ตามไปดูชาวบ้านยอด
ปลูกมะนาวบนดอยเมืองน่าน
โดย สาวดอนเมือง เรื่อง-ภาพ
ก่อนหน้านี้ชาวบ้านในต.ยอด อ.สองแคว จ.น่าน มักปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างเช่น ข้าวโพด แต่หลายปีมานี้หันมาปลูกมะนาวและมะแขว่น อย่างเป็นล่ำเป็นสัน เพราะเป็นพืชเศรษฐกิจที่ได้ราคาดี และได้มีการรวมกลุ่มกันตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกมะนาวบ้านยอด ต.ยอด ซึ่งกว่าจะยืนอยู่ได้อย่างมั่นคงอย่างทุกวันนี้ก็เคยล้มลุกคลุกคลานมาช่วงระยะเวลาหนึ่งแต่ด้วยความสามัคคีและความเสียสละของสมาชิก ทำให้วิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกมะนาวบ้านยอด ได้รับรางวัล วิสาหกิจชุมชนดีเด่น รองชนะเลิศอันดับที่ 1 ระดับประเทศ จากกรมส่งเสริมการเกษตร ในปี2562
ปัจจัยที่ทำให้ได้รับความสำเร็จนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้รับความช่วยเหลือให้คำแนะนำจากมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงและมูลนิธิปิดทองหลังพระ รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ทำให้ได้เรียนรู้และน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่9 มาปรับใช้ในกลุ่ม
นายวรพล รักษา อดีตประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกมะนาวบ้านเล่าว่า กลุ่มก่อตั้งครั้งแรกเมื่อปี 2552 แต่เกิดปัญหาอุปสรรค เนื่องจากคณะกรรมการและสมาชิกไม่มีองค์ความรู้ และไม่มีกฎระเบียบ จึงล้มไป หลังจากนั้นมาตั้งอีกครั้งในปี 2559 เริ่มด้วยการระดมหุ้น โดยมีสำนักงานเกษตร และสถาบันปิดทองหลังพระเข้ามาช่วยดูแลในเรื่องของกฎระเบียบ และให้องค์ความรู้ในการก่อตั้งกลุ่ม
พร้อมทั้งหาตลาดให้ด้วย ซึ่งเป็นช่วงจังหวะที่สยามแม็คโครมาเปิดสาขาใหม่ที่จังหวัดน่าน เลยนำมะนาวไปเสนอขาย จากนั้นทางแม็คโครก็ให้ส่งมะนาวไปที่ศูนย์กระจายสินค้าที่วังน้อย และมหาชัย
ช่วงแรกระดมหุ้นได้แค่ 52,400 กว่าบาทเท่านั้น ไม่เพียงพอที่จะรับซื้อมะนาวของสมาชิก ทางกลุ่มจึงไปขอกู้เงินกองทุนปลูกป่าของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง 400,000 บาท มาใช้บริหารจัดการ และใช้คืนหมดในปีแรก ตอนนี้กลุ่มระดมหุ้นได้ 280,000 กว่าบาท
ปัจจุบันกลุ่มมีสมาชิก 90 กว่าราย และพื้นที่ปลูกมะนาวพันธุ์ตาฮิติ เกือบ 600 ไร่ บางคนปลูก1- 2 ไร่ บางคนปลูกมากสุดถึง20 ไร่ โดยปลูกแบบเกษตรปลอดภัย ได้รับเครื่องหมายGAP
อย่างไรก็ตามในช่วงหน้าฝนยังมีปัญหาเรื่องผลผลิตออกจำนวนมาก เกินความต้องการของตลาด ทางกลุ่มจึงใช้วิธีแก้ปัญหา โดยให้สมาชิกเก็บส่งขายตามร้านค้า ร้านอาหาร และตามตลาดทั่วไป
ในช่วงฤดูแล้ง กลุ่มส่งมะนาวให้แม็คโครเฉลี่ยอาทิตย์ละ 4 ตัน ช่วงฤดูฝนส่งอาทิตย์ละ 8 ตัน แต่ผลผลิตมะนาวยังคงเหลืออยู่เยอะ เพราะในพื้นที่ของเฉพาะบ้านยอด พื้นที่ปลูก 589 ไร่ ในช่วงฤดูฝน ผลผลิตออกเยอะประมาณอาทิตย์ละ 20 ตัน ตลาดมีไม่เพียงพอ ยังมีเหลืออีกอาทิตย์ละ 12 ตัน ต้องขายให้พ่อค้าข้างนอก"
พร้อมกันนั้นทางกลุ่มยังคิดในเรื่องของการแปรรูปมะนาว โดยปรึกษาไปทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน และสำนักงานเกษตร ให้ช่วยหาแนวทางแปรรูป
สำหรับฤดูแล้งพื้นที่ปลูกมะนาวของบ้านยอดมีปัญหาในเรื่อง ผลผลิตลดลง เพราะบางจุดมีปัญหาไม่มีน้ำที่จะมารดต้นมะนาว
ทั้งนี้ในหน้าฝน กลุ่มรับซื้อกิโลกรัม(ก.ก.)ละ 10 กว่าบาท ช่วงแล้งปีนี้รับซื้ออยู่ที่ก.ก.ละ 35 บาท ซึ่งราคาไม่ค่อยดี ทุกปีจะอยู่ที่ก.ก.ละ 50-60 บาท
ปัจจัยที่ทำให้กลุ่มประสบความสำเร็จ จนได้รับรางวัลรองชนะเลิศ วิสาหกิจชุมชนดีเด่นระดับประเทศ ในปี 2562 เกิดจากทางกลุ่มใช้กฎระเบียบในการควบคุมดูแลสมาชิก และให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า
นายวรพลบอกอีกว่า ในปีหนึ่งกลุ่มจะมีการปันผลให้ คือจะเฉลี่ยคืนให้สมาชิกตามจำนวนหุ้น ส่วนพวกที่นำมะนาวมาขาย จะเฉลี่ยน้ำหนักมะนาวให้ และมีสวัสดิการให้กับสมาชิกที่เจ็บป่วย หรือเสียชีวิต และหากสมาชิกคนใดทำชื่อเสียง ทำคุณประโยชน์จะมีทุนให้ด้วย กฎระเบียบข้อบังคับสำคัญคือ สมาชิกต้องคัดมะนาวเกรด A มาขายให้กลุ่ม ถ้าหากฝ่าฝืนหรือทำอะไรเป็นปัญหากับกลุ่ม จะเรียกมาตักเตือน 3 ครั้ง ถ้าหากไม่ฟังอีกก็ไล่ออกจากการเป็นสมาชิก
จะเห็นได้ว่าการรวมกลุ่มทำให้เกิดผลดีหลายอย่าง หนึ่งคือสามารถต่อรองกับตลาดต่อรองกับพ่อค้า เพราะมีผลผลิตเยอะ สองหาตลาดได้ง่าย ซึ่งการจะให้กลุ่มประสบความสำเร็จได้นั้น สมาชิกหรือคณะกรรมการบริหาร ต้องใช้ระเบียบข้อบังคับ มีความสามัคคี และมีความซื่อสัตย์ จะทำให้กลุ่มสามารถเดินไปข้างหน้าได้
อย่างไรก็ตามจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ราคารับซื้อมะนาวตกต่ำลงไปมาก เหลือก.ก.ละไม่กี่บาท แต่โชคดีที่ทางกลุ่มได้รับงบฯสนับสนุนแปลงใหญ่มะนาวจากกระทรวงเกษตรสหกรณ์ 3 ล้านบาท เพื่อนำมาต่อยอดพัฒนาคุณภาพสินค้าและการการจัดเก็บสินค้าให้มีระยะอายุยาวขึ้น โดยวางแผนจะจัดซื้อตู้ทำความเย็นเพื่อใช้เก็บมะนาว เป็นการยืดอายุให้เก็บได้นานขึ้น
วิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกมะนาวบ้านยอด นับเป็นแบบอย่างที่ดี เพราะใช่เพียงจะดูแลสมาชิกในเรื่องผลผลิตเท่านั้น ยังช่วยเหลือในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ด้วย