http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 07/08/2024
สถิติผู้เข้าชม14,331,535
Page Views16,661,002
« October 2024»
SMTWTFS
  12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031  
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

สาละวินเดือด โดย อินทรี ดำ ตอนที่ 1. กระท่อมวนกร สมาคมศิษย์เก่าวนศาสตร์

สาละวินเดือด  โดย อินทรี ดำ  ตอนที่ 1. กระท่อมวนกร  สมาคมศิษย์เก่าวนศาสตร์

สาละวินเดือด  โดย อินทรี ดำ

ตอนที่ 1. กระท่อมวนกร  สมาคมศิษย์เก่าวนศาสตร์ 

            ถ้าเป็นภาพยนตร์ จะเปิดภาพเปิดด้วยคำว่า 

สร้างจากเรื่องจริงอิงนิยาย  บันทึกประวัติศาสตร์ผ่านสื่อมวลชน  มหกรรมการทำลายป่าไม้สักครั้งใหญ่ที่สุดในโลก โดยเฉพาะการทำลายป่าไม้สักจากผืนป่าอนุรักษ์ ประเภท เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ  “สาละวิน”  ซึ่งมีกฎหมายเฉพาะคุ้มครอง  มีพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติบางส่วนแทรกแซมอยู่บ้าง 

            แล้วภาพก็จะตัดไปที่ภาพการพาดหัวตัวไม้บนหน้าสื่อสิ่งพิมพ์หัวสารพัดสี  มีทั้งรายวันและรายสัปดาห์  เห็นภาพเคลื่อนไหวจากสื่อภาพเคลื่อนไหว ข่าวจากทีวีทุกช่อง   สื่อเสียงทั้งเอเอ็มและเอฟเอ็ม ทุกสถานี   ผ่านสายตาและหูฟัง มากมาย  เป็นข่าวการทำลายป่าไม้สักครั้งใหญ่ที่กรมป่าไม้ไม่ต้องใช้เงินทำประชาสัมพันธ์แต่อย่างใดเลย 

            ในหน้าสื่อต่างๆ เป็นภาพการให้สัมภาษณ์ของบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งนักการเมือง ตั้งแต่ระดับกรรมาธิการฝ่ายต่างๆ นักการเมือง ระดับรัฐมนตรี  จนถึงนายกรัฐมนตรี  ส่วนฝ่ายข้าราชการประจำก็มีตั้งแต่ระดับปฏิบัติการในพื้นที่  ป่าไม้อำเภอ ป่าไม้จังหวัด ป่าไม้เขต ผู้อำนวยการส่วนจนถึงผู้อำนวยการสำนัก  รองอธิบดี  อธิบดีกรมป่าไม้  ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงมหาดไทย

ที่น่าแปลกใจมากคือ สื่อมวลชนค้นทำข่าวบุกเข้าไปสัมภาษณ์ถึงบิ๊ก ๆ ระดับ ผู้บัญชาการทหารบกลงไปจนถึงกองทัพภาคที่ 3  ทำไม  

            ภาพเคลื่อนไหวที่ต้องเจาะลึกถึงขบวนการลักลอบตัดไม้สักสาละวิน   ในความเป็นจริง เหลืองเพียงการข่าวที่บอกเล่าความจริงบางประการว่า นานมาแล้ว มีเฮลิคอร์ปเตอร์สีหม่นไม่ทราบสังกัดบินฉวัดเฉวียนเหนือผืนป่าสาละวินฝั่งประเทศไทย  เป็นการบินขึ้นล่องไปตามลำแม่น้ำสาละวิน แล้วก็บินจากตะวันออกวนไปทางทิศตะวันตกแต่ก็แค่แม่น้ำสาละวิน อันเป็นชายขอบฝั่งไทยเท่านั้น เหมือนการบินบันทึกภาพ 

จากภาพมุมสูงเหนือยอดไม้สัก  ได้เห็นค่ายหรือกลุ่มบ้านของกะเหรี่ยงอพยพ  ถ่ายเจาะลงไปได้เห็นภาพกะเหรี่ยงเดินแบกเลื่อยยนต์ มีขวานเหน็บหลัง  บางคนถือขวานฟันเพื่อเปิดหน้าเขียงที่เรียกว่าขวานหงอน  และขวานกานต้นสัก  

             ขบวนการตัดต้นสักด้วยเครื่องเลื่อยโซ่ยนต์    ภาพต้นสักขนาดสองคนโอบล้มฟาดลงในทิศทางที่มือเลื่อยกำหนดได้อย่างระทึก  ต้นแล้วต้นเล่า  ขั้นตอนการทอนท่อนสักเพื่อให้ได้ไม้ท่อนซุงที่เปราตรง งดงาม ได้ราคาดีเยี่ยม   ขั้นตอนการทอนกิ่ง การทิ้งท่อนปลายที่แทบไร้คุณค่าด้วยว่าคดงอ เป็นโพรง ขนาดเล็ก ทิ้งไว้กลาดเกลื่อน 

             กะเหรี่ยงกล้ามเกร็งเจาะจมูกซุงด้วยขวานอย่างชำนาญยิ่ง  จมูกซุงนั้นจะเจาะทั้งหัวท้ายท่อนซุงอย่างชำนาญการ    ขั้นตอนการใช้ช้างชักลากไม้สักท่อนลงสู่แม่น้ำสาละวิน  การคัดไม้ของกะเหรี่ยงและการผูกแพซุงสัก  การตัดลำไม้ไผ่ใช้ผูกแพซุง  


             ที่เด็ดเห็นจะเป็นภาพการล่องแพซุงไม้สักในแม่น้ำสาละวิน  แพซุงที่ไหลตามแรงน้ำไปเป็นแพเรียงไล่กันไปอย่างมีระเบียบ   การขึ้นไม้ที่ท่าหาดแม่สามแลบ และท่าต่างๆ   ขบวนการคบไม้ด้วยช้าง  และขบวนการประทับรับรองว่า ไม่ซุงสักเหล่านั้นเป็นไม้พม่า แต่ในความเป็นจริงมันคือไม้สักจากป่าของประเทศไทย ถีบลงไปชุบน้ำวิเศษ สาละวิน แล้วนุ่งโสร่งขึ้นฝั่งไทย กลายเป็นไม้หม่องไปทันใด   

             ขั้นตอนการศุลกากร ทำกันด้วยความฉับไว และไม่มีคำว่ากลางวันหรือกลางคืน เป็นการอำนวยความสะดวกแก่พ่อค้านำเข้าสินค้าที่แคล่วคล่องว่องไปปาน หนุมานทะยานไปเผากรุงลงกา  ขบวนการชักลากไม้ทั้งกลางวันและกลางคืน บนเส้นทางชักลากที่ผ่านทั้งทางที่ถูกต้องและที่ต้องผ่านด่านเข้าออกอุทยานแห่งชาติ  ทำไมถึงผ่านได้  จุดจบที่การชักลากไม้ไปหมอนไม้  เพื่อรอขั้นตอนการดำเนินการเกี่ยวกับการขนย้ายไม้ การเดินทางของไม้บนเส้นทางคดเคี้ยว  ใบเบิกทางเขียนอย่างรวดเร็วประทับตราดังเปรี้ยงๆไม่ขาดเสียง   เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทำงานด้วยความฉับไวเหมือนมีแรงกระตุ้นให้เร่งร้อน   

             งานหนักแต่กลับพบว่า แต่ละคนใบหน้าเปื้อนด้วยรอยยิ้ม ข้าราชการที่ทุ่มเทเพื่องาน

             วันที่ 6 ธันวาคม 2541  ภาพตัดมาที่กระท่อมวนกร  สมาคมศิษย์เก่าวนศาสตร์  สมาคมวิชาชีพป่าไม้ หรือจะเรียกว่าเป็นสมาคมของศิษย์เก่าเหล่านักวิชาการป่าไม้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะวนศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์    ซึ่งมีคณะกรรมการประกอบไปด้วย  อดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่  คณาจารย์ทั้งที่เกษียนราชการแล้วและยังทำการสอนอยู่ ข้าราชการจากกรมป่าไม้ที่เป็นกรรมการ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้  

             นายกสมาคมศิษย์เก่าวนศาสตร์ สมัยนี้เป็นอดีตอธิบดีกรมป่าไม้  ท่านชำนาญ ศรีมหาโพธิ์  รองประธานกรรมการ อดีตผู้ตรวจการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อดีตรองอธิบดีกรมป่าไม้ ท่านอุทาร  แสวงความดี  ผู้อำนวยการส่วนเศรษฐศาสตร์ป่าไม้และการวิจัยพัฒนาท่านจีรัง  เมืองทรัพย์   คณะกรรมการจากรัฐวิสาหกิจ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ท่านอดีตรองผู้อำนวยการองค์การ ท่านวิชัย  ทรัพย์มาก 

             ส่วนคณะกรรมการจากคณาจารย์ของคณะวนศาสตร์ ได้แก่ ท่านศาสตราจารย์ ท่าน ดร.นิเวศน์   อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการจัดการต้นน้ำ  มีความชัดเจนเรื่องวิชาการป่าไม้ ท่านรองศาสตราจารย์  ท่านดร.บุญเทียม  ชนะวงศ์วาน อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญการปลูกป่า  แน่นอนว่ามีความสามารถเป็นพิเศษในวิชาการปลูกป่า   ท่านรองศาสตราจารย์  ท่านบุญชอบ  คงทวีชัย  อาจารย์ด้านการปลูกสร้างสวนป่า อาจารย์นักสื่อสารสังคมกว้างขวางในหมู่ศิษย์เก่า  ท่านรองศาสตราจารย์ ประทุม จันทร์อินทร์  อดีตอาจารย์ด้านการจัดการป่าไม้ กรรมการและเลขานุการสมาคมหลายสมัย

             มุมท้ายสุดเป็นข้าราชการกรมป่าไม้ ชั้นผู้น้อย นายมณี  บันลือ  ยังรับราชการในกรมป่าไม้ มีความแตกต่างไปคือเป็นนักเขียนหนังสือเชิงวิชาการหลายเล่ม  และเป็นคอลัมนิสต์ในนสพ.รายวันและรายสัปดาห์ หลายฉบับ  รับหน้าที่ประชาสัมพันธ์สมาคม

             “คณะกรรมการมาเกินกึ่งหนึ่งนะครับ  ผมขอเปิดการประชุมปรึกษาหารือ กรณีศึกษาการทำไม้สักไม่ถูกกฎหมายในป่าสาละวิน ครับ”

             “ในฐานะอดีตอธิบดีกรมป่าไม้ ผมขอตั้งข้อสังเกตว่า ผืนป่าสาละวินเดิมเป็นสัมปทานทำไม้แม่ยวมฝั่งขวา ภายใต้การทำไม้ของบริษัทแม่ฮ่องสอนทำไม้จำกัด ซึ่งทำไม้กระยาเลย องค์การอุตาสาหกรรมป่าไม้ ทำไม้สักและยาง  และองค์การทหารผ่านศึกทำไม้เฉพาะแปลงที่ได้สัมปทานของตน” 

              “แต่ในปัจจุบันนี้ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวินไปแล้วเมื่อปีพ.ศ.2521 พื้นที่ป่า 546,875 ไร่และประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้เป็นอุทยานแห่งชาติสาละวิน เมื่อปีพ.ศ.2537  พื้นที่ 450,950 ไร่ ป่าอนุรักษ์ทั้งสองแห่งนี้มีแนวเขตติดต่อกัน เท่ากับตลอดชายแดนพม่ามีแม่น้ำสาละวินขวางกั้นแค่นั้น  ป่าไม้อุดมสมบูรณ์แม้จะผ่านการทำไม้แล้วเป็นบางแปลง  โดยเฉพาะไม้สัก”    

              “บัดนี้ ข่าวการทำไม้สักจากป่าสาละวินโด่งดังไปทั่วโลก เป็นหายนะครั้งใหญ่ที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยขบวนการที่แฝงเร้นว่าเป็นไม้สักนำเข้าจากพม่า พวกท่านคณะกรรมการมีความคิดเห็นเป็นอย่างไรบ้าง เชิญครับ”

              “ผมเคยเป็นป่าไม้เขตแม่เสรียง ผมยืนยันได้แค่ว่า ป่าโครงการแม่ยวมฝั่งขวานั้นหนาแน่นด้วยไม้สักจริงครับและในช่วงที่ผมปฏิบัติหน้าที่ก็มีเพียงการทำไม้ตามเงื่อนไขสัมปทานที่ออกอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายครับ  โดยเฉพาะผืนป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวินที่ประกาศเป็นเขตฯแล้วตั้งแต่ปีพ.ศ.2521  ส่วนป่าสาละวินที่เป็นอุทยานแห่งชาติสาละวินในปีพ.ศ.2537 นั้น ยังเป็นป่าสงวนแห่งชาติและยังทำไม้ตามเงื่อนไขในสัมปทานทำไม้ครับ  ” ท่านอุทาร แสวงความดี กล่าวยืนยัน

              “และผมก็ขอถามว่า ถ้าเป็นการทำไม้จากป่าสาละวินในส่วนไหนของป่าสาละวิน เพราะพื้นที่ 997,825 ไร่ถูกประกาศเป็นผืนป่าอนุรักษ์ไปแล้วทั้งสองประเภทนี่ครับ มีหัวหน้าเขตและหัวหน้าอุทยานบริหารจัดการตามกฎหมายเฉพาะของเขาคือ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 และพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติพ.ศ.2504 ครับ”

              “แต่ภาพข่าวที่เสนอทั้งทางทีวี หนังสือพิมพ์ และวิทยุ นั้นชี้ชัดว่า เป็นไม้สักที่ลักลอบตัดจากป่าสาละวินฝั่งไทยแล้วชักลากลงแม่น้ำสาละวิน ชุบน้ำกายสิทธิ์แผลบเดียว ก็ขึ้นมานุ่งโสร่งเป็นไม้พม่านะครับ  แต่นั่นคือภาพข่าวจากหน้าสื่อมวลชน”  ศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ นิเวศน์ เสียงดังคับห้อง    

              “ข้อเท็จจริง  ป่าไม้ฝั่งพม่าตกอยู่ในอำนาจปกครองของรัฐกะเหรี่ยง  ถ้าเป็นการทำไม้ถูกต้องก็ต้องมีการสำแดง ออริจิ้น(origin)แหล่งกำเนิดไม้ครับ  เรื่องนี้ เราก็ไม่รู้กันนะครับว่า มีการสำแดงไหม แล้วใครเป็นผู้สำแดง รัฐกะเหรี่ยงมีอำนาจตามบริบทไหม  รัฐบาลย่างกุ้งยอมรับไหม หรือว่าได้รับการยอมรับของรัฐบาลย่างกุ้ง” นายวิชัย ทรัพย์มาก อดีตรองผอ.ออป.เสริม

               “ถ้าไม้สักนั้นทำจากป่าอนุรักษ์สาละวินทั้งสองประเภท หัวหน้าเขตและหัวหน้าอุทยานฯ เขาทำอะไรกันอยู่  จะเข้าข่าย ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ไหม ฐานละเลยต่อหน้าที่ แล้วจะผิดแค่ระดับหัวหน้าหน่วยในพื้นที่น่ะหรือ ” รศ.บุญชอบ   กล่าวขึ้นเหมือนครางแคลงใจในแง่กฎหมาย

              “ผมว่า น่าจะต้องมีคนรับผิดชอบมากกว่านี้นะครับ ถ้าเป็นการลักลอบทำไม้สักจากป่าของประเทศไทย เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนในฐานะประธานคณะอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของจังหวัด  ผู้อำนวยการสำนักซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของ ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติและผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า  ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและปราบปรามป่าไม้   ป่าไม้เขตแม่เสรียง  ป่าไม้จังหวัดแม่ฮ่องสอน โอย เยอะๆ” รองศาสตราจารย์ ประทุม จันทร์อินทร์ เลขานุการสมาคม  อดใจไม่ไหว นำเสนอขึ้นมาบ้างหลังจากนั่งฟังมานาน 

               นายกสมาคมฯ ยกตัวขึ้นจากท่านั่งฟังอย่างครุ่นคิด แล้วกล่าวว่า

              “สับสนในข้อมูลและข้อเท็จจริง ในนามสมาคมวิชาชีพป่าไม้ สมาคมศิษย์เก่าวนศาสตร์ เห็นทีจะต้องลงพื้นที่ ไป ไปลุยป่ากันอีกสักตั้งนะพวกเรา ไหวไหม” ท่านนายกสมาคมผู้ที่มีร่างกายสูงใหญ่และอุดมสมบูรณ์พูนสุข ถามเสียงดัง

               “ไหว ยังไหว” เสียงตอบและหัวเราะร่วนเหมือนขำขัน โดยลืมกันไปแล้วหรือเปล่าว่า บัดนี้ มิใช่หนุ่มน้อยบัณฑิตวนกรเหมือนตอนเมื่อ 40-50 ปีที่แล้วโน่นนะ 

               “มณี นายหนุ่มสุดไม่ยกมือ ไม่ไปหรือไม่ไหววะ” เสียงหัวเราะยิ่งดังกว่าเดิม

               “ไหวครับท่าน  ไหว”

               มณี ประชาสัมพันธ์สมาคมตอบเสียงอ่อยๆ  มณีคิดแต่ในใจใครจะรู้ว่าทำไม คนอย่างมณีถึงไม่กระตือรือร้นที่จะไปป่าสาละวินนัก แต่ถึงอย่างไร มติเป็นเอกฉันท์ ให้กรรมการสมาคมศิษย์เก่าวนศาสตร์เดินทางไปเพื่อสืบค้นหาความจริงและทำความจริงให้ปรากฎก่อนการจะเขียนบันทึกประวัติศาสตร์

               การประชุมต่อเนื่องหลังเบรกคือการกำหนดพื้นที่ที่จะไปลงเพื่อหาข้อมูลอันเป็นจริง จุดแรก เป็นสำนักงานป่าไม้เขตแม่เสรียง  จุดที่สอง อุทยานแห่งชาติสาละวิน  จุดที่สาม เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน จุดที่สี่ ด่านศุลกากรที่หาดแม่สามแลบอันเป็นท่าขึ้นไม้จากพม่า จุดที่ห้า  เป็นหมอนไม้ในท้องที่อำเภอแม่เสรียง  นอกนั้นเป็นเรื่องการเดินทางจากกรุงเทพ และการเดินทางในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนโดยเฉพาะพื้นที่ป่าสาละวิน    รศ.ประทุม จันทร์อินทร์ เลขานุการสมาคมฯ รับเป็นผู้ประสานและดำเนินการตามขั้นตอน กำหนดวันที่ 10-12 ธันวาคม 2541

               วันที่ 10 ธันวาคม 2541  ตามเวลานัดหมายที่ดอนเมือง  คณะกรรมการสมาคมศิษย์เก่าวนศาสตร์พบกันพร้อมเดินทางโดยสายการบิน ดอนเมือง-เชียงใหม่ จากสนามบินเชียงใหม่ เดินทางต่อไปยังจังหวัดแม่ฮ่องสอนด้วยเครื่องตากจากเชียงใหม่  พักโรงแรมกลางเมืองแม่ฮ่องสอน  2 คืน  เช็คอินแล้วก็ออกเดินทางด้วยรถตู้เหมาจากแม่ฮ่องสอนไปยัง ป่าไม้เขตแม่เสรียง 

                จุดที่ 1. ห้องประชุมสำนักงานป่าไม้เขตแม่เสรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน  เมื่อคณะกรรมการศิษย์เก่าวนศาสตร์ เดินทางเข้าห้องประชุมเรียบร้อย ท่านป่าไม้เขตแม่เสรียง นายไพศาล กันทิมา เดินไปยืนหน้าห้อง แล้วเริ่มต้นการบรรยายสรุป กรณีการทำไม้ป่าสาละวิน

                “ผมไพศาล กันทิมา วนศาสตร์รุ่น ...รู้สึกเป็นเกียรติที่อดีตผู้บังคับบัญชาในนามกรรมการสมาคมศิษย์เก่าวนศาสตร์ให้เกียรติมาเยี่ยมจนถึงที่ ขอกราบขอบพระคุณอย่างสูง  ผมขอรายงานสรุปดังนี้ครับ  ผืนป่าสาละวินนั้นเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในการบริหารจัดการของสำนักอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า กรมป่าไม้ ครับ แบ่งออกเป็น  อุทยานแห่งชาติสาละวินและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน ในพื้นที่ เหลือป่าสงวนแห่งชาติสาละวินบางส่วน ผมป่าไม้เขตแม่เสรียงดูแลครับ”

                 “หน้าที่ป้องกันและปราบปรามมิให้เกิดการกระทำผิดลักลอบตัดไม้จากป่าอนุรักษ์ โดยมีส่วนป้องกันและปราบปรามทรัพยากรป่าไม้ของป่าไม้เขต เป็นกำลังเสริมครับ ”

                 “แล้วที่เกิดการลักลอบตัดไม้สักจากป่าอนุรักษ์จนเป็นข่าวโด่งดังนั้น ไม่ได้เกิดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั้งสองประเภทและป่าสงวนแห่งชาติของประเทศไทยเลยใช่ไหมครับ”

ท่านนายกสมาคมฯถามเสียงนุ่มลุ่มลึก แต่ป่าไม้เขตแม่เสรียงก็ยังยืนยันด้วยเสียงแผ่วโผยว่า

                 “ครับ ที่เป็นข่าว เป็นไม้สักจากพม่าครับ”  สีหน้าและแววตาของท่านป่าไม้เขต “ดูไม่มั่นใจ” ด้วยว่า คณะกรรมการสมาคมนั้นล้วนเป็นผู้ที่เคยมีตำแหน่งสูงในกรมป่าไม้ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้  มาก่อน  โดยเฉพาะบรรดาอาจารย์ที่สอนสั่งพวกเรามานั้นก็เป็นผู้ที่รู้รอบ 

                  กรรมการสมาคมแต่ละคนเหลียว “มองสบตากัน” แต่ก็ไม่มีใครเสริมคำถามใด ๆ ให้ตรงประเด็น หรือว่าลูบหน้าปะจมูก

                  “ขั้นตอนการนำไม้สักท่อนเข้า มีระเบียบกรมป่าไม้ให้ถือปฏิบัติ หน้าที่หลักเป็นที่ทำการป่าไม้จังหวัดและป่าไม้อำเภอครับ เป็นไม้สักจากพม่าที่สำแดงออริจิ้น เป็นสินค้าของพม่าก็ผ่านด่านศุลกากรตามระเบียบปฏิบัติครับ ”

                  “หน้าที่ป่าไม้เขตแม่เสรียง แค่การปราบปรามการกระทำผิดในพื้นที่ป่าของประเทศไทย ทางป่าไม้เขตเฝ้าระวังอยู่ครับ” ป่าไม้เขตสรุป  ไม่มีคำถามทะลวงใจ ไม่มีการซักไซร้ไล่เลียง เหมือนเกรงใจหรือยังไม่เข้าใจในสถานการณ์ที่แท้จริง หรือจะเป็นเพราะโบราณว่า เสือไม่กินเนื้อเสือ 

                   “ผมขอแนะนำหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวินและหัวหน้าอุทยานแห่งชาติสาละวินครับ” ป่าไม้เขตแม่เสรียงแนะนำหัวหน้าหน่วยงานทั้งสอง แล้วกล่าวสรุป

                   “เราจะแบ่งจุดตรวจและลงพื้นที่ทั้งสี่แห่งครับ” ทุกคนลุกขึ้นแล้วเดินออกจากห้องประชุม เพื่อขึ้นรถแลนด์โรเวอร์ที่ทางป่าไม้เขตแม่เสรียงจัดเตรียมไว้

                   เสียงเจ้าหน้าที่ วิทยุสั่งการไปยังพื้นที่  พร้อมกับระบุตัวตนของคณะกรรมการสมาคมที่จะเดินทางไปในครั้งนี้ มณีไหวหวั่นจนตัวลีบ แทรกตัวเข้าไปกลางกลุ่มคณะกรรมการ บอกตามตรงว่า ไม่เข้าใจ มันจะต้องประกาศรายชื่อทำไมว่ามีใครร่วมเดินทางไปครั้งนี้ด้วย  มณี เลือกที่จะนั่งไปกับรถคันกลางขบวน มีรถคณะท่านประธานและรองประธานกับอาจารย์ชั้นผู้ใหญ่อยู่สองคันแรก ส่วนคันที่มณีนั่งนั้น เป็นคันที่นั่งไปกับเจ้าหน้าที่ที่จะนำทางของป่าไม้เขตแม่เสรียง  ตามด้วยขบวนชุดของกรรมการสมาคม กลุ่มสุดท้าย 

                   การเดินทางด้วยรถยนต์ครั้งนี้ แล่นผ่านป่าไม้ดงสักเสียเป็นส่วนใหญ่ ต้นไม้สักเปราตรง สูงตระหง่านเสียดฟ้า เคลียร์โบล(ลำต้นที่เปราตรง)ของแต่ละต้นสวยงามตามลักษณะไม้ซุงสักชั้นดี  ไม้สักนั้นเป็นไม้เด่นในป่าเบญจพรรณซึ่งมีทั้งประเภทที่มีไม้สักและป่าเบญจพรรณประเภทที่ไม่มีไม้สัก ซึ่งขึ้นอยู่กับธรรมชาติของภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ของแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดให้เกิดชนิดของป่าไม้ใบบัง


                  จุดที่ 2. เป็นที่ทำการอุทยานแห่งชาติสาละวิน เมื่อเข้าถึงห้องประชุมของศูนย์บริการนักท่องเที่ยว หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ ทำหน้าที่บรรยายสรุป

                 “ผมนาย จันทร์ ทำชอบ   ตำแหน่ง เจ้าหน้าที่บริหารงานป่าไม้ 6 ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติสาละวินครับ  ผม ขอกราบเรียนว่า พื้นที่อุทยานแห่งชาติสาละวินประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติสาละวินเมื่อปีพ.ศ.2537 บังคับใช้ตาม พรบ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ครับ สายตรวจอุทยานแห่งชาติทำงานตามกรอบที่กำหนด แบ่งเป็น 2 ชุด...”

                 “ขออภัยนะหัวหน้า ผมขอถามตรงนะครับว่า พบการลักลอบตัดไม้สักในพื้นที่อุทยานนี้เหมือนภาพข่าวในหน้าสื่อไหมครับ”

                 ศ.ดร.นิเวศน์ ถามเสียงดัง หัวหน้าอุทยานฯ เหลียวมองไปทาง ป่าไม้เขตแม่เสรียง แล้วตอบเสียงแผ่ว

                 “พบครับ ส่วนใหญ่เป็นท่อนปลาย ไม้สักไม่สวยหรือเป็นโพรงครับ  ตามระเบียบปฏิบัติ หากพบไม้ของกลางในพื้นที่ให้ปล่อยผุพังไปตามกาลเวลาครับ แต่ถ้ายังมีคุณสมบัติเป็นไม้ซุงได้ ให้ออป.รับเป็นของกลางไปรักษาไว้ครับ ” แล้วหัวหน้าก็ก้มหน้ามองพื้น

                 “ปริมาณที่พบมากไหมครับ” เสียง ศ.ดร.นิเวศน์เข้ม

                 “มากครับ แต่เราก็ต้องปล่อยให้ผุพังไปบ้าง ชักลากออกมาบ้าง ครับ” เสียงยิ่งแผ่วลงไปกว่าเดิม

                 “ไม้สักที่พบว่าถูกลักลอบตัด เหลือแต่ส่วนที่ใช้เป็นสินค้าไม่ได้นี่ แสดงว่าท่อนกลางที่ใช้ประโยชน์ได้หายไป ได้มีการติดตามไหมครับ” ศ.ดร.นิเวศน์ ถามอีก

                 “เจ้าหน้าที่พิทักษ์อุทยานฯรายงานว่า มีร่องรอยการชักลากไม้ไปลงแม่น้ำสาละวินครับ แต่ตามไม่ทัน สายตรวจไปไม่ตรงช่วงชักลากซึ่งส่วนใหญ่เป็นเวลากลางคืนครับ ” หัวหน้าก้มหน้านิ่ง

                 “สรุปว่า มีซากไม้ของกลางที่ปล่อยให้ผุพังไปตามระเบียบมาก แสดงว่ามีการลักลอบตัดไม้สักไปมาก ประมาณได้ไหมครับว่า กี่ร้อยกี่พันหรือกี่หมื่นต้น” ศ.ดร.นิเวศน์ ไล่เรียงซ้ำ

                “ไม่มีการทำสถิติไว้เลยครับ” ตอบแล้วก็ก้มหน้านิ่งเหมือนเดิม 

                 ศาสตราจารย์.ดร.นิเวศน์ ยิงคำถามประโยคสุดท้าย  

                “อุทยานฯจะมีมาตรการใดเพื่อปกป้องการลักลอบตัดไม้สักในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ หรือไม่” คณะกรรมการสมาคมฯเหลียวมองสบตากัน เหมือนคาดเดาคำตอบได้

                “ผมจะพยายามครับ”

                “ขอบคุณที่ให้ข้อมูล  อยากเข้าไปดูพื้นที่ที่กล่าวถึง เอาแค่บางส่วนแล้วกันนะ”นายกสมาคมศิษย์เก่าฯสรุป ทุกคนลุกขึ้นแล้วไปขึ้นรถคันใครคันมัน เพื่อเข้าพื้นที่จริง

                ป่าไม้สักสาละวินนั้นงามจริง เป็นดงไม้สักที่เป็นไม้เด่นประจำผืนป่า ต้นเปราตรง เคลียร์โบลยาว เรือนยอดชิดกันไปทั้งผืน หนาแน่นไปด้วยไม้สักชั้นรอง เรียกได้ว่าเป็นป่าสักที่มีไม้ทุกชั้น ในทางวิชาการป่าไม้ ถือว่าเป็นป่าสักที่อุดมสมบูรณ์มาก และในส่วนซากต้นสักที่หลงเหลือทิ้งไว้คือ ตอไม้สักขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่มากกว่า 2 คนโอบ ท่อนโคนที่เป็นพูพอน เป็นโพรง หรือท่อนปลายที่เป็นส่วนสุดท้ายของเคลียร์โบล เป็นกิ่งก้านสาขาที่ระเกะระกะเป็นอินทรีวัตถุย่อยสลายได้อย่างเชื่องช้า

               “หรือนี่คือการคืนอินทรียวัตถุให้ผืนป่า”

               มณี เดินไปยืนท่ามกลางกิ่งก้านและใบสักที่ร่วงหล่น  พร้อมกับตีสำนวนกวนอารมณ์ขึ้น แล้วทำท่ากางแขนอ้าซ่าอย่างอาจารย์เฉลิมชัย ศิลปินคนดังจังหวัดเชียงราย เรียกเสียงหัวเราะได้จากคณะกรรมการสมาคมครืนใหญ่

               “น่าเสียดายจัง  ป่าสักอุดมสมบูรณ์มากทีเดียว  นี่ขนาดประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ มีพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติพ.ศ.2504 ควบคุม พร้อมทั้งกำลังเจ้าหน้าที่ ยานพาหนะ  และงบประมาณ ทุกอย่างมีพร้อมสรรพ แต่ทำไมปกป้องผืนป่าไม้สักเหล่านี้ไว้ไม่ได้”

               ท่านอุทาร แสวงความดี อดีตป่าไม้เขตแม่เสรียง อดีตรองอธิบดีกรมป่าไม้ และผู้ตรวจราชการกระทรวงฯกล่าวด้วยเสียงละห้อย เหมือนอ่อนล้าต่อระบบ

               “ได้เห็นกันแล้วนะว่า มีไม้สักในอุทยานฯถูกลักลอบตัดแล้วชักลากไปลงแม่น้ำสาละวินจริง  ชุบน้ำกายสิทธิ์เดี๋ยวเดียวก็กลายเป็นไม้สักนุ่งโสร่ง ของพม่าไปทันที”

                ท่าน วิชัย ทรัพย์มาก อดีตรองผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ พูดขึ้นด้วยอารมณ์ขำขัน เรียกเสียงหัวเราะได้อีกกราวใหญ่

               คณะกรรมการพยักหน้าใส่กันแล้วเดินขึ้นรถ  มีบางคันเคลื่อนตัวช้ากว่า เพราะกรรมการยังเดินไปลูบคลำต้นสักสวยๆ และแหงนคอตั้งบ่ามองเรือนยอดไม้สักที่ถูกกานจนตาย เป็น ผอ.จีรัง  นั่นเอง

              ภาพกิ่งสักแห้งทาบทาท้องฟ้าสีน้ำเงินช่างสวยงาม      

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view