โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ
อดีตวัดร่องขุ่นและอดีตบ้านเกิด
วัดร่องขุ่น สร้างเมื่อไรไม่มีปัญญาสืบค้น เพราะไม่มีใครเล่าความถึงแต่อย่างใด รู้จากประวัติอาจารย์เฉลิมชัยเพียงว่า อาจารย์เกิดที่หมู่บ้านร่องขุ่น ตำบลป่าอ้อดอนชัย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่ปีพ.ศ.2498 ทำคลอดโดยหมอตำแยชื่อยายตุ่น เป็นลูกชายคนที่ 3 ของเตี่ยชื่อฮั่วกิม แซ่โค้ว แม่ชื่อพรศรี อยู่สุข บ้านร่องขุ่นอยู่ใกล้ทางเข้าน้ำตกแม่กรณ์ ห่างจากเชียงราย 13 กม. เป็นหมู่บ้านเล็กๆที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ ตามตะเกียงเอา
วัดหรือก็เป็นวัดเล็กๆเนื้อที่แค่ 3 ไร่เศษ เจ้าอาวาสชื่อไสว ท่านเสียชีวิตเมื่อปี 2546 ภายในวัดมีกุฎีพระสงฆ์ โบสถ์ ศาลาการเปรียญ สร้างด้วยฝีมือช่างพื้นบ้าน ไม่สะสวยด้วยศิลปะชั้นใดๆทั้งสิ้น ผมเคยไปวัดร่องขุ่นเมื่อตอนที่ยังเป็นวัดเก่า โบสถ์หลังงามยังไม่ได้สร้าง ก็เป็นโบสถ์หลังเล็กๆ เก่า โทรมตามกาลเวลา ไม่มีร่องรอยโรงเรียนในเขตวัด จึงไม่รู้ว่าอาจารย์เฉลิมชัยไปเรียนวัดไหน รู้แค่ว่าเกเรไม่ค่อยจะเรียนหนังสือ
เปลี่ยนถิ่นที่อยู่และเปลี่ยนวิถีชีวิต
ประวัติจารึกว่า เคยสอบตกชั้น ป.3 และชั้นป.6 ต่อเมื่อพ่อพาครอบครัวย้ายไปอยู่เชียงรายนั่นแหละที่ได้ไปเรียนโรงเรียนดรุณศึกษา ได้เดินผ่านโรงหนัง ได้เห็นเขาเขียนโปสเตอร์หนัง ได้แหล่งที่เริ่มต้นชีวิตนักเขียนนักวาดเพราะหลังจากเลิกเรียนก็จะไปขลุกอยู่ที่โรงหนัง ไปช่วยเขาล้างพู่กัน ล้างจานสี จนถึงได้เริ่มวาดรูปเขียนรูปลงสี เป็นเด็กรับใช้ได้ทุกเรื่อง อาจารย์เหมือนตกอยู่ในวังวนของกลิ่นสีและปลายพู่กัน
นับจากนั้น อาจารย์เฉลิมชัยก็ได้ตั้งมั่นที่จะเป็นนักเขียนรูป เริ่มมีจุดมุ่งหมายของชีวิตที่แน่วแน่ ตัดสินใจจะไปเรียนโรงเรียนเพาะช่างที่กรุงเทพ และเมื่อจบจากเพาะช่างก็ได้เข้าไปเรียนที่มหาวิทยาลัยศิลปากรจนจบปริญญาตรี แต่ระหว่างเรียนนั้นได้ทำงานวาดรูปขายและส่งเข้าประกวด จนเมื่อเรียนอยู่ปี 4 จึงได้รับรางวัลชนะเลิศได้เหรียญทอง นับจากนั้นก็ได้รางวัลมากมายเกินจะบรรยาย
ความรุ่งเรืองจนรุ่งโรจน์ คนก็ล้มเหลว
ดังจนถึงดังฉิบหายวายป่วง อาจารย์เฉลิมชัยโด่งดังมากจนแทบไม่เป็นผู้เป็นคน สำมะเลเทเมา มั่วในกามสารพัดชนิด หลงทะนงตนจนเกิดความรู้สึกเกลียดชังตนเอง นั่นแหละสัจธรรมของความจริง คนเราเมื่อดังและร่ำรวยจนไม่รู้คุณค่าของชีวิต ย่อมเกิดขึ้นเสมอในกิเลสมนุษย์ แต่อย่างกับโบราณว่า เพชรไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็เป็นเพชร ทองไม่เคยเปลี่ยนเป็นทองเหลืองหรือทองเค
ในที่สุดอาจารย์เฉลิมชัยก็ได้คิดเมื่อสติสัมปชัญญะตระหนักรู้ ตัดสินใจบวชเป็นพระ ออกเดินธุดงค์เพื่อจะได้เรียนรู้พระธรรมคำสอนแห่งศาสดา เดินฝ่าป่าดงและขุนเขา ทุกขเวทนาจนได้สติกลับคืนมา กลายเป็น “คน” เป็นตัวตนที่เป็นเฉลิมชัย ได้รับรสพระธรรมจากการธุดงค์และวิปัสสนากรรมฐาน จากความรุ่มร้อนกลายเป็นเยือกเย็น สติกลับคืนสู่กายและจิตใจมั่นคง
บุญของพระศาสนาและชาวเชียงราย
อาจารย์เฉลิมชัย ได้รับสมญานามมากมายจนนับไม่ถ้วน มีตั้งแต่อาจารย์ขี้มิ่ง(ขี้โมโห) อาจารย์ผีบ้า อาจารย์ยอดอัจฉริยะ อาจารย์คนดังคนดีของชาวเชียงราย อาจารย์ผู้ไม่ลืมกำพืดของตนเอง อาจารย์กลับไปเริ่มต้นที่บ้านเกิด บ้านร่องขุ่น แล้วได้ตั้งปณิธานมั่นคงจะสร้างสิ่งที่จะเปลี่ยนหมู่บ้านเล็กๆให้กลายเป็นวัดร่องขุ่นที่ได้ชื่อเสียงว่าเป็น White Temple ดังกระฉ่อนไปทั่วโลก
หมู่มาร
ปีพ.ศ.2540 อาจารย์เฉลิมชัยได้เริ่มต้นการสร้างสิ่งมหัศจรรย์ของโลก จากที่ดินวัดร่องขุ่น 3ไร่เศษๆ อาจารย์ไปกราบขอบริจาคจากเศรษฐี ได้เพิ่มเป็น 9 ไร่เศษๆ แล้วกำหนดแนวทางการสรรสร้างอย่างตั้งมั่นคือ จะสร้างเป็น 3 เขต ดังนี้คือ
เขต 1. เป็นเขตพุทธาวาสหรือเขตพุทธภูมิ เป็นที่สถิตย์ของ พระพุทธเจ้า จะตั้งอยู่ด้านขวามือมีเสานางเรียงโปร่งๆกั้นอยู่ ภายในประกอบด้วย โบสถ์ หอพระธาตุ สะพานสุชาวดีข้ามน้ำไปยังหอพระอีกหลัง
เขต 2. เขตสังฆาวาส ตั้งอยู่ด้านซ้ายมือด้านเดียวกับเขตฆราวาส ประกอบด้วย กุฎีพระและหอวิปัสสนา สำหรับบรรยายธรรมขั้นสูงและวิปัสสนากรรมฐาน
เขต 3. เขตฆราวาส เป็นหอศิลป์ แสดงผลงานภาพเขียน ผลผลิตจากช่าง และเป็นห้องวีดิทัศน์ให้นักท่องเที่ยวได้ชม
นิยามหรือความหมายแห่งธรรม
โบสถ์ ใช้สีขาว ถือว่าเป็นพระบริสุทธิคุณแห่งพระพุทธเจ้า สะพานหน้าโบสถ์ การเดิมข้ามจากวัฎสงสารสู่พุทธภูมิ เขี้ยวหรือปากพญามาร คือกิเลสในใจ สันสะพาน มีอสูรอมกันข้างละ 8 ตัว 2 ข้างรวม 16 ตัว นั่นคือตัวแทนกิเลสทั้ง 16 กึ่งกลางสะพานเป็นเขาพระสุเมรุ ดอกบัวทิพย์มี 4 ดอก ใหญ่ ตรงทางขึ้นด้านข้างโบสถ์แทนซุ้มพระอริยะเจ้า 4 พระธาตุคือพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามีและพระอรหันต์ และสุดท้ายบันไดทางขึ้น มี 3 ขั้น แทนความหมายของคำว่า อนิจจัง ทุกขังและอนัตตา
แต่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ รู้เพียงว่าเป็นวัดขาว มีจุดเด่นคือโบสถ์สีขาวที่สร้างด้วยศิลปะแนวของอาจารย์เฉลิมชัย ส่วนนักท่องเที่ยวชาวไทยก็รู้เพียงว่า เป็นวัดที่อาจารย์ระดับปรมาจารย์เป็นผู้สร้าง อัจฉริยภาพของความมหัศจรรย์ และเสน่ห์อันหาที่เปรียบมิได้ เป็นวัดเดียวที่อาจารย์เฉลิมชัยตอบแทนบ้านเกิดอย่างมอบกายถวายชีวิตก็ไม่ปาน
เขยเชียงราย รู้สึกถึงพระคุณของอาจารย์ดุจพระมาโปรด
ในแต่ละจังหวัด มีคนดังทั้งทางการเมือง ด้านสังคม ด้านพุทธศาสนา ด้านศิลปะ วัฒนธรรม และการรู้รอบเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณี ทุกจังหวัด แต่สำหรับความรู้สึกของเขยเชียงรายเยี่ยงผม รู้สึกว่า อาจารย์เฉลิมชัย คือ ผู้สร้างเพื่อให้โดยมิได้หวังสิ่งตอบแทน นี่แหละที่เรียกว่าแทนคุณแผ่นดินที่ไม่ต้องเอ่ยอ้างหรือยกตนข่มท่านอย่างคนจังหวัดอื่น
อาจารย์ทำให้บ้านเกิดของท่านซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆชานเมือง กลายเป็นดินแดนแห่งพุทธภูมิด้วยพื้นฐานความเป็นอัจฉริยะของอาจารย์ ความงดงามจากพื้นฐานงานเขียนเชิงศิลปะของอาจารย์ จนกระทั่ง โปรแกรมทัวร์ทุกรายการที่ไปเชียงรายต้องกำหนดให้แวะไปไหว้กราบแดนพุทธภูมิที่วัดร่องขุ่น ไปถ่ายรูปเป็นที่ระลึก ไปศึกษาธรรมะจากศิลปะ อาจารย์คือคนดีศรีเชียงรายอย่างแท้จริง
ร้านค้าของชาวบ้านใกล้วัด
ชาวบ้านในหมู่บ้านร่องขุ่นเปลี่ยนแปลงไปทุกอิริยาบถ บทบาทของชุมชนมีผู้นำที่เข้มแข็งแต่นอกกรอบการปกครอง สินค้าพื้นเมืองจากไร่สวนและจากก้นครัวนำออกมาจำหน่ายได้ อาหารการกินมีทั้งสากลและพื้นถิ่นให้เลือก เป็นชุมนุนักท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงราย วิถีชีวิตชาวบ้านร่องขุ่นเปลี่ยนไป เศรษฐกิจเปลี่ยนไปในทางบวก แต่วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวไร่ชาวสวน ยังอยู่