http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 08/05/2024
สถิติผู้เข้าชม14,066,903
Page Views16,379,250
« May 2024»
SMTWTFS
   1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

วิถีชีวิต:ประมงเรือเล็ก เกร็ดชีวิตคนหาปลา โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง/นิวัตร เปาอินทร์-ภาพ

วิถีชีวิต:ประมงเรือเล็ก เกร็ดชีวิตคนหาปลา  โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง/นิวัตร เปาอินทร์-ภาพ

วิถีชีวิต:ประมงเรือเล็ก เกร็ดชีวิตคนหาปลา 

โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง/นิวัตร เปาอินทร์-ภาพ

                ไปท่องเที่ยวจังหวัดตราด มีดีมากมายหลายอย่าง มีหาดทรายชายทะเลยาวเหยียดจนจรดประเทศกัมพูชา เม็ดทรายละเอียดสีขาวราวกับแป้งฝุ่น คลื่นลมไม่แรง ชายทะเลลงเล่นน้ำได้อย่างปลอดภัย ผลไม้มีให้เลือกกินได้ตามชอบ นั่งเล่นอยู่ชายทะเลมีวิถีชีวิตของประมงพื้นบ้านให้ชม อันเป็นการประมงเชิงอนุรักษ์เพื่อการทำกินอย่างยั่งยืน

                       

                                           ไพเราะ โพธิ์ทอง

           บนเส้นทางจากจังหวัดตราดไปยังบ้านหาดเล็กอันเป็นหมู่บ้านสุดท้ายปลายแหลมของประเทศไทย โดยมีเทือกเขาบรรทัดกั้นขวางระหว่างสองประเทศ จากเทือกเขาดังกล่าวก่อให้เกิดห้วย คลอง ที่นำน้ำจากฝนและป่าไม้ไหลลงสู่ทะเล ณ ปากห้วยหรือคลองเหล่านี้ทุกที่เป็นชุมชนคนชายคลองที่ประกอบอาชีพหลัก "ประมงเรือเล็ก" หรือ "ประมงพื้นบ้าน"

           ผมเป็นคนชอบซอกแซกนั่งรถผ่านไปก็อยากรู้อยากเห็นวิถีชีวิตของชาวบ้าน จอดรถยนต์แล้วก็เดินลงไปนั่งคุยเสียเลย จะได้รู้ถึงวิถีชีวิตของคนทำประมงเรือเล็ก ได้พบกับนางไพเราะ โพธิ์ทอง อายุ 33 ปี อยู่ที่บ้านเลขที่36/4 ม.3 บ้านห้วงโสม ตำบลไม้รูด อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด เธอเปิดบ้านเป็นร้านขายของชำและมีเรือประมงขนาดเล็กสีสันแพรวพราวจอดอยู่ริมคลองขุดที่หน้าบ้าน อุปกรณ์การประมงมากมายถูกวางทิ้งระเกะระกะ เป็นธรรมชาติของพื้นเพนี้

          นางไพเราะเล่าว่า ออกทำการในเรือประมงขนาดเล็กมาตั้งแต่เด็กๆ จำได้ว่ายังเรียนชั้นประถม 3 อายุ 9 ขวบ ไปกับพ่อ ทำจนโตเป็นสาว แต่งงานแล้วก็ยังไปออกเรือทุกค่ำและทุกเช้า อ๋อ ตอนเย็นย่ำสนธยานี่ชาวประมงเรือเล็กจะออกเรือไปลงทะเล เรือแต่ละลำจะประกอบกิจกรรมดังนี้คือ   

          ถ้าวันไหนมีคลื่นลม เรารู้กันว่ากุ้งแชบ้วยกับกุ้งอกคักจะออก ต้องรอจนกว่าคลื่นลมสงบจึงออกเรือ โดยเตรียมอวนกุ้งไปลง อวนกุ้งนี่ตาขนาด 4.2 ซม. ยาวราวๆ 50 เมตรต่อผืน ราวบนอวนแขวนด้วยทุ่นลอยน้ำ และตีนอวนแขวนด้วยตะกั่วถ่วง ปลายอวนสองข้างปักด้วยธงสีประจำของใครของมันอันเป็นสัญลักษณ์ของแต่ละคน ธงสีนี้ใช้ไม้ไผ่รวกขนาดเล็กยาวประมาณ 3-4 เมตร โคนธงหุ้มด้วยปูนซีเมนท์ให้หนัก ตรงช่วงกลางผูกอวน และปลายธงประดับด้วยสีประจำเรือ เวลาลงอวนตอนเย็น เก็บกู้ตอนเช้าตรู่ เมื่อก่อนนี้ออกไปลงอวนกุ้งครั้งหนึ่งๆได้ถึงกว่า 3,000 บาท แต่เดี๋ยวนี้ได้ 1,000-2,000 บาทก็เฮง

          บางวันจะลงอวนปู อวนปูขนาดตา 3.5X4 นิ้ว X50 เมตร มีทุ่นลอย ตะกั่วถ่วง ธงสี เหมือนอวนกุ้ง การลงอวนก็ตอนเย็นเก็บกู้ตอนเช้าเช่นกัน ปูที่ได้ส่วนใหญ่เป็นปูม้า การเก็บกู้ช่วงปูน้อยๆนี้จะลงอวนไว้ 2 วัน 2 คืน เดี๋ยวนี้ได้คราวละ 1,000 บาทก็ดีแล้ว ไม่รู้เหมือนกันว่าปูมันหายไปไหน ปูม้านี่ถ้าไม่ได้ขนาดก็ปล่อยลงทะเลไปก่อนทุกตัว เพื่อให้เขาเติบโตแล้วสืบพันธุ์มีลูกแล้วจะได้มีปูจับตลอดไป ไม่เหมือนอวนลากที่เก็บกวาดทุกขนาดไปเกลี้ยง

          ในช่วงหน้าแล้ง ส่วนใหญ่จะติดเบ็ดตกปลาอินทรีไปด้วย ลงอวนแล้วก็ตกปลาอินทรี วันหนึ่งๆอาจได้ปลาไปขายราว 2,000 บาทขึ้นไป ซึ่งก็เป็นอีกวิถีประมงหนึ่งของชาวประมงเรือเล็กค่ะ แต่บางคืนก็ออกเรือไปตกหมึก แต่ใช้หลอดไฟแค่ 2 หลอดเท่านั้น หมึกก็ลอยคอแล้ว ก็เอาเบ็ดตกขึ้นมา ส่วนใหญ่เป็นหมึกหลอด กิจกรรมนี้มีนักท่องเที่ยวมาว่าจ้างเรือออกไปตกหมึกจนเดี๋ยวนี้มีเรือรับจ้างไปตกปลาและตกหมึก ก็ได้ราคาคุ้มค่าที่ออกเรือ

           อ้อ มีอีกกิจกรรมหนึ่งที่ประมงเรือเล็กทำกันคือการวางลอบดักปู ซึ่งใช้เหยื่อปลาสดหั่นล่อในลอบ ปูที่เข้ามักจะเป็นปูม้า และปูดำ ปูทะเลไม่เข้า การวางลอบดักปูก็ทำในช่วงเวลาเดียวกับการวางอวนกุ้งอวนปู บ้านห้วงโสมมีอยู่กว่า 140 หลังคาเรือน ถ้า"น้ำหยุดเดิน" ก็จะหยุดการลงอวนปู กุ้ง ไปด้วย เรือจะจอดนิ่งอยู่ในคลองนี้ เพราะว่าออกไปก็ไม่คุ้มค่าน้ำมันที่แพงขึ้นทุกวัน

          อาหารการกินของชาวบ้านที่นี่ก็เหมือนๆกับที่อื่นๆ เช่นต้มยำ ต้มส้ม ทอดจิ้ม ปลาเค็ม น้ำพริก ลาบปลาก็ทำกินอยู่ แต่ก้อยปลาไม่รู้จักค่ะ(ปลาตัวเล็กๆเป็นๆดิ้นกระแด่วๆนำมาคลุกด้วยพริก เกลือ น้ำมะนาว ตะไคร้หั่นฝอย หอมแดงซอยละเอียด น้ำตาลนิดๆ แกล้มเหล้า-ธงชัย)  

          ไม่มีอะไรพิศดารเพียงแต่ที่นี่ได้ปลามาสดกว่าเนื้อก็หวานกว่า และปลอดสารแช่เพื่อชลอการเน่าฟอร์มารีน อะไรพวกนั้น ร้านอาหารทะเลไม่มีใครทำเลยค่ะ ทำแล้วก็ไม่รู้จะถูกปากคนกรุงเทพหรือเปล่า

    

           ฉันหยุดออกทะเลเมื่อท้องลูกคนแรก เดี๋ยวนี้อายุ 13 ขวบแล้ว นี่ก็ท้องอีกก็เลยไม่ได้ออกเรือ ให้แฟนไปคนเดียว ก็เหนื่อยหน่อย กว่าจะลง กว่าจะเก็บกู้ กว่าจะแกะกุ้งปลาออกจากอวน จริงๆแล้วต้องทำกันสองคน เพื่อให้คล่องตัวและรวดเร็ว  เรื่องลมพายุหรือ เรือล่มจมทะเลไปหลายลำเหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่จำกันได้ว่าล่มตรงไหน ก็ไปกู้คืน โธ่ เรือลำหนึ่งพร้อมอุปกรณ์ตกกว่าแสนบาทนะคะ เป็นทรัพย์สินที่มีค่ามากสำหรับชาวประมงพื้นบ้านเช่นฉัน

           สรุปรวมๆว่า ประมงเรือเล็กก็มีชีวิตอยู่รอดได้ ราคากุ้ง ปู ปลา และหมึก ตกกว่า 100-250 บาท/กิโลกรัม  ขึ้นอยู่กับดวงเฮงหรือไม่เฮงด้วยนะคะ  

           ถ้าบ้านห้วงโสมทำอาหารทะเลขายอยู่ริมคลองน้ำใสๆ อากาศสบายๆ สายลมโชยเชื่อยๆ ราคาไม่แพงเกินไป อาศัยความสดของวัสดุที่ใช้ ไม่ต้องสร้างร้านหรูก็รวยได้

           อยากให้นางไพเราะทำจัง จะกลับไปกินให้เอมอิ่มทีเดียว

  

 

Tags : ศิลปะ วัฒนธรรม วิถีชีวิต และความเชื่อ

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view