รับเปิดเมืองยะลา1 ธ.ค.นี้ เร่งสกัดโควิด
ทีมวิจัยมน.-วช.ตรวจซากเชื้อในน้ำเสีย
โดย ปูเปรี้ยว เมืองปทุม เรื่อง-ภาพ
ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร(มน.) นักวิจัย กล่าวตอนหนึ่งในการนำคณะ พร้อมนายยู่สิน จินตภากร รองนายกเทศมนตรีนครยะลา ลงพื้นที่เขตเทศบาลนคร(ทน.)จ.ยะลา เก็บตัวอย่างซากเชื้อ SARS-CoV-2 ในน้ำเสีย 40 จุด เพื่อเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เชิงรุกว่า โครงการวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) เพื่อตรวจวิเคราะห์ซากเชื้อ SARS-CoV-2 พร้อมคำนวณร้อยละของผู้ติดเชื้อ และรายงานแผนที่ระบุความเสี่ยง คาดการณ์การติดเชื้อล่วงหน้าต่อไป โดยใช้เทคนิคทางเลือก LAMP Assay ร่วมกับกับเทคนิค RT-qPCR ซึ่งเทคนิค LAMP เคยนำมาใช้เก็บตัวอย่างทางจมูกและปากมาแล้ว แต่ยังไม่มีการนำมาใช้เก็บตัวอย่างเชื้อ SARS-CoV-2 ในน้ำเสีย
ในอนาคตคาดจะได้จดสิทธิบัตรนวัตกรรมเป็นครั้งแรกของไทย ต่อไปหากการตรวจมีประสิทธิภาพสูงขึ้น มน.จะเป็นศูนย์กลางในการใช้และถ่ายทอดเทคนิคการตรวจหาเชื้อในน้ำเสียด้วย LAMP โครงการนี้มี4 จังหวัดนำร่องคือจ.เชียงใหม่ ตาก นครสวรรค์ และพิษณุโลก ขณะที่ทน.ยะลา ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดงเข้มขอให้ทีมวิจัยมาเก็บตัวอย่างน้ำเสียด้วย จากนั้นจะนำเข้าห้องแล็ปที่มน.
"ใน 58 ประเทศทั่วโลกใช้เทคนิคนี้ในการควบคุม และคำนวณร้อยละของผู้ติดเชื้อว่ามีมากน้อยแค่ไหน จะได้บริหารจัดการโรคโควิด-19 ได้ถูกต้องและเหมาะสม เช่น การตรวจหาเชื้อกลุ่มเสี่ยงด้วยวิธีการต่างๆ การรักษา รวมทั้งเร่งฉีดวัคซีน หลังจากนี้ผมอยากจะกระจายองค์ความรู้เรื่องนี้ไปให้องค์กรปกครองท้องถิ่นทำกันเอง แล้วส่งตัวอย่างน้ำเสียไปให้มน.วิเคราะห์ เพราะการเก็บน้ำเสียดังกล่าวไม่อันตราย ซากเชื้อเหล่านี้ไม่สามารถแพร่เชื้อได้ เพราะเชื้อSARS-CoV-2 อยู่ในน้ำเสีย 2 วันก็ตาย”
น.ส.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผอ.วช. กล่าวว่า การแก้ปัญหาและรับมือโรคโควิด-19 เป็นวาระแห่งชาติ สำหรับการตรวจหาเชื้อ SARS-CoV-2 ในน้ำเสียโดยใช้เทคนิคผสมผสานของนักวิจัยจากมน. นับเป็นผลงานที่มีความก้าวหน้าและมีประโยชน์ต่อประเทศ สามารถลดต้นทุนการจัดการ เพื่อให้ชุมชนและสังคม สามารถเข้าถึงข้อมูล และการเตือนภัยล่วงหน้าจากการโรคอุบัติใหม่ได้
ด้านนายยู่สินกล่าวว่า ที่ผ่านมาจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในทน.ยะลาติดอันดับต้นๆของประเทศ ส่งผลต่อเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของผู้คน ทางผู้ว่าฯยะลาจึงได้เร่งระดมฉีดวัคซีน โดยให้ 4 ด่านทางเข้าออกตัวเมือง ตรวจเข้มผู้เดินทาง หากใครยังไม่ได้ฉีดวัคซีนสามารถฉีดได้เลย แม้ไม่ใช่คนจ.ยะลาก็ตาม เพื่อให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติโดยเร็วที่สุด เพราะยะลาจะเปิดเมืองต้อนรับนักท่องเที่ยวในวันที่ 1 ธ.ค.นี้ สำหรับโครงการตรวจซากเชื้อในน้ำเสียครั้งนี้จะช่วยแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ตรงจุด