ตำนานบ้านทาร์ซาน
หน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำห้วยสามสบ ต.ศรีษะเกษ อ.นาน้อย จ.น่าน
โดย มณี บันลือ เรื่อง-ภาพ
เมื่อสงครามประชาชนสงบ
ปีพ.ศ.2521 ต้นหนาวราวๆเดือนตุลาคม ถือเป็นต้นปีงบประมาณของระบบราชการแผ่นดิน กรมป่าไม้สั่งให้นายธงชัย เปาอินทร์ นักวิชาการป่าไม้ 5 สังกัดกองนุรักษ์ต้นน้ำมาทำหน้าที่หัวหน้าหน่วยปรับปรุงต้นน้ำห้วยสามสบ แต่โชคไม่เข้าข้างเมื่อหัวหน้าใหม่มาทำงาน เกิดชาวบ้านรอบพื้นที่หน่วยต้นน้ำ 65,200 ไร่ ลุ่มน้ำห้วยสามสบ 13 หมู่บ้านก็รวมตัวกันเดินขบวนมาร้องเรียนให้งดการปลูกป่าต้นน้ำ เพราะชาวบ้านจะทำกิน นำขบวนโดย สจ.คำ (จำนามสกุลไม่ได้) บ้านหนองห้า เป็นหัวโจก
การประชุมชี้แจงเกิดขึ้นตั้งแต่ระดับตำบล จนถึงอำเภอนาน้อย แล้วก็ไม่จบ เสียงโห่ร้องในชัยชนะของชาวบ้านคือคำประกาศว่าให้ยุบเลิกหน่วยปลูกป่าปรับปรุงต้นน้ำแห่งนี้ แต่การต่อสู้ต้องถึงที่สุด จนถึงต่างฝ่ายต่างคัดเลือกตัวแทนไปเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดน่านขณะนั้น(จำชื่อไม่ได้) ให้ชาวบ้านเสนอความคิดก่อน แล้วให้หน่วยชี้แจง คำตัดสินของพ่อเมืองคือคำตัดสินของเจ้าเมือง
สงครามแย่งที่ดินทำกินของชาวบ้านแต่ฝ่ายกรมป่าไม้ถือว่าเป็นผู้บุกรุกแผ้วถางป่าทำไร่เลื่อนลอย จบลงด้วยคำตัดสินของเจ้าเมือง ว่า ให้หน่วยปรับปรุงต้นน้ำปลูกป่าปีละ 1000 ไร่ แล้วให้ชาวบ้านเข้ามาทำกินด้วยการปลูกพืชไร่อายุสั้นในสวนป่า ปีต่อปี ถ้าจะทำซ้ำในปีต่อไปในพื้นที่เดิมให้หน่วยต้นน้ำเป็นคนพิจารณา หน่วยราชการได้ปลูกป่าตามแผนงบประมาณ ชาวบ้านมีที่ดินทำกินปีละ 1000 ไร่ทุกปีที่หน่วยขยายพื้นที่ เป็นการปลูกป่าด้วยหลักการจัดการสวนป่าแบบอาศัยชาวไร่ ซึ่งอังกฤษเคยใช้ในพม่า
พลิกเกมส์สู้ เพื่ออนาคตของเรา
ในช่วงเวลาปีแรกนั้น (2522) เรื่องจบด้วยหัวหน้าหน่วยปรับปรุงต้นน้ำกับผู้ช่วยหัวหน้าหน่วย รวมกำลัง 2 ชีวิตข้าราชการ โดยมีเพื่อนร่วมงานแบ๊คอัพอยู่ข้างหลังอีก 35 ครอบครัว ซึ่งปลูกกระต๊อบอยู่กันแบบง่ายๆ คนไหนแข็งแรงก็สามารถสร้างบ้านด้วยไม้จริง คนไหนไม่แข็งแรงก็สร้างบ้านด้วยไม้ไผ่สับฟากมุงด้วยหญ้าคา มีทั้งอยู่เป็นห้องแถวและสร้างแยกเป็นหลัง
ทุกวันที่มีขบวนนักร้องเรียนมาเยือน ชาวบ้านห้วยสามสบหน้าถอดสี ถามแล้วว่ากลัว สจ.คำนักหรือไง คำตอบคือไม่กลัว สจ.คำ แต่กลัวไม่มีงานทำและไม่มีที่ดินในสวนป่าปลูกพืชไร่ หากที่นี่เลิกจ้างงาน ก็ต้องเร่ร่อนไปหาแหล่งงานใหม่ ไม่จบไม่สิ้น เด็กๆลูกๆของชาวบ้านในขณะนั้น คนที่โตที่สุด แต่ไม่ได้เรียนหนังสือคืออายุ 12 ปี นอกนั้นอายุต่ำลงมาคนละปีสองปี วิ่งเล่นกันไปวันๆเพราะพ่อแม่ไม่มีตังส์ซื้อเสื้อผ้าไปโรงเรียนบ้านหนองห้า ซึ่งห่างออกไป 7.5 กม.
ปีงบประมาณ 2522 การปลูกป่าปรับปรุงต้นน้ำห้วยสามสบ จำนวน 1000 ไร่ทำได้ครบตามแผน อัตราการรอดตาย 90% บำรุงสวนเดิม 4,700ไร่ (แต่มีงบบำรุงแค่ 3,000 ไร่)
หัวหน้าเป็นคนจังหวัดอื่น ผู้ช่วยก็เหมือนกัน ไม่มีพวก ไม่มีพ้อง ตัดสินใจไปเรียนเชิญตั้งแต่นายอำเภอจนถึงภารโรงทุกหน่วยราชการของอำเภอนาน้อย รวมหลายสิบชีวิต เลี้ยงแนะนำตนเองและผู้ช่วย ด้วยทุนค่าอาหารและเครื่องดื่ม สร้างความสัมพันธ์สานไมตรี เผื่อปีต่อไปเกิดการเดินขบวนอีก จะได้มีพวก งานเลี้ยงแนะนำตนเองผ่านไปด้วยดี เมื่อใครไปจังหวัดก็มักจะแวะลงมาเยี่ยมเยียนก่อนถึงบ้าน
มีเพื่อนภายนอกหรือจะลืมเพื่อนร่วมงาน
ปลูกป่าปรับปรุงต้นน้ำปีงบประมาณ 2522 ผ่านไปด้วยผลงาน 90% แฮปปี้กันทั่วหน้า แต่ไม่มีใครในสองคนได้สองขั้น นึกในใจ ช่างแม่งมัน รอดได้ก็บุญแล้ว เดือนตุลาคม 2522 เริ่มต้นงานสังสรรค์ชาวไร่ ปีที่ 1 ด้วยการตั้งคณะกรรมการไปตรวจไร่ของชาวบ้านนอกเขตหน่วย และของคนในหน่วย ว่าแปลงไร่ข้าว ข้าวโพด ฝ้าย ละหุ่ง ของใครมีเปอร์เซ็นต์อัตราการรอดตายของกล้าไม้ที่ปลูกสูงกว่ากัน แจกรางวัลชาวไร่
ชาวบ้านในหน่วยงานกับชาวบ้านนอกหน่วยงาน ได้ร่วมแข่งกีฬาด้วยกันเช่น วิ่งกระสอบ วิ่งเปี้ยว ชักกะเย่อ แล้วก็รำวงร่วมกันในตอนค่ำๆ
พ้นงานสังสรรค์ชาวไร่ ประกาศให้จับจองพื้นที่ทำไร่ในสวนป่าแปลงปี พ.ศ.2523 ห้วยเขียด 1,000 ไร่ แปลงปลูกซ่อมแปลงปี 2515 เป็นเรื่องอีก สจ.คำเจ้าเก่า นิยมหาเสียงด้วยการพาชาวบ้านเดินขบวน เกิดเหตุการณ์ซ้ำเช่นเดิม แต่ในที่สุดก็จบลงเหมือนเดิมเมื่อผู้ว่าราชการคนเดิมยืนยันให้ปฏิบัติดังเดิม ตามแนวทางเมื่อปีพ.ศ.2522 เรื่องจบลงด้วยไม่ดี เพราะสจ.คำสั่งเผาป่าแผ้วถางใหม่ที่ห้วยเขียดก่อนเวลา
พร้อมคำขู่จะวางระเบิดหากใครไปทำงานที่ห้วยเขียด สร้างความหวาดกลัวให้กับเพื่อนร่วมงานห้วยสามสบไม่น้อย แต่ด้วยขวัญและกำลังใจที่มั่นคง ทุกคนไปทำงานเสี่ยงกับคำขู่ของสจ.คำ แม้งานจะยากลำบากกว่าเดิมก็ไม่เคยมีใครหนีงาน เรื่องทำนองนี้ ทำให้ได้สติคิดว่า ถ้าไม่มีเพื่อนในครอบครัว จะเหลือใครไปปลูกป่าให้เรา มีเงินมาเป็นหลายแสนบาท จะทำด้วยหัวหน้าและผู้ช่วยสองคนได้กระนั้นหรือ
การตัดสินใจสร้างหมู่บ้านใหม่ด้วยหลักการจัดการที่ดินในป่าสงวนแห่งชาติตามแนวทางของผู้อำนวยการกองจัดการที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ นายสมเพิ่ม กิตตินันท์ จึงอุบัติขึ้น แบ่งที่ดินออกเป็นที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกินครอบครัวละ 15 ไร่ พัฒนาถนนหนทางให้ใช้ได้ดี สร้างโรงเรียนประชาบาลยกให้ สปจ.ในขณะนั้นเพื่อให้การศึกษาแก่บุตรธิดาของชาวบ้าน (ครูเทียนให้ครูมิ่งขวัญ+ครูโสภณมาช่วยสอน) สร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก สร้างสำนักสงฆ์ ประมงอำเภอ(แม้ว)เอาปลาโตเร็วมาสอนการเลี้ยง เกษตรอำเภอ(บี)ให้กล้าผลไม้และมะนาวมาปลูก ฯลฯ ชาวบ้านได้ย้ายเข้าบ้านใหม่ เริงร่ากันไปทั่ว
นอนในมุ้ง ยุงไม่กวน
ความสงบมาเยือน ไอเดีย...กระฉูด
หมู่บ้านใหม่เกิดขึ้น แต่จะมีใครรู้จัก อย่ากระนั้นเลย หน้าที่ทำการหน่วยปรับปรุงต้นน้ำห้วยสามสบ มีต้นไม้ใหญ่อยู่ 3 ต้น ต้นริมทางถนนเจ้าฟ้า(เวียงสา-นาน้อย) เป็นไม้มะค่าโมง ต้นมะเกลืออยู่ใกล้หน้าป้ายหน่วย และต้นที่สามเป็นต้นมะค่าโมงยักษ์อยู่กลางร่องสามสบ มันต้องสร้างบ้านทาร์ซานบนง่ามต้นมะค่าโมงยักษ์นี่สักหลัง เอาให้เก๋และเตะตา ใครผ่านไปมาจะได้สนใจ แวะมาเยี่ยมเยือน
ปีงบประมาณ พ.ศ.2524 ตัดสินใจเลื่อยไม้ แล้วสร้างบ้านทาร์ซาน มี 1ห้องนอน ขนาด 3x3 เมตร นอกชานยื่นไปข้างหน้าอีก 3x3 เมตร เจาะทางขึ้นลงตรงนอกชาน มีห้องสุขาอยู่ข้างใต้ถุนบ้านทาร์ซาน นอนในห้องได้ 2 คน แต่ถ้านอนนอกชานก็ได้อีก 2 คน กั้นลูกกรงแน่นหนา ไปยืนพิงแล้วไม่มีวันพังจนคนตกลงมา ระหว่างที่กำลังสร้าง พอเห็นเค้าโครงว่าจะเป็นบ้านทาร์ซาน ผู้คนที่นั่งรถผ่านไปมาก็จอดลงมายืนชม สมใจแล้วว่า เป็นจุดเด่นน่าลงมาสัมผัส
ปีพ.ศ.2527 พิศาล อัครเศรณี ผู้สร้างและผู้กำกับหนังคนดังให้แซม ยุรนันท์ ภมรมนตรี เป็นพระเอกและให้วรรณิสา ศรีวิเชียร เป็นนางเอก แสดงนำเรื่องปรารถนาแห่งหัวใจ ใช้บนบ้านทาร์ซานเป็นสถานที่ถ่ายทำ ทำให้บ้านทาร์ซาน อำเภอน้อย จังหวัดน่านดังทะลุเมืองไทย โรงแรมเทวราชมาถ่ายรูปไปทำโปรชัวร์(แผ่นพับ) รถยนต์คันไหนผ่านไปผ่านมามักจอดแล้วลงมาถ่ายรูป
บ้านมูลนิธิในหุบเขาห้วยสามสบ นอนได้ บน 6 คน ล่าง 4 คน
เป็นสัญลักษณ์ของหน่วยปรับปรุงต้นน้ำห้วยสามสบ เป็นเอกลักษณ์ของบ้านกิตตินันท์ เป็นหน้าเป็นตาชาวอำเภอนาน้อย และชาวจังหวัดน่าน วันนี้ เชิงถนนสายเจ้าฟ้ามีร้านกาแฟโบราณให้แวะนั่งดื่มได้ เดินเชื่อมต่อขึ้นไปชมบ้านทาร์ซานได้ด้วย ฟรี
หนาวหน้านี้ ใครอยากเปลี่ยนบรรยากาศ จะมานอนที่บ้านทาร์ซาน บ้านมูลนิธิสมเพิ่ม กิตตินันท์ หรือกางเต็นท์นอนในหุบเขาห้วยสามสบ ก็ติดต่อเข้ามาได้เลยที่โทร.088-0013609 หัวหน้าสมพล จินดาคำ พร้อมประสานทั้งที่พักและอาหาร แนะนำแหล่งท่องเที่ยวให้ฟรีอีกต่างหาก โทร.088-0013609 หรือเฟสบุ๊ก สมพล จินดาคำ รับรองได้รับความสะดวกครับ
บ้านกาจนา ริมน้ำ นอนได้ 10 คน สุขา 2 ห้อง
แหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง บ้านทาร์ซาน อยู่กม.22.5 ถนนสายเวียงสา-นาน้อย ห่างตลาดนาน้อย 12.5 กม. ต่อไปชมทะเลหมอกยามเช้าได้ที่ ดอยเสมอดาว อุทยานแห่งชาติศรีน่าน(ผาชู้) อีก 16 กม.
ห่างเสาดินนาน้อยราวๆ 18 กม. ไปได้สะดวกและไม่เปลี่ยว ค่ำกลับมานอนและเล่นแคมไฟร์ พร้อมคาราโอกเ ได้เต็มที่เพราะที่นี่เป็นหน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ ไม่ใช่อุทยานแห่งชาติ ครับ
บ้านหลังเขา นอนได้ 10 คน