http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม13,992,344
Page Views16,300,557
« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

พระธาตุศรีสองรัก อ.ด่านซ้าย จ.เลย เป็นวัดหรือไม่ โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

พระธาตุศรีสองรัก อ.ด่านซ้าย จ.เลย เป็นวัดหรือไม่  โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

พระธาตุศรีสองรัก อ.ด่านซ้าย จ.เลย เป็นวัดหรือไม่ 

โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

           ตำนานพระธาตุศรีสองรักสับสน แต่คนเมืองเลยมิได้เพิกเฉย ยังมุ่งมั่นบูชาพระธาตุด้วยความเคารพและความเชื่ออย่างเหนียวแน่นตลอดมา แม้วันนี้มีคนเรียกกันว่าวัดพระธาตุศรีสองรัก แต่ก็มีกลุ่มที่เชื่อมั่นว่าไม่ใช่วัด หากแต่เป็นพุทธสถานของวงศ์ตระกูล เชื้อบุญมี วิวาทะที่เกิดขึ้นยังไม่มีวันจาง ทั้งๆที่ถึงอย่างไรก็มีประวัติสาสตร์ที่กล่าวถึงอย่างเป็นกลาง น่าจะเชื่อถือได้ หรือว่าไม่ได้?

 

พระธาตุศรีสองรัก อ.ด่านซ้าย จ.เลย

           ตามประวัติศาสตร์ที่กล่าวอ้างกันมาว่า เมื่อพระมหาจักรพรรดิ์ แห่งกรุงศรีอยุธยา ดำริที่จะสร้างสัมพันธไมตรีกับ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช แห่งกรุงศรีสัตนาคนหุต เวียงจันท์ เป็นราชธานี เพื่อร่วมกันปกป้องแผ่นดินของทั้งสองให้รอดปลอดภัยจากพระเจ้าตะเบงชะเวตี้และพระเจ้าบุเรงนอง แห่งกรุงหงสาวดีเป็นราชธานี จึงได้ส่งพระราชสารเชื่อมความสัมพันธ์ จนถึงขั้นตัดสินใจให้สร้างพระธาตุศรีสองรักขึ้นบนดินดอนระหว่างแม่น้ำอู้บรรจบกับแม่น้ำหมันในปีพ.ศ.2103 ตรงกับปีวอก โทศก จุลศักราช 922

 

           จนถึงปีพ.ศ.2106 ตรงกับปีกุล เบญจศก จุลศักราช 925 ในวันพุธ ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 6 จึงสร้างพระธาตุศรีสองรักเสร็จสิ้น เป็นเจดีย์ที่ก่อด้วยอิฐถือปูนมีฐานเป็นเหลี่ยมจัตุรัส ขนาดฐานย่อมุมไม้สิบสองกว้างด้านละประมาณ  8 เมตร  สูงประมาณ 32  เมตร อันเป็นส่วนขององค์เจดีย์ที่มีรูปทรงบัวเหลี่ยม เช่นเดียวกับพระธาตุพนม  พระธาตหลวงเวียงจันท์ และพระธาตุศรีศรีโคตรบูร

 

           เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ จึงได้มีการเฉลิมฉลองในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 อันเป็นวันเพ็ญเดือน 6  หน้าพระธาตุศรีสองรักมีวิหารขนาดย่อม ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์นาคปรก หน้าตักกว้าง 21 นิ้ว สูง 30 นิ้ว ส่วนนาคปรกนั้นสร้างด้วยศิลาสลัก มีรั้วรอบขอบสี่เหลี่ยมบนยอดเนินเขาลูกนี้ มีประตูเข้าออกได้ 4 ทิศทาง ก่ออิฐถือปูนเช่นเดียวกับองค์พระธาตุ

 

ลูกผึ้งลูกเทียนบูชาในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 6

           รอบๆวิหารปลูกต้นลั่นทมหรือจำปาลาว ดูจากลักษณะของลำต้นแล้วน่าจะมีอายุหลายร้อยปี  มีใบเสมาขนาดใหญ่ติดตั้งอยู่(เท่าที่เหลือ)ทางทิศเหนือของวิหาร สลักตัวอักษรธรรมแบบโบราณบอกเล่าเรื่องราวการสร้างพระธาตุศรีสองรัก  เครื่องบูชาพระธาตุได้แก่ ลูกผึ้งลูกเทียนเวียนหัว ซึ่งประดิษบ์จากโครงไม้ไผ่ขนาดความกว้าง 1 ฟุต ความยาว 1 ฟุต ตกแต่งด้วยหยวกแทงลาย และติดแปะประดับด้วยเทียนแผ่นเป็นดอกประดับ  พร้อมกับใช้เทียนยืดให้ยาวจนครอบหัวได้ 

 

พระธารตุศรีสองรักประดิษฐานอยู่หลังวิหาร

          ทุกๆปี วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6  จะนำลูกผึ้งลูกเทียนไปถวายองค์พระธาตุ โดยวางเรียงไว้รอบๆองคืพระธาตุดังในภาพ วัดพระธาตุศรีสองรักไม่มีพระภิกษุมาแต่โบราณกาล ซึ่งก็ไม่ทราบด้วยเหตุผล แต่ก็ดูประหนึ่งว่าเป็นวัด เป็นพุทธสถานอย่างแน่นอน หรือจะเป็นเยี่ยงวัดพระศรีสรรเพชรในพระบรมมหาราชวังสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี แต่ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางพุทธศาสนาสำหรับพระมหากษัตริย์

 

          แต่ที่พระธาตุศรีสองรักษ์นั้น มีปัญหาเกิดขึ้นอย่างยากที่จะแก้ไข ด้วยว่าวงวารว่านเครือของเจ้ากวน "เชื้อบุญมี" ได้อ้างสิทธิครอบครองวัดว่าไม่ใช่วัด โปรดอ่านรายละเอียดจากบทความของคุณไตรเทพ ไกรงู ทจากหน้าต่าง ท่องไปในแดนธรรม นสพ.คมชัดลึก ดังนี้คือ

  

         

                                     

ใบเสมาของวัดที่เหลืออยู่

 

ศิลาจารึกอักษรธรรม

 



ท่องไปในแดนธรรม : วัดพระธาตุศรีสองรัก

 

 

 

ทันทีที่ นายชวลิต พรหมรักษา ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอด่านซ้าย เดินทางเข้าพบนายสำเริง เชื้อชวลิต ผวจ.เลย ที่ศาลากลางจังหวัดเลย เพื่อยื่นเรื่องคัดค้านการให้พระมาจำวัดพระธาตุศรีสองรัก ตามมติของมหาเถรสมาคม โดยยื่นหนังสือคัดค้านพร้อมด้วยรายชื่อของชาวบ้านกว่า ๑๐,๐๐๐ หมื่นคน

โดยอ้างว่าพิธีกรรมที่เจ้าพ่อกวน หัวหน้าผู้ดูแลไม่ใช่คนทรงเจ้าเข้าผี แต่เป็นร่างทรงเท่านั้น เป็นประเพณีของชาว อ.ด่านซ้าย ที่ปฏิบัติสืบทอดกันมานาน มีมาก่อนที่พระธาตุศรีสองรักจะประกาศเป็นวัด ไม่เกี่ยวกับพิธีทางศาสนา ไม่มีโบสถ์ ไม่มีพระมาทำพิธีกรรม ไม่เคยมีผ้าป่า กฐิน จะมีแต่ธูปเทียนดอกไม้บูชา กับพิธีบวงสรวงเท่านั้น

แต่มีข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่กรมการศาสนา กรมศิลปากร สำนักงานพระพุทธศานาแห่งชาติ รวมทั้งพุทธศาสนิกชนทั้งประเทศควรจะได้รับรู้ว่า

วัดพระธาตุศรีสองรัก เป็นวัดและโบราณสถานซึ่งเป็นสมบัติของชาติ

ด้วยเหตุที่วัดและโบราณสถานแห่งนี้ตลอดทั้งปี มีพุทธศาสนิกชนเดินทางไป สักการะและทำบุญจำนวนมาก ส่งผลให้มีกลุ่มบุคคลพยายามที่จะแสดความเป็นเจ้าของ

วัดพระธาตุศรีสองรัก เป็นวัดที่ถูกต้องตามกฎหมายเพราะ ปรากฏชื่ออยู่ในทะเบียน วัดของฝ่ายศาสนสถานและควบคุมทะเบียนวัด ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติและดำเนินกิจกรรมตามพิธีทางศาสนาอยู่ตามปกติ

มีพระอุโบสถซึ่งประกอบพิธีกรรมบวชพระทุกปี แต่ละปีบวชกันเป็นจำนวนมาก มีพระประธานในพระอุโบสถ มีเจดีย์ศรีสองรักบรรจุวัตถุมงคล มีบันไดนาคขึ้นวัด มีกำแพงแก้ว มีศาลารายสำหรับพิธีทำบุญตักบาตรของพุทธศานิกชนทั้งหลาย และที่สำคัญ คือ มีใบเสมา

ในทะเบียนวัดพระธาตุศรีสองรัก ระบุลำดับที่วัด คือ ๑๕,๑๔๓ ตั้งอยู่บ้านหัวนายูง หมู่ที่ ๑๔ ต.ด่านซ้าย อ.ด่านซ้าย จ.เลย เป็นวัดมหานิกาย ประเภทวัดคือ วัดราษฎร์ วันเดือนปี ที่ตั้งวัด พ.ศ. ๒๑๐๓ วันเดือนปี ที่ได้รับวิสุงคามสีมา พ.ศ. ๒๑๐๙

ส่วนทะเบียนวัดของคณะสงฆ์จังหวัดเลย ระบุวันเดือนปี ตั้งวัด พระธาตุศรีสองรัก คือ วันที่ ๒๐ พ.ค. ๒๑๐๖ ได้รับวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๑๙ พ.ค. ๒๑๐๘ วันเดือนปี อาจไม่ตรงกันซึ่งก็แก้ไขได้

นอกจากนี้แล้ววัดพระธาตุศรีสองรัก ยังปรากฏอยู่ในประวัติวัด ทั่วราชอาณาจักร เล่มที่ ๑๑ ของกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ผู้รับผิดชอบดำเนินการ คือ

๑.นายสมพงศ์ รัชโน ผู้อำนวยการกองพุทธสถาน ๒. น.ส.มาลีพรรณ อาจสาลี หัวหน้าฝ่ายศาสนสถาน ๓.น.ส.ชูชื่น ศิริมาศ หัวหน้างานทะเบียนประวัติวัด

ประวัติวัดพระธาตุศรีสองรัก ปรากฏอยู่ในหน้า ๗๖ ความว่า วัดพระธาตุศรีสองรัก ตั้งอยู่เลขที่ ๘๖ บ้านหัวนายูง หมู่ที่ ๑๔ ต.ด่านซ้าย อ.ด่านซ้าย จ.เลย สังกัดคณะสงฆ์ มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๑๐๘ ไร่ ๓ งาน ๑๑ ตารางวา อาณาเขต ทิศเหนือประมาณ ๔๐๐ เมตร จดแม่น้ำอู้ ทิศใต้ประมาณ ๔๐๐ เมตร จดถนนหลวงสายด่านซ้าย-นครไทย ทิศตะวันออกประมาณ ๕๐๐ เมตร จดถนนสายด่านซ้าย-หล่มสัก

ทิศตะวันตกประมาณ ๕๐๐ เมตร จดทางสาธารณประโยชน์ อาคารเสนาสนะประกอบด้วย อุโบสถ อาคารกว้าง ๘ เมตร ยาว ๑๐ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๑๐๖ ศาลาการเปรียญ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๒ นอกจากนี้มีหอระฆังและศาลาราย ปูชนียวัตถุมีพระประธานพระพุทธรูปนาคปรก ๗ เศียร และพระธาตุศรีสองรัก เป็นเจดีย์รูปสี่เหลี่ยมที่ชาวบ้านนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์

วัดพระธาตุศรีสองรัก ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. ๒๑๐๓ ชาวบ้าน เรียกว่าวัดธาตุ เป็นวัดที่มีพระธาตุเจดีย์ ซึ่งพระมหากษัตริย์ ๒ เมือง คือ จากกรุงศรีอโยธยา และกรุงศรีสัตนาคนหุต สร้างเจดีย์เพื่อเป็นสักขีพยานว่า กษัตริย์สองเมืองนี้ จะไม่รบราฆ่าฟันกันตลอดไป และเมืองทั้งสองจะเป็นมิตรสหายตลอดกาล

วัดนี้ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. ๒๑๐๙ เขตวิสุงคามสีมากว้าง ๕๐ เมตร ยาว ๑๐๐ เมตร การบริหาร และการปกครอง มีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนามคือ รูปที่ ๑ พระทองปาน รูปที่ ๒ พระเป๊าะ รูปที่ ๓ พระเจิม รูปที่ ๔ พระนิกร วิมโล รูปที่ ๕ พระสนั่น รักษาการ

พระธาตุศรีสองรัก เป็นโบราณสถานที่กรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ ได้ขึ้นทะเบียนไว้อย่างถูกต้อง แต่เป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดพระธาตุศรีสองรัก

"บันทึกการเดิทางในลาว ภาคหนึ่ง พ.ศ. ๒๔๓๔" แปลโดย ทองสมุทร โดเร และสมหมาย เปรมจิตต์ เป็นงานแปลมาจากหนังสือเรื่อง "VOYAGE DANS LE LAOS,TOMW PREMIER" (๓๔๑ หน้า) ซึ่งเป็นผลงานสำรวจหาศิลาจารึกของคณะสำรวจเมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว ถือว่าเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ยืนยันว่า วัดพระธาตุศรีสองรักเป็นวัด

โดยได้บันทึกไว้ว่า (บทที่ ๑๓ หน้าที่ ๒๑๑๑) "วันจันทร์ที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๘ (ค.ศ. ๑๘๙๕) พวกเขาได้ไปภาคใต้ห้างจากเมือง ๒ ไมล์ ไปศึกษาและพิมพ์เอาศิลาจารึกที่วัดธาตุ ซึ่งมีคนบอกให้ทราบจากเชียงคาน และการเดินทางไปธาตุนั้น ต้องเสียเวลาอ้อมไปทางทิศใต้ เพราะวัดธาตุตั้งอยู่บนเขาสูง ๒๐ เมตร เรียกว่า ภูทอก (Phou Thok) ซึ่งเป็นอนุสาวรีย์เก่าพอสมควร มีกำแพงก่อด้วยอิฐล้อมรอบ ยาวประมาณ ๕๐ เมตร กว้าง ๔๐ เมตร มีวิหารซึ่งฝาผนังก่อด้วยอิฐ มีสภาพทรุดโทรม แต่ได้รับการบูรณะซ่อมแซม และมีเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์ ฐานกว้าง ๔ เมตร สูง ๑๕.๒๐ เมตร ไม่มีพระภิกษุในวัด จึงกลายเป็นสถานที่ให้คนมาฉลองงานปีใหม่ในเดือนเจ็ด"

นอกจากนี้แล้ว หนังสือเรื่อง "ประวัติปถมกาลองค์เจดีย์สรีสองรัก" เขียนโดย ดอกบัวทอง ซึ่งเป็นนามแฝงของนายสงเคราะห์ กาญจนธโกมล พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๖ เขียนไว้ในหน้า ๒๓-๒๖ ระบุว่า "ได้พบกระดูกข้อนิ้วก้อยของพระพุทธเจ้า" (น่าจะเป็นปัจเจกพระพุทธเจ้า หรืออนุพระพุทธเจ้า) ในอูปมุงดินใต้ต้นรังสองต้น แล้วจึงสร้างเจดีย์ศรีสองรัก ซึ่งสอดคล้องกับคำบูชาพระธาตุศรีสองรักที่มีคำกล่าวว่า

"นะคะโลเก เทวะโลเก ชมพูทิเป ตาวะติงเส ชินนะธาตุโย อรหันตานะมามิ" แปลว่า "ขอนอบน้อมนมัสการ พระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นใหญ่ใน นาคโลก เทวโลก มนุษยโลก และเทวดาชั้นดาวดึง"

ส่วนการบริหารวัดพระธาตุศรีสองรัก ตามเอกสารหลักฐาน ที่ปรากฏพบว่า นอกจากมีเจ้าอาวาส ๕ รูป ตามที่ปรากฏชื่อ ในทะเบียนประวัติทั่วราชอาณาจักรแล้ว ก็มี พระพระครูสุมนวุฒิกร เจ้าคณะอำเภอด่านซ้าย รักษาการ เจ้าอาวาส เมื่อพระครูสุมนวุฒิกร มรณภาพ ได้มีการตั้งเจ้าคณะอำเภอรูปใหม่ คือ พระครูสิริวิชัยธัช เพื่อให้การบริหารงานวัดพระธาตุศรีสองรักเป็นไปโดยต่อเนื่องทางคณะสงฆ์ก็ได้เสนอให้แต่งตั้ง พระครูสิริวิชัยธัช เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส สืบต่อมา

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเลย ได้ยื่นขอเอกสารสิทธิที่ดินวัดพระธาตุศรีสองรัก ทั้งนี้เจ้าหน้าที่จากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่ออกมาสำรวจ เมื่อวันที่ ๑๐-๑๑ พ.ค. ๒๕๔๗ พบว่า วัดพระธาตุศรีสองรัก ยังไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดิน และพบว่าที่ดินบริเวณวัดพระธาตุศรีสองรักถูกบุกรุก มีเอกชนและส่วนราชการไปออกเอกสารสิทธิทับที่ดินดังกล่าว

จากที่ดินที่ปรากฏในทะเบียนประวัติวัด จำนวน ๑๐๘ ไร่ ๓ งาน ๑๑ ตารางวา จะเหลืออยู่ประมาณ ๔๐ ไร่ ผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดพระธาตุศรีสองรัก คือ พระครูสิริวิชัยธัช จึงมอบอำนาจให้ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเลยไปยื่นออกเอกสารสิทธิในที่ดินดังกล่าว เมื่อวันที่ ๙ มิ.ย. ๒๕๔๗ ขณะนี้อยู่การดำเนินการตรวจสอบของเจ้าพนักงานที่ดิน

ข้อมูลเหล่านี้น่าจะเพียงพอสำหรับกรมการศาสนา กรมศิลปากร และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เข้าไปดูแลผลประโยชน์ของวัดพระธาตุศรีสองรัก เพื่อนำเงินทำบุญไปบำรุงศาสนา หรือนำเข้าเป็นรายได้ของแผ่นดิน ไม่ใช่ปล่อยให้กลุ่มบุคคลเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์อย่างที่เป็นอยู่

เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู

 

 
   
   
   

สถานที่ตั้ง

ตั้งอยู่เลขที่ ๘๖ บ้านหัวนายูง หมู่ที่ ๑๔ ต.ด่านซ้าย อ.ด่านซ้าย จ.เลย

Tags : ท่องแดนแผ่นดินธรรม วัดคีรีวิหาร สวดมนต์เย็นที่วัดห้วยคันแหลน

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view