เกษตรแฟร์ ครั้งที่ 20 (2-11 ธค.59)
วิทยาเขตกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โดย ธงชัย เปาอินทร์ KU.27 เรื่อง-ภาพ
เมื่อปีพ.ศ.2510 ผมเข้าเรียนปี1 เกษตรรุ่น 27 คณะวนศาสตร์ รุ่นที่ 33 ได้รับการรับน้องทั้งของมหาวิทยาลัยและของคณะ สั่งสมจิตวิญญาณอันสัตย์ซื่อถืออาวุโสเป็นสรณะ รุ่นพี่สั่งอย่างไร ทำตามนั้นโดยไม่ลังเล เมื่อวันที่ฝนพรำแต่จำวันเดือนไม่ได้ พวกผมถูกสั่งให้ไปนั่งเข้าแถวเรียงหนึ่งหน้าตึกชีวะวิทยา คำสั่งคือ ถ้าได้รับสัญญาณให้โห่ก็ต้องโห่ และถ้าให้ลุกขึ้นแสดงกริยาปฏิเสธ ก็ทำโดยไม่ลังเล
เป็นการจัดฉากครั้งใหญ่ ภายหลังจึงรู้กันว่า รุ่นพี่ปีห้าปีสุดท้ายซึ่งเป็นผู้นำนิสิตในช่วงเวลานั้น รับจ๊อบมาให้พวกเราต่อต้านการโยกย้ายจากบางเขนมายังวิทยาเขตกำแพงแสน โดยท่านอธิการบดี มล.ชูชาติ กำภู ยืนชี้แจงแก่นิสิตเกษตร รุ่น 27 แต่ก็เกิดความโกลาหลเมื่อรุ่นพี่ให้โห่ก็โห่ ให้ตบมือก็ตบมือ ให้ตะโกนแย้งก็ทำ เป็นไอ้โง่ให้สนสะพายอย่างดีเยี่ยม
เมื่อผมมาทำธุรกิจเล็กๆหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ผมจึงมีโอกาสเข้าไปในบริเวณของมหาวิทยาลัย พื้นที่ 8,000 ไร่ที่ซึ่งอดีตอธิการบดี มล.ชูชาติ กำภู กล่าวว่า ที่นี่จะเป็นมหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดในเอเซีย นั้นจริงแท้ ผมเดินไปก้มลงกราบอนุสรณ์สถานของท่านที่สระพระพิรุณ ด้วยน้ำตาคลอครับ
เมื่อมีงานเกษตรแฟร์ 1-10 ธันวาคม ของทุกปี ผมเดินเที่ยวแทบทุกวัน ทั้งรอบเช้าและรอบเย็นจนถึงค่ำ มันคือความผูกพันที่สั่งสมมาจากงานเกษตรแห่งชาติของบางเขน แม้เมื่อมาที่นี่จึงตราตรึงใจที่จะได้เดินชมพันธกิจที่แม้จะแตกต่างไปจากอดีต แต่ก็คือเอกลักษณ์หนึ่งของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ลูกสีเขียวขจีเดียวกัน
ในสมัยก่อนตอนอยู่ที่บางเขน เพื่อนๆที่เรียนคณะเกษตร ประมง สัตว์บาล เศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ วิศวกรรมศาสตร์ ฯลฯ ต่างก็นำผลผลิตทางการเกษตรของตนมาขายให้กับประชาชนที่เข้ามาจับจ่าย ผู้ขายเป็นนิสิตเป็นส่วนใหญ่ ขายกันแบบซื้อหนึ่งแถมหนึ่ง เสียงเรียกขายเพรียกไปทั่ว เว้นแต่คณะวนศาสตร์ขายเสียงเพลงสไตล์ แฮงค์ วิลเลียม วงดนตรีชาโด้ ประกอบเบียร์และเหล้า วอนอ ต้องเมา
แต่เมื่อมาเที่ยวงานเกษตรแฟร์ ของวิทยาเขตกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทุกปีตลอดมาจนถึงปีนี้ เป็นปีที่ 20 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-11 ธันวาคม 2559 นั้น ผมถีบจักรยานสามล้อไปตามโซนต่างๆ ยกเว้นโซนการประชุมทางวิชาการ ไม่ได้เข้าไปฟังแต่อย่างใด เพราะนอกจากนุ่งกางเกงขาสั้นมาถีบสามล้อแล้วยังสวมรองเท้ายางธรรมดา กลัวยามไล่
อย่างไรก็ตาม ผมถีบสามล้อซอกซอนไปทั่วงาน วันแรกเสิร์ฟๆไปให้ทั่วๆแบบไม่เจาะจง ผ่านโซนอาหารพาลท้องหิวขึ้นมาทันที แข็งใจกัดฟันถีบต่อไปจนถึง KU.Beef ผลิตภัณฑ์เนื้อโคขุนกำแพงแสนขึ้นชื่อ ตัดใจเดินเข้าไปนั่งบนก้อนฟางต่างเก้าอี้ แต่พออ่านเมนู โอ้โฮ สเต๊กแต่ละชิ้นจากเนื้อโคขุนแพง ล้วงกระเป๋าควานหาสตางค์ มีแค่ร้อยยี่สิบ แฮ่ หงายเก๋งเลย
“หนูๆ ลุงขอต้มแซบเนื้อโคขุนกับข้าวจานนะ น้ำไม่ต้อง” แล้วเอี้ยวตัวไปหยิบน้ำพกพาจากตะกร้าหน้ารถสปอร์ทสามล้อของผมมาดื่มแทน แต่นังหนูใจดีถามว่า
“เอาน้ำแข็งเปล่าไหมคะคุณลุง” โอ้โฮ ซึ้งใจลุงเลย
ต้มแซบของร้านนี้เป็นเนื้อโคขุน นุ่ม ไร้มัน เคี้ยวได้สบายๆไม่ต้องขยี้ขยำแต่อย่างใด น้ำซุปหอมกรุ่นด้วยเครื่องเทศไทยแท้ๆ ข้าวสวยน่าจะข้าวหอมมะลิ นุ่ม สวย หอมน่ากิน เผลอแป๊บเดียวผมกินเกลี้ยงจนลืมพันธะกิจสำคัญคือถ่ายรูปเอามาอวดในเว็บไซต์ทองไทยแลนด์ดอทคอม(www.thongthailand.com) ปีหน้าขอแก้ตัวใหม่นะและต้องพกตังส์ติดกระเป๋าไปเยอะๆ จะได้สั่งสเต๊กเนื้อโคขุนกินได้ ฮา
อิ่มแล้วก็แวะไปชมการแข่งขันขว้างบ่วงบาตรคล้องคอวัว แล้วก็แอบไปดูโคขุนตัวบึ้กๆ กลับออกมาดูเด็กน้อยๆอยากลองขี่ม้าบักจ้อน แต่พอเลยออกมานอกถนนต้นไม้ โอ้โฮ รถติดขนาด จึงต้องหลบเข้าซอยวิศวกรรมศาสตร์ ได้เห็นนิสิตผู้ที่ถือว่าเรียนเก่งที่สุดของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ออกแบบบ้านแต่ละหลัง วิจิตรจนต้องชะลอรถแล้วถ่ายรูปมาอวด แหม แต่ละหลังสวยมาก หากสร้างจริงคงหลังละหลายล้านบาท คนจนไม่มีสิทธิ์จริงๆ
ผมชำนาญถนนหนทางไม่น้อย เพราะแต่ละวันก็จะมาถีบสามล้อออกกำลังกาย เลี้ยวเข้าไปด้านหน้าคณะเกษตรหลังรูปปั้นท่านอธิการบดี มล.ชูชาติ กำภู ก้มไหว้แสดงความเคารพแล้วถีบเข้าไปยังศูนย์พืชผัก จากการเตรียมการของนิสิตมาหลายเดือน ผลผลิตห้อยระโยงระยางค์ไปทั่ว ที่น่าประทับใจคือมีนิสิตเฝ้าอธิบายแต่ละอย่างให้เข้าใจได้ง่ายๆ
นักท่องเที่ยวหรือชาวบ้านหรือแขกของเกษตร พากันซื้อเมล็ดพันธุ์และกล้าพันธุ์กลับไปปลูกที่บ้าน ผมเห็นมุมที่นิสิตจัดแลนด์สเคปเอาไว้ให้ถ่ายรูปหรือนั่งพัก ได้มุมที่ถ่ายแล้วสวย จึงเดินไปขอให้นิสิตชายหญิงเป็นตัวแบบให้หน่อย อนาคตนิสิตเหล่านี้ไปประกอบอาชีพจัดสวนได้แน่ๆ มีฝีมือจริงๆ
ผมออกจากพืชผักก็ถีบผ่านเข้าไปในวงเวียนสะดือของมหาวิทยาลัย ผมยิ้มเมื่อนึกถึงอดีตตอนรับน้องใหม่เมื่อ 49 ปีที่แล้ว เมื่อเพื่อนผมคนหนึ่งถูกรุ่นพี่รับน้องแล้วถามว่า ตรามหาวิทยาลัยของเราคืออะไร เพื่อนร่วมรุ่นของผมตอบเสียงดังฟังชัด
“คนขี่ไส้เดือนครับ”
เท่านั้นเอง เสียงรุ่นพี่สั่งเสียงเขียว “วิดพื้น 100 ที แล้วจำไว้ตรามหาวิทยาลัยของเราคือ พระพิรุณทรงนาค”
โอ้ ไอ้เพื่อนคนนั้นมันเป็นใครก็จำไม่ได้ แต่รู้ว่ามันถูกวิดพื้นจนเหงื่อโทรมกาย ใครจำได้เตะมันให้ที
รอบสระพระพิรุณส่วนใหญ่เปิดพื้นที่เพื่อแสดงผลงานการศึกษาและวิจัยเพื่อการพัฒนา จึงมีสินค้าจากจังหวัดต่างๆเดินทางนำสินค้าที่ได้รับการบ่มเพาะมาจำหน่าย เป็นหลักฐานชั้นเลิศว่าได้ผลงานจริงตามที่ได้อบรม เช่น มาจากพัทลุงขายลูกหยีคลุกน้ำตาล น้ำลูกหยี จากพะเยาเป็นน้ำปู น้ำพริกตาแดง ข้าวไรท์เบอรี่ จาก...........เยอะ แยะไปหมด
บางจุดตั้งก้อนฟางให้นั่งอย่างชาวทุ่งแล้วก็มีวิทยากรบรรยายให้ความรู้ในเรื่องใหม่ๆ ชาวบ้านที่มาท่องเที่ยวบางกลุ่มก็เข้าไปนั่งฟังตามแต่ว่าจะสนใจในเรื่องไหน เพราะว่ามีกระจายเป็นจุดๆไป หลายเรื่องราวการพัฒนา ส่วนผมนั้น สนใจแต่จะถีบสามล้อบันทึกภาพความเปลี่ยนแปลงเอามาโพสท์ประชาสัมพันธ์ให้กับมหาวิทยาลัยในฐานะศิษย์เก่าแก่ๆครับ
ผมหลุดเข้าไปในโซนประมง ได้เห็นการประกวดปลากัดที่พัฒนาพันธุ์จนสวยงาม แต่ถ่ายรูปได้ยากมาก ผมจึงเลี่ยงไปชมการตกกุ้ง การผลิตอาหารจากสัตว์น้ำ เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา แต่ราคาเกินสตางค์ในกระเป๋าจึงซื้อได้แค่กุ้งฝอยชุบแป้งทอดจิ้มน้ำจิ้มหวานๆ เสียดายไม่มีกุ้งฝอยพล่ารสมือแม่ ทันใด ผมก็ได้เห็นเอกสารการเพาะเลี้ยงกุ้งฝอย อ้าว มีอย่างนี้ด้วยแล้วหรือ
โซนที่ผมไม่พลาดหลังท้องชักเริ่มว่าง คือโซนอาหารสารพัดรูปแบบ พรรณนาแทบไม่ถูกเลย หลายอย่างเป็นอาหารต้องห้ามของคนที่ทำบอลลูนเส้นเลือดหัวใจตีบ ได้แต่กระเดือกน้ำลายลงคอ หลายชนิดคนเป็นโรคเบาหวานอย่างผมก็ต้องงดซื้อทั้งที่เคยชอบมากๆ มาติดใจคำว่า “ปาท่องโก๋สเปน” ซึ่งไม่เคยพบเห็นมาก่อนเลย
ผมจึงได้ถ่ายรูปมาอวดเป็นเรื่องเป็นราวนิดหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้สูตรการทำแป้งหรือเทคนิคการทอด หรือทำไมต้องมีเครื่องจิ้มหลายชนิด แต่ตัดใจควักมา 20 บาทซื้อใส่ในตะกร้าหน้ารถสามล้อ โอ้ กินอร่อยอย่างน่าอัศจรรย์ ไม่อมน้ำมัน และหอมมาก รสชาติแปลกจริงๆ ชมภาพเยอะหน่อยนะของดีที่นานๆจะได้เห็นแตกต่างไปจากสินค้าพื้นๆ
แถมคนขายหน้าตาดี ได้ความว่าเป็นนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสนนี่เอง ป๊าดโธ่ นิสิตสมัยนี้ความคิดก้าวหน้า กล้าหาญชาญชัยในการค้าการขาย เป็นผมจะติดป้ายอวดสักหน่อย ผลิตและจำหน่ายโดยนิสิตคณะ......ปีหน้าฟ้าใหม่ นิสิตคนใดทำการค้าเช่นนี้ก็ป่าวประกาศไปเลย เป็นเรื่องน่าชื่นชมยินดีอย่างยิ่ง
ผมถีบสามล้อช่วงเช้าคือระหว่างเวลา 10.30-14.30 น. ก็จะถีบกลับมาพักผ่อน ถอดรูปจากกล้อง คัดเลือกแล้วเก็บไว้ในกล่อง พอตะวันบ่ายคล้อยลอยต่ำลงไปอีกสักราวๆ 16.30น.ผมก็จะถีบสามล้อออกจากบ้านเดี่ยวให้เช่ารายเดือน-รายวัน ทิวร์ไผ่โฮม ฝั่งตรงข้ามม.เกษตร ข้ามถนนมาลัยแมนด้วยความระมัดระวังสิบล้อ เข้าไปถีบใต้ร่มนนทรีจนถึงหน้างานรอบเย็น โน่นแหละ 21.00 น.เป็นอย่างน้อยจึงจะถีบกลับเคหา
ผมไปโซนกล้วยไม้ตั้งแต่วันแรก เพราะมีการประกวดกล้วยไม้ที่พัฒนาพันธุ์กันขึ้นใหม่ทุกปี ได้เห็นผลงานและได้เห็นถึงความพยายามของนักเลงกล้วยไม้ ซึ่งแต่ละสายพันธุ์นั้นแตกต่างไปจากพันธุ์ดั้งเดิม จนแทบจดจำไม่ได้ว่า เดิมเป็นเช่นไร เป็นผลงานทางสติปัญญาของนักเลงกล้วยไม้และเป็นบทพิสูจน์ความมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงพันธุ์ โคตรสวยและอลังการเล้ยครับ
ใกล้ๆกันเป็นแนวที่ให้เอกชนคนขายกล้วยไม้ พันธุ์ไม้ต่างๆที่ไม่ใช่ไม้แดก เอ้ย ไม้ที่ผลิตผลให้กิน เป็นแนวนี้ทุกปีจนผมจดจำได้ว่า ถ้าจะมาดูเอกชนขายดอกไม้ต้องมาถนนสายนี้ อีกฝั่งขายเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มราคาถูก แต่ที่ผมสะเทือนใจคือภาพที่ผู้หญิงแก่ๆ นั่งตั้งกระจาดขายของที่ระลึกริมถนน แต่พอเช้ามีป้ายมาติด ห้ามขายนะหาบเร่แผงลอย ปรับ 500 บาท
ถนนหน้าห้องสมุดของมหาวิทยาลัย มีนิสิตชมรมต่างๆวางสินค้าขายกัน บ้างขายอาหารพื้นถิ่นกำเนิดเช่นชาชักกับโรตีภาคใต้ บ้างขายส้มตำไก่ทอดอย่างคนอีสาน บ้างขายขนมจีนน้ำเงี้ยวแบบชาวเหนือ บ้างก็ขายดอกไม้ กล้าไม้ให้นักท่องเที่ยวซื้อไปปลูกเป็นสวนครัว แถมยังมีชมรมถ่ายภาพตั้งห้องมืดรับจ๊อบถ่ายรูปเพื่อเป็นการทดสอบฝีมือการจัดแสงและองค์ประกอบภาพ ในถนนเส้นนี้มีนิสิตไม่เยอะแทรกซอนกับพ่อค้าแม่ค้า
ที่แปลกตาคือมีร้านหนังสือเก่า จำหน่ายหนังสือมากมายหลากหลายแนว ราคาตั้งแต่เล่มละ 20 บาทจนถึงหลายร้อยบาท มีทั้งหนังสือภาษาไทยและภาษาอังกฤษ น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว บางร้านก็ขายอาหารเพื่อให้ลูกค้าเข้าไปกิน เสียงเรียกลูกค้าดังไปทั้งถนน สารพัดเสียงที่ได้ยิน ล้วนสร้างรอยยิ้มให้กับคนฟัง
พื้นที่จัดนิทรรศการของเกษตรกลวิธานกว้างและแน่นไปด้วยรถไถ เครื่องจักรกล เป็นที่สนใจของเกษตรกรระดับนายทุน ฝั่งตรงข้ามเป็นร้านขายต้นไม้สารพัดชนิด ปลายสุดไปทางโรงเรียนสาธิต มีเครื่องไม้มากมายวางขาย แถมมีร้านนวดแผนโบราณอีกด้วย เครื่องเล่นประเภทยิงลูกโป่ง ขว้างบอล หายไปสิ้นอย่างน่าสงสัย
งานเกษตรแฟร์ยุคสมัยนี้ เป็นระบบนายทุน ร้านค้าเอกชนรายใหญ่ๆ ไม่มีทางหวนคืนสู่ยุคเกษตรกรร่วมกับนิสิตเกษตรอย่างอดีตอีกแล้ว แต่เนื่องจากปีนี้เป็นปีที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรค์คาลัยจึงงดการแสดงการประกวดไปหลายรายการ ร้านค้ามีจำนวนน้อยลงไป ปีหน้าจะเป็นเช่นไรคงได้รู้กัน เพราะเข้าภาวะปกติ
...