ส่องศูนย์เรียนรู้ฯของ “พิชิต ศิริเมือง”
ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
โดย สาวดอนเมือง เรื่อง-ภาพ
ย้อนกลับไปก่อนปี2552 นายพิชิต ศิริเมือง อดีตผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 5 ต.สะอาดไชยศรี อ.ดอนจาน จ.กาฬสินธุ์ ก็เหมือนเกษตรกรทั่วไปในต.สะอาดไชยศรี ที่ปลูกอ้อย มันสำปะหลัง และทำนา จนเมื่อได้ไปศึกษาดูงานได้รู้ได้เห็นและเข้าใจหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่9 จึงนำมาปฏิบัติในพื้นที่ทำกินของตัวเองจำนวน 19 ไร่ที่ต.สะอาดไชยศรี โดยแบ่งที่ทำกิน เป็นที่นา 5 ไร่ และทำประมง 2 ไร่ นอกนั้นปลูกพืชแบบผสมผสาน และได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ทั้งยังได้รับคัดเลือกเป็นแปลงต้นแบบโครงการ 1ไร่ 1 แสนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงจ.กาฬสินธุ์ ในโครงการกาฬสินธุ์ คนดี สุขภาพดี รายได้ดี ปี2557
นายพิชิตเล่าให้ฟังว่า ได้ตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงของต.สะอาดไชยศรี เมื่อปี 2552 ตอนนี้มีรายได้วันละ 300-600 บาท ไม่รวมรายได้เป็นเดือน และรายปี ซึ่งล้วนมาจากผลผลิตในศูนย์แห่งนี้ ทั้งจากการทำประมง คือเลี้ยงปลานิล ปลาดุก เลี้ยงกบ และเลี้ยงหนูนา และมีรายได้จากการทำสวน ที่ปลูกทั้งกล้วยน้ำว้า ต้นผักหวานป่า 150 ต้น และเพาะพันธุ์กล้าไม้ขาย นอกจากนั้นยังปลูกน้อยหน่าหนัง 500 ต้น ขายกิโลกรัม(ก.ก.)ละ 20 บาท โดยขายให้กับคนในท้องถิ่น รวมถึงผู้มาอบรมที่ศูนย์ ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอนอกจากนี้ยังเลี้ยงวัว เลี้ยงกบ เลี้ยงปลา และเลี้ยงหนูนาด้วย
พืชผักผลไม้ในสวนแห่งนี้ใช้ปุ๋ยชีวภาพและปุ๋ยหมักที่เขาทำขึ้นเอง พร้อมกันนั้นยังมีรายได้จากการเพาะเห็ดทั้งเห็ดฟาง เห็ดนางฟ้าและเห็ดขอนขาว โดยมีลูกสาว”อรพิน ศิริเมือง” ซึ่งเรียนจบปวช. เป็นกำลังสำคัญ รวมๆแล้วสองคนพ่อลูกนี้มีรายได้จากศูนย์ฯเดือนละหมื่นกว่าบาท
ใครไปที่ศูนย์ฯจะเห็นพืชผักผลไม้นานาชนิด และที่ผู้คนสนใจก็เห็นจะเป็นหนูนา ซึ่งนายพิชิตบอกว่า ขายได้ก.ก.ละ 200 บาท หากเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ขายตัวละ 200 บาท จะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงบ้าน เช่นเดียวกับเห็ดฟางที่ขายได้ก.ก.ละ 60 บาท
ในการปลูกต้นน้อยหน่านั้น นายพิชิตให้ข้อมูลว่า ปลูกมา3 ปีแล้ว ปีหน้าน่าจะได้ผลผลิตมากขึ้น ซึ่งตนได้บำรุง โดยให้ปุ๋ยสูตร15-15-15 เป็นปุ๋ยหมัก ที่ทำจากหอยเชอรี่ ใส่ตอนต้นฝนและปลายฝน เริ่มใส่เดือนกย.นี้เป็นช่วงต้นฝน เพื่อให้ลำต้นแข็งแรง เจริญเติบโตเลี้ยงลูกได้
พร้อมกันนั้นยังได้ผลิตจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงไว้ใช้เองด้วย เพื่อช่วยให้เร่งใบ ให้พืชเจริญเติบโตได้ดี การทำก็ไม่ยาก ส่วนผสมมีไข่ไก่ 3ฟอง ชูรส 1ช้อนโต๊ะ น้ำปลา1ช้อนโต๊ะ คนให้เข้ากันแล้วใส่ในขวดที่มีน้ำ 1.5 ลิตร เขย่าทุกวันและนำไปตากแดด พอ4-5 วันจะเริ่มเป็นสีชมพูอ่อนๆ ทิ้งไว้15 วันใช้ฉีดได้เลย ถ้าทำไม่ได้ตามสูตรจะออกเป็นสีน้ำตาล ฉีด 1 ลิตร ใส่น้ำ 20 ลิตร ต้องฉีดช่วงที่มีแดดอ่อนๆ ในตอนเช้าและเย็น
ต้นไม้ชนิดใหม่ล่าสุดที่อดีตผู้ใหญ่บ้านท่านนี้นำมาปลูกคือ”โกโก้” เนื่องจากมีบริษัทมารับซื้อและรับประกันราคา นายพิชัยแจกแจงว่า ตนเองเป็นตัวแทนของบริษัทแห่งหนึ่งที่ส่งเสริมการปลูกโกโก้ด้วย ในศูนย์ฯแห่งนี้เพิ่งเริ่มปลูกโกโก้เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ปลูกแล้ว 200 ต้น และจะปลูกให้ได้ 600 ต้น จากการไปดูงานมาหลายที่ ตอนนี้ปลูกต้นโกโก้กันหลายจังหวัดทั้งที่ชัยภูมิ อุดรธานี กำแพงเพชร เป็นพืชที่ได้ผลผลิตเร็วแค่ 3ปีก็เก็บผลได้แล้ว มีโรงงานรับซื้อก.ก.ละ 10 บาท แต่ทางบริษัทจะประกันราคาให้ก.ก.ละ 5 บาท หากมีปัญหาราคาตกต่ำ
การปลูกโกโก้ บำรุงรักษาเหมือนไม้ผลทั่วๆไป ดูแลง่าย ระยะปลูก 4คูณ4 เมตร ไร่หนึ่งปลูกได้ 100 ต้น 3ปีเก็บผลิตได้เลย 1 ต้นให้ผลผลิตประมาณ40ก.ก.
สำหรับการเพาะเห็ดนั้น อดีตผู้ใหญ่บ้านรายนี้แจกแจงให้ฟังว่า เพาะเห็ดฟาง เห็ดขอนขาว และเห็ดนางฟ้า จะมีพ่อค้ามารับซื้อ เห็ดฟางและเห็ดนางฟ้า ก.ก.ละ60-65 บาท ส่วนเห็ดขอนขาวก.ก.ละ 80-90 บาท และยังขายปลีกให้ชาวบ้านในย่านนี้ด้วย ซึ่งแต่ละฤดูจะให้ผลผลิตที่แตกต่างกัน อย่างช่วงหน้าหนาว เห็ดฟางจะไม่ค่อยออก เพราะไม่ชอบอากาศเย็น ขณะที่เห็ดนางฟ้าชอบอากาศหนาว และจะออกดอกดี ซึ่งถ้าเป็นหน้าร้อนจะเพาะเห็ดขอนขาว
ในบรรดาเห็น3ชนิดนี้ นายพิชิตระบุว่า เห็ดฟางทำยากสุด เพราะในพื้นดินมีสารเคมี หรือปลวกกินบ้าง ไม่ได้คุณภาพ จึงทำเป็นเห็ดคอนโดที่มี 9 ชั้น และต้องมีเตาอบไอน้ำ เพื่อฆ่าเชื้อโรค ที่ผ่านมาทำแล้วได้ผลดี มีกำไรรอบละ 3 พันบาท อีกทั้งต้นทุนต่ำ เนื่องจากทำครบวงจร เริ่มตั้งแต่วัสดุที่ใช้เพาะทำเอง โดยนำฟางข้าว เปลือกมัน รำข้าว กากน้ำตาล ผสมกันหมักไว้ 5-6 วันเพื่อให้เกิดเชื้อจุลินทรีย์ จากนั้นอบไอน้ำ 60 องศา 3ชั่วโมง รุ่งเช้ามาเปิด แล้วโรยเชื้อก่อนนำไปขึ้นชั้น โดยในช่วง 21 วัน จะได้ผลผลิต 170-200ก.ก.ต่อรอบ ซึ่งจะมีพ่อค้ามารับซื้อ ถ้าเห็ดเป็นดอกตูมสวยจะไว้ขายส่ง ส่วนเห็ดออกดอกหัวแตกไม่สวย ไว้ขายในละแวกบ้าน
ขั้นตอนการทำเห็ดฟางโรงเรือน อุปกรณ์และวัสดุประกอบด้วย 1. เปลือกมันล้าง 2. รำข้าว 60กก. 3 ขี้วัวแห้ง 4. ปูนขาว 5. ยิปซั่ม 6. กากน้ำตาล 7. EM หรือน้ำหมักชีวภาพ 8. ฟางข้าว หมักเปลือกมันล้าง ฟางข้าว รำ 30 กก. ยิปซั่ม ปูนขาว ขี้วัวแห้ง 8 กระสอบ ผสมให้เข้ากัน รดด้วยน้ำผสมกากน้ำตาล และEM หมักในบ่อหมักตลุมด้วยพลาสติก 5-7 วัน หลังจากผ่ากระบวนการหมักแล้วนำวัสดุที่หมักแล้วขึ้นชั้น นำรำข้าว 30 กก.ผสมกับขี้วัวแห้ง 2 กระสอบ โรยบนวัสดุหมักอีกชั้น ปิดพลาสติกด้านในให้มิดชิด ทำการอบไอน้ำ ด้วยอุณหภูมิ 60 องศา เป็นเวลา 3ชั่วโมง
ในตอนเช้าของวันถัดมา เปิดพลาสติกเพื่อระบายความร้อน ประมาณ 1 ชั่วโมง นำก้อนเชื้อเห็ดฟาง มาขยี้ ผสมกับแป้งข้าวเหนียวเล็กน้อย รดน้ำวัสดุบนชั้น เพื่อระบายความร้อน นำเชื้อเห็ดโรยให้เต็ม ปิดโรงให้มิดชิด ทิ้งไว้ อีกห้าวัน หลังจากห้าวันแล้ว เปิดโรงเพื่อตัดใย ช่วงนี้ค่อนข้างอันตรายมาก เพราะหลังจากผ่านมา 5 วัน ภายในโรงเรือนจะเกิดก๊าชแอมโมเนีย อาจทำให้หมดสติ หรือเสียชีวิตใด้ ต้องเปิดโรงเรือนทิ้งฝไว้ก่อน 1 ชั่วโมง ค่อยเข้าไป เปิดช่องอากาศด้านบน 8 ช่อง ด้านหน้า ฝั่งละ 2 ช่อง หลังจากนั้นจึงตัดใยเห็ด
ลักษณะใยเห็ดเป็นปุยสีขาวขึ้นเต็มชั้น การจัดคือการใช้น้ำฉีดเป็นฝอย แต่มีความแรง เพื่อให้เส้นใยขาด ปิดโรงเรือน เปิดอากาศด้านล่างเล็กน้อย ประมาณ 3 วัน ใยเห็ดจะเริ่มจับตัวกันเป็นดอกเห็ด การทำเห็ดฟางโรงเรือนมีหลายวิธี แต่ละที่ก็ทำไม่เหมือนกัน แต่ที่สวนใช้สูตรนี้
ตั้งแต่เริ่มหมักจนเริ่มเห็นดอกประมาณ 15 วัน ระยะเก็บอีกประมาณ 15 วัน ในรอบหนึ่งใช้เปลือกมัน 2.5 -3 ตัน ประมาณ 170 - 200 กก.ขึ้น ส่วนราคาอยู่กับช่วงฤดู ถ้าหน้าหนาว จะแพง ปกติอยู่ที่ 60-65 บาท ส่วนเทคนิคที่นี่จะใช้เศษเห็ด หรือตีนเห็ดมาหมักเป็นจุลินทรีย์ เพื่อนำกลับมาใช้ ในขั้นตอนการหมัก
ส่วนการปลูกผักหวานป่า เริ่มจากการเพาะเมล็ดก่อน เมล็ดแก่มีลักษณะลูกรีๆ เล็กๆ คล้ายมะปรางแต่ลูกเล็กกว่า จะนำมาบีบเอาเนื้อออก ขัดด้วยทรายจนเหลือแต่แก่นเม็ดข้างใน ต้องขัดเนื้อให้หมด ถ้าขัดไม่หมดจะเกิดราก่อนงอก การเพาะใช้วิธีเพาะใส่ถุงหรือใส่กะละมังก็ได้ ดินที่ใช้เพาะเป็นดินทรายผลมแกลบดำ ให้นำเมล็ดตะแคงฝังในดินครึ่งเดียวประมาณหนึ่งอาทิตย์จะเริ่มงอก อายุ 45 วัน ขึ้นไป เริ่มลงปลูกได้
ผักหวานตอนเล็กๆต้องการร่มเงา จึงต้องมีไม้พี่เลี้ยง เช่น ต้นกล้วย ตะขบ น้อยหน่า ลำใย แต่ไม่ควรปลูกใกล้ยางพารา ผักหวานต้องการน้ำไม่มากให้อาทิตย์ละสองครั้งก็พอ เมื่ออายุปีครึ่งขึ้นไปจะสามารถหาน้ำได้เองเหมือนต้นไม้ทั่วไป ผักหวานไม่ชอบปุ๋ยเคมี จะใส่แต่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักเท่านั้น ผลผลิตเริ่มออกตอนปลายฝน ไปตลอดฤดูหนาว ถ้าอยากให้ออกก่อนฤดู ใช้วิธีรูดใบแก่ออก เพื่อเร่งให้ผักหวานออกยอดเร็วขึ้น
การเลี้ยงหนูนาต้องหาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ก่อน ตอนแรกที่เลี้ยงมีชาวบ้านมาขายให้ดูเหมือนตัวเมียมันท้องเลยเก็บไว้ พอมันคลอดออกมาได้ 7 ตัว ด้วยความตื่นเต้นก็เปิดดูทั้งวันแล้วลูกหนูก็ค่อยๆหายไปจนไม่เหลือ จึงเริ่มศึกษาวิถีชีวิตของมัน จึงได้รู้ว่าหนูที่นำมาเลี้ยงเป็นหนูป่า ยังไม่เชื่อง การที่เราไปเปิดดูบ่อยๆด้วยสัญชาตญาณมันจะกินลูกตัวเองจนหมด จากนั้นเริ่มเลี้ยงใหม่ ตอนแรกเลี้ยงในวงบ่อก่อน ใช้บ่อกลมๆมาตั้งซ้อนกันสองบ่อเทพื้นปูน ใส่แกลบ ปล่อยหนูพ่อแม่พันธุ์ บ่อหนึ่งปล่อยตัวเมีย 2 ตัว ตัวผู้ 1ตัว พ่อแม่พันธุ์อายุ 4 เดือนขึ้นไป คอยสังเกตตัวเมีย ถ้าตัวไหนท้องเต้านมจะเริ่มเป็นเม็ดใสๆเหมือนเม็ดข้าวสาร จึงแยกออกเลี้ยงเดี่ยว
หนูนาที่ไกล้คลอดจะไม่ค่อยกินอาหารและค่อนข้างดุ จึงไม่ควรยุ่งกับมันมาก จะทำรังและคลอด ชอบอยู่แบบเงียบ ในระยะลูกอ่อนก็ไม่ควรไปยุ่ง แค่ให้น้ำให้อาหารก็พอ ลูกหนูในระยะเดือนแรกจะกินแต่นม จากนั้นแม่หนูฝึกให้กินอาหาร พอสองเดือนก็จับแยก ลงบ่อใหญ่เลี้ยงรวมกับตัวอื่น ตัวแม่ก็นำไปผสมพันธุ์ต่อไป หนูนาจะไม่ค่อยกัดกัน เป็นสัตว์สังคมชอบอยู่รวมกันหลายๆตัว อาหารของหนูนาส่วนมากเป็นอาหารธรรมชาติ เช่นอ้อย มันสัมปะหลัง หญ้าต่างๆ รำข้าว ปลายข้าว ผักสวนครัว ต่างไป
สำหรับการลงทุนก็ไม่เยอะ พ่อแม่พันธุ์ราคาแล้วแต่พื้นที่ ถ้าแถวกาฬสินธุ์ประมาณคู่ละ 500-600 ต้นทุนในการทำบ่อเลี้ยงเริ่มต้นไม่ถึง2000 ส่วนราคา หนูหนุ่มตัวละประมาณ 200-300บาทแล้วแต่ขนาด หนูนาไม่ค่อยล้นตลาดเพราะคนอีสานนิยมทานเนื้อหนูนา และหนูนาตามธรรมชาติหายาก อาจเป็นเพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ใช้ยาฆ่าแมลงกันเยอะ
วันนี้นอกจากจะมีผู้คนจากพื้นที่ต่างๆเข้ามาศึกษาดูงานในศูนย์ฯแล้ว นายพิชิต ซึ่งรับหน้าที่เป็นหมอดินอาสาด้วย ยังเดินสายไปเป็นวิทยากรในงานต่างๆ เรียกว่าเป็นปราชญ์ชาวบ้านที่น้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่9 มาใช้ จนประสบความสำเร็จ และยังได้แบ่งปันความรู้ให้กับผู้คนในสังคมด้วย