#ปักษ์ใต้ ปักหมุดหยุดเวลา@พังงา
ตอน3.ผักปลอดสารพิษ พายเรือคายัค ส้มตำสาหร่ายเม็ดพริกไทยและปล่อยเต่าทะเล
#Phangnga
โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ
ผอ.ททท.ภูมิภาคภาคใต้
วันเวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก เช้าวันที่สาม หลังอาหารอิ่มเอมเปรมฤดีแล้ว ก็จรลีไปยังหาดท้ายเหมือง บ้านท่าดินแดง เพื่อชมชุมชนที่ฟื้นวิถีชีวิตหลังคลื่นยักษ์ถล่ม สึนามิ องค์อิสระประเภทไม่หวังผลกำไรจากต่างประเทศเข้ามาช่วยเหลือ สนับสนุนแนวทางการประกอบอาชีพแนวคิดใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าแก่เกษตรกรผู้อกสั่นขวัญแขวนไปกับความพินาศในครั้งนั้น
ชุมชนบ้านท่าดินแดง ได้รับการสนับสนุนการปลูกผักโดยไม่อาศัยดิน(Hydroponic) ได้แก่ผักกวางตุ้ง ผักคะน้า ผักกาดขาว ผักกาดหอมใบแดงและใบเขียว เสริมอาชีพประมงพื้นบ้านตามวิถีชีวิตดั้งเดิม แหล่งผลิตที่ชุมชนบ้านท่าดินแดงรวมตัวกันถึง 26 ครอบครัว ปลูกพืชผักอย่างเดียวกัน ได้ปริมาณครั้งละมากพอเพียงในการจำหน่าย พอเพียงกับค่าใช้จ่ายในการขนส่ง
ชุมชนบ้านท่าดินแดงโชคดีที่มีป่าชายเลนชายฝั่ง มีชาวบ้านรอดตายจากป่าปกป้องคุ้มภัยไม่น้อย และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่เห็นชัดเจนว่า ป่าชายเลนนั้นกำบังภัยได้ ป้องกันพายุได้ และเป็นแหล่งอาหารของสัตว์น้ำที่ชาวบ้านวางลอบปูลอบปลาตามชายป่า หินกันมาแต่ในอดีตกาล และนี่เองที่ชุมชนได้รวมตัวกันเพื่อจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในคลองป่าชายเลนด้วยการพายเรือคายัค โอ๋ะโอ๋
หลังอาหารพื้นบ้านจากผลผลิตปลาและปูจากประมงพื้นบ้าน ท่านผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย คุณชายชัย ดวงจิต ก็พาพวกไปยังศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งพังงา ซึ่งตั้งอยู่หน้าหาดท้ายเหมือง ท่านผู้อำนวยการศูนย์ฯคุณ สุภาพ ไพรพนาพงศ์ Fmi.0864794217//Phangnga-crdc@yahoo.com รอต้อนรับพร้อมคณะ ด้วยการบรรยายถึงสรรพคุณของสาหร่ายเม็ดพริกไทย ในขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ก็ตำส้มตำสาหร่ายเม็ดพริกไทยให้กินกันด้วย
ท่านเล่าว่า สาหร่ายเม็ดพริกไทย มีวิตามิน ABCDEK ที่สามารถดูดซึมได้ง่าย มีสารไอโอดีน ช่วยป้องกันโรคคอหอยพอก มีโปรแตสเซี่ยมช่วยปรับสมดุลในร่างกาย มีแมกนีเซียมช่วยให้กล้ามเนื้อและประสาททำงานอย่างมีประสิทธิภาพ แล้วท่านยังเล่าเรื่องการอนุรักษ์เต่าทะเล ด้วยการฝังชิบในตัวเต่าก่อนปล่อยสู่ทะเลกว้างใหญ่ ได้เห็นการอนุรักษ์ปลาการ์ตูนสวยงาม ปลานกแก้วแสนดุ ปลาวัวจอมกัด ฯลฯ
บทสุดท้าย ยกทีมกันลงไปปล่อยเต่าทะเล อายุปีกว่าๆ 4 ตัวลงสู่ทะเลอันดามัน ณ หาดท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ซาบซึ้งกับบริบทของนักวิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง และนิยมชมชื่นกับแนวคิดการนำเสนอการท่องเที่ยวที่ถึงพร้อมด้วยจิตวิญญาณนักพัฒนา เพิ่มประสิทธิภาพองค์กรชุมชนให้เข้มแข็ง เพื่อให้ชุมชนรักถิ่นและทรัพยากรธรรมชาติที่ตนและพวกมีอยู่