ประเพณีแห่ปราสาทผึ้งสกลนคร
#วันออกพรรษา
โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ
อนุสนธิจากการติดตาม นพ.สุวิทย์ เกียรติเสวี “มองคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม นสพ.เดลินิวส์ ” ไปทริปชมประเพณีแห่ปราสาทผึ้งสกลนครตามคำเชิญของ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานนครพนม นางสาว บุณยานุช วรรณยิ่ง ซึ่งดูแลการท่องเที่ยวพื้นที่จังหวัดสกลนคร นครพนม และมุกดาหาร โดยมีสำนักงานตั้งอยู่ที่จังหวัดนครพนม ท่านได้วางกำหนดการให้ไปเยี่ยมยามตามท้องเรื่องมากมาย
www.thongthailand.com ขอขอบพระคุณที่ทำให้ได้ภาพและเรื่องราวมาเขียนให้แฟนๆเว็บไซต์ขนาดเล็กได้เห็นจะจะ ขอบคุณครับ
แหล่งท่องเที่ยวใหม่ในสายบุญวัดป่า วัดถ้ำผาแด่น
รถตู้เป็นพาหนะการเดินทางท่องเที่ยวที่คล่องตัวที่สุดในยุคสมัยนี้ ชั่วเวลาไม่กี่สิบนาทีก็แล่นขึ้นไปยังเทือกเขาภูพาน ถึงวัดถ้ำผาแด่น บ้านดงน้อย ตำบลดงมะไฟ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ระดับความสูงจากน้ำทะเลปานกลาง 380 เมตร บรรยากาศโดยรอบยังเป็นป่าไม้เขียวขจี อากาศเย็นสบายปลายฝนต้นหนาว รถจอดก็ตรงดิ่งเข้าห้องสุขาที่ทั้งกว้างใหญ่และสวยทันใด ก่อนที่จะได้เดินชมพูมิทัศน์วัดแห่งนี้
วัดถ้ำผาแด่น เป็นวัดที่หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และพระสงฆ์สายวัดป่านั่งวิปัสสนากรรมฐานธุดงค์มาปักกลดบำเพ็ญเพียรธรรมกันแต่ครั้งปีพ.ศ.2486 ปัจจุบันนี้ หลวงพ่อปกรณ์ กันตวิโร เป็นเจ้าอาวาส ที่นี่เองที่ท่านได้ปฏิสังขรณ์ให้บริเวณวัดซึ่งมีแต่หินแท่ง หินนอน ระเกะระกะไปในดงป่าไม้ใบเขียว เปลี่ยนไป
ก้อนหินแต่ละแท่งแต่ละท่อนถูกสลักเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของพุทธประวัติ รูปแกะสลักของเกจิอาจารย์ที่โด่งดังและเป็นที่เคารพของชาวพุทธศาสนิกชน แฝงด้วยคติธรรมตามแนวพุทธสายวัดป่า แต่ที่พลาดไม่ได้คือเรื่องราวของพญาครุฑ และพญานาค ท่านได้ให้ช่างใช้จินตนาการสรรค์สร้างอย่างวิจิตรตระการตา จากหินผาตั้งโด่เด่กลายเป็นจารึกแห่งธรรมะ
ต้นไม้ตายซากและต้นไม้ยืนต้นที่นำมาปลูกประดับทั่วไปนั้นล้วนเป็นต้นไม้แปลกแตกต่างจากต้นไม้ทั่วไป เพราะท่านได้คัดเลือกแต่ซากต้นไม้ที่มีปุ่มปมแปลกตา ส่วนต้นไม้ที่ปลูกประดับก็คัดเลือกที่มีปุ่มปมไปทั่วลำต้น ผมนึกในใจ
“ทุกคนมีปมในใจ ต้นไม้ก็อาจมีปุ่มปมได้เช่นกัน”
ผ้าฝ้ายเข็นมือ บ้านหนองไผ่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร
“ผ้าฝ้ายเข็นมือ ย้อมคราม และเปลือกไม้ อันเป็นการย้อมสีเส้นฝ้ายด้วยสีจากธรรมชาติ” ตามภูมิปัญญาของชนชาวภูไท บ้านหนองไผ่ ตำบลนาหัวบ่อ อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร” เป็นชุมชนชาวภูไทที่ยังคงไว้ซึ่งวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตและความเชื่อความศรัทธาเยี่ยงบรรพบุรุษสืบมา
ทั้งหมู่บ้าน เหลือผู้ที่ยังครองภูมิปัญญาการใช้วัสดุจากธรรมชาติเริ่มตั้งแต่การ ปลูกฝ้ายและเก็บสมอฝ้ายตามความรู้และประสบการณ์ เก็บเร็วไปก็ไม่ได้คุณภาพ เก็บช้าก็เสื่อมคุณภาพ ทุกขั้นตอนเป็นภูมิปัญญาที่เกิดจากการดำรงอยู่ของชีวิตชาวภูไท สืบทอดจากแม่สู่ลูก การเข็นเมล็ดฝ้ายแบบโบราณ การตีเส้นฝ้าย และการกรอด้ายฝ้ายเข้ารัง
การย้อมด้วยวัสดุที่ได้จากภูมิปัญญาบรรพบุรุษ เช่นย้อมด้วยสีจากต้นคราม เปลือกไม้ ฝัก เมล็ด ซึ่งเกิดความรู้จากประสบการณ์อาทิเช่น เปลือกต้นกระโดนให้สีน้ำตาลแดง ต้นขี้เหล็กใช้ใบและเนื้อไม้ให้สีย้อมผ้าสีเหลืองและสีเขียว ต้นงิ้วแดงใช้เปลือกให้สีน้ำเงิน (ต้นไม้ยาน่ารู้) เป็นต้น แล้วส่งผ่านสู่รุ่นด้วยประสบการณ์
วันนี้ บ้านรุณณี โด่งดังไปถึงต่างประเทศ ด้วยฝีมือการถักทอและการย้อมล้วนทำจากภูมิปัญญาของชนเผ่า มิใช่การใช้สีวิทยาศาสตร์แต่อย่างใด ประการสำคัญ สีไม่ตก ผ้าฝ้ายบ้านรุณณีใช้เป็นผ้าซิ่น เสื้อชายหญิงและเด็กๆ ตลอดจนเย็บเป็นรูปทรงสมัยใหม่ได้ไม่ยาก เมื่อสวมใส่นิ่มละมุน มีเพียงใยฝ้ายยังติดตามเสื้อที่ถูกสวมทับ
บ้านเลขที่ 13/1 หมู่ 19 บ้านหนองไผ่ ต.นาหัวบ่อ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร โทร.089-5698293 เฟสบุ๊ก Roonnee Warunee หรือ ผ้าภูไทรุณณี-Roonnee เน้อค่ะ
บ้านครามสกล Kramsakon Indigo Hand made
นางสาว บุณยานุช วรรณยิ่ง ผอ.ททท.นครพนม ได้นำชมสิ่งที่ถือว่าเป็นความแตกต่างของการถักทอผ้าย้อมครามของสกลนคร แต่เป็นการเปิพดเป็นแหล่งที่ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสจริงจากการลงมือย้อมในลักษณะ การมัดย้อมคราม ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้รับฟังข้อมูลและขั้นตอนการ “มัด” เพื่อตกแต่งลวดลายบนผืนผ้าหลังย้อม
เจ้าของธุรกิจชื่อคุณ สกุณา สาระนัน (Sakuna Saranun) เธอตั้งชื่อเก๋ไก๋สื่อความหมายได้แจ่มชัดว่า Kramsakon “Premium Product of Sakon Nakhon Indigo Hand made”
“ครามสกลเปิดกว้างเพื่อให้นักท่องเที่ยวหรือผู้ใฝ่รู้ได้เดินเข้ามาสัมผัสจากการมัดย้อมด้วยตนเอง เราจะแนะนำการมัดเพื่อออกแบบบนผ้า การย้อมด้วยคราม การซักล้าง และได้ผ้าหรือเสื้อที่ได้ทดลองทำกลับไปเป็นของที่ระลึก”
ต่อคำถามว่า ไม่หวงวิชาเลยหรือ ไม่กลัวการลอกเลียนแบบหรือ ได้รับคำตอบพร้อมรอยยิ้มว่า “ไม่เลยค่ะ อยากให้ทุกคนที่เข้ามาครามสกลแล้วได้สิ่งที่อยากให้รู้กลับไปด้วย รับรองได้ว่าลวดลายบนผ้ามัดย้อมของแต่ละคนนั้น แตกต่างกันอย่างแน่นอน ลอกไม่ได้ค่ะ”
นักข่าวกลายเป็นนักย้อม หลายคนนั่งมัดตามคำแนะนำ และเมื่อเสร็จแล้วก็ถึงขั้นตอนการเปลี่ยนชุดย้อม ผ้ากันเปื้อน ถุงมือยาง เมื่อทุกคนพร้อมที่จะสร้างสรรค์ผลงานของตนเองแล้วก็ได้รับคำแนะนำอีกว่า หม้อครามเหล่านั้นมีชีวิต เป็นครามที่เกิดและคงอยู่ บางแห่งใช้ยาวนานแทบว่าค่อนชีวิต การดูสีของหม้อครามจึงเหมือนการดุแลลูกเพราะว่า ถ้าหม้อครามสิ้นชีวิตไป สีครามจะเปลี่ยนและเกิดการสูญเสีย
นักข่าวเข้าประจำการ นั่งขยำๆๆๆๆๆเสื้อมัดย้อมในหม้อคราม พลางก็นับทุกการขยำจากหนึ่งเป็นร้อย จึงลุกเปลี่ยนหม้อคราม ผลคือกว่าจะหมดทุกหม้อ ได้ยินเสียงบ่นว่า เมื่อยจัง นั่นแหละคือสิ่งที่คุณสกุณาอยากให้ได้สัมผัสถึงความยากลำบากของการมัดย้อมตามภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวบ้าน
ผมฟังอย่างนั้นแล้วก็ได้แต่นึกในใจ ต่อไปหากไปซื้อเสื้อผ้ามัดย้อมละก้อ จะไม่ต่อรองราคาแม่ค้าเด็ดขาด
สนใจหรือยัง ผลงานที่เกิดจากการออกแบบของตนเอง ได้เสื้อมาสวมใส่เอง ฝีมือของเราเอง โทรหาคุณสกุณา 087-227-4173 เฟสบุ๊ก Kramsakon ไลน์ ppsakuna หรือจะเปิดเว็บไซต์ www.kramsakon.net เลือกวิธีสื่อสารได้เลยครับ
บรรยากาศ ครามสกล เหมือนเข้าไปเที่ยวรีสอร์ทเก๋ๆ มากกว่าร้านขายผ้า เพราะที่นี่ขายไอเดียด้วยจ้า
ประเพณีแห่ปราสาทผึ้งสกลนคร
ประเพณีเทศกาลออกพรรษาของพุทธศาสนิกชนคนไทยนั้น สรรค์สร้างกันไปตามแต่ความเชื่อและความศรัทธาของแต่ละภูมิภาค ล้วนมีความโดดเด่นและโด่งดังจนเป็นที่กล่าวขานถึงกันเสมอๆเช่น ประเพณีตกบาตรเทโวโรหณะ วัดสังกัตรัตนคีรี จังหวัดอุทัยธานี ประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะวัดเขาดีสลัก จังหวัดสุพรรณบุรี ประเพณีออกหว่า อำเภอแม่เสรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประเพณีกาดหลู่ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน แห่ปราสาทไม้จำลอง เป็นต้น
แต่ที่จังหวัดสกลนคร ประเพณีแห่ปราสาทผึ้งในเทศกาลออกพรรษาโด่งดังไปทั่ว จนเป็นเทศกาลปลายฝนต้นหนาวที่ได้รับความนิยมในการไปร่วมงาน พุทธบูชา สำคัญของชาวสกลนคร ซึ่งถือว่าเป็นแอ่งสกลนครที่มีความสำคัญต่อชนชาติเชื้อเผ่าพันธุ์ที่หลากหลายและแตกต่าง ในวันที่มีการแห่ปราสาทผึ้งนั้นประกอบด้วย
ขบวนฆ้องและกลองนำหน้า ขบวนบังสุกุลบรรพบุรุษ ขบวนหอผึ้งหรือปราสาทผึ้ง และต้นกัลปพฤกษ์ ซึ่งแต่ละชุมชนคนพุทธสุดจะแต่งแต้มให้วิจิตรตระการตาเพียงใด บ้างก็ตบแต่งปราสาทดุจสรวงสวรรค์ แกะสลักลายบอกเล่าถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี และประดับประดาด้วยดอกไม้หลากสีสัน แน่นอนต้องมีสาวงามของแต่ละชุมชนล้นหลาม
ทุกปี จะแห่ปราสาทผึ้งในวันขึ้น 15 ค่ำ หรือแรม 1 ค่ำ ประมาณวันที่ 15 ตุลาคม ของแต่ละปี ปีนี้ ได้ไปชมเพียงภาพปราสาทผึ้งที่สวยและอลังการในสนามของจังหวัด นอกจากนั้นยังมีปราสาทเทียมเกวียนอย่างโบราณ และเครื่องบูชาที่เรียกว่า บายสี ให้ได้ชมกันหลากหลายรูปแบบ เป็นภูมิปัญญาของแต่ละชนเผ่าหรือแต่ละชุมชน
วัดพระธาตุเชิงชุมยามราตรี
(โปรดติดตามตอน 2.)