http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 08/05/2024
สถิติผู้เข้าชม14,066,829
Page Views16,379,153
« May 2024»
SMTWTFS
   1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

ประเพณีปักธงชัย อำเภอนครไทย สืบสานมายาวนาน โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

ประเพณีปักธงชัย อำเภอนครไทย สืบสานมายาวนาน โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

ประเพณีปักธงชัย อำเภอนครไทย สืบสานมายาวนาน

โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

             ผมได้เดินทางไปชมประเพณีปักธงชัยบนเขาช้างล้วง ที่อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันขึ้น 14-15 ค่ำเดือน 12 ได้ฟังเรื่องเล่ามากมายหลายตำนาน ซึ่งเรื่องทำนองที่ได้ฟังไม่เคยได้รู้เห็นมาก่อนเลย เป็นเรื่องน่าสนใจมาก แม้เหนื่อยก็ยอมพลี  ผมจับใจความได้ว่า

             ตำนานที่หนึ่ง ว่ากันว่า เมื่อครั้งที่พ่อขุนบางกลางท่าวเข้ามาอยู่ยังเมืองบางยาง ได้สู้รบกับเจ้าถิ่น จนเจ้าถิ่นหนีกระเจิง พ่อขุนบางกลางท่าวจึงให้เอาผ้าคาดเอวผูกปลายไม้ไผ่ขึ้นไปปักยังยอดเขาช้างล้วง ประเพณีการปักธงชัยจึงเป็นการปักเพื่อรำลึกถึงพระคุณของพ่อขุนบางกลางท่าว

            ตำนานที่สอง ว่ากันว่า พ่อขุนบางกลางท่าวเจ้าเมืองบางยาง  ผนึกกำลังขับไล่ขอม

สบาญพงออกจากแผ่นดินสุโขทัยจนได้ชัยชนะตามหลักศิลาจารึกหลักที่1. บรรทัดที่ 36 วรรคสุดท้าย "ต่างคนต่างเมือ(กลับ)บ้านเมืองดังเดิม " บ้านเมืองเดิมคือเมืองนครบางยาง  เมื่อเดินทางมาถึงก็ได้ให้นำธงชัยไปปักบนยอดเขาช้างล้วง เป็นการประกาศชัยชนะให้ชาวบ้านได้รู้ไว้

            ตำนานที่สาม ว่ากันว่า เมืองบางยางได้ถูกพวกฮ่อบุกรุก เจ้าเมืองผู้ครองนครคิดจะส่งสัญญาณให้ไพร่พลและปวงชนได้รู้ว่าเกิดเหตุ จากธงผ้าขาวม้าที่นำไปปักบนยอดเขาช้างล้วง ซึ่งเป็นภูเขาหินหัวโล้น ไม่มีต้นไม้ปกคลุมแต่อย่างใด จึงเห็นได้ชัดเจน จะได้ตระเตรียมสรรพกำลังร่วมกันขับไล่พวกฮ่อที่เข้ามารุกราน  

            ตำนานที่สี่ ว่ากันว่า การปักธงชัยจะทำให้ไพร่บ้านพลเมืองอยู่เย็นเป็นสุข อยู่ดีกินดี ครั้นปีใดไม่ได้ปักธงชัย ก็เกิดอาเภทเป็นอาจิณ เชื่อกันว่านาคราชจะมาล้างบ้านล้างเมือง  ยักษ์จะมากินคน  และช้างจะออกจากป่ามาเหยียบย่ำและกินพืชผลข้างบ้าน เล่ากันอีกว่า ครั้งหนึ่งช้างมากินพืชผล ชาวบ้านได้ร่วมกันขับไล่ให้พ้นสวน แต่เมื่อไล่ไปจนถึงเขาช้างล้วง กลับมองไม่เห็นร่องรอยใดๆ หาไม่เจอ ดั่งปาฎิหารย์ เชื่อกันว่าเป็นช้างจากเขาช้างล้วงลงมาเตือน

            ตำนานที่ห้า ว่ากันว่า มีปราชญ์ชาวบ้านนครไทยชื่อว่านางทองคำ ม่วงแก่น อายุ 90 ปี เล่าให้ฟังว่า "พ่อแม่เล่าให้ฟังว่า ปักธงชัยพ่อขุนบางรบชนะขอม" พร้อมกันนั้น แม่เฒ่ายังได้ร้องเพลงพิธีกรรมให้ฟังอีกด้วย 

            ดั้งเดิมทีเดียว ชาวบ้านบ้านหัวร้อง บ้านกลาง และบ้านเหนือ 3 หมู่บ้านนี้จะขอด้ายจากชาวบ้านเพื่อมาทอธงให้แล้วเสร็จในหนึ่งวัน ก่อนค่ำวันขึ้น 14 ค่ำเดือน12  แล้วแห่ธงชัยไปขอขมาพ่อขุนบางกลางท่าว ที่ต้นจำปาขาวในวัดกลางศรีพุทธาราม แล้วนำกลับไปยังหมู่บ้านของตนเอง นิมนต์พระสงฆ์สวดมนต์เย็นที่วัดของแต่ละหมู่บ้าน  มีการเฉลิมฉลองด้วยการละเล่นมากมายเช่นร้องเพลง ฮินเลเล  เพลงกุนซ่อนกุน ปัจจุบันนี้มีดนตรีและมหรสพมาแทนที่

 

             ครั้นเช้าตรู่วันขึ้น 15 ค่ำ(21 พย.53) ชาวนครไทยได้ร่วมใจเป็นหนึ่งเดียว 3 หมู่บ้านดังกล่าวจะแห่แหนกันไปปักธงชัยที่เขาช้างล้วง ส่วนหมู่บ้านอื่นๆก็ร่วมขบวนไปด้วยกัน ทำกันมาอย่างนี้นับร้อยๆปี  ธงชัยที่จะปักมี 3 ธง แต่ละธงปักดังนี้คือ

             ธงชัยที่หนึ่ง เป็นธงของชาวบ้านวัดเหนือ จะปักธงชัยที่เขาฉันเพล เป็นแห่งแรก พร้อมกันนั้นก็ถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ในถ้ำลอด  ส่วนชาวบ้านก็จะตระเตรียมอาหารห่อติดไปด้วย แล้วล้อมวงกินอาหารกลางวันร่วมกัน แหม ยังกับไปปิคนิกทีเดียว

             ธงชัยที่สอง  เป็นธงของบ้านวัดกลางจะไปปักธงชัยบนยอดเขาย่านไฮซึ่งห่างจากจุดที่หนึ่งราวๆ 300 เมตร 

             ธงชัยที่สาม  เป็นธงของบ้านหัวร้อง  เป็นผู้ปักธงชัยบนยอดเขาช้างล้วงซึ่งเป็นภูเขาหินโล้นๆ ลูกที่ใหญ่ที่สุด และมีรูปร่างคล้ายลูกช้างหมอบ

             ลักษณะของธงชัยที่จะปักนี้ ชาวบ้าน 3 หมู่บ้านดังกล่าว จะทอธงขนาด 80 ซม.ยาว 4 เมตร บริเวณชายธงจะห้อยด้วยใบโพธิ์ที่ทำจากไม้   21 ใบ  อีกปลายหนึ่งใส่ไม้ไผ่ขนาดความโต 1 นิ้ว เพื่อถ่วงธง เส้นด้ายที่ใช้ทอผืนธงรับบริจาคจากชาวบ้าน แต่มีเงื่อนไขว่าต้องทอธงให้แล้วเสร็จในหนึ่งวันในวันขึ้น 14 ค่ำ นำไปปักวันขึ้น 15 ค่ำ 

             มีการตั้งขบวนแห่แหนกันไป ผู้ร่วมขบวนมีตั้งแต่พระสงฆ์ หนุ่มๆ สาวๆ เด็กๆ และคนเฒ่าคนแก่ ที่ขึ้นดอยไหวก็เดินขึ้น ส่วนคนเฒ่าที่ขึ้นไม่ไหวก็จะนั่งรออยู่ตีนดอย  ผมเดินตามชาวบ้านขึ้นดอยช้างล้วง มีเจ้าหน้าที่คอยแจกกระดาษเสี้ยวเล็กๆ พร้อมกับบอกว่า เมื่อขึ้นไปถึงชั้นไหนก็ให้เจ้าหน้าที่ปั๊มตรา ถ้าลงมาแล้วก็นำมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ที่ตีนดอย จะได้เกียรติบัตรเป็นผู้พิชิตเขาช้างล้วง บางคนเดินขึ้นไปไม่ไหวก็ฝากปั๊มก็มี เช่นคนอ้วนมากๆ หรือแก่มากแต่อยากได้เกียรติบัตร

             เขาช้างล้วงที่กล่าวถึง เป็นผืนป่าอยู่ในอุทยานแห่งชาติชาติตระการ มีบ้านพักเจ้าหน้าที่ชื่อว่าหน่วยพิทักษ์อุทยานเขาช้างล้วง ใกล้ๆบ้านพักตั้งปะรำพิธีให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกได้กล่าวเปิดการเดินขึ้นเขาไปปักธงชัย นายอำเภอนครไทยเป็นผู้กล่าวรายงาน หลังจากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดนายปรีชา เรืองจันทร์ ก็ได้เดินนำขบวนขึ้นเขาช้างล้วง ส่วนปะรำพิธีก็เปิดวงดนตรีให้แสดงเต็มกำลัง เสียงดังสนั่นลั่นป่า ทั้งนักร้องและแด๊นเซอร์เต้นกันเวทีแทบถล่ม

             ผมเดินขึ้นไปได้สัก 1 ใน 3 ของระบะทาง 3.8 กม. ก็หยุดพักที่เพิงหมาแหงนข้างๆชายป่า ริมทางที่เดินขึ้นเขา เห็นแม่ลูกสองมาแวะพักเหนื่อยก็ลองสอบถามหาความดู

             "มาเดินขึ้นเขาทุกปีหรือเปล่า" คำตอบที่ได้รับคือ

             "มาทุกปีเลยค่ะ มาแล้วสบายใจ ไม่กังวล แต่ถ้าปีไหนไม่ได้มาเดินขึ้นไปบนเขาช้างล้วง ก็จะรู้สึกหงุดหงิด เหมือนไม่โปร่งใจคะ"

             ฟังอย่างนั้นแล้ว ผมรู้สึกว่า อันประเพณีนี้ ทำสืบต่อกันมานานหลายร้อยปี เป็นความเชื่อและความศรัทธา ที่ฝังรากลึกอยู่ในจิตใจของชาวนครไทยอย่างลึกล้ำ เหมือนได้รำลึกถึงพ่อขุนบางกลางท่าว เหมือนได้สรรเสริญบรรพบุรุษ  หลังจากเดินลงเขามาแล้ว ก็ได้เห็นภาพที่น่ารักของชาวบ้าน เขาปูเสื่อใต้ร่มไม้ในป่าข้างทาง กินข้าวร่วมกันอย่างกับมาปิคนิกจริงๆ หรือนี่คือกุสโลบายของบรรพบุรุษที่สร้างความผูกพันกันด้วยประเพณีที่ดีงาม

             แดดร้อนจัดขึ้น แต่ผู้คนที่มาเดินขึ้นเขาก็ทะยอยกันเดินขึ้น สวนทางกับพวกที่เดินถึงแล้วกำลังลงมา เส้นทางเดินแคบไปเลย ผมลงมาตีนเขาแล้วก็นั่งรถยนต์ไปยังวัดกลางพุทธาราม เพื่อชมต้นจำปาขาวหนึ่งเดียวในประเทศไทยและหนึ่งเดียวในโลก ซึ่งอยู่ในวงศ์ MAGNOLIACEAE ลำต้นมีร่องรอยผุกร่อนที่ส่วนโคนต้น ใบคล้ายใบจำปาทั่วไป เป็นใบเดี่ยว ดอกออกตามซอกใบสีขาว แต่เมื่อดอกแก่ใกล้โรยจะออกสีเหลืองอ่อนๆ

              จำปาขาวต้นนี้เชื่อกันว่าพ่อขุนบางกลางท่าวปลูกไว้ พร้อมคำอธิษฐานว่า หากออกศึกไปรบกับขอมสบาญพงชนะ ก็ขอให้จำปาต้นนี้รอดตาย เมื่อกลับถึงเมืองบางยาง ก็ได้เห็นดังคำอธิษฐาน ต้นจำปาขาวต้นนี้จึงมีอายุหลายร้อยปี น่าจะมากกว่า 800 ปี

              มีร่องรอยการบูชาธงเมื่อคืน 14 ค่ำ อยู่หน้าอนุสรณ์สถานพ่อขุนบางกลางท่าว

 

           เขาย่านไฮ 

             ประเพณีปักธงชัยเมืองนครไทยนี้ เกิดขึ้นและสืบสานกันมายาวนาน เป็นวิถีชาวบ้านๆ ไม่ได้แต้มแต่งสีสันให้เกินเลย เสื้อผ้าที่สวมใส่ก็พื้นๆเช่นที่เป็นอยู่ ไม่มีการกะเกณท์กันให้มาขึ้นเขา ใครใคร่ขึ้นก็ขึ้น ไม่ขึ้นก็ไม่เป็นไร ริ้วขบวนที่แห่กันไปก็ไปแบบชาวบ้านๆจริงๆ ถ้าปีหน้าฟ้าใหม่ได้โอกาสมาอีกครั้งจะดูซิว่า มีความเปลี่ยนแปลงขึ้นหรือไม่  

               

 เขาช้างล้วง

               

 

 

Tags : ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ พิษณุโลก นครไทย เขาช้างล้วง

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view