ปักษ์ใต้ ปักหมุดหยุดเวลา @ พังงา
ตอนที่1. เกาะยาวน้อยโฮมสเตย์
#PhangNga
โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ
เพื่อนสื่อเฟสมาแจ้งว่า 4-6 สิงหาคม 2559 ไปปักษ์ใต้ ปักหมุดหยุดเวลา @ พังงา ด้วยกันไหม ท่านผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภูมิภาค ภาคใต้ ท่านชาญชัย ดวงจิต กรุณาเชิญมานะจ๊ะ
โอ้โฮ เพื่อนเอ๋ย ตั้งแต่ทำเว็บไซต์ทองไทยแลนด์ดอทคอมมานานกว่า 7 ปี(15-03-2009-ปัจจุบันนี้) มีสถิติคนเข้าชมถึง 5,776,494 คน เพจวิว 7,330,632 ครั้ง ยังไม่มีเรื่องราวของเมืองพังงาเขียนเลยสักตอน ขอบพระคุณเพื่อนและท่านผอ.ททท.สำนักงานภูมิภาคภาคใต้อย่างยิ่ง
อ่านกำหนดการแล้ว วางแผนในใจว่าจะเขียนวันละตอนสัก 3 ตอน น่าจะจบนะ
ท่านผอ.ททท.สำนักงานภูมิภาค ภาคใต้ ชาญชัย ดวงจิต
การเดินทางจากดอนเมือง ได้กำไร เพราะจ่ายครั้งเดียวได้บินสองรอบ ฮา ลงจากเครื่องบินก็มุ่งหน้าไปยังท่าเรือบางโรง ภูเก็ต เพื่อลงเรือสปี๊ดโบ๊ท ที่นี่ ท่านผอ.สำนักงานภูมิภาคภาคใต้ และประธานชมรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยชุมชนเกาะยาวน้อย คุณสำเริง ราเขต (บังหมี) รอต้อนรับคณะและนำลงเรือ เรือแล่นไปสัก 25 นาทีก็เทียบแพกระชังเลี้ยงกุ้งมังกรของคุณเกษม นิลสมุทร บริเวณอ่าวบ้านแหลมไทร
คุณสำเริง ราเขต
ท่านผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานภูมิภาคภาคใต้ เล่าว่า นี่เป็นการนำชมวิถีชีวิตของพี่น้องชาวเกาะยาวน้อย ซึ่งทำแพกระชังปลานานาชนิด มีทั้งปลามีค่าทางเศรษฐกิจและปลาสวยงาม แปลก และน่าสนใจ เลี้ยงไว้ให้นักท่องเที่ยวมาชมและให้อาหารปลา โดยเฉพาะมีการเลี้ยง “กุ้งมังกร” กุ้งที่มีสีสันสวยงามและราคาแพงที่สุดด้วย
คุณเกษม นิลสมุทร เจ้าของแพกระชังกุ้งมังกร
ปลาช่อนทะเล
คุณเกษม เล่าว่า การเลี้ยงปลาในกระชังลงทุนสูง ผมจึงเลี้ยงปลาไว้ 2 ประเภทคือ ประเภทแรกเป็นปลาที่เลี้ยงไว้ขาย จึงต้องเป็นปลามีค่าทางเศรษฐกิจ ขายได้ราคา เป็นที่ต้องการของร้านค้า รสชาติอร่อย เลี้ยงง่าย อัตราการแลกเนื้อสูง เช่นปลากะพงขาว ปลาเก๋า ปลามอง ปลาช่อนทะเล ฯลฯ ราคาขาย กก.ละ 170-400 บาท แล้วแต่ว่าเป็นปลาอะไร
ปลาปากนกแก้ว
ปลาฉลามหนู
ปลาไหลไฟฟ้า
ประเภทสอง เลี้ยงไว้ให้นักท่องเที่ยวได้มาเพลิดเพลินกับกิจกรรมการให้อาหารปลา จะเป็นปลาแปลก สวยงาม ชวนสนใจ น่ารัก เช่น ปลาปากนกแก้ว ปลาฉลามหนู ปลาไหลมอร์เร่ ปลาดาว ปลาปั๊กเป้า ซึ่งผมจะคิดราคานักท่องเที่ยวไทยราคาหนึ่ง ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกราคาหนึ่ง
กุ้งมังกรและหอยพงที่ใช้เลี้ยง
แต่ประเภทที่สามนี้เป็นกุ้งมังกรเจ็ดสี สวยงามและเลี้ยงไว้เพื่อการจำหน่ายให้กับร้านอาหารภัตตาคารเป็นหลัก แต่เมื่อให้นักท่องเที่ยวมาให้อาหาร กลายเป็นว่าอยากซื้อไปทำกินเองหรือให้ร้านปรุงอาหารให้ ราคาขายก็ตกกิโลกรัมละ 3000 บาท กุ้งมังกรอัตราการแลกเนื้อสูง อาหารที่ใช้เลี้ยงก็หาเอาจากท้องทะเลทั่วไป นั่นคือหอยพงหรือหอยกะพง
ปลาแมคคอเรล อาหารปลา
กุ้งและปูสดหวาน
ได้ชมวิถีชีวิตของชาวประมงแพกระชังปลาแล้ว ผมมีความรู้สึกสองอย่างคือ ทึ่งในความสามารถของชนชาวเกาะยาวน้อยและทึ่งในกระบวนการนำวิถีชีวิตมาแปลงเป็นทรัพยากรท่องเที่ยวที่ลึกซึ้งและชาญฉลาด นอกจากจะให้นักท่องเที่ยวเลี้ยงปลาด้วยตนเองแล้วยังขายตรงสินค้าได้ราคาดีกว่าขายส่งได้อีกด้วย
คุณสำเริง ราเขต นำคณะเดินทางต่อไปยังท่าเรือมาเนาะ เกาะยาวน้อย แล้วเดินทางต่อด้วยรถท้องถิ่นไปยัง “เริงสมุทรเฮ้าส์” โฮมสเตย์ของนางวรรณี เริงสมุทร เลขที่ 44/3 หมู่ 5 ต.เกาะยาวน้อย อ.เกาะยาวน้อย จ.พังงา ที่นี่เป็นศูนย์ประชุมชมรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เกาะยาวน้อย และถึงเวลารับประทานอาหารเที่ยงพอดี
น้ำจิ้มซีฟู๊ดรสแซบ
อาหารเตรียมไว้เรียบร้อย ปูม้านึ่ง กุ้งขาวนึ่ง น้ำจิ้มซีฟู๊ดรสแซบ ผัดเปรี้ยวหวานปลามอง กุ้งสดผัดผักบุ้ง แกงเหลืองปลามองใส่หน่อไม้ ข้าวกล้องผสมข้าวขาว อาคารโล่งลมทะเลพัดผ่านสะดวก เย็นสบาย กุ้งและปูสด อร่อยจนแทบลุกไม่ขึ้น ถ้าเอนหลังก็หลับไปทันที แต่เนื่องจากต้องเดินทางต่อ หมดหวังจ้า
รถท้องถิ่นพาตะลอนไปตามถนนในชุมชน ลัดเลาะไปตามริมทุ่งและบ้านเรือนของพี่น้องชาวเกาะยาวน้อย จนไปถึง “ทุ่งนาโยน” ชาวนาได้รับการแนะนำจากเกษตรอำเภอให้เพาะกล้าในกระบะ แล้วใช้วิธีโยนต้นกล้าลงนา ผลผลิตเทียบไม่ได้กับการทำนาดำ ต้นกล้ามีขนาดเล็ก อัตราการเจริญเติบโตน่าจะสู่ต้นกล้าที่หว่านไว้ไม่ได้ ส่งผลถึงผลผลิตที่ตกต่ำลงไปไม่น้อย บนเกาะยาวน้อยมีพื้นที่นาเพียง 800 ไร่เศษๆเท่านั้น
ดื่มน้ำมะพร้าวแล้วไม่ได้พุงโตอย่างทนายนะ
บ้านทุ่งริมสวนมะพร้าวใกล้ๆกัน บ้านนี้ขายมะพร้าวอ่อนแก้หิวให้กับนักท่องเที่ยว ป้าฟันฉับๆ ก็ได้มะพร้าวอ่อนเปิดปากให้ดื่มจากหลอดได้ด้วยความสะดวก
“ขายลูกละ 30 บาทเท่านั้นแหละจ้ะ” ป้าเล่าไปฟันหัวมะพร้าวอ่อนไปด้วย มีคำถามว่าทำไมไม่ขายผลละ 50 บาท ป้ายิ้มแล้วตอบสั้นๆ "แค่นี้แหละ พอแล้ว"
แต่ละวันมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมยามหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มก็นิยมดื่มน้ำมะพร้าวอ่อน แถมล้วงเอาเนื้อนุ่มๆมากินกันเกลี้ยง นี่คือผลพวงของการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ หยิบจับเอาทรัพยากรท้องถิ่นมาใช้ให้เป็นองค์ประกอบสำคัญเกี่ยวเนื่องกันไปได้อย่างลงตัว ป้าแก่ๆจึงนั่งฟันเปิดมะพร้าวอ่อนขายได้เงินมากกว่าปกติ
คุณสำเริงเล่าว่า อยากให้ไปดูสินค้าโอท็อปอีกแห่ง แล้วจะรู้ว่า เกาะยาวน้อยนั้นขายทุกวิถีชีวิตและผลผลิตให้กับนักท่องเที่ยวในรูปแบบต่างๆ บทบาทของศูนย์โอท็อปคือเป็นสินค้าประเภทของที่ระลึก-ของฝาก นอกจากนั้นยังอาศัยบรรยากาศริมทะเล ขายอาหารได้อีกทางหนึ่งด้วย การเพ้นท์สีผ้าปาเต๊ะ สีสันสวยอร่ามตา
“หลังจากคลื่นยักษ์สึนามิทำลายทะเลฝั่งอันดามัน จึงได้รับการฟื้นฟูจากองค์กรการกุศลต่างๆ ได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตจากชาวไร่ชาวสวนเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เกิดการพัฒนาจากบ้านอยู่อาศัยเป็นโฮมสเตย์ รวมกลุ่มกันได้ 25 หลังคาเรือน โดยมีศูนย์บริหารจัดการการเข้าพักและให้คำแนะนำในการรองรับนักท่องเที่ยว”
“ในการนำเสนอการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ เช่นวิถีชีวิตของการเลี้ยงปลาในแพกระชัง การวางยองดักปู ชมการทำนาข้าวที่ใช้หุงเลี้ยงแขก แวะชมสวนมะพร้าวและดื่มน้ำมะพร้าวบริสุทธิ์ การเพ้นท์สีผ้าบาติก ฯลฯ 2 วัน 1 คืน อาหาร 4 มื้อ ราคา 2500 บาท/หัว หรือถ้า 3 วัน 2 คืน อาหาร 6 มื้อ ราคา 3500 บาท/หัว รวมๆแล้วทำรายได้ให้ถึงปีละกว่า 2 ล้านบาท เนื่องจากเป็นชุมชนชาวมุสลิม จึงห้ามดื่มสุรายาเมาโดยเด็ดขาด”
“นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นชาวไทย เข้าใจกฎกติกาเคารพข้อห้ามสำคัญ ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้นพยายามหลีกเลี่ยงเนื่องจากเรื่องสุรายาเมา”
วัฒนธรรมการปลูกบ้านของชาวเกาะยาวน้อย
นี่คือบทพิสูจน์ การพลิกวิกฤติเป็นโอกาส แต่อย่างไรก็ตาม บนเกาะยาวน้อยมีรีสอร์ท โรงแรม ขนาดใหญ่และขนาดเล็กมากมายหลายแห่ง บางแห่งทำรั้วทึบปิดกั้นชายหาด บางแห่งเหมือนเป็นอาณาจักรของเขาที่แยกส่วนไปจากชุมชนบนเกาะโดยสิ้นเชิง ส่วนใหญ่เป็นกิจการของคนต่างถิ่น และที่นี่มีที่ดินของวัดธรรมกายแปลงใหญ่อยู่ด้วย
ห้องพักโฮมสเตย์ รอคุณอยู่
ตะวันบ่ายคล้อย ลงเรือที่ท่าเรือมาเนาะ สปีดโบ๊ทพาคณะสื่อไปยังกลางทะเลกว้างใหญ่ ผ่านเกาะหินปูกลางทะเลหลายแห่ง เพื่อมุ่งหน้าไปยัง “ทะเลแหวกพังงา”หรือ”สันมังกร” เกาะพบอง ซึ่งเป็นทะเลแหวกที่แปลกมีความยาวสันทรายถึง 2 กม. และแหวกวันละ 2 ครั้ง คือช่วงเช้าและช่วงบ่าย ช่างน่าอัศจรรย์
ฝรั่งหนุ่มสาวท้าพิสูจน์
เรือแล่นเข้าไปจนใกล้ มองเห็นฝรั่ง 2 หนุ่มสาวจูงมือกันเดินอยู่กลางทะเล เรือหัวโทงจอดเรียงรายหลายลำเพื่อโกยหาหอยพงหรือหอยกะพงหรือหอยเป๊าะคั่ง(Arcuatula arcuatula Hanley,1844) ขายให้กับผู้ที่ชื่นชอบการกินหอยหรือเอาไปให้กุ้งมังกรกินเป็นอาหาร หอยพงชอบอาศัยใกล้ทะเลโคลนใกล้ชายฝั่งมากกว่าหอยแครง
นี่เลยสันมังกร
ชาวประมงอาศัยภูมิปัญญาชาวบ้านเพาะเลี้ยงหอยพงด้วยการหาลูกหอยพงมาหว่านในชายทะเลโคลนใกล้ชายฝั่ง ปล่อยไว้ราวๆ 8-12 เดือน ก็จะใช้ถุงปุ๋ยไปโกยโคลนแล้วไปร่อนเอาโคลนทิ้ง เหลือแต่หอยพง หอยพงมีทั้งเพศผู้และเพศเมีย และมีทั้งสองเพศในตัวเดียวกันด้วย เที่ยงวันนี้คุณสำเริงก็ได้ลวกหอยพงมาให้ทดลองได้กินแทนกุ้งมังกร น่าจะผัดใส่ใบโหรพา ใส่เต้าเจี้ยวแล้วทุบพริกขี้หนูใส่ลงไปด้วย
เวลาผ่านไป สันมังกรเริ่มโผล่ให้เห็นเป็นทางยาวรูปตัวเอส สื่อมวลชนและท่านผู้อำนวยการปีนลงไปเดินบนสันมังกร เพื่อเล่าเรื่องราวให้ฟังถึงคำว่าทะเลแหวกพังงา หรือสันมังกรเขาพลอง แหม เล่นเอาผมตะลึงไปเลยทีเดียว เพราะเพิ่งทราบว่า ทะเลพังงาก็มีทะเลแหวก และยาวถึง 2 กม. แถมยังแหวกให้ชมได้วันละ 2 ครั้งอีกด้วย ชดโช้
ทะเลแหวกหรือสันมังกร พังงา