http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม13,993,273
Page Views16,301,516
« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

เรื่อง ตุลาการรัฐธรรมนูญไม่ใช่ศาล

เรื่อง  ตุลาการรัฐธรรมนูญไม่ใช่ศาล

รายงานทางวิชาการ

ต่อที่ประชุมสัมมนา  ทางออกประเทศไทย ฟังเสียงประชาชนคนสามสี

ครั้งที่ 2

เรื่อง  ตุลาการรัฐธรรมนูญไม่ใช่ศาล

 

                ชมรมประชาธิปไตยแห่งชาติ  ร่วมกับ ศูนย์ข่าวประชาชน VOICE TV ได้จัดให้มีการประชุมสัมมนา  เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการขึ้น  ในหัวข้อเรื่อง  ทางออกประเทศไทย – ฟังเสียงประชาชนคนสามสี (ครั้งที่ 2) โดยทางชมรมฯ ได้รวบรวมปัญหาต่าง ๆ ในทางการเมืองที่ประชาชนมีความเคลือบแคลงสงสัยหรือให้ความสนใจ  มาจัดทำเป็นรายงานนำเสนอต่อพี่น้องประชาชนให้ทราบความจริงทุกครั้งในการสัมมนา  และในครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน

                ดร.วิบูลย์  แช่มชื่น ผู้ก่อตั้ง  ชมรมประชาธิปไตยแห่งชาติ ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ให้ชมรมฯ นี้ เป็นที่รวมกันของประชาชนที่รักประชาธิปไตยมีอุดมการณ์ตรงกันในการสถาปนาการปกครองแบบประชาธิปไตยให้ปรากฏเป็นจริง  และมีความมุ่งหมายเพื่อให้ชมรมฯ นี้เป็น สถาบันทางวิชาการ ในการทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้ทางการเมืองที่ถูกต้องให้แก่พี่น้องประชาชนทั่วไป  โดยไม่เลือกฝ่ายบนพื้นฐานแห่งการรักษาผลประโยชน์ของชาติและประชาชนโดยเฉพาะยังเป็นมรรควิธีที่จะนำไปสู่ทางออกประเทศไทยที่อยู่ในภาวะวิกฤติขณะนี้ตามแนวทางสันติ

                ในการสัมมนาครั้งนี้  อยู่ในห้องเวลาที่ชาติบ้านเมืองมีปัญหามากมายคือนอกจากจะเป็น “วิกฤติทั่วไป” (GENERAL CRISIS) ซึ่งไม่มีทางออกตรงกับที่ท่านนายกฯ พูดไว้ที่สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการ  ถนนรัชดาฯ ว่า “วิกฤติการเมือง 3-4 ปีที่ผ่านมา  เป็นวิกฤติที่ยังหาทางออกไม่ได้ยังไม่พบทางออก” แล้วยังได้เกิด  “วิกฤติศรัทธาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” ซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายหนักลงไปอีก  ส่งผลให้เกิดคำถาม “มหาชน” หลั่งไหลเข้ามายังชมรมฯ เป็นจำนวนมาก  ในพฤติกรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนว่ามีความชอบธรรมหรือไม่

                ด้วยเหตุนี้  ชมรมประชาธิปไตยแห่งชาติจึงเห็นควรนำเอาปัญหาตุลาการรัฐธรรมนูญมาจัดทำรายงานทางวิชาการ  เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมสัมมนาในครั้งนี้  โดยทางชมรมประชาธิปไตยแห่งชาติ  ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญที่ทรงความรู้ในทางการเมืองและการปกครอง  มาหารือร่วมกันเพื่อหาข้อสรุปที่ถูกต้องและจัดทำเป็นรายงานทางวิชาการ  ในหัวข้อเรื่องตุลาการรัฐธรรมนูญไม่ใช่ศาล  และหวังว่ารายงานทางวิชาการฉบับนี้จะเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์อันเป็นเครื่องส่องทางให้พี่น้องประชาชนได้มองเห็นทางออกประเทศไทย  แล้วมอบให้กระผมเป็นผู้นำเสนอต่อที่ประชุมสัมมนาในวันนี้  ดังมีรายละเอียดและข้อเท็จจริงตามที่จะกล่าวต่อไปนี้

                ก่อนอื่น  กระผมในฐานะผู้นำเสนอรายงานขอเรียนต่อที่ประชุมว่ารายงานทางวิชาการเรื่อง ตุลาการรัฐธรรมนูญไม่ใช่ศาล  ฉบับนี้  คณะผู้จัดทำมิได้มีความมุ่งหมาย  หรือต้องการทำลายบุคคลหรือคณะบุคคลใด  มิได้มีเจตนาที่จะไปทำลาย  ความน่าเชื่อถือของสถาบันตุลาการที่เราเคารพหรือของกระบวนการยุติธรรมแต่ประการใด  แต่จัดทำขึ้นตามหลักวิชาการที่ถูกต้อง  ทั้งนี้เพื่อให้เป็นทางออกของประเทศไทยเป็นสำคัญ  เหตุที่กระผมต้องกล่าวเช่นนี้ก็เพราะว่า  การที่เราจะคิดแก้ปัญหาใด ๆ ก็ตาม  ถ้าเราเคารพหลักการและหลักวิชาอย่างเคร่งครัด  และแก้ปัญหาเหล่านี้นั้นให้ถูกต้องตามหลักวิชา ปัญหาทุกอย่างก็จะสามารถแก้ตกได้ทั้งสิ้น  แต่ถ้าหากเราไม่เคารพหลักวิชา  แก้ปัญหาโดยคิดเอาผลประโยชน์ของตนเป็นที่ตั้ง  หรือที่เรียกว่า “อวิชชา” ก็จะทำให้เกิดปัญหาหนักยิ่งขึ้น  คือยิ่งแก้ยิ่งยุ่งเหมือน ลิงแก้แหหลงเวียนว่ายอยู่ วัฏฏสงสาร  หาทางออกไม่ได้  ดังพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า “สุวิชาโน ภะวัง โหติ – ทุวิชชาโน ปราภโว” แปลว่า ผู้รู้วิชาเป็นผู้เจริญ – ผู้ไม่รู้วิชาเป็นผู้ฉิบหาย

                “หลักวิชา” กำหนดขึ้นมาจาก กฎของความจริงแท้ (REALITY LAWS) ที่ดำรงอยู่จริง  (EXISTENCE) ย่อมมีความแน่นอนและถูกต้องตลอดไป  หลักวิชาจึงเรียกอีกนัยหนึ่งว่า สัจธรรม (TRUTH) หลักวิชาทุกอย่างจึงกำหนดขึ้นมาจาก ภววิสัย (OBJECTIVE) ไม่ใช่ อัตวิสัย (SUBJECTIVE) และ “วิชา” ก็คือภาพสะท้อนของความสัมพันธ์ภายในของสรรพสิ่งซึ่งมาจากหลักวิชา  แต่นักวิชาการและนักการเมืองบ้านเรา  มักถือเอาผลประโยชน์ของตนเป็นที่ตั้ง  จึงแก้ปัญหาตามอำเภอใจโดยไม่เคารพต่อหลักวิชา  ยิ่งแก้รัฐธรรมนูญก็ยิ่งผิดหลักวิชาการมากขึ้น  แก้กันจนชาติบ้านเมืองหาทางออกไม่ได้มาจนทุกวันนี้  ก็เพราะฝีมือของนักวิชาการและนักการเมืองทั้งสิ้นครับ

                พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ  กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ นายกราชบัณฑิตยสภาพระองค์แรก  ท่านเป็นวิชาการที่เชื่อถือได้คนหนึ่งของไทย  ทรงประทานอรรถาธิบาย  หลักการและหลักวิชาการ ของ “ระบบรัฐสภา” (PARLIAMENTARY SYSTEM) หรือที่เรียกกันว่า “ระบบรวมอำนาจ” (FUNSION OF POWER) ไว้ว่า “เสถียรภาพของระบบรัฐสภา ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจอธิปไตยทั้งสาม  โดยมีรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีอยู่ในฐานะที่คานกันและถ่วงดุลกัน และมีศาลเป็นอิสระโดยสิ้นเชิงจึงจะทำให้เกิดุลยภาพ  และยังผลให้เกิดเสถียรภาพของระบบรัฐสภา  ถ้าหลักการเหล่านี้ถูกทำลาย  ก็คือการทำลายเสถียรภาพของระบบรัฐสภา”

                หมายความว่า “ระบบรัฐสภา” ซึ่งเป็น “รูปการปกครอง” (FORM OF GOVERNMENT) อันเป็นองค์ประกอบอันหนึ่งคู่กับ “หลักการปกครอง” (PRINCIPLE OF  GOVERNMENT) ของ “การปกครองแบบประชาธิปไตย” (DEMOCRATIC GOVERNMENT) นั้น  ระบบรัฐสภาจะดำรงอยู่ได้ต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญ 2 ประการคือ

                1)  มีสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ถือดุล  ของระบบรัฐสภา

                2)  มีศาลเป็นผู้ถือดุลในดุลของระบบรัฐสภา

                ถ้าสภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถทำหน้าที่เป็นผู้ถือดุลได้  และศาลก็ไม่สามารถทำหน้าที่เป็นผู้ถือดุลในดุลได้  ระบบรัฐสภาก็จะล้มเหลวโดยสิ้นเชิงและนำไปสู่ “FAILED STATE”

                ด้วยเหตุนี้  เพื่อให้ศาลทำหน้าที่เป็นผู้ถือดุลในดุลของระบบรัฐสภาได้มาตรา 58 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ลงวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกจึงได้บัญญัติไว้ว่า “การพิจารณาพิพากษาอรรถคดี  ท่านว่าเป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะ” และมาตรา 60 บัญญัติว่า “ผู้พิพากษาย่อมมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี” นี่คือการทำให้ศาลเป็นผู้ถือดุลในดุลของระบบรัฐสภา

                รัฐธรรมนูญฉบับลงวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งในทางวิชาการถือกันว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ได้ทำการเปลี่ยน ระบอบประชาธิปไตย (เพียงหลักการ) เป็น ระบอบเผด็จการระบบรัฐสภา ไปแล้วก็ตาม  แม้ว่าจะมีบทบัญญัติไว้ในมาตรา 59 ว่า “บรรดาศาลทั้งหลายจักตั้งขึ้นได้แต่โดยพระราชบัญญัติ” ก็ตาม  แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นมีการทำลายความเป็นอิสระของศาลมากนัก  จนเมื่ออาจารย์ปรีดี  พนมยงค์  ได้ขึ้นมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี   เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2489 หลังจาก นายควง  อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี  ได้ลาออกหลังแพ้มติในรัฐสภาแล้ว  จึงได้มีการทำลายความเป็นอิสระของศาลขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

                รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489 ซึ่งมีอาจารย์ปรีดีฯ เป็นหลักในการยกร่างนั้นได้มีการทำลาย ความเป็นอิสระของศาล เกิดขึ้นโดยรัฐธรรมนูญบัญญัติให้มี “คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ” ซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐสภาขึ้นเป็นครั้งแรก  ดังปรากฏในมาตรา 88 ของรัฐธรรมนูญว่า

                “ในการที่ศาลจะใช้กฎหมายบังคับแก่คดีใด  ถ้าศาลเห็นว่าบทกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 87 ก็ให้ศาลรอการพิจารณาพิพากษาคดีนั้นไว้ชั่วคราว  แล้วรายงานความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการไปยังคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ  เพื่อพิจารณาวินิจฉัย  เมื่อคณะตุลาการรัฐธรรมนุญพิจารณาวินิจฉัยแล้วให้แจ้งให้ศาลทราบ

                คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญให้ถือเป็นเด็ดขาดและให้ศาลปฏิบัติตามนั้น”

                อาจารย์ปรีดีฯ ท่านบอกว่ารัฐธรรมนูญของท่านเป็นประชาธิปไตยที่สุด  ซึ่งความจริงแล้วอย่าว่าแต่จะเป็นประชาธิปไตยเลย  เอาแค่เป็น “ระบบรัฐสภา” ก็ไม่ได้เสียแล้ว  เพราะได้ทำลายความเป็นอิสระของศาลอย่างรุนแรง  โดยเอา อำนาจนิติบัญญัติ  ไปขี่คอ อำนาจตุลาการ  ซึ่งผิดหลักวิชาการอย่างร้ายแรง  กระทั่งเอา สภาทำหน้าที่เป็นศาล  ไปเลยคือ ให้ศาลปฏิบัติตามนั้นและคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญให้ถือเป็นเด็ดขาด

                ระบบรัฐสภาในระบอบเผด็จการโดยทั่วไป  ก็ยังไม่เคยมีประเทศไทยเขาทำกันอย่างนี้  ยิ่งระบอบประชาธิปไตยด้วยแล้ว  ยิ่งต้องถือเอา  ความเป็นอิสระของศาลเป็นองค์ประกอบสำคัญเลยทีเดียว  ดังนั้นการที่อาจารย์ปรีดีฯ เอาสภาไปขี่คอศาลแบบนี้จึงไม่ถูกต้องเพราะ อำนาจตุลาการนั้น เขายึดถือ “หลักนิติธรรม” (RULE OF LAWS) แต่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ นั้นเป็นเพียงกลไกของอำนาจนิติบัญญัติ  ซึ่งมีสมาชิกเป็นนักการเมืองที่ยึดถือเอา นโยบายของพรรคการเมือง (PLATFOMR) คือยึดถือผลประโยชน์ของนักการเมืองเป็นสำคัญ  และรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ก่อให้เกิดความแตกแยกในคณะราษฎรอย่างรุนแรง  จนทำให้เกิดการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ถือได้ว่าเป็นการสิ้นสุดยุคของอาจารย์ปรีดีฯ ซึ่งนอกจากจะเป็นต้นตำรับของ การทำรัฐประหาร และทำการสร้างประชาธิปไตยด้วยรัฐธรรมนูญ แล้ว ท่านยังเป็นต้นตำรับของนโยบายเศรษฐกิจ  สังคมนิยมเพ้อฝัน  และต้นตำรับให้มี พรรคการเมืองภายใต้กฎหมาย  รวมทั้งยังเป็นต้นตำรับของ การเอาอำนาจนิติบัญญัติไปขี่คออำนาจตุลาการ อีกด้วย  แต่อย่างไรก็ตามบทบัญญัติว่าด้วย  ต้นตำรับต่าง ๆ ภายใต้อำนวยการของอาจารย์ปรีดีฯ นั้นก็หาได้จบตามไปกับคณะราษฎรด้วยไม่  เพราะคณะอื่นพรรคอื่น  ซึ่งครองอำนาจอธิปไตยของคนส่วนน้อยต่อมานั้น  ต่างก็เห็นดีเห็นชอบนำเอาต้นตำรับเหล่านั้นมาใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญของตนตลอดเวลา

                รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2521  เป็นรัฐธรรมนูญที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติจัดทำขึ้น  ซึ่งได้รับฉายาว่า “รัฐธรรมนูญฉบับหมาเมิน” ก็เพราะด้านหนึ่งได้กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับ  การสังกัดพรรคและการสมัคร สส.ร้ายแรงกว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 ที่บังคับให้ผู้สมัคร สส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง  ซึ่งเรียกกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับต้อน สส. “เข้าคอก” แล้ว อีกด้านหนึ่งก็คือ การทำลายความเป็นอิสระของศาล อย่างเป็นรูปธรรม

                อาจารย์ประเสริฐ  ทรัพย์สุนทร  เจ้าของความคิด “นโยบาย 66/23” ที่กองทัพบกนำไปใช้ในการยุติสงครามกลางเมืองได้สำเร็จ  ท่านได้พูดถึงการร่างรัฐธรรมนูญ  ฉบับหมาเมิน ไว้ว่า

                “ในโลกนี้มีประเทศไทยประเทศเดียวเท่านั้นที่มัววุ่นวายอยู่แต่กับรัฐธรรมนูญ  แต่ไม่เป็นไรดอกครับ  ผมคำนวณดูแล้วนักการเมืองบ้านเรายังตลกอยู่กับ “รัฐธรรมนูญ”  โดยไม่ต้องทำอะไรไปได้อีกนาน  ประเทศอื่นนักการเมืองมีหน้าที่แก้ปัญหา  มิฉะนั้นบ้านเมืองพังแต่บ้านเรานักการเมืองสบายมาก  เพราะไม่ต้องแก้ปัญหาสามารถใช้เวลาของรัฐสภาทำตลกในเรื่องรัฐธรรมนูญและเรื่องอื่น ๆ กันได้ตามอัธยาศัย...ตลกนาน ๆ เข้าชาวบ้านก็เกลียดขี้หน้านักการเมืองไปเอง  แล้วนักการเมืองก็จะหลอกชาวบ้านไม่ได้อีกต่อไป...

                รัฐธรรมนูญฉบับนี้  เป็นรัฐธรรมนูญระบบกึ่งรัฐสภา  (SEMIPARLIAMENTARY SYSTEM) ซึ่งอำนาจนิติบัญญัติ  อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการเป็นอิสระต่อกัน  และตัวบทใน มาตรา 169 ก็บัญญัติไว้ว่า “การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาล...” แต่ มาตรา 191 กลับเอาอำนาจนิติบัญญัติไปครอบอำนาจตุลาการ  และบังคับให้ศาลต้องขึ้นต่อรัฐสภาทางตุลาการรัฐธรรมนูญ  หมายความว่า  ถ้ามีปัญหาว่า กฎหมายจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ  ศาลต้องหยุดพิจารณาก่อน  และดำเนินการให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญชี้ขาดก่อน  แล้วศาลจึงจะพิจารณาพิพากษาตามคำชี้ขาดนั้น  อิสระของอำนาจตุลาการอยู่ที่ไหนครับ มาตรา 173 เขียนว่า “ผู้พิพากษาและตุลาการอยู่มีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี...” แต่ มาตรา 191 เขียนว่า “ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับคดีใด  ถ้าศาลเห็นว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 5 ให้ศาลรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวแล้วส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการ  เพื่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย” แล้วยังบัญญัติไว้ในมาตรา 192 ด้วยว่า “คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญให้ถือเป็นเด็ดขาด”

                หมายความว่า  ศาลต้องหยุดก่อน  ฟังคำวินิจฉัยเด็ดขาดจากรัฐสภาทางคณะตุลาการรัฐธรรมนูญก่อน  เห็นไหมครับ  รัฐธรรมนูญฉบับนี้ขัดกับหลักของระบบรัฐสภา  และมาตรา 191 และ 192 โอละพ่อกับมาตรา 169 และมาตรา 173 แต่ถึงรัฐธรรมนูญจะเขียนตลกสักแค่ไหน  เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังใช้อยู่ก็ต้องปฏิบัติกัน  แต่ควรรู้ไว้ว่ามันตลก

                สมัยก่อนเรื่อง “ตลก” แบบนี้ในรัฐธรรมนูญไม่มีครับ  ผมเห็นศาลเขาเป็นอิสระตามที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญคือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 มาตรา 58 บัญญัติไว้ว่า “การพิจารณาพิพากษาอรรถคดี ท่านว่าเป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะ” มีคำว่า “โดยเฉพาะ” นะครับ แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2521) ตัดคำว่า โดยเฉพาะออกเสีย  เหลือเพียง “การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาล” (มาตรา 169)

                การที่เอาโดยเฉพาะออกก็เพราะ แบ่งอำนาจของศาลไปให้กับรัฐสภาเสียบ้าง คือ เอาคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นศาลเสียบ้าง ความเป็นอิสระของศาลที่ผมเคยเห็นจึงถูกทำลายลงไปมาก”

                นี่คือสิ่งที่อาจารย์ประเสริฐ  ทรัพย์สุนทร  ได้เคยพูดไว้เมื่อครั้งที่ท่านยังมีชีวิตอยู่  แต่ถ้าหากท่านยังมีชีวิตอยู่และมาเห็นในขณะนี้ก็จะเห็นได้ว่าขณะนี้ “ตลกสุดขีด” คือ ตุลาการรัฐธรรมนูญ นั้น ปัจจุบันได้ยกฐานขึ้นเป็น “ศาล” จริง ๆ ไปแล้วเรียกว่า “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” คือนอกจากจะเอา “รัฐสภา” หรือ “ตุลาการรัฐธรรมนูญ” เป็นศาลแบบศาลจริง ๆ แล้วยังให้ศาลมีอำนาจไปเล่นงานพรรคการเมืองและนักการเมืองได้อีกด้วย  และรัฐธรรมนูญในปัจจุบันก็ยังได้แบ่งปัน อำนาจบริหาร ไปให้อำนาจตุลาการเสียบ้างอีกด้วย  โดยให้ ผู้พิพากษาทำหน้าที่เป็นผู้ออกหมายจับกุมโจรผู้ร้ายและก็ยังได้แบ่งปันอำนาจบริหารให้แก่รัฐสภาอีกด้วย  โดยในการทำสนธิสัญญาใด ๆ ระหว่างประเทศจะต้องขออนุญาตจากสภาเสียก่อน  เป็นต้น จึงเรียกว่า ตลกสุดขีด  โดยเริ่มจากรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา  โดยเฉพาะก็ยังมีพรรคการเมืองบางพรรค ไปหลอกประชาชนว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด  เพราะเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”

                ในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนนี้  วัตถุประสงค์ที่สำคัญก็คือ การปฏิรูปนักการเมือง  แต่เมื่อยกร่างจริงกลับมุ่งเน้นไปรื้อ  หมวดศาลยุติธรรมอย่างเอาเป็นเอาตาย  ทั้งที่ศาลยุติธรรมได้เป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน  ตลอดจนเป็นสถาบัน ที่คอยตรวจสอบ  และควบคุมการใช้อำนาจโดยมิชอบของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติตามหลักนิติธรรมมาด้วยดี  แม้ว่าบ้านเมืองของเราจะมีการปกครองแบบเผด็จการก็ตาม  รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้แยกศาลออกจากอำนาจตุลาการเป็นศาลรัฐธรรมนูญ  ศาลปกครอง และศาลทหาร  และหน่วยงานที่ทำหน้าที่ศาลอันได้แก่  คณะตุลาการแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  โดยศาลเหล่านี้ผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญได้อ้างถึงความเป็นอิสระของศาล  โดยอ้างว่าให้ศาลเหล่านี้เป็นอิสระจากศาลยุติธรรม โดยไม่เข้าใจหลักวิชาที่ว่า ความเป็นอิสระของศาลนั้น จุดที่จะเกิดประโยชน์แก่ประชาชนและเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้นั้น  อยู่ที่ ศาลต่าง ๆ ต้องอิสระจากอำนาจนิติบัญญัติกับอำนาจบริหาร  รวมทั้งอิสระจากอิทธิพลภายนอก  กระบวนการศาลยุติธรรม  ไม่ใช่ศาลต่าง ๆ ต้องอิสระจากศาลยุติธรรม  เพราะเป็นหลักวิชา หรือ หลักสากลที่ใช้ในนานาอารยะประเทศ

                พล.ต.อ.สล้าง  บุญนาค รอง อ.ตร. กล่าวถึงรัฐธรรมนูญที่กำลังยกร่างกันในการเสวนาเชิงวิชาการ  เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนุญว่า “ผู้ชี้นำในการร่างรัฐธรรมนูญมีอคติกับศาล  ข้าราชการศาลจึงเรียกร่างนี้ว่า “รัฐธรรมนูญฉบับรื้อศาล” ข้าราชการตำรวจเรียกว่า “รัฐธรรมนูญฉบับอัยการสูงสุดบ้าอำนาจ” และประชาชนเรียกว่า “รัฐธรรมนูญของพวกอกแตก” ตนเชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ต่อไปมีปัญหาแน่นอน”

                รัฐธรรมนุญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 255 ได้ยก “ตุลาการรัฐธรรมนูญ” ขึ้นเป็นศาลครั้งแรก  โดยเขียนว่า “ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วย ประธานศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่งและตุลาการศาลรัฐธรรมนุญอื่น อีก 14 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะของวุฒิสภา” หมายความว่าวุฒิสภาเป็นผู้แต่งตั้งศาลรัฐธรรมนุญนั่นเอง  ซึ่งผิดหลักวิชาการอย่างร้ายแรง  คือศาลรัฐธรรมนูญ นั้น รูปแบบ (FORM) เป็น ศาล แต่เนื้อหา (CONTENT) เป็น “อำนาจนิติบัญญัติ” ไม่ใช่ “อำนาจตุลาการ”

                ฉะนั้นเมื่อกล่าวในทางวิชาการแล้ว  ตุลาการรัฐธรรมนูญจึงไม่ใช่ศาลและสถานการณ์ที่เกิดวิกฤติศรัทธา  ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่เป็นอยู่ในขณะนี้  ก็ย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์อย่างเพียงพอแล้วว่า  การจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมานั้นผิดหลักวิชาการอย่างร้ายแรง  โดยเฉพาะประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว  ซึ่งตามหลักวิชาหมายถึงเป็นประเทศแบบ “รัฐเดียว” (UNITARY STATE) มีรัฐธรรมนูญฉบับเดียว  ไม่ใช่เป็นประเทศแบบหลายรัฐ (MULTI-STATE) ซึ่งแต่ละรัฐต่างก็มีรัฐธรรมนูญของตนเองและมีบทบัญญัติขัดแย้งกัน  แต่สำหรับประเทศไทยไม่จำเป็นต้องมีศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมาเหมือนกับประเทศหลายรัฐ  เพราะไม่มีปัญหารัฐธรรมนูญขัดกัน  โดยเฉพาะนอกจากไม่ใช่ศาลแล้วยังกลายเป็นเครื่องมือของผู้ปกครองในการทำลายคู่แข่งทางการเมือง  ทำลายกระบวนการยุติธรรมและยังทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณของชาติโดยใช่ที่  ชมรมประชาธิปไตยแห่งชาติจึงเห็นสมควรให้ยกเลิกเสีย

                อนึ่ง  ตามที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ  มีมติมอบหมายให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ  ทำการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่จ้องทำลายความเชื่อถือตุลาการ  และบ่อนทำลายกระบวนการยุติธรรมนั้น  ทางชมรมประชาธิปไตยแห่งชาติจึงขอเรียนชี้แจงว่า

                1)  ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้รับการแต่งตั้งมาจากวุฒิสภาตุลาการในศาลรัฐธรรมนูญ  จึงถือเป็น “อำนาจนิติบัญญัติ” ไม่ใช่ “อำนาจตลาการ” ที่แท้จริง  การทำลายความเชื่อถือของ “อำนาจนิติบัญญัติ” ที่ใช้อำนาจในทางศาลรัฐธรรมนูญนั้น  จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือตุลาการ

                2)  การที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  บัญญัติให้ศาลไม่เป็นอิสระจาก “อำนาจนิติบัญญัติ” โดยกำหนดให้ใช้ “อำนาจนิติบัญญัติ” ในทางศาลรัฐธรรมนูญ  จนศาลไม่อาจเป็นผู้ถือดุลในดุลของระบบรัฐสภาได้นั้น  จึงถือได้ว่าผู้ร่างบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนั้นเป็นการบ่อนทำลายกระบวนการยุติธรรม  ดังนั้นผู้ที่มีการกระทำอันเป็นความผิดในข้อหาบ่อนทำลายกระบวนการยุติธรรมก็คือ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นนั่นเอง........

 

 

Tags : ประชาธิปไตย Democrasy คนเสื้อแดง

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view