http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 07/08/2024
สถิติผู้เข้าชม14,331,518
Page Views16,660,959
« October 2024»
SMTWTFS
  12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031  
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

ไปเที่ยว 3 จังหวัดแดนใต้ เส้นทาง นราธิวาส-ยะลา-ปัตตานี น่าไปไหมเอ่ย

ไปเที่ยว 3 จังหวัดแดนใต้  เส้นทาง นราธิวาส-ยะลา-ปัตตานี น่าไปไหมเอ่ย

ไปเที่ยว 3 จังหวัดแดนใต้

เส้นทาง นราธิวาส-ยะลา-ปัตตานี น่าไปไหมเอ่ย

# 3 จังหวัดชายแดนใต้ #OK.BETONG #มัสยิดกลางปัตตานี #ศาลเจ้าแม่ลิ้มโกเนี่ยว

โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

ท่าน ผอ.ททท.จังหวัดนราธิวาส นางมัณฑนา ภูธรารักษ์ 

            ข่าวคาร์บอมบ์และการกราดยิงผ่านจอทีวี สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อออนไลน์ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ นราธิวาส-ยะลา-ปัตตานี  ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ และสังคม  อย่างมาก  แต่เมื่อภาพความเคลื่อนไหวเปลี่ยนไป สถานการณ์ดีขึ้น เกิดความเข้าใจและเชื่อมั่น กระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวในสามจังหวัดชายแดนใต้  น่าไปไหมเอ่ย


            ภาพที่ผมเดินทางร่วมไปกับกำหนดการของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจังหวัดนราธิวาส ยืนยันได้ระดับหนึ่ง ว่าไปแล้วมีแหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจมากน้อยเพียงใด ที่พักและอาหารอร่อยถึงใจเหมือนคำร่ำลือแค่ไหน  ได้รับการตอบรับด้วยรอยยิ้มจากพี่น้องชาวใต้ 3 จังหวัดนี้เพียงใด ผมถ่ายรูปมาประกอบเรื่องเหมือนเป็นหลักฐานยืนยันความจริง


            ด้วยสายการบินแอร์เอเชีย ราคาประหยัด ระยะทางและเวลาที่ผ่านไปกับเที่ยวบินปราศจากน้ำดื่มบริการ เส้นทางดอนเมือง-หาดใหญ่  ได้เวลาอาหารมื้อเที่ยงพอดี เจ้าหน้าที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจังหวัดนราธิวาสนำไปชิมที่ร้านศาลาเกยหาด ในค่ายทหารเรือ  อิ่มจนอืด หลังอาหารจึงได้ไปเดินรับลมทะเล ก็โอเค


            จุดแรกที่เยี่ยมชมเป็นวิถีชีวิตชาวประมงบ้านทอน ที่ใช้ เรือกอและ-ท้ายตัด จึงกลายเป็นเรือประมงที่สวยที่สุดในโลก ด้วยสีสันลวดลายของเรืองดงามวิจิตรตระการตาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์หนึ่งที่ไม่มีที่ใดเหมือน  การวาดภาพและแต่งแต้มสีสัน ตามภูมิปัญญาท้องถิ่น ไม่มีการคัดลอกลาย จึงมีเพียงเรือกอและท้ายตัดลำเดียวในโลก เพราะวาดแต่ละครั้งไม่เหมือนเดิมสักลำ


            เดิมวัสดุที่ใช้ต่อเรือเป็นไม้ตะเคียนทอง แต่หาได้ยากและแพงมากขึ้น จึงใช้ไม้ตะเคียนทรายแทน ช่างต่อเรือเป็นชายไทยมุสลิมท้องถิ่น  เล่าว่า ขนาดเรือยาว 12 ศอก 16 ศอก 18 ศอกตามแต่ประสงค์  รูปแบบเรือกอและมาตรฐาน หัวโด่งสูงพลิ้ว ท้ายก็โด่งรับกัน  แต่เพื่อใช้เป็นเรือประมงต้องติดตั้งเครื่องเรือหางยาวจึงกลายเป็นเรือกอและ-ท้าย ตัด


             ที่กล่าวว่า เรือกอและ-ท้ายตัดเป็นเรือประมงที่สวยที่สุดในโลกนั้นเพราะว่า เรือทุกลำมีการวาดลวดลายจากภูมิปัญญาท้องถิ่น มีส่วนผสมของลวดลายจากศิลปะมาเลย์ ชวา และไทย เช่นลายหัวนกบุหรงซีงอ หรือลายสิงห์ปักษี ผสมผสานกับลายกนก ลายบัวคว่ำบัวหงาย ลายหัวพญานาค หรือลายหนุมานเหิรเวหา  ดูภาพซิครับงามเพียงใด


หนึ่งใน เจ้าหน้าที่ ททท.นราธิวาส ซึ่งมีรอยยิ้มพิมพ์ใจ

             ที่บ้านทอนยังมีการประดิษฐ์เรือกอและจำลอง เพื่อขายเป็นรายได้ชุมชนและส่งต่อวัฒนธรรมเรือกอและสู่ชุมชนอื่นๆ เรือจำลองมีทั้งขนาดใหญ่แบบตั้งโต๊ะในห้องโชว์และเรือขนาดจิ๋วตั้งโชว์บนโต๊ะทำงาน  เสริมสร้างให้เกิด การสืบสานวัฒนธรรมเรือกอ   สืบต่อช่างวาดลวดลายเรือกอและ  และมีรายได้เพิ่มเสริมให้ครอบครัว


             แหล่งท่องเที่ยวที่สอง เป็นวัฒนธรรมการปรุงแต่งและถนอมอาหารเชิงพาณิชย์ ปลากุเลาตากใบป้าเอ็ง ซึ่งเป็นสินค้า OTOP สร้างชื่อเสียงของอำเภอตากใบ  ร้านนี้ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 44/4 ม.3 ต.เจ๊ะเห  อ.ตากใบ จ.นราธิวาส 96110 โทร 073-581145 ลูกชายป้าเอ็งให้การต้อนรับและนำชมขั้นตอนการผลิตปลากุเลาตากใบอย่างละเอียด


มือถือคือสื่อปชส.ชั้นเลิศ 

             ปลาที่ใช้เป็นปลากุเลาที่ได้จากชาวบ้านที่ธง(ปัก)เบ็ดในแม่น้ำโก-ลก จึงได้ปลาสด ๆ ขนาดปลาตามแต่จะธงเบ็ดได้ มีทั้งขนาด 2-3 ขีดจนถึงกิโลกรัม ปริมาณปลาที่ได้ขึ้นอยู่กับชาวบ้านจะได้มา บางวันได้เพียง 2-3 ตัวก็สะสมไว้ แต่ที่ไม่ใช้ปลากุเลาจากเรือประมงน้ำลึกก็เพราะว่า มักหมักเกลือมาแล้วและไม่สด


สาธิตทุกอย่างจนถึงทอดให้ทดลองชิม

             การทำปลากุเลาเค็ม เริ่มต้นที่การขอดเกล็ดทำปลาไม่ผ่าท้องแต่ใช้เหล็กขนาดเท่านิ้วชี้ทะลวงลากเครื่องในออกทิ้ง ล้างจนสะอาดปราศจากกลิ่นเครื่องใน จึงใส่เกลือในท้องส่วนหนึ่งแล้วเอาปลาลงหมักเกลือด้านนอกอีกส่วนหนึ่ง ปิดฝาครอบมิดชิด ต่อมาห่อปลาด้วยกระดาษขาวไปแขวนตากแดด 1 วัน เย็นจึงเช็ดเกลือออก แล้วเก็บรักษามิดชิด แมลงวันต้องเข้าในห้องกางมุ้งไม่ได้


แพคกิ้งสวยงามและรักษาคุณภาพไว้ได้นานกว่า 2 เดือน

             ยกออกตากแดด 2-4 วัน ปลาแห้งดี จึงนำปลาแห้งหมาด ๆ มาคลึงด้วยขวดแก้ว การคลึงก่อนบรรจุทำให้เนื้อปลานุ่มเนียน ไม่แข็งและรสชาติกระจายสม่ำเสมอทั้งตัว  ในการทำปลา หมักปลา ตากปลาและคลึงปลาก่อนบรรจุลงกล่อง ทำให้ห้องที่มุงด้วยผ้ามุ้งกันแมลงวัน 100% มิเช่นนั้น แมลงวันจะแอบไปไข่ทิ้งแล้วมีหนอน หลังจากนั้นทอดให้ลองชิม โอ้ อร่อยลิ้น


             ได้ของฝากเป็นปลากุเลาทอดหอมฉุย ก็เดินไปที่สะพานคอย 100 ปี ชาวบ้านที่เกาะริมฝั่งแม่น้ำโก-ลกตรงข้ามตลาดตากใบร้องขอนานถึง 100 ปี จึงได้งบประมาณมาสร้างสะพานสัญจร ตะวันใกล้ลับขอบฟ้า สีหม่น ไม่ใสสวยเหมือนบางฤดู หมดอารมณ์ถ่ายรูปแม่น้ำโก-ลกกับตะวันยอแสง จากกลางสะพานไปสิ้น


ไปถึงค่ำ แสงสีน้ำเงินสาดใส่ งดงาม

             ทริปนี้ แม้ตะวันรอน ๆ ก็ยังไม่เลิกรา พาไปศาลเจ้าแม่โต๊ะโม๊ะ เพื่อสักการะขอบุญบารมีใส่เกศา ก็ได้ไปสมใจ ได้ภาพภายในศาลเจ้า ได้ทั้งภาพนอกศาลเจ้า ครบถ้วน ถือเป็นมงคลชีวิตของพี่น้องผองเพื่อนร่วมเดินทาง ว่ากันว่า ศาลเจ้าแม่โต๊ะโม๊ะนั้นศักดิ์สิทธิ์นัก ขอสิ่งใดได้สิ่งนั้นจนเลืองลือไปทั่ว เป็นที่เคารพนับถือทั้งชาวไทยและชาวจีนมาเลเซียอย่างมากมาย


กราบไหว้และขอพร กี่ครั้งก็ขลังเหมือนเดิม

              ภัตตาคาร บักมุ้ย หน้าศาลเจ้าแม่โต๊ะโม๊ะ คือที่รองรับอาหารค่ำมื้อนี้  รูปแบบโต๊ะจีน อาหารที่ลงให้รับประทานนั้นเพียบพร้อมไปด้วยปริมาณและคุณภาพ แถมด้วยรสชาติจีนสุไหงโกลกขนานแท้ เป็นมื้อค่ำที่อิ่มอร่อยจนอืดอีกเช่นกัน  หลังรับประทานอาหารคาวยังมีอาหารหวานล้างปาก เผือกทรงเครื่องสไตล์อาหารจีนขนานแท้  แล้วก็ได้ไปพักแรมที่โรงแรมเวนิส จ้า



             ทีเด็ด เมนูที่ใฝ่หา  ร้านอ้วนบะกุ๊ดเต๋ สุไหงโกลก ไปได้ตั้งแต่เช้าตรู่เลยทีเดียว ร้านกว้างขวาง 2 ชั้น มื้อนี้เป็นบะกุ๊ดเต๋ทรงเครื่อง จัดสรรมาให้เป็นชุดแบบภัตตาคาร แบบคนไปจำนวนมาก สนนราคาก็คิดตามอัตราที่กำหนด เครื่องเคราในหม้อบะกุ๊ดเต๋เจ้านี้แตกต่างไปจากร้านอื่นๆ เพราะใส่ตั้งแต่ชิ้นส่วนของหัวหมู กระดูกหมู คากิ และหางหมู


             ที่กล่าวว่าทรงเครื่องนั้น ผมตั้งเอง ด้วยว่าในหม้อบะกุ๊ดเต๋มีทั้งเห็ดกระป๋อง เห็ดเข็มทอง ฟองเต้าหู้ เห็ดหอมซอย ต้นหอมผักชีตามสูตรอาหารจีน ดำเนินการแบบครอบครัว โดยมีพ่อจัดเตรียมแต่ละหม้อ ลูกสาวเดินคิดเงิน แม่เก็บสตางค์ไม่ให้เล็ดรอดหล่นหายไปได้ สาวๆชาวรามัญ(พม่าทาแก้มทานาคา)เป็นลูกมือที่ขยันขันแข็ง  อิ่มจนอืดตามสูตรการต้อนรับของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย



              คณะสื่อมวลชนและเอเยนซี่เดินทางไปโครงการศึกษาพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ แต่ผมติดตาม นพ.สุวิทย์ เกียรติเสวี สื่ออาวุโสเจ้าของหน้าต่าง มองคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม นสพ.เดลินิวส์ ไปกับท่าน ผอ.มัณฑนา ภูธรารักษ์ ที่กรุณาพาไปยังพุทธมณฑลจังหวัดนราธิวาส


             ได้ภาพพระพุทธรูปองค์ใหญ่ยักษ์บนเนินเขากงพื้นที่ 142 ไร่ จุดเด่นคือ พระพุทธทักษิณมิ่งมงคล (พ.ศ.2509-2512) ศิลปะสกุลช่างอินเดียตอนใต้ หน้าตักกว้าง 17 เมตร ความสูง 24 เมตร และได้มณฑปหลวงปู่ทวดมาอวดด้วย 


             หลังจากนั้นท่านกรุณาพาไปยังศาลเจ้าโก้วเล้งจี่  อ.เมือง จ.นราธิวาส ซึ่งมีอายุถึง 103 ปี (2561) สร้างอยู่ในเขตวัดบางนราด้วยทุนของพี่น้องชาวจีนในจังหวัดนราธิวาส ด้วยหวงจุ้ยหลังอิงเขามงคลพิพิธ หน้าหันไปทะเล ภายในแท่นบูชาประดิษฐานองค์พระยูไล  พระอรหันต์จี้กง  เทพเจ้ากวนอู  เจ้าพ่อเสือ  องค์เห้งเจีย  เจ้าแม่กวนอิม ฯลฯ ส่วนบนเขามงคลพิพิธประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลองและพระพุทธรูปพระสังกัจจายน์ และรูปหล่อหลวงปู่ทวดวัดช้างไห้ 


             ส่วนองค์พระพิฆเนศ ที่ผมอยากจะบอกว่า สวยวิจิตรตระการตาที่สุดในโลก พวงมาลัย สร้อยประคำ ดอกไม้ ลวดลายต่างๆประดิดประดอยจากหินแม่น้ำโขงทั้งสิ้น อาณาบริเวณสะอาด เรียบร้อย และถูกจัดวางได้อย่างลงตัว เสียดายที่ผมมีเวลาจำกัดเพียงชั่วครู่ ได้ภาพมาตามสภาพของโอกาสให้ได้ชมกันครับ


            มีป้ายประกาศเกียรติคุณแด่ผู้เสียสละทรัพย์เพื่อสร้าง นาย อินดาร์ แซล บุศรี  (ดีวรรณพานิชย์)และคณะ  ผู้ออกแบบองค์พระพิฆเนศคือ ผศ.เจริญชัย ต้นครองจันทร์ เบิกเนตรเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2555 สถานที่ประดิษฐานองค์พระพิฆเนศเป็นที่ดินติดกับศาลเจ้าโกวเล่งจี่  มีต้นศรีมหาโพธิ์อยู่หน้าองค์พระ ให้ร่มเงาเย็นสบายดี   


             เดินทางไปยังอำเภอเมือง จังหวัดยะลา แวะมื้อเที่ยงที่ร้านธาราซีฟู๊ด แล้วไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์มากกว่า 100 ปี ของ ผ้าปะลางิง ซึ่งเป็นผ้าเก่าแก่และมีเทคนิคการพิมพ์ลายผ้าด้วยบล็อกไม้แกะสลัก ขบวนการผลิตผ้าปะลางิงมีเทคนิคมากมายหลายขั้นตอน ดังนี้คือ


              ผ้าพื้นที่ใช้เดิมทอมือแต่ภายหลังซื้อผ้ามาจากหลายถิ่น แรกนำมามัดย้อมได้ลายในเนื้อผ้าปรากฏ แล้วเขียนเทียนปิดตัวลายจากการมัดย้อม  ล้างสีย้อมออกเหลือแต่สีติดลายและลงสีพื้น ต่อไปที่การพิมพ์ด้วยบล็อกแกะสลักและเพ้นท์ปิดเทียนในหัวผ้า ใส่แสงเงาในตัวหัวผ้า เป็นอันเสร็จขบวนการผลิตผ้าปะลางิง


การลงลวดลายผ้าและสำเร็จแล้ว

              ผ้าปะลางิงจะกว้าง 42-45 นิ้ว ยาวแต่ละผืนกว่า 10 เมตร ผ้าแต่ละผืนแต่ละลายมีเชื่อเรียกตามลายผ้าเช่น ลายหัวเข็มขัดโบราณ ลายจวนตานี  ลายช่องลมบ้านโบราณ  ลายกระเบื้องโมเสคโบราณ  ปัจจุบันคิดค้นลวดลายผ้าชนิดนี้มากถึง 200 ลาย  เป็นผ้าที่ใช้ซักด้วยมือ แบบบ้านๆ


             สนใจติดต่อ นายปิยะ สุวรรณพฤกษ์ ประธานกลุ่มศรียะลาบาติก เลขที่ 24 ถนนกาญจนา 2 อ.เมือง จ.ยะลา 95000 โทรมือถือ 084-1652312 และ 087-8374007  


              มื้อค่ำ ร้านต้าเหยินเบตง อ.เบตง จ.ยะลา  อาหารขึ้นโต๊ะเพียบ แต่ที่ให้ความสำคัญคือ ไก่เบตง  ปลาเฉาฮื้อนึ่งป๊วย  กบทอดกระเทียม  ต้มยำตีนไก่  ฯลฯ อิ่มจนอีดตามสไตล์ ททท.จัดให้  อิ่มแล้วก็ไปพักแรมที่ โรงแรมแมนดาริน เบตง บนเนินเขาเหนือเมือง  รีบหลับเพราะจะรีบตื่นไปชมทะเลหมอกอัยเยอร์เวง กม.32 (เบตง-ยะลา)


ไก่เบตงและปลาจีน

              04.30 น.รถตู้ออกจากโรงแรม  ไต่ไปตามไหล่เขาและไต่ขึ้นไปยังขุนเขา  ขุนเขาที่พักชม ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง สร้างศาลาชมแน่นหนา สวยงาม และมองเห็นได้เต็มพิกัด ตั้งอยู่ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 2038 ฟุต แต่โชคร้าย วันที่ไป มีลมพัดแรง หมอกหลบ นักท่องเที่ยวผิดหวัง ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา  ที่ไหน ๆก็เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ได้เช่นกัน  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับธรรมชาติของแต่ละวัน


ลมแรงหมอกกระจาย ไม่ฟู 

              07.30 น.เดินทางกลับเข้าเบตง ไปกินติ่มซำเจ้าดัง ชื่อร้านไทซีฮี้  ถือกันว่าเป็นต้นตำหรับติ่มซำของเบตง  ร้าน 2 คูหาตั้งอยู่ใกล้หอนาฬิกากลางเมืองเบตง  กินอิ่มแล้วก็เดินถ่ายรูปไปตามถนนมุ่งสู่โรงแรมแมนดาริน เพื่อเตรียมพร้อมเดินทางไกลไปยัง อุโมงค์ปิยมิตร  ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติสาสตร์ โจรจีนคอมมิวนิสต์กลับใจมาร่วมพัฒนาชาติไทย


             ได้ไปชมแปลงปลูกผักน้ำ ผักยอดฮิตที่ชาวจีนปิยมิตรนิยมกินเป็นผักไฟแดง แล้วยังได้ไปชมการเลี้ยงปลาจีน “ปลาเฉาฮื้อ” ในบ่อดินด้วยน้ำใสไหลเย็นจากห้วยธรรมชาติของพื้นที่  เป็นบ่อดินที่ขุดไม่ลึกนัก  มีท่อน้ำไหลจากห้วยธรรมชาติ ปลาเฉาฮื้อที่เลี้ยง ๆ ด้วยใบมันสำปะหลังและใบตองกล้วย ด้วยการโยนใส่ไว้ผิวน้ำ ปลาจะตอดกินจนเหลือแต่ก้าน


บ่อเลี้ยงปลาจีน

            “ตัวขนาดเล็ก 2-3 กก.ขายไม่ได้ เล็กไป ต้องขนาด 10 กก.ขึ้นไป จึงจะนิยมซื้อหาไปทำกินกัน  ขายปากบ่อนี่ กก.ละ 230 บาท”

มื้อเที่ยงที่ร้าน ลำธาร เชิงดอยอุโมงค์ปิยมิตร  รายการอาหารก็เช่น ปลาเฉาฮื้อนึ่งซีอิ๊ว  ผักน้ำไฟแดง ไก่ตุ๋นสมุนไพรจีน ฯลฯ  กินอิ่มจนอืดอีกเช่นเคย


พืชอาหารปลาจีน ใบมันสำปหลังและใบตองกล้วย

             จากอุโมงค์ปิยมิตรเดินทางย้อนกลับไปยะลาและแยกไปปัตตานี มุ่งหน้าสู่ ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ไปถึงก็ตะวันรอนอ่อนแสงลงไปมากแล้ว  ไกด์ท้องถิ่นทีมอารมณ์ดีนำชมเมืองเก่าปัตตานี ได้เห็นบ้านเรือน ร้านค้า ท่าเรือ โรงเตี๊ยม ฯลฯ โดยเดินไปตามถนน 3 เส้นหลักคือ ถนนอาเนาะรู  ถนนปัตตานี  และถนนฤาดี


             ค่ำสนิท เดินทางเข้าที่พักแรม โรงแรมเอสซี ร่วมกิจกรรม Networking Dinner ประกอบด้วย รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นายพงศ์เทพ ไข่มุกด์ นายนพดล ภาคพรต รองผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ด้านตลาดภายในประเทศ  นางมัณฑนา ภูธรารักษ์ ผอ.การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจังหวัดนราธิวาส สื่อมวลชนและเอเยนซี่จากผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว มีการแสดงนาฎลีลา 2 ชุด เล่าเรื่องราวของศิลปวัฒนธรรมของชาวปัตตานี


             20.00 น.ชมความงดงามของมัสยิดกลางปัตตานี  ต้นแบบจำลองมาจาก  ทัชมาฮาล ประเทศอินเดีย


งดงามดั่งทัชมาฮาล

             หลังอาหารเช้าที่โรงแรม เดินทางไปสวนสาธารณะสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ สวนเจ้าฟ้ากัลยาณีวัฒนา ปัตตานี ขึ้นสกายวอล์คสูงเทียมตึก 5 ชั้น เพื่อสูดอากาบริสุทธิ์และดื่มด่ำกับธรรมชาติชายฝั่งอ่าวปัตตานีที่เคยเป็นเมืองท่าเก่าแก่ของแผ่นดินด้ามขวานทอง  เป็นสถานที่ที่ช่วยให้ผ่อนคลายและได้ออกกำลัง เพิ่มพลังเข้มแข็ง


             ไฮไลท์สำคัญมาถึง ณ บ้านทรายขาว ชุมชนพหุวัฒนธรรมไทยพุทธ-มุสลิม ซึ่งได้รับรางวัลชุมชนดีเด่นด้านการท่องเที่ยว (Tourism Award 2007 ) แล้วนั่งรถจี๊บวิลลี่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เดินทางมุ่งสู่ทิวเขาอุทยานแห่งชาติหาดทรายขาว  ได้ชมผ้าทอหาดทรายขาว ทุเรียนหมอนทองหาดทรายขาวที่มีเมล็ดลีบ มีแต่เนื้อพูนๆ


              อาหารมื้อเที่ยงด้วยฝีมือของพี่น้องชุมชนบ้านทรายขาว  ล้วนเปี่ยมไปด้วยวิถีพื้นบ้านเช่น แกงส้มส้มแบกกุ้งสด  ไข่เจียมสมุนไพร  ปลาหลังเขียวแดดเดียว  หมี่กะทิของหาดทรายขาว ยำส้มแขกกับใบชะพลูอร่อยล้ำ แกงไก่บ้านใส่หยวกกล้วย และที่ขาดไม่ได้ก็น้ำพริกกะปิแกล้มด้วยผักสมุนไพรพื้นบ้านมากมาย  ผลไม้และของฝาก เป็นมังคุดและเงาะโรงเรียน


แกงส้มแขก ระบายท้องดีแถมอร่อย และแกงไก่บ้านใส่หยวกกล้วย 

เกิดมาเพิ่งเคยกินยำส้มแขก กับหมี่กระทิของชาวใต้ โคตรอร่อย

              แหล่งท่องเที่ยวทางศาสนาแหล่งสุดท้ายทริปนี้คือ วัดช้างไห้  สักการะหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ เดินทางกลับถึงบ้านโดยสวัสดิภาพ ปลอดภัย หายห่วง  ไม่มีเรื่องหวาดเสียวและไม่มีเรื่องรบกวนจิตใจแต่อย่างใด   กลับมาแล้วยังอยากไปอีก


 

 

 

 

 

             

             

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view