http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 08/05/2024
สถิติผู้เข้าชม14,043,327
Page Views16,353,608
« May 2024»
SMTWTFS
   1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

สะพานขอม ปราสาทหิน : ร่องรอยแห่งขอม แห่งเมือง เจ้าหญิงไอ่คำ โดนสาวภูไท

สะพานขอม  ปราสาทหิน : ร่องรอยแห่งขอม   แห่งเมือง  เจ้าหญิงไอ่คำ โดนสาวภูไท


สะพานขอม  ปราสาทหิน
: ร่องรอยแห่งขอม   แห่งเมือง  เจ้าหญิงไอ่คำ 

                                                                    “สาวภูไท”เรื่อง-ภาพ

 

             สะพานขอม (สะพานหิน)  เป็นสิ่งก่อสร้างด้วยหินแลง  ทอดยาวเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า  ตั้งอยู่ตรงแยกถนนสายสกล-อุดร (ทางหลวงหมายเลข ๒๒)  บริเวณหน้าประตูเมืองสกลนครพอดี

            พื้นที่บริเวณแถบนี้คือที่ลุ่มริมหนองหานอันกว้างใหญ่เป็นทะเลสาบ  ซึ่งมีเกาะเล็กใหญ่ผุดโผล่อยู่กลางหนองมากมาย เป็นบ่อเกิดแห่งตำนาน ท้าวผาแดง   นางไอ่คำธิดาพญาขอม  และกระฮอกด่อน(กระรอกเผือก)ผู้เป็นโอรสของพญานาค คือ ท้าวภังคี ซึ่งแปลงร่างมาเพื่อยลโฉมสาวงามแห่งเมืองมนุษย์ ชื่อ นางไอ่คำ


                              
                                                                                 สะพานขอม

           
นั่นเป็นตำนานซึ่งก็คือร่องรอยอย่างหนึ่งที่ปรากฏคำว่าขอม  นอกเหนือจากสะพานดังกล่าว  ยังมีร่องรอยที่เป็นโบราณสถาน  โบราณวัตถุ  อย่างปราสาทหิน เช่น พระธาตุภูเพ็ก  พระธาตุนารายณ์เจงเวง  ปราสาทบ้านพันนา  และปราสาทดูม  เป็นต้น

            เมื่อครั้งเมืองสกลนครยังไม่เจริญด้วยวัตถุสถาน  จนถนนหนทาง ตึกราม บ้านช่องแน่นหนาอย่างทุกวันนี้นั้น  เมืองสกลนครเป็นเพียงเมืองเล็ก ๆ สวยงาม  สงบเงียบ อยู่ริมฝั่งหนองหาน มีทิวเขาภูพานทอดเป็นแนวเขียวครึ้มอยู่ทางด้านทิศใต้  ซึ่งเป็นต้นน้ำ  ลำธาร เล็กใหญ่ หลายสายไหลรวมสู่หนองหาน  สะพานขอมทอดยาวเป็นทางข้ามลำธารสายเล็กไม่ไกลจากที่เห็นในปัจจุบันนัก  ครั้นบ้านเมืองเจริญขึ้นถนนหนทางขยายกว้างใหญ่และสูงขึ้นจนหลายสิ่งจมหายลงใต้ดินเป็นที่น่าเสียดาย    มรดกทาง  ประวัติศาสตร์ชิ้นนี้ก็ไม่แตกต่าง    ต่อมาจึงได้รับการรื้อฟื้นสร้างขึ้นมาใหม่ที่เห็นในปัจจุบัน  เป็นร่องรอยทางประวัติศาสตร์ของเมืองบอกให้รู้ว่า  ครั้งหนึ่งเราคือขอม  หรืออยู่ใต้อิทธิพลของขอมที่มีศูนย์กลางอยู่เมืองพระนคร  หรืออาจก่อนหน้านั้น  เช่น เจนละ ที่มีศูนย์กลางอยู่แถบวัดพูจำปาศักดิ์

                            

       
เป็นที่ยอมรับกันว่าดินแดนแห่งอุษาคเนย์นี้เคยมีอาณาจักรยิ่งใหญ่แผ่อิทธิพลครอบไทย ลาว เขมร เวียดนามบางส่วนที่ชื่อ อาณาจักรเมืองพระนคร หรือขอมโบราณ ซึ่งมีศูนย์กลางที่นครวัด  อาณาจักรนี้ก่อตั้งขึ้นและเจริญรุ่งเรืองอยู่ได้กว่า ๖๐๐ ปี  ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๙  ศิลปวัตถุ  และโบราณสถานอันเป็นสัญลักษณ์ของอาณาจักรส่วนใหญ่สร้างด้วยหิน  ไม่ว่าจะเป็นรูปเคารพ  อาคาร  สิ่งปลูกสร้าง  องค์ประกอบประดับประดาที่สลักจากหินทราย  ตลอดซุ้มประตู สะพาน  ทางเดิน  ลาน  และกำแพงแก้ว  แม้หลายแห่งจะปรักหักพังไปตามกาลเวลา  แต่หลายแห่งยังคงยืนตระหง่าน  สง่างาม ได้รับการบูรณะให้กลายเป็นมรดกล้ำค่ารันเอานักท่องเที่ยวสู่ท้องถิ่นปีละไม่น้อย

        อิทธิของขอมในดินแดนแถบนี้ใช่จะมีเพียงโบราณวัตถุ  โบราณสถาน กำแพงหิน  บาราย  เท่านั้น  ยังมีร่องรอยแห่งความมีอยู่แทรกซอนในแนวคิด ความเชื่อ และศรัทธา  ในตำนานพื้นบ้าน  ผสมผสานในเรื่องใหม่ ความเชื่อใหม่  บางตำนานเกิดจากความพิศวงสงสัย  ความไม่เข้าใจ  และถูกปรับแต่งให้กลืนกลาย  แต่ร่องรอยยังคงมีให้เห็นแทรกอยู่ในเนื้อหา  ในตัวละคร  ขอม  นางพญาขอม  นาค  พระฤาษี  พระอินทร์  พระพรหม ฯลฯ


                                 

           
ปราสาทหินที่ยิ่งใหญ่แห่งอาณาจักรเมืองพระนครส่วนใหญ่สร้างขึ้นเนื่องด้วยลัทธิเทวะราชา  ยืนยงรุ่งเรืองอยู่กว่า ๖๐๐ ปีกลับถูกลืมเลือนแทบสูญสิ้นไปในช่วงหนึ่งด้วยแนวคิดใหม่ทางพุทธศาสนานิกายเถรวาทที่มุ่งสอนให้คนเห็นอนิจจังความไม่แน่นอนแห่งสรรพสิ่งความเท่าเทียมแห่งชีวิตที่ดำรงอยู่ในความเป็นคนรุกล้ำเข้ามาแทน

            แน่นอนเรามิอาจรู้รายละเอียดได้ว่าการสร้างความยิ่งใหญ่ที่ปรากฏมาเท่าทุกวันนี้นั้น  ความเป็นอยู่และการดำเนินชีวิตของผู้คนผู้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์  และสนับสนุนเป็นเช่นไร  ความยิ่งใหญ่อลังการของงานสร้างแห่งศิลปะปราสาทสร้างความตลึงตะลานให้ทุกสายตาที่ได้พบเห็น  ไม่ว่าจะเป็นความสวยงามอ่อนช้อยกลึงเกลาเสลาสลักเหล่านางอัปสรา  หรือพรรณบุปผาที่ประดับประดาตามส่วนที่เป็นผนัง  เสากรอบประตู ทับหลัง หน้าบัน และส่วนอื่น ๆ  ความถมึงทึงน่าเกรงขามของอสูรย์  นายทวารบาล ที่ยืนตระหง่านดูน่าพรั่นพรึง  หรือความนุ่มนวลน่าศรัทธาแห่งองค์พระศิวะที่แวดล้อมด้วยเหล่าเทพ ที่รังสรรค์ขึ้นจากแท่งหินใหญ่โตมโหฬารต้องใช้กำลังช้างสารจึงจะขยับเขยื้อนไหว

            สิ่งเหล่านั้นประดิษฐ์คิดสร้างขึ้นมาได้ง่าย ๆ นักหรือในยุคแห่งเครื่องไม้เครื่องมือ  เครื่องผ่อนแรง อันล้าสมัยอย่างเมื่อหนึ่งพันปีล่วงมาแล้ว

            นี่อะไรหากมิใช่แรงศรัทธา

            แรงศรัทธาชักนำให้จิตกล้าแกร่ง  และเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดสิ่งมหัศจรรย์ได้เสมอ

            แน่นอน  จากหลักฐานที่ปรากฏ  และร่องรอยที่เหลืออยู่เป็นที่รับรู้กันแล้วว่าสิ่งมหัศจรรย์นี้เกิดจากแรงศรัทธาที่มีต่อเทวะ  เทวะผู้ยิ่งใหญ่แห่ง ๓ โลก อันได้แก่ โลกมนุษย์  บาดาล  และสวรรค์



           
เมื่อเทวะในอุดมคติเป็นหนึ่งเดียวราชาผู้มีชีวิตจริง ยิ่งใหญ่  เก่งกล้า นำพาจิตวิญญาณของผู้คนให้กล้าแกร่ง  สิ่งใด ๆ ก็เกิดขึ้นได้ในโลกมนุษย์

            ในทำนองเดียวกัน  เมื่อพลังศรัทธาเสื่อมสูญ  จิตวิญญาณเดิมถูกปรับเปลี่ยนทำลายไป  ใส่ความคิดใหม่ทำลายความเชื่อเดิม  พลังแห่งการทำลายก็กล้าแกร่ง  อาณาจักรอันยิ่งใหญ่แห่งเมืองพระนครก็ล่มสลาย

            เมื่อจิตวิญญาณที่ถูกขังในความเชื่อแห่งเทวะถูกปลดปล่อย และปรับเปลี่ยน  ด้วยความศรัทธาแห่งความเป็นตัวตนของทุกผู้คน  ผู้คนต้องพัฒนาจิตแห่งตนเพื่อประโยชน์แห่งปวงชน  คนย่อมสำคัญกว่าวัตถุ สิ่งของรูปเคารพที่ย่อมสลายไปตามกาลเวลา  แต่ผู้คน เผ่าพันธุ์ต้องคงอยู่  เพื่อสืบทอดเชื้อสายแห่งเผ่าพันธุ์สืบไป 

            สะพานขอมที่เคยยิ่งใหญ่แห่งเมืองผาแดง นางไอ่คำ ครั้งหนึ่งก็จึงถูกถนนสมัยใหม่ถมทับให้จมหายลงใต้ดิน  ต้องมีการรื้อฟื้นขึ้นมาเพื่อจารึกร่องรอยแห่งขอมก่อนจะลบเลือนไปจนหมด

        ร่องรอยขอมแห่งเมืองหนองหานหลวงที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งคือ พระธาตุนารายณ์เจงเวง  และพระธาตุภูเพ็ก

                           
                                                                          พระธาตุนารายณ์เจงเวง

           
พระธาตุนารายณ์เจงเวง  เป็นสถาปัตยกรรมศิลปะขอมแบบปาปวน  อายุราวพุทธศักราชที่  ๑๕๕๐-๑๖๕๐  ยกเว้นบางส่วนที่มีการเสริมเพิ่มภายหลัง   ตั้งอยู่ในวัดพระธาตุนารายณ์เจงเวง  บนถนนสายเดียวกับที่ตั้งของสะพานขอม  ห่างกันประมาณ ๕ กิโลเมตร  เป็นปราสาทหินทรายขนาดกลางตั้งอยู่บนฐานแลงมีบันไดสูง ๗ ชั้นทางด้านทิศตะวันออก   ตามหน้าบน  ทับหลัง  และเสาประตูมีภาพสลักสวยงาม   ได้รับการซ่อมแซมปรับปรุงขึ้นในปี ๒๕๒๑-๒๕๒๕  ปัจจุบันมีสิ่งปลูกสร้างใหม่ของทางวัดขึ้นเทียบเคียง แทรกซอนทำให้เป็นปัญหาทางด้านภูมิทัศน์ทางสถาปัตยกรรม  แต่นั่นก็คือศรัทธาบนพื้นฐานแนวคิดแห่งความเจริญที่มิอาจขวางกั้น

        ตำนาน  ของพระธาตุนารายณ์เจงเวงกล่าวถึงในสมัยพระยาสุวรรณภิงคารผู้ครองเมืองหนองหานหลวง  บริเวณที่ตั้งพระธาตุนี้เป็นเขตอุทยานหลวงห่างจากพระราชวังสามพันวา  เมื่อพระยาภิงคารได้ทราบข่าวว่า หลังจากการเสด็จสู่ปรินิพพานของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วพระมหากัสสปะพร้อมด้วยพระอรหันต์ ๕๐๐ พระองค์จะเชิญเสด็จพระอุรังคธาตุมาประกิษฐาน ณ ภูกำพร้า (พระธาตุพนม)  พระยาสุวรรณภิงคารจึงได้จัดให้มีการสร้างพระธาตุปราสาทขึ้นเพื่อประดิษฐานพระอังคาร 

โดยมีการสร้างปราสาทพร้อมกันสององค์  คือพระธาตุนารายณ์เจงเวง  กับพระธาตุภูเพ็ก  เป็นการสร้างแข่งกันระหว่างฝ่ายชายกับฝ่ายหญิง  มีกติกาว่าสร้างให้เสร็จก่อนรุ่งเช้าของวันใหม่  หมายเอาดาวเพ็ก(ดาวประกายพรึก)ที่ส่องแสงขึ้นสูงถึงปลายตาลในตอนหัวรุ่งเป็นสัญญาณการจบงาน

ทั้งสองฝ่ายจึงลงมือสร้างอย่างรีบด่วน  ฝ่ายหญิงนั้นสร้างปราสาทในราชอุทยานโดยมีพระนางเจงเวงมเหสีห์ของพระยาภิงคารเป็นผู้กำกับงาน  ฝ่ายผู้ชายนั้นปีภูเขาขึ้นไปสร้างปราสาทบนยอดเขาลูกหนึ่งในเทือกภูพานห่างกันประมาณ ๒๐ กิโลเมตร

เมื่อถึงกลางดึกฝ่ายหญิงเล่นฉลาดอยากให้ฝ่ายชายแพ้จึงได้เอาโคมไปขึ้นไปแขวนบนปลายตาลส่องแสงราวกับดาวเพ็กขึ้นแล้ว  ฝ่ายชายซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกสร้างปราสาทไปได้ครึ่งหลังก็มองเห็นแสงรุ่งที่ปลายตาลจึงตกหลุมมายาของฝ่ายหญิงพากันหยุดสร้างปราสาทไปก่อน  ฝ่ายหญิงที่สร้างไปเรื่อย ๆ ตลอดคืนจึงเป็นฝ่ายชนะด้วยมารยาหญิง   อย่างไรก็ตามนั่นคือตำนาน
                              
                            
                                                                                    พระธาตุภูเพก

พระธาตุภูเพ็ก  ได้ชื่อตามชื่อดาวที่มองเห็นบนปลายตาลนั่นเอง  ตั้งอยู่ในเขตวัดพระธาตุภูเพ็ก  ต.นาหัวบ่อ  อ.เมือง  จ.สกลนคร  ห่างจากตัวจังหวัดไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๒๒ กิโลเมตร  ถึงตัววัดแล้วต้องปีนบันไดชัน ๆ ขึ้นไปอีก ๔๙๑ ขั้น เป็นการประลองกำลังของผู้อยากขึ้นไปชมไปในตัว

เป็นปราสาทที่ไม่มีส่วนยอด   และส่วนประกอบหลายส่วนไม่เสร็จสมบูรณ์  และปรักหักพัง   หรือถูกเคลื่อนย้ายไปก็ไม่ทราบได้

ปราสาทภูเพ็ก  สร้างด้วยหินทรายบนฐานแลง ๒ ชั้น  ชั้นแรกสูง ๑.๕๘ เมตร  ชั้นที่ ๒ สูง๐.๗๐ เมตร  ตัวปราสาทสูง ๗.๖๗ เมตร  สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที ๑๕  บริเวณที่ตั้งปราสาทเป็นยอดเขาที่มีลานกว้างเต็มไปด้วยต้นไม้ป่าไม้  มีศาสนสถานของวัดพระธาตุภูเพ็ก  เช่น  กุฏิที่พำนักสงฆ์  แต่ด้วยความสูงขึ้นลงลำบาก ทำให้มีพระประจำอยู่น้อย  ส่วนใหญ่ท่านอยู่ด้านล่างตรงเชิงเขาซึ่งเป็นที่ตั้งวัดและมีญาติโยมเดินทางไปนมัสการมิได้ขาด  แม้บางคนมุ่งหน้ามาชมปราสาทภูเพ็กแต่แหงนมองดูบันไดที่หายลิบ ๆ ขึ้นไปเบื้องบแล้วก็หยุดทำใจ  และยังมีหลายคนขึ้นไปได้ครึ่งหนึ่งก็ยอมแพ้กลับลงมา

ร่องรอยแห่งขอมที่อยู่เบื้องบนนั้นช่างอยู่ไกลเกินฝันจริง ๆ

๐๐๐๐๐๐

 

 

Tags : พระธาตุภูเพก สกลนคร พระธาตุนารายณ์เจงเวง เจ้าหญิงไอ่คำ สาวภูไท

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view