http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม14,004,719
Page Views16,313,648
« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

สิบสองปันนาหงส์ฟ้าพญามังกร ตอนที่ 8 รูปปั้นขงเบ้งที่เมืองซือเหมา โดยอึ้งเข่งสุง-เรื่อง//ภาพ-ธงชัย เปาอินทร์

สิบสองปันนาหงส์ฟ้าพญามังกร ตอนที่  8 รูปปั้นขงเบ้งที่เมืองซือเหมา โดยอึ้งเข่งสุง-เรื่อง//ภาพ-ธงชัย เปาอินทร์

สิบสองปันนาหงส์ฟ้าพญามังกร

ตอนที่  8 รูปปั้นขงเบ้งที่เมืองซือเหมา

โดยอึ้งเข่งสุง-เรื่อง//ภาพ-ธงชัย เปาอินทร์

                 วันนี้ รูปปั้นขงเบ้ง (Kongming) ตั้งตระหง่านอยู่กลางวงเวียนเมืองซือเหมา(Simao) ซึ่งได้รับการเปลี่ยนชื่อเมืองเป็นเมืองผูเอ่อร์ ด้วยเหตุผลสำคัญ 3 ประการคือ เคารพในประวัติศาสตร์ที่เชื่อมั่นว่าเมืองซือเหมาคือที่ตั้งที่แท้จริงของเมืองผูเอ่อร์(Pu er) เคารพความเชื่อมั่นของชนกลุ่มน้อยที่เรียกร้องให้เปลี่ยนชื่อตามความจริง และเคารพความเห็นของประชาชนทั่วไป แต่ไม่มีข้อกล่าวอ้างใดๆว่า ทำไม จึงมีอนุสาวรีย์ขงเบ้งประดิษฐาน ณ ที่ตรงนั้น 

 

แผนที่จากจิงหงส์-ผูเอ่อร์

            ถนนที่ใช้เดินทางจากเชียงรุ่ง(Jinghong)หรือสิบสองปันนา(Xishuangbanna)ไปยังเมืองผูเวิน เมืองซือเหมา และเมืองผูเอ่อร์นั้นเรียกว่า ถนน A-3 รวมระยะทางประมาณ 160 กม. สองฟากทางเป็นภูเขาสูงชันสลับซับซ้อนไปกับที่ราบลาดเนิน ซึ่งมีบ้านเรือนของประชาชนปลูกอยู่เป็นหมู่ๆ และมีที่ดินทำกินที่ส่วนใหญ่ปลูกกาแฟและชาผูเอ่อร์ อันเป็นสินค้าที่ขึ้นชื่อลือชาอย่างมากมายมาตั้งแต่อดีตกาล 

กาแฟปลูกกันมากพอๆกับชา

            ดังนั้นจะได้เห็นว่าในเขตเมืองผูเอ่อร์มีร้านขายใบชาผูเอ่อร์มากมายหลายร้าน ราคาขายว่ากันว่าแพงกว่าชาเขียวและชาแดงทั่วไป  ด้วยรสชาติของชาและคุณสมบัติพิเศษแตกต่างจากชาอื่นๆ ในร้านมักจะมีหิ้งตั้งใบชาผูเอ่อร์ และก็มีชุดน้ำชาตั้งอยู่บนชุดรับแขก มีการทดสอบดื่มชาเพื่อประกันคุณภาพ แสดงความพิเศษของชาให้ลูกค้าพึงพอใจ แล้วการซื้อขายจึงจะเกิดขึ้น

สวนชาผูเอ่อร์

            ในเมืองซือเหมายังมีร้านรวงที่เปิดขายของชำเล็กๆอยู่บ้าง ชาวเมืองยังขี่จักรยานสองล้อหรือเรียกกันว่ารถถีบ  ในขณะที่รถยนต์มีวิ่งอยู่ขวักไขว่ เมื่อรถทัวร์จอดเข้าที่แล้ว พวกเราชาวนักท่องเที่ยวก็เฮกันลงไปขอถ่ายรูปเพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึกกับอนุสาวรีย์ขงเบ้งกันเป็นทิวแถว ไม่เว้นแม้แต่คนแก่ๆอย่างผม ก็ยังอุตส่าขอให้เพื่อนถ่ายรูปไว้ให้ด้วย ทั้งนี้ก็ด้วยความโด่งดังของขงเบ้งที่ได้ยิน ได้อ่าน ได้เห็นจากสื่อสารพัดรูปแบบนั่นเอง

   

ขงเบ้งกับเข่งสุง

            อันเมืองซือเหมานี้ มีชื่อเสียงมากเรื่องชาผูเอ่อร์และเฟอร์นิเจอร์ไม้สน ส่วนจะเป็นไม้สนสี่ใบ หรือห้าใบ ก็ไม่ได้ซักถามให้ละเอียด เพราะว่าการสื่อสารค่อนข้างจำกัด (ประเทศจีนมีไม้สน สี่ใบและห้าใบ ส่วนประเทศไทยมีเพียงสนสองใบและสนสามใบเท่านั้น) และไหนๆก็ไหนๆแล้ว เมื่อมาถึงเมืองที่มีอนุสาวรีย์ขงเบ้งตระหง่านอยู่กลางเมืองก็เลยอยากจะเล่าเรื่องขงเบ้งให้ได้รู้กันสักนิดส่วนว่าทำไม จึงสร้างอนุสาวรีย์ขงเบ้งไว้ที่นั่น ไม่ทราบครับ ไกด์ก็ไม่ยักเล่าให้ฟังเลย

  

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

  

จูกัดเหลียงหรือขงเบ้ง

            ขงเบ้งมีชื่อเดิมว่าจูกัดเหลียงตามสำเนียงฮกเกี้ยน และเรียกว่าจูเก๋อเลี่ยงตามสำเนียงจีนกลาง เขาเกิดเมื่อพ.ศ.724 ที่อำเภอหยางตู เมืองหลังหยาง(ปัจจุบันนี้คือ อำเภอจูเฉิง มณฑลชานตง(ซานตง) บิดาชื่อจูเก่อกุ้ย ซึ่งเป็นขุนนางตงฉินของพระเจ้าเหี้ยนเต้แห่งราชวงศ์ฮั่น มารดาชื่อนางเจียงซือ(เจียงสี) ขงเบ้งมีพี่ชายหนึ่งคนชื่อ จูกัดกิ๋น ซึ่งต่อมากลับไปเป็นขุนนางของง่อก๊ก มีน้องชายหนึ่งคนชื่อ จูเก๋อจิ๋น แต่ข้อมูลบางแหล่งบอกว่ามีพี่สาวอีกหนึ่ง

             มีภรรยาชื่อนางอุยซี  มีลูกชายหนึ่งคนชื่อจูกัดเจี๋ยม   

   

หมวก-พัดขนนก-แพร องค์ประกอบการแต่งกายของขงเบ้ง

             ขงเบ้งอาภัพนัก เพียงอายุ 10 ปีบิดาก็เสียชีวิต ครั้นอายุ 12 ปีมารดาก็มาเสียชีวิตตามไปอีก ขงเบ้งและพี่น้องจึงต้องอยู่อาศัยในความดูแลของ "อา" ชื่อว่า จูกัดเหี้ยน ซึ่งดำรงตำแหน่งถึงผู้ว่าราชการจังหวัดยี่เจียง (ปัจจุบันคือหนานเชียง มณฑลเจียงซี) แต่ต่อมาจูกัดเหี้ยนกลับถูกออกจากราชการ จึงไม่สามารถดูแลหลานๆได้ พวกเขาถูกส่งไปอยู่กับ "เล่าเปียว" เล่าเปียวจึงส่งพวกเขาไปอยู่ที่เชิงเขา โงลังกั๋ง ตำบลหลงตง เมืองเซียงหยัง

ตึกรามใหญ่โต ดูอัครฐานไม่ใช่น้อย

            เขาเริ่มสนใจใฝ่ศึกษาตำราต่างๆเมื่ออายุ 17 ปี ซึ่งช่วงชีวิตนั้นเขาได้ไปรับใช้อยู่ที่บ้านเศรษฐีชื่อ บังเต็กกอ  เมืองเซียงหยัง ซึ่งบ้านนี้มีห้องสมุดใหญ่มาก มีหนังสือตำรับตำราทุกประเภท ขงเบ้งจึงได้อ่านหนังสือเหล่านั้นจนแม่นยำ ไม่เว้นแม้แต่ตำราพิชัยสงคราม ส่วนกรณีที่เหตุใด จูกัดเหลียง(ขงเบ้ง)จึงได้เข้าไปอยู่กับเศรษฐี บังเต็กกอ นั้นเพราะว่าพี่สาวของเขาได้เป็นฮูหยินรอง

            ตกลงขงเบ้งมีพี่น้อง 3 คน หรือว่า 4 คน กันแน่ๆ

            ต่อมาเขาได้กลับไปอยู่เขาโงลังกั๋ง ทำนา ทำสวน และได้ช่วยเหลือชาวบ้านจนเป็นที่รักใคร่ทั่วไป เขาอยู่ที่นี่อย่างเรียบง่าย ไม่มีความทะเยอทะยานใดๆ ทั้งๆที่เป็นผู้มีความรอบรู้ทุกเรื่องราว เช่นด้านดาราศาสตร์  โหราศาสตร์  วิทยาศาสตร์  วิศวกรรมศาสตร์ ฯลฯ เพียบพร้อมด้วยความสุขุมคัมภีรภาพและวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล เพื่อนๆที่ชอบเสวนากันเสมอคือ ชีซี(ตันฮก) สื่อกวงเหลียนเมิงกงเว่ย และซุยเป๋ง

   

ร้านขายชาผูเอ่อร์

            แต่แล้ว ราชวงศ์ฮั่นได้ล่มสลายลง เกิดความแตกแยกในแผ่นดินจนเป็น "สามก๊ก" อันได้แก่ ก๊กแรกคือ ง่อก๊ก มีพระเจ้าซุนกวนเป็นผู้ปกครองอยู่ อันเป็นดินแดนทางทิศตะวันออก ง่อก๊กมีพระมหากษัตริย์สืบบัลลังก์อยู่ 4 สมัยก็ล่มสลายลง(ระหว่างปีพ.ศ.765-823 รวมเวลา 58 ปี) ก๊กที่สองคือวุ่ยก๊ก มีโจโฉเป็นผู้เรืองอำนาจเหนือพระเจ้าเหี้ยนเต้ปกครองดินแดนทิศเหนือ จนถึงขั้นสถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์ สืบราชสันติวงศ์ได้ถึง 5 สมัย ก็ล่มสลายเช่นกัน (ระหว่างปีพ.ศ.763-808 รวมเวลา 45 ปี) ส่วนก๊กสุดท้ายคือ จ๊กก๊ก พระเจ้าเล่าปีผู้สืบเชื้อจากราชวงศ์ฮั่น ชื่อตงซานเชงอ๋อง ได้ปกครองดินแดนด้านทิศตะวันตก แต่สิ้นราชวงศ์เพียง 2 สมัย(ระหว่างปีพ.ศ.764-806 รวมเวลา 42 ปี)แค่นั้น   

    

ผู้คนที่เดินกันอยู่ในเมือง อากาศเย็นสบายๆ

            พระเจ้าเล่าปี่ได้รับการชี้แนะจาก "ชีซี" ให้มาเชิญ จูกัดเหลียง เพื่อไปเป็นเสนาธิการบัญชาการรบ พระเจ้าเล่าปีจึงเพียรพยายามมาขอพบถึง 3 ครั้ง จูกัดเหลียงจึงตกลงปลงใจไปช่วยกอบกู้แผ่นดินฮั่น ขณะนั้นเขามีอายุเพียง 26 ปี ชีวิตของเขาแปรเปลี่ยนไปในทันใด จูกัดเหลียงช่วงแรกๆที่เข้าไปสวามิภักดฺพระเจ้าเล่าปี่ก็ยังไม่ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจนัก ตราบจนได้สำแดงความปราศเปรื่องให้ปรากฎในศึกหลายครั้ง และเขาต้องบัญชาการรบรับใช้พระเจ้าเล่าปี่ 15 ปี และพระเจ้าเล่าเสี้ยนผู้ลูกอีก 12 ปี เขาตายที่ทุ่งอู่จงหยวน เมื่ออายุ 54 ปี ปีพ.ศ.777 จบชีวิตที่เป็นตำนาน ได้รับการขนานนามว่า ขงเบ้ง ด้วยความเคารพ และ มังกรซุ่มหรือหลับ

วัยรุ่นท้องถิ่นกับวันปลายๆจากต่างถิ่น 

            นี่คือประวัติโดยสังเขปจากวรรณกรรมอิงประวัติศาสตร์ที่มีตัวตนอยู่จริง เขียนขึ้นราวศตวรรษที่ 14 โดย หลอกว้านจง (Luo Guanzhong) สร้างเป็นภาพยนตร์หลายครั้งหลากหลายรูปแบบ แม้แต่เป็นการ์ตูน ภาพยนตร์และหนังสือ แต่สำหรับผมแล้ว ไม่เคยอ่านสามก๊กจบเลยสักครั้งเดียว แต่ถ้ามีใครอ่านได้ครบถึง 3 ครั้ง ว่ากันว่า คนผู้นั้นฉลาดรอบรู้จนคบไม่ได้ จริงเท็จเพียงใด อยากรู้ก็ต้องไปไล่ตามหาคนที่อ่านสามก๊กจบครบ 3 ครั้งให้ได้ก่อนก็แล้วกัน

ทีมงานของบริษัท แม่โขงแทรเวล อ.แม่สาย จ.เชียงราย

             เมืองผูเอ่อร์ แบ่งการปกครองออกเป็นดังนี้คือ 

             1.เขตซือเหมา(ผูเอ่อร์) เป็นเขตเมืองมีชนชาติจีน (ฮั่น) อยู่อาศัยกันมาก

             2.เขตปกครองตนเองของชนเผ่าต่างๆถึง 8 เขต ได้แก่ เขตชนชาติอี๋ อาข่า หนิงเอ่อ  เขตชนชาติอาข่า โม่เจียง  เขตชนชาติไต และอี๋ จิ๋งกู่  เขตชนชาติ อี๋ อาข่า ลาฮู เจิ้นหยาง  เขตชนชาติ อาข่า และอี๋ เจียงเฉิง  เขชนชาติ ไต ลาฮู และหว่า เมิ่งเหลียง  เขตชนชาติ ลาฮู หลายชัง(ล้านช้าง) และเขตชนชาติ หว่า ซีเหมิง 

             ส่วนอนุสาวรีย์ของขงเบ้งนั้น มีอยู่หลายแห่ง เช่นที่ศาลเจ้า จูกัดเหลียง เล่าปี่ กวนอู และเตียวหุย ที่เมืองเฉินตู มณฑลเสฉวน ความสำคัญอยู่ที่ในรัชสมัยของพระเจ้าคังซี แห่งราชวงศ์ชิง ได้ทรงโปรดให้มีการบูรณะศาลเจ้าดังกล่าวในปีที่ 11 จนงดงามน่าเคารพกราบไหว้ และนั่นคือการแสดงความเคารพบรรพบุรุษที่เรืองไกร

             ประเทศไทยของเราจะมีไหมหนอ ?   

Tags : ขงเบ้ง ซือเหมา สามก๊ก

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view