เปิดตลาดสินค้าเกษตรสีเขียวอ.พิบูลฯ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากระดับชุมชน
นายธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครอง พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ร่วมประชุมกรมการปกครองที่ว่าการอ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี ประจำเดือนเมษายน เมื่อเร็วๆนี้ โดยใช้ระบบการถ่ายทอดสดการประชุมนอกสถานที่ของสถานีโทรทัศน์กรมการปกครอง (DOPA Channel) ที่ได้นำเทคโนโลยีการสื่อสารรูปแบบ 4G มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการถ่ายทอดสดนอกสถานที่ ให้ภาพและเสียงในระบบ HD ที่มีความคมชัด
นอกจากนั้น DOPA Channel ยังได้นำระบบการประชุมวีดิทัศน์ทางไกล Hybrid Meeting ซึ่งผสมผสานระหว่างการประชุมออนไลน์ และออนกราวด์ สามารถรองรับผู้เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม และเพิ่มผู้เข้าร่วมประชุมผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ตามจำนวนที่ต้องการ จึงเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้เข้าร่วมประชุมทั้งออนไลน์และออนกราวด์ให้สามารถพูดคุย สื่อสารกันได้เสมือนอยู่ในห้องเดียวกัน โดยในการประชุมครั้งนี้ เป็นการถ่ายทอดสดการประชุมประจำเดือนกรมการปกครอง นอกสถานที่เป็นครั้งแรก โดยแพร่ภาพการร่วมประชุมสู่กล่องรับสัญญาณผ่านดาวเทียมที่ติดตั้ง ณ หน่วยงานในสังกัดกรมการปกครองส่วนกลาง ที่ทำการปกครองจังหวัด ที่ทำการปกครองอำเภอทุกแห่งทั่วประเทศ เพื่อรับรู้รับทราบข้อราชการของกรมการปกครองตามระเบียบวาระไปพร้อมกันทั้ง 878 อำเภอ 76 จังหวัด
ต่อมาอธิบดีกรมการปกครอง เป็นประธานในพิธีเปิด "ตลาดสินค้าเกษตรสีเขียว" ที่ลานกิจกรรมหน้าศาลหลักเมืองอ.พิบูลมังสาหาร โดยมีนางอุษณี จงจิระ ประธานแม่บ้านกรมการปกครองและผู้บริหารกรมการปกครอง เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ เป็นการสร้างความเข้มแข็งระดับหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ เพื่อความยั่งยืน (E-DOPA Sustainability) เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ของอ.พิบูลมังสาหาร โดยการบูรณาการจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น และท้องที่ "สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้" ให้เกษตรกรอย่างแท้จริง รวมทั้งยังสามารถขยายผลการจัดกิจกรรมตลาดเกษตรกรจากระดับอำเภอไปสู่ระดับตำบล ส่งเสริมและยกระดับการทำอาชีพเกษตรของเกษตรกรในพื้นที่ กระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน ก่อให้เกิดความยั่งยืนในระบบการผลิตทางการเกษตรของพื้นที่
จากนั้นอธิบดีกรมการปกครองและคณะ เดินทางไปที่วัดบัวขาว บ้านดูกอึ่ง ต.หนองบัวฮี อ.พิบูลมังสาหาร เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินการส่งเสริมให้หมู่บ้านเข้มแข็งตามแนวทาง "แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง" ตามหลัก "บวร" ความเข้มแข็งของคณะกรรมการหมู่บ้าน นำมาสู่การรวมกลุ่มของกลุ่มทอผ้าบ้านดูกอึ่ง นอกจากจะเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากในระดับหมู่บ้าน ภายใต้แนวทาง "อ.มั่งคั่ง" แล้ว ยังเป็นการส่งเสริมเอกลักษณ์ของชาติ ด้วยการสวมใส่ผ้าไทย ซึ่งสะท้อนผ่านการทำหน้าที่ของคณะกรรมการหมู่บ้าน ที่มีการส่งเสริมความร่วมมือและความเข้มแข็งของคนในหมู่บ้านเพื่อความยั่งยืน