http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 08/05/2024
สถิติผู้เข้าชม14,041,391
Page Views16,351,598
« May 2024»
SMTWTFS
   1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

รักอ่านในอ้อมอกแม่ รักอ่านเคียงข้างพ่อ โดย พอแพง เรื่อง-ภาพ

รักอ่านในอ้อมอกแม่   รักอ่านเคียงข้างพ่อ  โดย พอแพง  เรื่อง-ภาพ

รักอ่านในอ้อมอกแม่   รักอ่านเคียงข้างพ่อ

 กับ สุวีริยาสาส์น

พอแพง

 

            ปัจจุบันเป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า  การอ่าน  นั้นมีความสำคัญมากมายแค่ไหนต่อการพัฒนาบุคคล  แต่กลับปรากฏว่า  คนไทยยังอ่านหนังสือน้อยมาก  น้อยจนน่าตกใจ  เพราะมีสิ่งอื่น ๆ  สื่ออื่น ๆ  ที่มีอิทธิพลมากกว่า  เด็ก ๆ หันไปหมกมุ่นอยู่กับเกม  หรือไม่ก็ไปเดินห้างใช้เงินพ่อแม่เล่น   ไปขี่รถซิ่งเสี่ยง ๆ รบกวนชาวบ้านชาวเมืองกันโน่น  จึงมีการพูดถึงเรื่องการส่งเสริมการอ่าน  มีการรณรงค์  มีการจัดค่าย  จัดกิจกรรมขึ้นมากมาย  ทั้งภาครัฐ  และเอกชน  ถึงขนาดประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ

                                   

            แต่จะได้ผลแค่ไหน  คนไทยหันมาอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นหรือยัง  อันนี้ยังน่าสงสัย  ดูจากงานเทศกาลหนังสือเด็กและเยาวชนครั้ง 8  ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านแล้วออกจะวังเวง  หากจะเทียบกับตามห้างสรรพสินค้าที่ว่ามีคนน้อยลงในช่วงเศรษฐกิจถดถอยแล้วก็ยังมากกว่าในงานนี้หลายเท่า

            ความสำคัญของการอ่าน  ใช่จะเพียงให้ความรู้  ความบันเทิง  ยังเป็นการสร้างสมาธิ  ฝึกสมองในบุคคล  ปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญด้านทฤษฎีสมองเด็กเล็ก ๆ ที่ได้ฟังนิทาน  ได้ฟังเรื่องจากหนังสือ  สมองของเขาจะมีพัฒนาการมากขึ้น  คุณพ่อ คุณแม่ หรือบุคคลใกล้ชิดจึงควรอ่านหนังสือให้เด็กฟังตั้งแต่อยู่ในท้องเลยทีเดียว

                                     

            และจะดีมากขึ้นเพียงไรหากขณะดูดนมจู๊ด ๆ เด็กได้ฟังนิทานไปด้วย

            ช่วงเวลากำลังดูดนม  เป็นช่วงที่เด็กมีความสุขที่สุด  หากได้ฟังเรื่องดี ๆ น่ารัก ๆ จากน้ำเสียงของคนที่รักเขาที่สุด  เขาจะมีความสุขเพียงไร

            แน่นอนคุณให้ความสุข  ความอบอุ่นแก่ลูก  ในขณะให้นมเขา  แต่หากคุณเพิ่มการอ่านหนังสือคุณยังได้ช่วยปลูกฝังการรักอ่าน รักหนังสือ และช่วยส่งเสริมให้สมองของเขามีพัฒนาการเพิ่มขึ้นอีกมากมาย

                               

                                 

                                                  คุณสุภา สิริสิงห(โบตั๋น)

            ด้วยเห็นความสำคัญดังกล่าว  สำนักพิมสุวีริยาสาส์น โดยคุณ สุภา  สิริสิงห (โบตั๋น)  จึงจัดรายการเสวนาหัวข้อ  รักอ่านในอ้อมอกแม่  รักอ่านเคียงข้างพ่อ ขึ้นในวันเสาร์ที่ ๑๗  กรกฎาคม  เป็นส่วนหนึ่งของงานเทศกาลดังกล่าวด้วย  โดย มีวิทยากรรับเชิญ ๓ ท่าน            คือ   คุณ  เพ็ญพร  Penny  Tang  Myer  ผู้มีประสบการณ์สอนภาษาสำหรับเด็ก  จากแคลิฟอร์เนีย  สหรัฐอเมริกา    ,   ดร.สายฤดี  วรกิจโภคาทร  จากรายการ  รักลูกให้ถูกทาง  และ ดร.อารี  สัณหฉวี   ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาปฐมวัย  และมีงานเขียนเกี่ยวกับทฤษฏีสมอง  พหุปัญหา  ทฤษฎีการสอนภาษา และหนังสือเด็กหลายเล่ม

            เปิดรายการโดย คุณ สุภา สิริสิงห  ให้ข้อคิดว่าสังคมดีไม่มีขาย  เราอยากได้อย่างไรเราต้องช่วยกัน  อยากได้สังคมนักอ่านก็ต้องเริ่มจาคุณพ่อคุณแม่

                      

                                                     คุณเพ็ญพร ไมเออร์

            คุณเพ็ญพร  เป็นแม่ของลูกสองคน  เริ่มเล่าประสบการณ์จากความโหยหาการอ่านมาแต่เด็ก  เพราะถูกกีดกันจากคุณแม่ไม่ให้อ่านนิทาน  หรือหนังสืออ่านเล่น  ให้แต่ลูกสวดมนตร์เพื่อจะได้เรียนเก่ง ๆ  แต่ลูกกลับเรียนไม่ทันเพื่อน  และได้สังเกตเห็นว่าเพื่อนคนที่เรียนเก่ง ๆ เขาเป็นนักอ่านกันทั้งนั้นก็ต่อเมื่อขึ้นชั้นมัธยมแล้ว  จึงเริ่มหาหนังสืออื่น ๆ อ่าน  เธอเล่าว่า  หนังสือนิยายเล่มแรกที่ได้อ่าน คือ ข้างหลังภาพ  ของ ศรีบูรพา  สมัยเด็ก ๆ  เคยประทับใจหนังสือนิทาน เจ้าชายกบ  และอยากได้มาก  แม่ไม่ซื้อให้  ไปออดคุณป้าเจ้าของร้านขายหนังสือเห็นมาลูบคลำบ่อยๆ จนคุณป้าให้  สุขใจมาก  แต่ได้ไม่นานคุณแม่ก็มาเอาไปทิ้งอีก  ห้ามอ่านอีก  จะให้ลูกสวดมนตร์อย่างเดียว

                   

            ครั้นเมื่อตัวเองเป็นคุณแม่  และอยู่ในสังคมอเมริกาที่เปิดกว้าง  มีสามีที่เข้าใจ  คุณเพ็ญพรจึงได้จัดประสบการณ์  สิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับหนังสือให้กับลูกอย่างเต็มที่  อ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่แรกเกิด  ให้ลูกได้สัมผัสหนังสือ  ได้ฟังเรื่องจากหนังสือในขณะดื่มนม  เมื่อลูกสาวคนโตอายุได้ ๙  ขวบ เธอจึงอ่านหนังสือจบไปกว่า ๓ หมื่นเล่มแล้ว  นอกจากนั้นยังได้ไปสอนภาษาไทยให้เด็กไทยในวัดไทย ที่ลอสแอลเจลีสทำให้ประสบการณ์เกี่ยวกับการอ่านให้เด็กฟัง  การใช้นิทานกับเด็กมีเพิ่มขึ้นและเห็นประโยชน์จึงอยากเผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคมโดยรวมต่อไป  เธอยังเล่าว่าปัจจุบันที่อเมริกาจะเลิกให้เด็กได้อ่าน ได้เรียนนิทานอีสปแล้ว  เพราะเห็นว่าบางเรื่องไม่เหมาะ

สม  มีเนื้อหาโหดร้าย น่ากลัว  และเห็นแก่ตัวเกินไปสำหรับเด็กเล็ก

                    

            เด็กที่ฟังนิทานจากหนังสือ  เขาจะได้เรียนรู้จากภาพที่มองเห็น  และจากน้ำเสียงของผู้อ่าน เป็นการสร้างนิสัยให้รักการอ่าน  คุณเพ็ญพรให้ข้อคิดไว้ว่า  เด็กที่ถูกทิ้งให้อยู่ในโลกเงียบมากไปจะเป็นอันตราย  คุณพ่อคุณพ่อต้องพูดคุยกับลูก  ป้อนภาษาให้กับลูก  และอ่านหนังสือให้ลูกฟัง  สังคมดิจิตอลอันตรายนะ  หากคุณทิ้งลูกไว้ลำพัง  คุณนั่นแหละสร้างให้เขาเป็นเด็กพิเศษไป  เขาต้องการความช่วยเหลือนะ  คอมพิวเตอร์ไม่ใช่กระดาษ  ไม่สามารถสัมผัสผูกพัน  นอนกอด ลูบคลำเหมือนหนังสือก็ไม่ได้  แถมใช้ไฟฟ้าซึ่งราคาแพง และเป็นอันตรายอีกโทรทัศน์ก็ด้วย  หากคุณอยากดูละคร ก็จงอัดรายการไว้ดูทีหลังเถิด  อย่าให้เด็กดูด้วยเลย  ขอร้อง....

                           

            ดร.สายฤดี  วรกิจโภคาทร  คนสวยจากรายการรักลูกให้ถูกทางที่แอบประทับใจมานาน  ตั้งแต่ลูกเป็นเด็กจนหลานมาเป็นเด็กอีก  ผ่านมาสามสิบปีแล้วกระมัง  เธอก็ยังสวยน่าประทับใจเหมือนเดิม(คนอะไร)  บอกว่าการเล่านิทานให้เด็กฟังมีความหมายทั้งด้านร่างกายและจิตใจ  สังคมไทยเคยเป็นครอบครัวใหญ่มีปู่ ย่า ตา ยาย ที่มักเล่าโน่นเล่านี่  สังคมมนุษย์เท่านั้นนะที่มีระบบปู่ ย่า ตา ยาย  เสียดายสังคมแบบนั้นมันเปลี่ยนไปแล้วมันจึงเป็นปัญหา  คุณพ่อ คุณแม่จึงต้องหันมาให้ความสำคัญตรงนี้ 

             การเล่านิทานให้เด็กฟัง ใช่เด็กจะได้เพียงความเพลิดเพลินเท่านั้น  แต่ยังไปช่วยให้เซลล์สมองของเขาเพิ่มขึ้นเป็นเท่าไหร่ ๆ 

             จิตใจนั้นมีความสำคัญต่อมนุษย์มากมายพอ ๆ กับร่างกาย  และมีความหมายสำหรับความเป็นคนยิ่งกว่าร่างกาย  ความทรงจำ  ความประทับใจ  ความรัก  ความหวัง  คือสิ่งที่มีค่าที่สุดของคนเรา  เราจึงต้องช่วยกันปลูกฝังความทรงจำดี ๆ ให้เกิดขึ้นกับเด็กของเรา 

            

                                      ดร.อารี กำลังให้ความรู้อย่างกันเอง

            สมองของมนุษย์นั้นมี ๓  ส่วน  คือ

            ส่วนล่างสุด  -  ใช้เกี่ยวกับเรื่องพื้นฐานของชีวิต  การ กิน การอยู่ , ส่วนกลาง -  เป็นเรื่องของอารมณ์  ความคิด  รัก  โศก  โกรธ  ริษยา ที่สัตว์ทั่วไปก็มี  ,ส่วนบน- เป็น EQ เรื่องของความอบอุ่น นุ่มนวล ความงามของจิตใจ สุนทรียะ   ความประณีต  ศีลธรรม  จริยธรรม  ที่มนุษย์เท่านั้นที่มี  สมองส่วนนี้อาจหยุดพัฒนาไปเลยช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิตหากไม่ได้รับการเสริมสร้าง

             ดร.อารี  สัณหฉวี  อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอนุบาลศึกษา  และมีผลงานเขียนเกี่ยวกับภาษา  พหุปัญญา  ทฤษฎีสมอง และนิทานสำหรับเด็กหลายเล่ม 

                           

                                                       เวทีกลาง

              ทฤษฏีสมอง กับ การใช้หนังสือเด็กเป็นหัวข้อที่อาจารย์เน้น  สำหรับเด็กเล็กๆแล้วเขาไม่เคยเบื่อที่จะฟังเรื่องซ้ำ ๆ   ใช้ภาษากวี  คำคล้องจอง  บทเพลง  และตัวละครประทับใจในหนังสือมีส่วนช่วยสมองของเขาให้พัฒนา  ในขณะจิตใจก็เพลิดเพลินไปด้วย

              เด็กโต ๆ บางคนอ่านหนังสือได้แล้วยังแกล้งบอกว่าอ่านไม่ได้  เพราะอยากให้ผู้ใหญ่อ่านให้ฟัง  เพราะอยากได้ความรู้สึกพิเศษที่เกิดขึ้นระหว่างฟังนั่นเอง

             สังคมดี  ไม่มีขาย  อยากได้ต้องช่วยกัน  ยังเป็นวลีประทับใจ  และอยากฝากไว้ในที่นี้ว่า  หากคุณทิ้งเด็กให้อยู่ในโลกเงียบคือคุณทำร้ายเขานะ

               อ่านหนังสือให้เด็กฟังกันเถอะนะคะ

๐๐๐๐๐



รับพระราชทานเหรียญศิลปินแห่งชาติ
สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี ๒๕๔๒
เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓

รับพระราชทานพระเกี้ยว
นิสิตเก่าอักษรศาสตร์ดีเด่น ประจำปี ๒๕๔๓

'โบตั๋น' ถ่ายภาพร่วมกับศิลปินแห่งชาติ
สาขาต่าง ๆ ประจำปี ๒๕๔๒

วันรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จตุตถดิเรกคุณาภรณ์ ร่วมกับศิลปินแห่งชาติ

 

        ประวัติคุณสุภา สิริสิงห

       คุณสุภา สิริสิงห (โบตั๋น) เกิดเมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๘ ที่อำเภอภาษีเจริญ ธนบุรี ปัจจุบันอายุ ๖๔ ปี ท่านเข้าเรียนชั้นประถมจนถึงชั้นมัธยมปีที่ ๓ ที่โรงเรียนสุธรรมศึกษา จากนั้นได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนวัฒนะศึกษาและโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พญาไท ตามลำดับ ก่อนที่จะสอบเข้าศึกษาต่อที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เอกภาษาอังกฤษและภาษาไทย และสำเร็จการศึกษาอักษรศาสตรบัณฑิต เมื่อปี ๒๕๐๙

       เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว คุณสุภาได้เริ่มชีวิตการทำงานด้วยการเป็นครูโรงเรียนราษฎร์แห่งหนึ่งในระยะเวลาสั้นๆ จากนั้นก็ได้เข้าทำงานที่นิตยสารชัยพฤกษ์ ซึ่งเป็นนิตยสารสำหรับเด็ก ของสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช เป็นเวลา ๓ ปี ก็ได้ลาออกไปทำงานแปลกับบริษัทประชาสัมพันธ์ของชาวต่างประเทศอยู่อีกช่วงหนึ่ง ครั้นถึงปี ๒๕๑๕ จึงได้เข้าร่วมงานกับนิตยสารสตรีสารรายสัปดาห์ โดยได้ทำงานในส่วนของสตรีสารภาคพิเศษสำหรับเด็ก ต่อมาได้เข้าทำงานประจำเป็นเจ้าหน้าที่ตรวจแบบเรียนของสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิชไปด้วยจนกระทั่งลาออกมาเพื่อจัดตั้งสำนักพิมพ์ชมรมเด็ก ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ที่จัดพิมพ์หนังสือสำหรับเด็กเป็นหลัก ต่อมาก็ได้จัดตั้งสำนักพิมพ์สุวีริยาสาส์นขึ้นแทนชมรมเด็กที่เปลี่ยนบทบาทไปเป็นผู้จำหน่ายหนังสือสำหรับเด็ก

       ชีวิตการเป็นนักเขียนของ คุณสุภา สิริสิงห เริ่มขึ้นตั้งแต่ครั้งที่ยังเรียนอยู่ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้เขียนเรื่องสั้นชื่อ “ไอ้ดำ” โดยใช้นามปากกาว่า “ทิพเกษร” ลงตีพิมพ์ในนิตยสารขวัญจิต ส่วนนามปากกา “โบตั๋น” อันลือเลื่องนั้น เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อปี ๒๕๐๘ โดยคุณสุภาได้ใช้นามปากกานี้เขียนนวนิยายเรื่อง “น้ำใจ” เพื่อตีพิมพ์ในนิตยสารสตรีสาร จากนั้นก็ได้ใช้นามปากกา โบตั๋น นี้ ในงานประพันธ์เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

       ผลงานการประพันธ์ที่ทำให้ชื่อเสียงคุณสุภา ในนามปากกาโบตั๋น เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายก็คือนวนิยายเรื่อง “จดหมายจากเมืองไทย” ซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสารสตรีสาร ระหว่างปี ๒๕๑๑-๒๕๑๒ นวนิยายเรื่องนี้ ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากและประสบความสำเร็จได้รับรางวัลวรรณกรรมดีเด่นจากองค์การสนธิสัญญาป้องกันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เรียกกันว่า “รางวัลซีโต้” หรือ รางวัล “ส.ป.อ.” ประจำปี ๒๕๑๒ หลังจากนั้น ท่านก็ได้สร้างสรรค์ผลงานประพันธ์อันทรงคุณค่าออกมาอีกมากมายทั้งประเภทนวนิยาย เรื่องสั้น และหนังสือสำหรับเด็ก

       ผลงานนวนิยายโดยหลักของคุณสุภา มีเนื้อหาที่สะท้อนถึงสภาพและปัญหาของสังคมที่เกิดขึ้นจริง โดยมุ่งเสนอเรื่องราวให้ผู้อ่านได้รับทั้งสาระและความบันเทิงบนพื้นฐานของการส่งเสริมศีลธรรมอันดีงาม ทั้งกระตุ้นให้ผู้อ่านเกิดจิตสำนึกต่อปัญหาของสังคมด้วยลีลาและชั้นเชิงทางวรรรศิลป์ที่เฉียบคม ตัวอย่างนวนิยายของท่านที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ได้แก่ จดหมายจากเมืองไทย ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด ตราไว้ในดวงจิต สุดแต่ใจจะไขว่คว้า กว่าจะรู้เดียงสา ทองเนื้อเก้า วัยบริสุทธิ์ เกิดแต่ตม บัวแล้งน้ำ ตะวันชิงพลบ ฯลฯ

       ในด้านของผลงานประเภทเรื่องสั้นนั้น คุณสุภาก็ได้แต่งเอาไว้เป็นจำนวนมาก โดยลงพิมพ์ในนิตยสารต่างๆ นับจนถึงปัจจุบันนี้ได้จัดพิมพ์รวมเล่มแล้ว ๔ เล่ม คือ แก้วสามดวง รักวัวให้ผูก รักลูกให้... คืนเหงา และฟ้าชอุ่มฝน

       ส่วนผลงานประเภทหนังสือสำหรับเด็กนั้นนับเป็นงานที่คุณสุภารักและให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยมีผลงานตีพิมพ์ในนิตยสารชัยพฤกษ์ สตรีสารภาคเด็ก หน้าเด็กในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ชมรมเด็กและอื่นๆ อีกหลายเล่ม ตลอดจนจัดคอลัมน์ตอบปัญหาของเด็กที่เขียนจดหมายเข้ามาเป็นจำนวนมากมาย โดยใช้นามปากกาว่า “ปิยตา” และ “ปิยตา วนนันทน์” และบางเรื่องก็ใช้นามจริง ผลงานทางด้านนี้ของคุณสุภามีทั้งที่เป็นเรื่องแต่ง เรื่องแปล และเรื่องที่ดัดแปลง ผลงานสำหรับเด็กที่รวมพิมพ์เป็นเล่มแล้ว ได้แก่ นิทานหลายรส นิทานสัตว์รอบโลก ลูกไก่แสนสวย นกบินไม่ได้ สวนสวรรค์ รวมเรื่องสั้นสำหรับเด็กนานาชาติ เล่าเรื่องพระอภัยมณี เล่าเรื่องสามก๊ก สัตว์เลี้ยงแสนรัก สมุดภาพไดโนเสาร์ ฯลฯ

       นอกจากผลงานของ คุณสุภา สิริสิงห จะเป็นที่นิยมแพร่หลายในหมู่คนไทยแล้ว ยังมีผลงานหลายเรื่องได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง นวนิยายเรื่องจดหมายจากเมืองไทยนั้น มีผู้นำไปแปลเป็นภาษาต่างประเทศถึง ๑๐ ภาษา และยังมีผลงานอีกมากมายที่มีผู้นำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ ได้แก่ จดหมายจากเมืองไทย ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด กว่าจะรู้เดียงสา สุดแต่ใจจะไขว่คว้า ทองเนื้อเก้า ด้วยสองมือแม่นี้ที่สร้างโลก บัวแล้งน้ำ ไม้ดัด ตะวันชิงพลบ เกิดแต่ตม ฯลฯ

       นอกจากความสำเร็จที่ได้รับจากความนิยายของผู้อ่านมาเป็นเวลายาวนานแล้ว คุณสุภา สิริสิงห ยังได้รับรางวัลทางวรรณกรรมสำคัญหลายรางวัล อาทิ
       - จดหมายจากเมืองไทย ได้รับรางวัลวรรณกรรมดีเด่น ประจำปี ๒๕๑๒ ขององค์การสนธิสัญญาป้องกันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
       - ไผ่ต้องลม ได้รับรางวัลชมเชยประจำปี ๒๕๒๓ จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ
       - ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด ได้รับรางวัลชมเชยประจำปี ๒๕๒๔ จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ
       - ทองเนื้อเก้า ได้รับรางวัลชมเชยประจำปี ๒๕๒๙ จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ
       - ก่อนสายหมอกเลือน ได้รับรางวัลชมเชยประจำปี ๒๕๓๐ จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ
       - ลูกไก่แสนสวย ได้รับรางวัลดีเด่นหนังสือเด็กเริ่มอ่าน ประจำปี ๒๕๑๖ จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ
       - นกบินไม่ได้ ได้รับรางวัลชมเชยสารคดีสำหรับเด็กประจำปี ๒๕๒๒ จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ
       - สวนสวรรค์ ได้รับรางวัลชมเชยหนังสืออ่านสำหรับเด็ก อายุ ๓-๖ ขวบ ประจำปี ๒๕๓๑ จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ

       คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้ตระหนักว่า คุณสุภา สิริสิงห เป็นผู้ที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์งานวรรณกรรมที่ทรงคุณค่าสำหรับผู้อ่านทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่วัยเด็กเล็ก วัยรุ่น ไปจนถึงผู้ใหญ่ โดยมีเจตนาอันแน่วแน่ที่จะมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคมที่ดีงามและมีคุณภาพ โดยการใช้ความสามารถทางวรรณศิลป์อย่างมีอรรถรสเปี่ยมด้วยพลัง นับเป็นคุณูปการอย่างยิ่งต่อวงการวรรณกรรม จึงได้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้ท่านเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๔๒

ปล.  คัดลอกจากประวัตินักเขียนของชมรมเด็ก

Tags : พอแพง สุวีริยาสาร์น ชมรมเด็ก โบตั๋น

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view