เที่ยวเมืองนราธิวาส ปลอดภัย ไปได้สบายใจ
โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ
นายสุรพร พร้อมมูล ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส กรุณามาต้อนรับ
ครั้งหลังสุดที่ผมไปจังหวัดนราธิวาสจำได้ว่าเป็นปีพ.ศ.2543 ผมไปด้วยความสุขสมใจ ไม่ได้หวั่นกลัวหรือกังวลแต่อย่างใดเลย ผมมีความสุขมากที่ได้ไปเยือนแต่หลังจากเกิดเหตุการณ์มากมายใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ อันเนื่องมาจากเหตุใดผมไม่ทราบแน่ชัด แต่ที่แน่นอนเลยคือ ทำให้ผมเกิดความหวาดหวั่นในการไป เลยพาลไม่ไปเอาเลย
เมื่อได้รับการเชิญชวนจากสื่ออาวุโส นพ.สุวิทย์ เกียรติเสวี แห่งหน้าต่าง มองคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม นสพ.เดลินิวส์ วันอาทิตย์ ผมจึงตัดสินใจติดตามไปด้วย ในนาม เว็บไซต์ทองไทยแลนด์ดอทคอม "ไปก็ไป" จะได้รู้จริงเสียทีว่า ไปท่องเที่ยวในจังหวัดนราธิวาสได้สบายใจเหมือนเดิมหรือไม่ และคิดต่อว่า จะได้เรื่องและรูปมาเขียนแล้วยังถือเป็นการพิสูจน์ทราบไปด้วยในตัว ผมเดินทางไปและกลับมาแล้ว สบายใจหายห่วงจริง ๆ ไปกันได้เลย ปลอดภัย ๆ
งานนี้ เจ้าภาพคือ การท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนราธิวาส ผู้อำนวยการชื่อนาย ณรงค์ สังข์ประสิทธิ์ แห่งแรกที่พาไปคือ พิพิธภัณฑสถานจังหวัดนราธิวาส ได้เกร็ดความรู้พื้นฐานว่า ชาติพันธุ์ชนดั้งเดิมได้แก่ พี่น้องชาว โอรัง อัสลี ซึ่งเป็นเจ้าถิ่นเดิมgเมื่อ 1,500-10,000 ปี ที่ฝังรกรากอยู่ในดินแดนด้ามขวานทองเมืองมนารา เทือกเขาสันกาลาคีรี แถวๆอำเภอ ระแงะ แว้ง ศรีสาคร จะแนะ ธารโต เบตง เป็นกลุ่มย่อย ๆ ไม่ได้รวมกันเป็นชุมชนใหญ่
ชาติพันธุ์มลายู
ต่อมา มีพี่น้อง ชาติพันธุ์มลายูส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ชาติพันธุ์ชาวสยาม เช่น กลุ่มบ้านเจ๊ะเหแถวตากใบ กลุ่มบ้านลำภูเขตอำเภอเมือง กลุ่มบ้านทุ่งคาแถวอำเภอยี่งอ และชาติพันธุ์ชาวจีน กระจายไปตามเมืองใหญ่ทุกเมืองของทุกอำเภอ อพยพเคลื่อนย้ายถิ่นฐานเข้ามาหากินกันในพื้นที่เดียวกันแต่ส่วนใหญ่กระจัดกระจายไปตามที่ราบ ลาดเนิน มากกว่าบนเขาสูง
ชาติพันธุ์สยาม
ชาติพันธุ์จีน
ปัจจุบันนี้ ประชากรทั้งจังหวัดนราธิวาส 717,366 คนนั้น 80% เป็นพี่น้องชาวมลายู ซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม
มโนราห์
นอกจากนี้ ยังได้เห็นภาพศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตและความเชื่อจากแหล่งรวบรวมนี้อย่างลึกซึ้งพอสังเขป เช่นได้เห็น บรมครูทางศิลปะการแสดง มโนราห์ ประเพณีบุญชักพระ ประเพณีการแต่งงานของพี่น้องชาวมุสลิม เครื่องดนตรีพื้นถิ่น เครื่องใช้ในครัวเรือน แม้กระทั่งอาวุธประจำกาย กริช ที่มีลักษณะพิเศษ สวยงามมาก ๆ
ประเพณีนีห์กะ
ขนมใส่ไส้
ผมยังได้เห็นภาพวัฒนธรรมเรื่องอาหาร ขนมหวาน หรือของกินที่แปลกแตกต่างไปของแต่ละชาติพันธุ์ ได้เห็นวัฒนธรรมการแต่งกายด้วยชุดสวยงามตามความเชื่อทางศาสนา ได้เห็นความเชื่อของพี่น้องชาติพันธุ์ชาวจีนเรื่องการกินเจ ม้าทรงและคุณาประการของศาลเจ้าแม่โต๊ะโม๊ะ ศาสนาพุทธที่มีทั้งชาติพันธุ์จีนและชาวสยามและไทยให้ความเคารพและเชื่อถือ ได้รู้ว่ามีวัดมากมายในจังหวัดนราธิวาส
ข้าวยำ
แต่ในภาพจริง แหล่งท่องเที่ยวแรกที่ได้รับการพาไปคือ ศูนย์ศึกษาการเรียนรู้ คัมภีร์อัลกุรอ่าน ที่มีอายุกว่า 3,000 ปี (เขียนด้วยลายมือ) ณ โรงเรียน สมานมิตรวิทยา อำเภอยี่งอ ได้ฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับแนวคิดการสะสมคัมภีร์ แล้วพาชมห้องจัดแสดงคัมภีร์ที่เขียนด้วยลายมือ อายุต่าง ๆกันไป
คัมภีร์อัลกุรอ่าน เขียนด้วยลายมือ
หลังจากนั้น ได้เดินทางไปชมการถักทอผลิตภัณฑ์ด้วยต้นกระจูด ผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่เดินทางไปครั้งนี้ ได้ช่วยกันอุดหนุนไม่ใช่น้อย เป็นผลผลิตจากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เก็บหาได้จากวัชพืชในท้องถิ่น หมู่บ้านทอนอามาน อำเภอยี่งอ หลังจากนั้นเดินทางไปยังตลาดน้ำยะกัง เพื่อชมการแสดงของเยาชนและดิเกท้องถิ่น
ตลาดน้ำแห่งนี้ ตั้งร้านค้าขายของริมฝั่งแม่น้ำ ที่นั่งกินอาหารและพักผ่อนสร้างอยู่ในน้ำ มีเวทีแสดงดิเกท้องถิ่นด้วย นักท่องเที่ยวต้องเดินไปหาซื้อของกินตามชอบแล้วหาที่นั่งกินกันแบบกลุ่มใครกลุ่มมัน สบายใจเฉิบเลยทีเดียว เพราะนั่งกินอยู่ในแม่น้ำเลยก็ว่าได้ นาทีตื่นเต้นคือการแสดงของเยาวชนหลายรุ่น ล้วนน่ารัก
นาทีตื่นเต้น เมื่อนายสุรพร พร้อมมูล ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เดินทางมาต้อนรับคณะสื่อมวลชนและผู้ประกอบการท่องเที่ยว ถึงตลาดน้ำยะกัง โปรดดูหลักฐานเป็นรูปหมู่ครับ ประกอบด้วย รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นายประสิทธิ์ วิชัยสุชาติ ผู้ช่วยรองประธานฯนาย กันตพงษ์ ธนะเนืองโรจน์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดนราธิวาส นางกรรณิการ์ ดำรงวงศ์ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนราธิวาส นาย ณรงค์...สังข์ประสิทธิ์.......ฯลฯ คืนแรกพักโรงแรมตันหยง
ศาลเจ้าแม่โต๊ะโม๊ะที่เทือกเขาสันการาคีรี
วันรุ่งขึ้น เดินทางไป ศาลเจ้าแม่โต๊ะโม๊ะ แห่งแรกที่หมู่บ้านภูเขาทอง อำเภอสุคิริน ซึ่งตั้งอยู่เชิงเขาชายแดนประเทศมาเลเซีย ว่ากันว่าแค่เดินข้ามสันเขาขึ้นไปก็เป็นเขตสันปันน้ำระหว่างประเทศไทย-มาเลเซีย แหม ถ้ารู้งี้ น่าจะพาเดินขึ้นไปเยี่ยมยามทางสายตาว่า ป่าไม้ดงดิบฝั่งประเทศมาเลเซียอุดมสมบูรณ์เพียงใด
แม่น้ำที่ไหลผ่านหน้าศาลเจ้าเป็นลำห้วยเดียวกับแม่น้ำที่ไหลผ่านเหมืองทองคำโต๊ะโม๊ะ ซึ่งปัจจุบันนี้ เหลือให้เห็นร่องรอยเพียงปากอุโมงค์ถ้ำทองคำ พบว่ายังมีชาวบ้านนั่งร่อนทองอยู่ 3 คน เป็นผู้หญิงวัยกลางคน น้ำใสๆ ไหลเย็น เห็นท้องทรายและหินแม่น้ำ ชวนให้อยากลงไปลงเล่นน้ำ แต่ด้วยว่า เกรงจะไปรบกวนการร่อนทองของพี่น้องชาวไทย เลยได้แต่ถ่ายรูป
บอกตามตรง แหล่งท่องเที่ยวแห่งนี้ ควรพัฒนาเป็นโฮมสเตย์เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาชมและสัมผัสวิถีชีวิตของพี่น้องบ้านภูเขาทอง ว่านอกจากทำมาหากินแบบชาวสวนผลไม้ ชาวสวนยางแล้ว ยังมีอาชีพพิเศษที่น่าตื่นเต้นนั่นคือการร่อนทอง
“ในขวดนี้ ร่อนได้วันนี้ ถ้าเอาไปขายก็จะได้ประมาณ 3000 บาท ร่อนกัน 3 คน ก็แบ่งกันไป ร่อนคนเดียวทำไม่ได้จ้ะ เพราะคนหนึ่งต้องตักดินหินทรายในท้องห้วยเอาขึ้นมาใส่จานร่อนทอง แล้วคนที่มีหน้าที่ร่อนก็จะร่อนไปช้า ๆ ได้ทองก็กรอกใส่ขวดไว้ ก็อย่างที่เห็นนี่ละคะ มีเศษทองเม็ดเล็ก ๆ แทรกอยู่ในดินทรายที่ตักขึ้นมาจากท้องห้วย“
อาหารพื้นบ้านและการแสดง
การร่อนทองแล้วได้ทองกลับบ้านไปเป็นของที่ระลึกนั้น เป็นแรงจูงใจที่มีน้ำหนักไม่ใช่น้อย แต่อย่างไรก็ดี ต้องมีความพร้อมเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวเป็นสำคัญ เพราะหากร่อนทองได้มาก อาจเกิดอันตรายได้ แม่น้ำโต๊ะโม๊ะแห่งนี้จึงเป็นแม่น้ำแห่งความหวังและการผจญภัย ท่องเที่ยวขุดทอง เอ้ย ร่อนทอง น่าจะเป็นความเสี่ยงที่มีความหวัง
การเดินทางไปยังอำเภอตากใบ เพื่อเยี่ยมชมวัดชลธารสิงเห หรือเรียกกันว่าวัดพิทักษ์แผ่นดินไทย ได้ฟังการบรรยายสรุปจากชาวเจ๊ะเห ด้วยสำเนียงการพูดของชาวเจ๊ะเห ซึ่งเธอกล่าวว่า คนเจ๊ะเหเรียกการนอนว่าการบรรทม อันเป็นคำราชาศัพท์ของชาวเขมร และบางคำก็เป็นคำมอญ คำไทย แต่สำเนียงแล้วเป็นเอกลักษณ์ของชาวเจ๊ะเห
เธอเป็นคนสยามหรือชาวเจ๊ะเห
คำว่าวัดพิทักษ์แผ่นดินไทยเกิดขึ้นจากเมื่อปีพ.ศ.2452 เกิดกรณีการปักปันเขตแดนระหว่างชาวอังกฤษเจ้าอาณานิคมมาเลเซีย กับประเทศไทย ด้วยข้ออ้างว่า ดินแดนตากใบเป็นเขตประเทศไทยเพราะว่ามีวัดในพุทธศาสนามากมายหลายแห่ง โดยเฉพาะวัดนี้ที่ตั้งริมแม่น้ำโก-ลก ในที่สุด อังกฤษไม่สามารถยึดครองนำไปรวมกับแผ่นดินกลันตันได้
สะพานคอยร้อยปี อำเภอตากใบเป็นสะพานไม้ข้ามไปยังเกาะยาว ปัจจุบันสร้างสะพานคอนกรีตถาวร แต่ก็ยังคงอนุรักษ์สะพานไม้เอาไว้คู่กัน เป็นอีกจุดหนึ่งที่น่ามาเดินเล่นริมน้ำ รับอากาศบริสุทธิ์ และอาจได้ชมวิถีชีวิตของชาวเกาะยาว-ตากใบ ในท้องน้ำเบื้องหน้า ริมฝั่งเป็นตลาดยามเย็นที่มีชาวตากใบนิยมมาเดินจับจ่ายใช้สอยและพักผ่อน
แวะชม วาเลนไทน์พันธุ์ไม้ อ.สุไหง-โกลก ชมร้านขายกระบองเพชร ต้นละ 25-10000 บาท ขึ้นอยู่กับชนิดและขนาดของแต่ละพันธุ์
เข้าเมืองสุไหง-โกลก แวะกราบไหว้ศาลเจ้าแม่โต๊ะโม๊ะ ในตัวเมือง ถ่ายภาพและฟังบรรยายสรุป ได้เห็นผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินแด่ศาลเจ้า มีการออกใบเสร็จแต่จะเป็นใบอนุโมทนาบัตรแบบวัดในพุทธศาสนาหรือไม่ไม่แน่ใจ ถ้าใช่จะหักภาษีได้เช่นเดียวกับวัดในพุทธศาสนาไหม ซึ่งผมก็ปากหนักไปหน่อย ไม่ได้สอบถาม
แล้วเดินทางเข้าพักแรมที่ โรงแรมมารีน่า ซึ่งตั้งอยู่ติดกับศาลเจ้าแม่โต๊ะโม๊ะ เก็บของเข้าห้องแล้วก็ออกมาเข้าห้องประชุมเพื่อเสวนาทางวิชาการของสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มีการให้ความรู้ความเข้าใจจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ประกอบการการท่องเที่ยวที่ร่วมเดินทางมาสำรวจเส้นทางท่องเที่ยวจังหวัดนราธิวาสทั้งชาวไทยและชาวมาเลเซีย และมีข้อเสนอแนะจากสื่อมวลชนคนทำข่าวเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว
หลังอาหารเช้า เดินทางไปยังอำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส เพื่อไปยังพุทธมณฑลจังหวัดนราธิวาส กราบไหว้หลวงพ่อพระพุทธมิ่งมงคล วัดเขากง เป็นอันสิ้นสุดทริป แต่สำหรับผมยังจำคำกล่าวของท่านผู้อำนวยการการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนราธิวาสได้แม่นยำ
“ 80% ของนักท่องเที่ยวที่เข้ามายังจังหวัดนราธิวาส เป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศมาเลเซีย นักท่องเที่ยวจากประเทศไทยมีเข้ามาเพียง 10 กว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้น หวังว่า แฟมทริปนี้จะช่วยเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น”
นางกรรณิการ์ ดำรงวงศ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดนราธิวาส
นางกรรณิการ์ ดำรงวงศ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า "นักท่องเที่ยวในปัจจุบันนี้เหลือเพียง 35% ส่วนใหญ่ยังเป็นนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย"
บอกตามตรง ตั้งแต่ปีพ.ศ.2543 จนถึงช่วงก่อนนี้ 10 ปี ผมไม่กล้าเดินทางมาทริปนราธิวาสเอาเสียเลย เพราะข่าวสารการเมือง-การทหาร 3 จังหวัดชายแดนใต้ หรือแม้กระทั่งหาดใหญ่ ทำให้เกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัย แต่เมื่อได้เดินทางมาครั้งนี้แล้ว บอกได้เลย ทริปหน้าไม่ว่าเทศกาลใด ๆ เช่น เทศกาลผลไม้เมืองนราธิวาส หรือ ทริปกินเจเจ้าแม่โต๊ะโม๊ะ แต่เทศกาลกินปลากุเลาตัวละเป็นพันสองพันสามพันบาทนั้น ผมขอบาย ไม่ถูกกับของแพงครับ
ปลากุเลาเค็มแสนแพง
โปรดติดตาม ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก ในหน้าต่าง ท่องแดนแผ่นดินธรรม วัดชลธารสิงเห เป็นตอนต่อไป
ชุดครบถ้วนของสาวอิสลาม
เสวนาของชาวมาเลเซียและการแสดงของเยาวชน