http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 08/05/2024
สถิติผู้เข้าชม14,066,867
Page Views16,379,202
« May 2024»
SMTWTFS
   1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

ปราสาทดงเมืองเตย – กู่บ้านงิ้ว โดยสาวภูไท

ปราสาทดงเมืองเตย – กู่บ้านงิ้ว  โดยสาวภูไท

ปราสาทดงเมืองเตย – กู่บ้านงิ้ว

อ.คำเขื่อนแก้ว  จ.ยโสธร 

                                                                                                                       

สาวภูไท”

            ปราสาทดงเมืองเตยตั้งอยู่บริเวณชายดงปู่ตาของบ้านดงเมืองเตย   ต.สงเปือยอำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร (เดิมจังหวัดอุบลราชธานี) ปัจจุบันเป็นที่ตั้งวัดป่าดงเมืองเตยด้วย   เป็นแหล่งโบราณคดีที่มีหลักฐานว่าเคยเป็นที่ตั้งเมืองโบราณที่มีการพัฒนาการต่อเนื่อง มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์

            ปัจจุบันแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ เหลือเพียงทรากโบราณสถาน ที่ก่อด้วยอิฐเป็น

ศาสนสถานในยุคเจนละ อายุราวในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๓ เพราะได้พบจารึกดงเมืองเตยเป็นอักษรปัลวะ ภาษาสันสกฤตที่นี่ ทำให้ทราบเรื่องราวเกี่ยวกับกษัตริย์ของเจนละหลายพระองค์ ชื่อเมือง บุคคล และราชสกุล “เสนะ” ที่พบในจารึกเป็นเสมือนการเปิดโลกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้อีสาน ในแถบจำปาศักดิ์อุบลราชธานีตลอดลุ่มน้ำ มูล-ชี-โขง

                                 

ดงแห่งเมืองเตย

            ถนนสายอุบลราชธานี-ยโสธรทอดยาวแทรกซอนในทุ่งข้าวกว้างใหญ่  เป็นถนนสายเรียบและราบเป็นแนวตรงตลอดหลายสิบกิโลเมตร

            โดยทั่วไปพื้นที่แถบอีสาน  โดยเฉพาะตามรอยขอบภูมิภาคมักมีพื้นที่ขึ้น ๆ ลง ๆ สูง ๆ ต่ำ ๆ เป็นแบบลอนลูกคลื่น  เมื่อมีถนนตัดผ่านทำให้พื้นถนนมีลักษณะขึ้นสูง ลงต่ำ ไปด้วย

แต่สำหรับถนนสายนี้มีช่วงลอนลูกคลื่นน้อยมาก  นั่นแสดงถึงความเป็นที่ราบกว้างใหญ่ในภูมิภาค

นี่คือที่ราบลุ่มแม่น้ำมูล-ชีที่อุดมสมบูรณ์  ในเขตอุบลราชธานี  -  ยโสธร

                     

             และตอนนี้เราชาวคณะที่มีเด็กสี่คน ผู้ใหญ่สองออกจากอุบลราชธานีมุ่งหน้าสู่ยโสธรตามเส้นทางสายดังกล่าว  จุดมุ่งหมายคือดงเมืองเตย   เด็กคนโตสุดในคณะคืออิ๊กคิวอายุหกขวบ  ถัดมาไออุ่นอายุห้าขวบ  ไอพ่นอายุสามขวบ  และสุดท้ายทารกน้อยแพงขวัญอายุขวบครึ่ง  กำลังกินกำลังนอนแต่ก็ตื่นเต้นกันใหญ่จะได้ไปเที่ยวปราสาทผีสิง(ไม่รู้ผู้ใหญ่คนไหนใส่ข้อมูลนี้ให้  เลยติดอยู่ในความรู้สึกตลอด)

                      

             และตามความคิดของผู้เขียน  ก็รู้สึกว่า  ปราสาทขอม  หรือโบราณสถานทุกแห่งก็คงมีวิญญาณแห่งเจ้าของ สิงสถิตล่องลอยวนเวียนอยู่ใกล้ๆ  ไม่ห่างหายไปไหนหรอก  คงเพ่งมองดูทุกคนที่ย่างกรายเข้ามาเยี่ยมชมด้วยความรู้สึกภาคภูมิใจและหวงแหนอยู่นั่นแล้วโดยเฉพาะดงเมืองเตย  ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าสถานที่นี้ตั้งอยู่กลางดงหนาป่าทึบ  เป็นป่าดงที่ยังคงความเป็นดงอยู่ได้ท่ามกลางยุคเศรษฐกิจผันแปร  น่าอัศจรรย์

                              

              ผ่านอำเภอคำเขื่อนแก้วอีกไม่ไกลก็จะเข้าสู่จังหวัดยโสธรแล้วเราก็เลี้ยวซ้ายออกจากถนนหลักมุ่งหน้าไปบ้านสงเปือย  ตำบลสงเปือย  ผ่านทะลุหมู่บ้านออกสู่ท้องทุ่งอีกทีก็มองเห็นทิวไม้เขียวครึ้มแห่งป่าดงเมืองเตย  และโบราณสถานนี้ก็ตั้งอยู่ในท่ามกลางป่าดงที่มีต้นไม้ใหญ่ ๆ สูงสล้าง โดยเฉพาะต้นยางนานั้นดูราวกับจะเสียดแทงขึ้นสู่ฟ้าพาไม้เลื้อยเถาวัลย์ให้พันเกาะเกี่ยวรุงรังขึ้นไปด้วยซากโบราณสถานก่อด้วยอิฐก้อนใหญ่ ๆ หนา ๆ ที่เหลืออยู่ให้เห็นมีเพียงปรางค์เดียวและเหลือเพียงฐานตั้งอยู่บนพื้นที่อยู่ต่ำลงไปเพราะรอยขุดค้น  แต่ยังดูขรึมขลังด้วยสภาพแวดล้อมที่ดูวังเวงด้วยแมกไม้ร่มครึ้มจนแสงแดดแทบส่งลงมาไม่ถึง  จึงวังเวงและ เงียบเชียบ ได้ยินแต่เสียงนก เสียงกาดังลงมาจากปลายยางลงมาทักทาย 

                      

               สถานที่แห่งนี้เป็นดินแดนศักดิ์สิทธิมาแต่โบราณ  นับเนื่องมาตั้งแต่ก่อนยุคประวัติศาสตร์จนถึงสมัยเจนละ  และทวารดีจนถึงยุควัฒนธรรมลาว-อีสานในปัจจุบันก็ยังศักดิ์สิทธิ์อยู่ได้ด้วยเป็นที่ตั้งวัดป่า  สถานปฏิบัติธรรมเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่เป็นผู้ดูแลรักษาโบราณสถาน  ในและนอกศาลาที่ปลูกอยู่อีกด้านของถนนคือที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุที่ขุดค้นขึ้นมาจากใต้ดิน  อีกส่วนหนึ่งนำไปเก็บที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอุบลราชธานี

                          

กระดูก  หม้อ  ไห  ไม้  และหินทรายสีชมพู

            หากใครมุ่งหน้ามาดงเมืองเตยหวังจะได้ชมปราสาทหินที่ยิ่งใหญ่ อลังการอย่างพิมาย พนมรุ้ง หรือปราสาทอื่น ๆ แล้วก็จะต้องผิดหวังแน่  แต่ที่นี่มีอย่างน้อยก็มีกระดูก  หม้อ  ไห  และหินทรายสีชมพูบ่งบอกให้รู้ถึงความเคยเป็นที่อยู่  ที่เคารพบูชาแห่งผู้คน  บรรพบุรุษของเราเหล่าอีสานเขมรสูง

            หินทรายสีชมพูนั้นที่ยังอยู่สมบูรณ์คือแท่นหินขนาดใหญ่ ยาว และหนา  ที่น่าจะเป็นฐานปราสาท  มีลวดลายสลักเป็นดอกไม้สองแท่งวางตั้งไว้ด่านหน้าศาลา  ส่วนนอกนั้นคือชิ้นส่วนที่แตกหักวิ่นแหว่ง  แต่หลายชิ้นยังมีร่องรอย ลวดลายที่ผู้สร้างบรรจงสลักเสลาด้วยฝีมือแห่งศรัทธา  มีทั้งใบเสมา  และชิ้นส่วนที่ไม่รู้ว่าเป็นอะไร  วางปนอยู่กับท่อนไม้ซึ่งไม่ใช่ท่อนไม้ธรรมดาเพราะมีการตกแต่งสลักลวดลายให้เห็นอยู่เช่นกัน 

                    

            ภายในศาลายังมีตู้กระจกเก็บเศษกระดูกมนุษย์  หม้อ  ไห  กระเบื้องดินเผาและเครื่องมือเครื่องใช้ทำด้วยสำริด เหล็ก  ที่ขุดได้เช่นกัน  เป็นวัตถุพยานถึงอารยะหลายยุคสมัยในสถานที่แห่งนี้ที่สืบเนื่อง  และคงเป็นเมืองสำคัญแห่งดินแดนลุ่มน้ำมูล-ชี –โขง

             ช่วงที่คณะเราไปถึงพระท่านฉันจังหันเสร็จพอดี  ญาติโยมส่วนหนึ่งกำลังทานข้าวกันอยู่

            “มากินข้าวนำกันเด้อ”

            เสียงเชิญชวนด้วยน้ำใจของชาวอีสานแท้   พลางจัดแบ่งกุลีกุจอ  ทำให้รู้สึก

หิวขึ้นมาทันที  หลังจากเดินเก็บภาพถ่ายและปล่อยให้เด็ก ๆ สำรวจสิ่งที่เขาสนใจอยู่พอสมควรแล้วจึงได้แวะไปทานข้าววัดตามคำชวน 

            มากันคราวนี้จึงได้ทั้งข้อมูลภาพถ่าย  และบุญที่ชาววัดแบ่งมาให้จนอิ่มท้องกันทั้งคนโตและคนตัวเล็ก           

            ห่างออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตามเส้นทางยโสธร – อุบลราชธานี ยังมีโบราณสถานอีก ๒ แห่ง คือ พระธาตุกู่จาน กับ กู่บ้านงิ้ว

            พระธาตุกู่จาน เป็นสถาปัตยกรรมลักษณะเหมือนองค์พระธาตุพนม มีป้ายบรรยายไว้ว่าสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 7 ตั้งอยู่ในเขตวัดบ้านกู่จาน ส่วนกู่บ้างงิ้ว เป็นซากโบราณสถานที่สร้างด้วยหิน ปัจจุบันเหลือแต่หินแลง ส่วนที่เป็นฐานทิ้งอยู่กลาดเกลื่อนใต้ต้นไม้ใหญ่ มีป้ายบรรยายไว้ว่า เคยมีโบราณสถานสร้างขึ้นสมัย

บาปวน เป็นปราสาทหินในหลายๆ แห่งที่พบในอุบลราชธานี เช่น ปราสาทหินบ้านเพ็ญ ปราสาทนางพระยา  สถูปบ้านอุปมุง ปราสาทหินหนองสนม บ้านค้อ อำเภอสำโรง  เป็นต้น

QQQQ

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view