูกาลที่ชาวเหนือและชาวอีสานเริงร่าหากินเห็ดถอบกันอย่างมีความสุข ป่ารกเรื้อกลับมีชีวิตชีวาอย่างไม่น่าเชื่อ ผู้คนทั้งหญิงและชายมุ่งหมายไปเก็บเห็ดถอบ  นักเรียนขอลาหยุดเรียนเพื่อไปเก็บเห็ดถอบมาขายหาทุนการศึกษา  แต่ก็ยังไม่เคยใครรวบรวมผลผลิตเห็ดถอบอย่างเป็นระบบในทางวิชาการว่า ในแต่ละปี มีปริมาณเห็ดถอบผลิตจากป่าแต่ละท้องถิ่น แต่ละภาค มากน้อยแตกต่างกันอย่างไร  ปริมาณเงินที่แต่ละครอบครัวได้แต่ละปี  หรือต้องมีต้นไม้ป่าเต็งรังชนิดไหนบ้างที่เห็ดดกกว่าต้นอื่นๆ 

            ในป่ากว้าง มีเรื่องราวมากมายให้ศึกษาวิจัย แต่รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับงานการศึกษาวิจัยเพียงใด เพราะถ้ารู้ว่า ป่าเต็งรังที่มองเห็นเป็นป่าแทบไม่เหลือต้นไม้ใหญ่ๆเลยนั้น มีคุณค่าแก่การดำรงชีวิตของคนบ้านป่าเชิงดอยสักเพียงใด  ถ้าสามารถศึกษาวิจัยจนได้ความจริง อาจเป็นอีกบริบทหนึ่งที่จะทำให้อยากอนุรักษ์ป่าเต็งรังเอาไว้ก็ให้เป็น “ซูปเปอร์มาร์เก็ต” ของคนบ้านป่าหากินได้ตลอดไป

             เห็ดถอบ ลวกจิ้มน้ำพริกตาแดงหรือน้ำปรุงเปรี้ยวๆเค็มเผ็ดๆ  หรือแกงคั่วใส่หน่อไม้ ผักชะอม หรือใบชะพลู แต่ละท้องถิ่นกินแตกต่างกันไปตามวัฒนธรรมการกินของแต่ละท้องถิ่นและแต่ละชนเผ่า มอญกินิย่าง กะเหรี่ยงกินอีกอย่าง ไทลื้อกินอีกอย่าง ยองก็กินอีกอย่าง ไทยเมืองเหนือก็กินอีกอย่าง คนอีสานก็กินตามความถนัดของตน  


 

Tags : ดอกไม้เทศและดอกไม้ไทยต้นที่ 99

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view