ประเพณีไหลเรือไฟโบราณ ประจำปีเกิด 12 นักษัตร จังหวัดนครพนม
#วันออกพรรษา
โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ
วันออกพรรษาทุกปี เกิดการไหลเวียนพิธีกรรมตามวัฒนธรรมและประเพณีของแต่ละจังหวัด ในแต่ละจังหวัดยังแปรเปลี่ยนไปตามเชื้อชาติและชนเผ่าของจังหวัดนั้น
นครพนมเป็นจังหวัดหนึ่งในแอ่งสกลนครที่มีความสำคัญ ด้วยว่าในแต่ละอำเภอของนครพนมมีพระธาตุสร้างขึ้นเป็นพุทธบูชามากมายหลายอำเภอ
แต่พรรษานี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนครพนม นางสาว บุณยานุช ได้กรุณากำหนดการให้ได้ไปกราบไหว้เสริมสิริมงคลแก่สื่อมวลชนดังนี้คือ
พระธาตุศรีคุณ สร้างเมื่อปีพ.ศ.2340 ภายในบรรจุพระธาตุอรหันต์ พระโมคคัลลานะ พระสารีบุตรและพระสังกัจจายนะ เพชรนิลจินดาบรรดามี เป็นพระธาตุประจำคนเกิดวันอังคาร ประดิษฐานอยู่ในวัดพระธาตุศรีคุณ อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม รูปทรงพระธาตุแบบบัวเหลี่ยมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ศิลปะช่างท้องถิ่น สูง ... เมตร กว้าง ... เมตร ต้องวัดเอง
แต่ในท้องถิ่นนี้ ทุกคนเดินทางมาทำบุญวันออกพรรษากันทุกคน ไม่ได้คำนึงว่าต้องเกิดเฉพาะวันอังคารแต่อย่างใด การแต่งกายก็ตามสบายๆของแต่ละชนเผ่า ส่วนใหญ่หิ้วตะกร้าหวายหรือสานด้วยไม้ไผ่สวยงามใส่อาหารหวานคาวมาเพื่อถวายพระสงฆ์ เครื่องบูชาพระธาตุก็มี ธูป 8 ดอก เทียน 2 เล่ม พวงมาลัยดอกไม้ ผ้าสีชมพู น้ำอบไทย ข้าวเหนียวปิ้ง ข้าวพอง
พระธาตุพนม(ธาตุปะนม) เป็นพระธาตุประจำคนเกิดวันอาทิตย์ สร้างเมื่อปีพ.ศ.8 ล้มเพราะลมพายุ ปีพ.ศ.2518 บูรณะเสร็จปีพ.ศ.2522 ประดิษฐานท้องที่อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม รูปทรงพระธาตุแบบบัวเหลี่ยมของชาวล้านช้าง ศิลปะล้านช้าง สูง 53 เมตร ฉัตรทอง 4 เมตร รวมสูง 57 เมตร กว้าง 12.33 เมตร ณ พระธาตุพนมแห่งนี้มิใช่แค่วันออกพรรษาหากแต่ทุกวันจะมีพุทธศาสนิกชนเดินทางมาจากทั่วประเทศและชาวลาว เพื่อนบ้านลุ่มน้ำโขงเดียวกันเชื่อกันว่าถ้ามาไหว้ครบ 7 ครั้งถือว่าเป็นลูกพระธาตุ
การแต่งกายเข้ากราบพระธาตุพนม แต่งสุภาพ ไม่มีข้อจำกัดอื่นใด แต่ในคราวที่มีประเพณีมักมีการรำฟ้อนถวายพระธาตุสวยงาม ซึ่งแต่ละชนเผ่าของจังหวัดนครพนมจะแต่งกันตามวัฒนธรรมการแต่งกาย เป็นงานที่ยิ่งใหญ่และอลังการที่สุดของจังหวัดนครพนม น่าเสียดายที่การเดินทางไปครั้งนี้ไม่ตรงช่วงเวลาที่มีฟ้อนถวาย
พระธาตุเรณูนคร พระธาตุประจำวันเกิดของคนที่เกิดวันจันทร์ สร้างเมื่อพ.ศ.2461 ประดิษฐานท้องที่อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม รูปทรงบัวเหลี่ยมเอกลักษณ์ของพระธาตุเรณู ทาสีชมพู-ขาว มีลายสลักสวยงามรูปแบบต่างๆ ศิลปะช่างชาวเรณูนคร เป็นพระธาตุที่ทรงอิทธิพลสูงสุดของอำเภอเรณูนคร ซึ่งประทับใจแก่ผู้ได้มาสักการะตลอดมา สูง 35 เมตร กว้าง 8.37 เมตร
เครื่องเซ่นไหว้พระธาตุเรณูได้แก่ ข้าวตอก น้ำอบ ข้าวเหนียวปิ้ง ดอกไม้สีเหลือง ธูป 15 ดอก เทียนขาว 2 เล่ม เทศกาลงานประจำปีได้แก่วันขึ้น 11-15 ค่ำ เดือน 4 รวม 5 วัน 5 คืน การแต่งกายสุภาพ ตามเอกลักษณ์ของแต่ละชนเผ่า ชาวเรณูนครมีประเพณีการต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองด้วยการทำพิธีบายศรีสู่ขวัญ เลี้ยงอาหารค่ำที่เรียกตามภาษาท้องถิ่นว่า พาแลง ดูดอุ(สุราหมักแบบพื้นบ้าน) และฟ้อนภูไทสุดแสน สวยงามและสนุกสนาน
บ่ายแก่ ได้เดินทางมายังจังหวัดนครพนมซึ่งได้ต่อยอดจากประเพณีการไหลเรือไฟโบราณ ประจำปีเกิด 12 นักษัตร ซึ่งชาวนครพนมสืบสานประเพณีดังกล่าวมานานแสนนาน วิวัฒนาการเป็นประเพณีการไหลเรือไฟของชาวนครพนมอย่างยิ่งใหญ่และอลังการ โด่งดังไปทั่ว และนั่นคือผลพวงการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของชาวนครพนมโดยแท้
แต่เนื่องจากเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ในหลวงของปวงชนชาวไทยได้เสด็จสู่สวรรคาลัย รัฐบาลจึงได้ประกาศให้งดงานรื่นเริงไปทั่วประเทศ 30 วัน ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมจึงได้ลงมือปฏิบัติตามคำสั่ง ดังนั้น ประเพณีไหลเรือไฟในวันออกพรรษาของชาวนครพนมต้องชะลอไปโดยอัตโนมัติ
แม้การเตรียมงานจะสำเร็จลุล่วงไปกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ก็จำเป็นต้องชะลอไปก่อน ถึงอย่างไรก็ตาม ประเพณีไหลเรือไฟโบราณประจำปีเกิด 12 นักษัตร ยังคงต้องสืบสานกันตามประเพณีที่ดีงามต่อไป วันนี้ นักท่องเที่ยวจึงได้ชมประเพณีดั้งเดิมของการไหลเรือไฟโบราณของชาวนครพนม ล้วงลึกกันเลยทีเดียว น่าสนใจจริงๆนะ
นายสมชาย วิทย์ดำรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม
อัตลักษณ์การสร้างเรือไฟโบราณประจำปีเกิด 12 นักษัตรนั้น บอกตามตรงว่ามีความรู้เพียงแค่ว่า 12 ปีนักษัตร ได้แก่ คนที่เกิดปีชวด ฉลู ขาล เถาะ มะโรง มะเส็งฯลฯ รูปลักษณ์เรือไฟก็มีสัญลักษณ์ที่บ้างชี้ว่าเป็น ปีมะโรง งูใหญ่ ปีมะเส็งงูเล็ก ฯลฯ คนเกิดปีใดก็ให้กระทำการดังนี้คือ ตัดเส้นผม เล็บมือหรือเท้าก็ได้ ใส่กระทงใบตองเพื่อเอาไปตั้งในเรือไฟประจำปีเกิดของตนเอง บางคนก็ใส่สตางค์ลงไปด้วย ตามศรัทธา อันเป็นการบูชาแม่น้ำโขงและลอยเคราะห์ลอยโศกในคราวเดียวกัน
เรือบางลำใช้ขี้ใต้หรือกระบองที่ทำจากขี้ไต้น้ำมันยาง บางลำใช้ขวดเครื่องดื่มชูกำลังใส่น้ำมันแล้วมีไส้ผ้าเก่าหรือด้าย แต่บ้างก็ใช้กระป๋องน้ำอัดลมหรือกาแฟกระป๋อง ใส่ไส้ เรือแต่ละปีนักษัตรตั้งอยู่ริมน้ำโขง ผู้ว่าราชการจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการ องค์กรปกครองท้องถิ่น และประชาชนคนพุทธ ร่วมกันถือปฏิบัติตามวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงาม
แต่ด้วยรากเหง้าระบบเจ้าขุนมูลนาย ทำให้พิธีกรรมทางความเชื่อและความศรัทธาเบี่ยงเบนไปบ้าง เพื่อให้บุคคลสำคัญได้มีส่วนร่วม ชาวนครพนมโดยกำเนิดนั้นถือปฏิบัติและสืบสานกันรุ่นสู่รุ่น ดังนั้น กว่าจะได้เวลาไหลเรือไฟโบราณประจำปีเกิด 12 นักษัตร จึงใช้เวลานานพอสมควร เพราะว่างานนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมนายสมชาย วิทย์ดำรงค์ ได้อุทิศเวลามาร่วมงานด้วยตนเอง
มีงานประเพณี ก็มีแม่ค้าขายข้าวเหนียวปิ้ง
องค์กรปกครองท้องถิ่นแต่ละแห่งซึ่งรับผิดชอบแต่ละปีนักษัตร จึงค่อยๆทยอยกันหามเรือไฟลงไปไหลในแม่น้ำโขงตอนหัวค่ำ ในกระทงน้อยที่ลอยอาจมีสตางค์หรือของมีค่า หากผู้ใดท้ายน้ำพบเห็นก็ได้รับอนุญาตให้เก็บเอาไปใช้ประโยชน์ได้ เช่นเดียวกับการลอยกระทงคืนเพ็ญเดือน 12 ด้วยประเพณีไหลเรือไฟโบราณประจำปีเกิด 12 นักษัตรนี้แหละที่ได้รับการสรรค์สร้างให้ยิ่งใหญ่และอลังการจนเป็นประเพณีการไหลเรือไฟอย่างยิ่งใหญ่ของจังหวัดนครพนมสืบมา
แต่วันนี้ นครพนมมิได้มีเพียงประเพณีดีงามดังกล่าว หากแต่ได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างแลนด์มาร์คสำคัญประดิษฐานไว้ริมแม่น้ำโขงอีกสิ่งหนึ่ง นั่นคือ พญานาคเจ็ดเศียร ตลอดพื้นที่ริมชายโขงของนครพนมจึงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว แวะเยี่ยมเยียน และกราบไหว้บูชาได้ตลอดเวลาที่มาเยือน พญานาคเป็นความเชื่อคู่บ้านคู่เมืองของชาวนครพนมแท้เทียว
เวียนเทียนพระธาตุ
สวดมนต์รอบพระธาตุ เด็กๆหลับพับคาที่
สนใจสอบถามหรือชมภาพได้จาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนครพนม (พื้นที่รับผิดชอบ : สกลนคร นครพนม มุกดาหาร)
โทรศัพท์ 042 513 490 – 1 E-mail : tatphnom@tat.or.th ติดตามข่าวสารได้ที่ facebook.com/tatnakhonphanom Facebook Fanpage : ททท.สำนักงานนครพนม www.tatsanuk.blogspot.com
นั่งวิปัสนากรรมฐาน
ปีนี้ เรือไฟค้างเติ่ง ก็แค่ช่วงหนึ่งครับ