SAFETist Farm จัดอบรมอาชีพชุมชนใต้สะพาน กับเป้าหมายที่มากกว่ารายได้เสริม
ผลจากการเข้าร่วมวิจัยกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ภายใต้ โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบชุมชนริมคลองฝั่งธนบุรีด้วยเครือข่ายคลังสมองของพื้นที่และแผนผังภูมินิเวศเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวอย่างยั่งยืน (โครงการ Green Thonburi) ที่ทำให้ SAFETist Farm สามารถสร้างโมเดลต้นแบบของเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) บนฐานการเกษตรได้ในระดับหนึ่งนั้น ทางสมาชิกในฟาร์มที่ก่อนหน้าเป็นคนทำงานด้านพัฒนาสังคมในพื้นที่คลองบางมดมายาวนาน จึงต้องการนำทักษะและความรู้ด้านการเกษตร รวมถึงโอกาสใหม่จากการทำธุรกิจสีเขียวครั้งนี้ มาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของชุมชนชนที่เคยร่วมทำงานกันมาระยะหนึ่ง คือ ชุมชนใต้สะพาน ประชาอุทิศ 76 เขตทุ่งครุ เป็นชุมชนที่คนมีรายได้ต่อครัวเรือนเพียง 3,000 - 6,500 บาทต่อเดือน เนื่องจากส่วนใหญ่ประกอบอาชีพคัดแยกขยะ ขายของเก่า และรับจ้างทั่วไป
นั่นทำให้ทางฟาร์มได้ต่อยอดเป็นวิทยากรหลักของ “โครงการพัฒนาอาชีพสร้างแหล่งอาหารปลอดภัยอย่างยั่งยืน” ซึ่งเป็นโครงการที่จัดโดยศูนย์อาสาสร้างสุข ในนามสยามอารยะ โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) SAFETist Farm ต้องการนำความรู้ด้านการปลูกผักและด้านการเกษตรของฟาร์มของตนเอง มาถ่ายทอดให้คนในชุมชน และเกิดการปฏิบัติได้จริง เพื่อเป็นรายได้เสริมของแต่ละครอบครัว ผ่านกิจกรรมอบรมที่มีให้เลือก 3 อาชีพ คือ “อาชีพเลี้ยงไส้เดือน” “อาชีพเพาะต้นอ่อน” และ “อาชีพปลูกผักกระถาง”
คุณอรอุมา สาดีน (คุณล่า) ผู้จัดการ SAFETist Farm ให้ข้อมูลว่า นอกจากคนในชุมชนที่เข้าร่วมกิจกรรมจะได้เทคนิคและวิธีการ รวมถึงวัตถุดิบและอุปกรณ์ที่สามารถนำไปทำได้จริงที่บ้านของตนเองแล้ว จะมีการ ‘ประกันการรับซื้อ’ สิ่งที่เขาปลูกหรือผลิตได้ในช่วงแรก เช่น รับซื้อยอดทานตะวันอ่อนที่เขาปลูกมา 7 วันในราคาขีดละ 15 บาท (150 บาท/ก.ก.) รับซื้อมูลไส้เดือนกิโลกรัมละ 10 บาท ซึ่งเป็นแรงจูงใจแรก ที่ทำให้เกิดคนในชุมชนเกิดความสนใจ และทำให้มีการอบรมไปแล้วกว่า 50 คน
“เราพบว่าคนที่นี่สนใจและมาสมัครเรียนการเพาะเลี้ยงไส้เดือนมากที่สุด รองลงมาคือการปลูกต้นอ่อนทานตะวันเพื่อขายยอดอ่อน เพราะดูแลเพียง 7 วัน ก็สามารถร่อนเอามูลไส้เดือน หรือตัดยอดอ่อนทานตะวัน มาขายให้เราได้แล้ว ขณะที่ปลูกผักกระถางที่แม้จะขายได้ในราคาสูงที่สุด แต่ต้องใช้เวลาเลี้ยงกว่าเดือนครึ่ง จึงมีคนสนใจเรียนน้อยที่สุด”
คุณล่า กล่าวต่อว่า แม้จะเป็นโครงการระยะสั้น แต่ก็เห็นผลสำเร็จในเบื้องต้นหลายประการ เช่น คนที่มาอบรมกับโครงการและนำไปปฏิบัติจนขายได้หลายคน ก็กลายเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ต่อให้กับญาติหรือคนข้างบ้าน โดยนอกเหนือจากเชื่อมชุมชนกับตลาดที่จะรับซื้อผลิตของเขาได้อย่างต่อเนื่องหลังจากสิ้นสุดโครงการแล้ว การทำให้คนในชุมชนที่เริ่มทำ เริ่มเลี้ยงมีการรวมตัวกันเป็น “กลุ่ม” หรือ “ชมรม” คือ ก้าวสำคัญที่จะทำให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง
ด้านคุณสิริวัฒน์ สุทธิวรากร (คุณกุ้ง) ผู้จัดการศูนย์อาสาสร้างสุข และผู้รับผิดชอบโครงการอบรมอาชีพให้กับชุมชนใต้สะพาน กล่าวว่า “การที่เขามีอาชีพแบบหาเช้ากินค่ำ มีรายได้แบบวันต่อวัน ทำให้ขาดทักษะและไม่เห็นความสำคัญของการวางแผน ซึ่งการรวมกลุ่มกัน จะเป็นพลังเสริมให้เกิดการเลี้ยงไส้เดือน กับปลูกทานตะวันหรือผักไมโครกรีนอื่นๆ เป็นอาชีพเสริมอย่างจริงจัง ซึ่งการที่ลงมือทำอะไรให้ต่อเนื่อง เช่น ต้องดูแลต้นทานตะวันถึง 7 วัน ถึงจะตัดยอดมาขายได้ หรือกว่าจะได้มูลไส้เดือนก็ต้องดูแลรดน้ำอยู่ถึง 7 วัน หรือหากอยากขายเป็นไส้เดือนโตแล้วได้ราคาดีกว่าก็ต้องเลี้ยงถึง 30 วัน จะเป็นการทำให้เขาได้เรียนรู้การวางแผนการเลี้ยงและแผนการขาย ที่สามารถต่อยอดไปสู่วางแผนชีวิตในระยะยาวต่อไป”
จากความต้องการมีอาหารปลอดภัยสำหรับตัวเอง สู่การเป็นผู้ผลิตอาหารปลอดภัยและกิจกรรมต่อเนื่องด้านการเกษตรสำหรับคนในพื้นที่และคนภายนอก ที่สามารถเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่เขตอื่นๆ ของ กทม.แล้ว การนำสิ่งที่ตนเอง “มี” และ “ทำ” มาช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชุมชนที่อยู่รอบข้าง ก็เป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของโมเดลเศรษฐกิจสีเขียว ที่ SAFETist Farm ทำให้เกิดขึ้นได้จริง