http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 07/08/2024
สถิติผู้เข้าชม14,331,500
Page Views16,660,941
« October 2024»
SMTWTFS
  12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031  
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

สุรินทร์ หนึ่งเดียวในโลก ตักบาตรบนหลังช้าง โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

สุรินทร์ หนึ่งเดียวในโลก ตักบาตรบนหลังช้าง  โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

สุรินทร์ หนึ่งเดียวในโลก ตักบาตรบนหลังช้าง

โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

#สุรินทร์ #surin #ททท.สุรินทร์ #สุรินทร์ บุรีรัมย์และศรีสะเกษ

------------------------------

            ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จังหวัดสุรินทร์ คุณบุณยานุช วรรณยิ่ง ส่งกำหนดการเชิญสื่อมวลชน Media Fam Trip @ สุรินทร์ ระหว่างวันที่ 26-28 กรกฎาคม 2561 โอ้โฮ ไม่ไปก็จะไม่ได้ไปชมการแห่เทียนพรรษาและการตักบาตรบนหลังช้าง ซึ่งเป็นวัฒนธรรมประเพณี เพียงแห่งเดียวในโลก ด้วยขบวนช้างถึง 67 เชือก  ขอขอบพระคุณ นพ.สุวิทย์ เกียรติเสวี นสพ.เดลินิวส์ หน้าต่าง มองคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม วันอาทิตย์ อย่างยิ่งที่กรุณาแนะนำเว็บไซต์ทองไทยแลนด์ดอทคอมให้ได้รับเชิญไปด้วย  ซวด  ซวด


            เช้าตรู่ สื่อมวลชนพร้อมกันที่ ททท.ถนนเพชรบุรี รถตู้ 3 คันนำสื่อเดินทางด้วยความเรียบร้อย หลังอาหารมื้อเที่ยงที่ไม่พ้น ขาหมูจิ้งนำ เมืองนางรอง เจ้าเก่า ก็เดินทางไปจนถึงที่พัก โรงแรมกลางเมืองสุรินทร์ เก็บสัมภาระเข้าห้องแล้วก็เดินทางไปยัง วงเวียน พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง เพื่อร่วมในงานขบวนแห่เทียนพรรษาจาก 12 คุ้มวัด


            วันที่ 26 กรกฎาคม 2561 เวลา 16.30 น. เวลาที่เริ่มต้น ขบวนแห่เทียนพรรษาของคุ้มวัด 12 คุ้มวัด  ได้แก่วัดบูรพาราม วัดเทพสุรินทร์ วัดกลางสุรินทร์ วัดพรหมสุรินทร์ วัดจำปาสุรินทร์ วัดหนองบัว วัดศาลาลอย วัดโยธาประสิทธิ์ วัดโคกบัวราย วัดจุมพลสุทธาวาส วัดประทุมเมฆ วัดใหม่ศรีมากทอง   แต่ละขบวนและแต่ละต้นเทียนจะเป็นเช่นไร


            เริ่มที่ต้นเทียนพรรษาที่ตกแต่งเป็นรถบุปผาสวรรค์ ผ้าไหมสุรินทร์ ขบวนดนตรีบรรเลงก็นำเอาศิลปะวัฒนธรรมทางดนตรีของแต่ละคุ้มวัดออกมาแสดงอวดนักท่องเที่ยว  ตามด้วยขบวนแห่ของเหล่าเยาวชนที่ฟ้อนรำด้วยลีลาเฉพาะของคนสุรินทร์ แต่งตัวด้วยผ้าไหมหลากสีสันและหลากลวดลาย เหมือนแต่ละคุ้มวัดงัดของดีที่สุดออกมาโชว์


            แต่ก็มีบางคุ้มวัดที่ใช้เยาวชนให้แสดงการละเล่นของเยาวชนในอดีต เช่นการฟ้อนกลองยาว การเดินกะลา การขี่ม้าก้านกล้วย ฯลฯ  ชวนมองและขบขันกับกริยาอาการที่ใสบริสุทธิ์ของหนูๆ   เต็มไปด้วยสีสันสดใส งดงามด้วยวัฒนธรรมการแสดงของพี่น้องชาวชนเผ่าในจังหวัดสุรินทร์


            ที่ผมตะลึงจังงังยิ่งนักคือ ทั้งนายฟ้อนและนางรำแต่ละคุ้มวัด แต่งองค์ทรงเครื่องด้วยผ้าไหม อันเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมเรื่องเครื่องแต่งกายของพี่น้องชาวสุรินทร์ สีสันแต่ละขบวนแตกต่างกันไปตามการออกแบบของแต่ละคุ้มวัด ผ้าไหมแต่ละคุ้มวัดก็แต่ละลวดลายและสีสัน ความประทับใจและความตราตรึงใจนั้นมากล้นรำพันเลยทีเดียวเชียวละเพื่อนๆเอ๋ย


            แต่ละอัฒจันทร์ มีนักท่องเที่ยวทั้งจากต่างจังหวัด ต่างชาติและเผ่าพันธุ์ รวมถึงพี่น้องผองชาวสุรินทร์ที่ออกมาร่วมงานประเพณีที่ปีหนึ่งมีครั้งเดียว แถมเป็น วัฒนธรรมหนึ่งเดียวของโลกที่พี่น้องชาวจังหวัดสุรินทร์แสนภาคภูมิใจ  ดังนั้น เมื่อเอ่ยถึงช้าง จึงหมายถึงจังหวัดสุรินทร์ เหมือนเป็นเอกลักษณ์ของชาวสุรินทร์  


            ตะวันลับขอบฟ้า ขบวนแห่ช้าง 67 เชือกรอเวลา แต่เพียงชั่วเคลื่อนช้างไปได้เพียงไม่กี่เชือก ฝนก็เทลงมาจนต้องวิ่งหลบเข้าใต้หลังคาประรำพิธีกันวุ่นวาย  ฝนซาเม็ด ทั้งขบวนนางรำและช้างก็เรียงแถวจากไปจากวงเวียนพระยาสุรินทร์ฯ   สื่อมวลชนเดินทางต่อเพื่อไปรับประทานอาหารค่ำ ตามที่ ททท.จับจองไว้ให้แล้ว


แล้วฝนก็เทลงมา

          วันที่ 27 กรกฎาคม 2561 เวลา 05.30 น เสียงปลุกดังลั่นห้อง เตรียมความพร้อมออกเดินไปยังวงเวียนพระยาสุรินทร์ฯ เพื่อเข้าสู่ประเพณีอันดีเลิศและเป็นเอกลักษณ์ของชาวสุรินทร์ เพียงจังหวัดเดียวในโลก การตักบาตรบนหลังช้าง  อรรถจันทร์ถูกจัดวางอย่างลงตัวตามแบบอย่างที่จะทำให้การตักบาตรบนหลังช้างสะดวกและดูสวยงาม 


            พระสงฆ์นั่งบนเสลี่ยงหลังช้าง 2 องค์ มีท้ายช้างคอยช่วยถ่ายเครื่องทำบุญและบูชาของพุทธศาสนิกชน ขบวนช้าง 1คน ควาญช้างถือประตักนั่งบนคอช้างตามรูปแบบการใสช้าง  ช้างสะพานบุฯทั้ง 67 เชือกนี้ ได้รับการเลี้ยงอาหารหวานคอจนอิ่ม  อารมณ์ช้างจึงดี ทำหน้าที่เป็นพาหนะเทินพระสงฆ์  เรื่องช้างอารมณ์เสียจึงไม่เกิด


อาหารช้างและเครื่องตักบาตรพระบนหลังช้าง

            ผู้แสวงบุญที่มาจากทุกสารทิศ มากมาย แต่ละคนตั้งใจมาตักบาตรอาหารแห้งแด่พระสงฆ์บนหลังช้าง ซื้อหาจากพี่น้องชาวสุรินทร์ที่วางจำหน่าย  บ้างก็ซื้อหาจัดเตรียมมาในกระเตง(ตะกร้า) ถ้าเป็นชาวสุรินทร์ส่วนใหญ่จะนุ่งผ้าซิ่นไหม สวมเสื้อแขนกระบอกเข้ากัน สีสดสีต่างๆมากมาย แต่นักท่องเที่ยวก็ตามสบาย


            บนอัฒจันทร์ นักแสวงบุญที่มาก่อน จับจองที่นั่งเตรียมตักบาตรกันเอง ตักบาตรจนหมดแล้วก็ลงเปิดที่ว่างให้ผู้แสวงบุญคนอื่นๆได้เวียนขึ้นไปตักบาตรแทน  สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันด้วยอัธยาศัยอันดีงามของพี่น้องผองไทย  ในการตักบาตรถ้าเป็นเครื่องจตุปัจจัยไทยทานก็จะใส่บาตรกับพระสงฆ์


            ผู้แสวงบุญที่ไม่มีที่นั่งบนอัฒจันทร์ ก็จะเดินยื่นของที่จะถวายพระสงฆ์ให้กับช้าง  แต่ละตัวเมื่อรับแล้วก็จะชูงวงพร้อมจตุปัจจัยให้พระสงฆ์รับไป  


            ผู้แสวงบุญจำนวนไม่น้อยที่ซื้อหาปัจจัยที่เป็นกล้วย อ้อย มะละกอ  ฯลฯ เพื่อให้เป็นอาหารแก่ช้าง รู้สึกสนุกและประทับใจกับการได้ป้อนอาหารแก่ช้าง สัตว์บกที่ใหญ่ที่สุด


            ส่วนผู้แสวงบุญที่ประสงค์จะทิปสตางค์ให้กับควาญช้าง ก็จะยื่นแบงค์ให้กับช้างที่รับด้วยงวงขนาดใหญ่ แล้วเขาก็ส่งเงินนั้นให้กับควาญช้าง 


           ควาญช้างแต่ละคน แต่ตัวด้วยเสื้อผ้าสีสันออกทางแดงมากที่สุด แต่ละคนมีเครื่องประดับตามใจชอบและศรัทธา  ส่วนใหญ่เป็นพระเครื่องพวงใหญ่ๆ มองดูก็ขลังดี

 

           ผมเหลียวมองไปทั่วใบหน้าที่เปี่ยมสุขและตื่นเต้น ของนักท่องเที่ยวทั้งวัยปลายและเยาวชนคนน้อยๆ  รอยยิ้ม กริยาที่แสดงออกอย่างเปิดเผย ช่างมีความสุขเสียจริง   กว่าขบวนช้าง 67 เชือกจะบิณฑบาตจนเสร็จสิ้นก็เดินจากไปทั้งขบวน ได้เวลาเคลื่อนที่เพื่อไปยังวัดบูรพาราม เพื่อถวายเทียนพรรษาแด่พระสงฆ์ตามประเพณี


            ท่านผู้อำนวยการ ททท.สุรินทร์ นางสาวบุณยานุช วรรณยิ่ง ได้พาไปยังหมู่บ้านผลิตเครื่องเงินโบราณ อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของจังหวัดสุรินทร์ ที่เรียกว่า “ลูกปะเกือม”     บ้านเขวาสินรินทร์ ได้เห็นการหลอมเงิน การรีดเงิน การเชื่อมเครื่องเงิน การประดิษฐ์ลวดลายจากภูมิปัญญาท้องถิ่น  


          อีกหนึ่งความอลังการของชาวสุรินทร์คือ หมู่บ้านทอผ้าไหมยกทองโบราณ บ้านท่าสว่าง ซึ่งประดิดประดอยจากมันสมองของท่านอาจารย์ วีรธรรม ตระกูลเงินไทย  มีการตั้งกลุ่มอาชีพทอผ้ายกทองจันทรโสมา ขึ้น  ผ้าไหมยกทองเจ้านี้ เป็นแหล่งที่เรียนรู้ศิลปะการถักทอเส้นไหมสลับซ้อนดิ้นทองผสมผสานลายราชสำนักโบราณอันวิจิตรงดงาม


            เรียกกันว่าเป็นสุดยอดผ้าไหมของชาวจังหวัดสุรินทร์ ทั้งรูปแบบการถักทอที่ต้องใช้คนทอถึง 4 คน นับจำนวนสะกอเป็นพันสะกอ  และเป็นการทอที่เป็นแนวดิ่ง  ว่ากันว่า กว่าจะทอได้เพียง 2 นิ้วต้องใช้เวลาถึง 3-4 เดือน และเมื่อทอเสร็จแต่ละชิ้น จำหน่ายด้วยราคาแพงลิ่ว เมตรละกว่า 30,000 บาทขึ้นไป หมู่บ้านทอผ้าไหม ท่าสว่าง ถอและขายกันทั้งหมู่บ้าน


            โชคดี ได้เดินทางต่อไปชม “บ้านชิดชอบ” ต้นตระกูลชิดชอบ  มีศาลปะกำที่ทุกคนก่อนเข้าชมต้องจุดธูปบอกตามประเพณี  พี่น้องตระกูลชิดชอบมานั่งรอรับแขกของตระกูลที่บ้านพระยาราม ตำบลเพี้ยราม อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์  


            วันที่ 28 กรกฎาคม 2561 หลังอาหารเช้า ก็ได้รับการนำคณะสื่อมวลชนไปยังบ้านสวาย  ชุมชนทอผ้า ไทย-เขมร  เหมือนหมู่บ้านผ้าไหมอื่นๆคือ มีการปลูกต้นหม่อนเอาใบเลี้ยงไหม มีการสาวไหม ย้อมสีจากสีธรรมชาติ และการถักทอด้วยภูมิปัญญาของแต่ละคนที่ได้รับการส่งต่อมาจากบรรพบุรุษของตนเอง


            วันนี้ ได้ไปนั่งทำอาหารกันเองตามรูปแบบบ้านโฮมสะเตย์  แล้วก็นั่งกินกันเหมือนญาติพี่น้อง กับข้าวๆก็บ้านๆง่ายๆ เน้นสมุนไพรเพื่อสุขภาพ 


            เป็นประเพณีไปแล้ว ต้องถ่ายรูปหมู่เป็นที่ระลึก  หน้า เรือนไหมโฮมสะเตย์  อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ เฮ เฮ


 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view