http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม13,960,615
Page Views16,266,951
« March 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31      
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

หลวงพระบางตอน6. ร่องรอยอดีตที่เหลืออยู่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติลาว ณ หลวงพระบาง โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

หลวงพระบางตอน6. ร่องรอยอดีตที่เหลืออยู่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติลาว ณ หลวงพระบาง โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

หลวงพระบางตอน6.

ร่องรอยอดีตที่เหลืออยู่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ณ หลวงพระบาง

โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

               อ้างอิงจากพงศาวดารล้านช้าง ขุนบรมหรือพีล่อโก๊ะ ปกครองเมืองหนองแส ได้โปรดให้ราชโอรสทั้ง 7 พระองค์ไปปกครองเมืองต่างๆ ดังนี้คือ ให้ขุนลอ หรือโก๊ะล่อฝง ราชบุตรองค์โตไปปกครองดินแดนที่แม่น้ำโขงและแม่น้ำคานไหลมาบรรจบกันชื่อว่าเมืองชวา หรือเมืองซวา หรือเมืองซัว อันเป็นเขตปกครองของขอม ขุนลอได้ผลักดันชาวขอมออกไปจนพ้นดินแดน และต่อมาได้ตั้งราชธานีของอาณาจักรล้านช้างขึ้นที่นี้ เปลี่ยนแปลงชื่อเมืองเป็น เมืองเชียงทอง      ราวๆปีพ.ศ.1300  

               ส่วนน้องของขุนลอทั้ง 6 องค์ ก็ได้ไปปกครองดินแดนต่างๆดังนี้คือ ท้าวผาส้านปกครองเมืองหอแตร หรือต้าหอ หรือสิบสองปันนา ท้าวจุลง ปกครองเมืองโกดแท้แผนปม หรือเวียตนามในปัจจุบันนี้  ท้าวคำผงปกครองเมืองเชียงใหม่ ท้าวอิน ปกครองเมืองลานเพียศรีอยุธยาหรือละโว้  ท้าวกม ปกครองเมืองมอน หรือเมืองอินทรปัต หรือหงสาวดี และท้าวเจือง ปกครองเมืองพวน หรือเมืองเชียงขวาง           

 

           ต่อมาขุนลอได้ปกครองอาณาจักรล้านช้างแทนพระราชบิดา แต่ฝ่ายจีนไม่ยอมรับสถานะของขุนลอ จึงเกิดศึกกันขึ้น  สู้กันอยู่หลายปี ในที่สุดจีนพ่ายแพ้เสียทีแก่ขุนลอ ขุนลอได้เมืองเพิ่มมาถึง 32 หัวเมือง ขุนลอปกครองแบบศูนย์รวมอำนาจทำให้เกิดเอกภาพมีความเป็นปึกแผ่นมากขึ้น หลังจากนั้นอาณาจักรล้านช้างก็ได้ปกครองโดยกษัตริย์อีกหลายรัชกาลเช่น ขุนอิโมชิน ฮินหลง ขุนอินหลี ขุนฟ้าเย่า ขุนเอี้ยว ขุนชุนฟ้า ฯลฯ

พระราชวังชั้นเดียวยกพื้นสูงศิลปะฝรั่งเศสผสมล้านช้าง

           อีก 631 ปีต่อมา ปีพ.ศ.1814 เมืองชวาเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองเชียงทอง โดยพระยาลังธิราช สถาปนาตนเองเป็นกษัตริย์ปกครอง ปีพ.ศ.1859 พระยาสุวรรณคำผง หรือเจ้าฟ้าหลวงโง่ม ขยายอาณาเขตออกไปครอบคลุมเชียงรุ่ง เชียงแสน เวียงจันทน์ หนองหานหลวง ฯลฯ     ต่อมา พ.ศ.1887 ขุนผีฟ้าขึ้นปกครอง 4 ปีแล้วถูกพระเจ้าคำเฮียวผู้น้องขึ้นปกครองแทน ส่วนขุนผีฟ้าหนีไปอยู่ในอาณาจักรขอม

ช้างสามเศียรบนหน้าบันเป็นตราสัญญลักษณ์ของราชวงศ์

           ปีพ.ศ.1892 เจ้าฟ้างุ่มหรือเจ้าฟ้างุ้ม ราชบุตรองค์โตของขุนผีฟ้าได้เป็นราชบุตรเขย(สมรสกับพระนางแก้งเก็งยาหรือแก้วกัลยา) ของพระเจ้าพระเจ้าชัยวรรมาธิปรเมศวร(กษัตริย์ขอมองค์สุดท้าย) เพื่อเป็นการส่งเสริมแก่ราชบุตรเขยจึงได้เคลื่อนทัพ 20,000 คนจากนครธม เข้ายึดเมืองเชียงรุ่ง เชียงขวาง เมืองแถง ฯลฯ      ปีพ.ศ.1896 เจ้าฟ้างุ่ม เดินทัพมาตามลำน้ำอู ผ่านเมืองงอย เข้าตั้งมั่นยังเมืองปากอู ได้เกิดการสู้รบกับพระเจ้าอา เจ้าฟ้าคำเฮียว ซึ่งเป็นกษัตริย์ปกครองเมืองเชียงทอง (เมืองชวาเดิม) เมื่อสู้ไม่ได้ก็ได้ปลงพระชนย์ตนเอง ข้าราชบริพารจึงเชิญเจ้าฟ้างุ่มขึ้นปกครองเมืองเชียงทอง

           ในนาม "สมเด็จเจ้าฟ้างุ่มแหล่งหล้าธรณี ศรีสัตตนาคนหุต"

           

นักท่องเที่ยวเข้ามาชม

             ระหว่างปีพ.ศ.1897-1900 เจ้าฟ้างุ่มเคลื่อนทัพไปทั่วแว่นแคว้นเพื่อขยายอาณาเขตไปถึงล้านนา เมืองยู้ เมืองยอง เชียงแข็ง เวียงจันทน์ เวียงคำ หนองหาน โคราช ตลอดจนหัวเมืองต่างๆที่อยู่ในภูมิภาคอีสานของไทยในปัจจุบันนี้ เป็นอาณาจักรลาวโคตบูรณ์และล้านช้างได้สำเร็จ แต่ได้มีพระราชสาร์นถึงพระเจ้าอู่ทองขอเจริญสัมพันธไมตรีต่อกัน พระองค์เป็นมหาราชอีกพระองค์หนึ่งที่ชาวลาวให้ความเคารพนับถือมาก

เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา

           เรื่องราวร่องรอยอดีตของเมืองเชียงทองยังดำเนินไปตามวิถีแห่งเมืองที่แก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน  จนกระทั่งถึงปีพ.ศ.2063-2090 พระเจ้าโพธิสารราช ปกครองเมืองเชียงทองอย่างสงบสุข พระองค์มีราชโอรสชื่อพระไชยเชษฐาธิราช อยู่กับฝ่ายมารดาซึ่งเป็นเชื้อสายแห่งราชวงค์ล้านนา และเมื่ออาณาจักรล้านนาเกิดว่างเว้นพระมหากษัตริย์ปกครอง จึงได้อัญเชิญพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชขึ้นครองราชย์ เพื่อถ่วงดุลย์อำนาจระหว่าง หงสาวดีกับล้านช้าง

ปราสาทเฟื้องอยู่บนหลังคาชั้นกลางลดหลั่นสี่ชั้น

           ต่อมาปีพ.ศ.2090 พระเจ้าโพธิสารราชสวรรคต(ครองราชย์ปีพ.ศ.2063-2090) พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช จึงต้องเสด็จกลับอาณาจักรล้านช้าง เพื่อมาปกครองเมืองเชียงทอง พระองค์ได้อัญเชิญ "พระแก้วมรกต" จากนครเชียงใหม่กลับมายังเมืองเชียงทองด้วย พระเจ้าไชยเชษบาธิราชทรงครองราชย์ระหว่างปีพ.ศ.2091-2114 ได้ดำริที่จะย้ายพระนครหลวงไปยังเวียงจันทน์     ในปีพ.ศ.2103 เพื่อหลีกเลี่ยงอำนาจบารมีของพระเจ้าบุเรงนองแห่งอาณาจักรพม่า

           พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชทรงย้ายราชธานีไปยังเวียงจันทน์ เรียกว่า "กรุงจันทรบุรีศรีสัตตตนาคนหุตอุดมราชธานีล้านช้างร่มขาว" หรือกรุงเวียงจันทน์ในกาลต่อมา และทรงเปลี่ยนชื่อเมืองเชียงทองเป็น "หลวงพระบาง" พระองค์เป็นกษัตริย์ที่ได้รับความเคารพมากที่สุด  

            จนกระทั่งปีพ.ศ.2249 อาณาจักรล้านช้างได้แตกออกเป็น 2 อาณาจักรคือ อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ 

            และในปีพ.ศ. 2256 อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ ได้ประกาศแยกตัวออกเป็นอีกประเทศหนึ่ง  ลาวแตกเป็นสามก๊กไปโดยปริยาย

            ต่อมาลาวก็ยังคงแตกแยกจากการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แม้ว่ารัตนโกสินทร์ และหงสาวดี จะไม่ได้เข้าไปมีอิทธิพลเหนือแผ่นดินแล้วก็ตาม ต่อมาเมื่อฝรั่งเศสเข้าครอบงำ ประเทศลาวก็ยังแตกออกเป็นฝักเป็นฝ่าย จึงตกอยู่ในปกครองของฝรั่งเศสที่บังคับเอาจากประเทศสยาม

            ปีพ.ศ.2518 ขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติลาวสามารถเข้ายึดครองได้ ราชวงศ์ลาวที่เคยทะเลาะเบาะแว้งกันเสมอๆ ก็ได้อันตรธานหายไปจากประเทศในระบอบการปกครองใหม่ สิ้นสุดยุคสมัยที่มีพระเจ้ามหาชีวิตปกครองตลอดกาล 

            ร่องรอยที่เหลืออยู่ในหลวงพระบาง อดีตนครรัฐที่เคยยิ่งใหญ่มาอย่างยาวนานนั้นเหลือเพียงอดีตพระราชวังหรือหอคำ เป็นศิลปะฝรั่งเศสผสมล้านช้าง เริ่มสร้างในสมัยพระเจ้าสักกะริน ปีพ.ศ.2447  วันนี้ได้กลายเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหลวงพระบาง โรงละครที่เคยเป็นที่ทรงพระสำราญของพระมหากษัตริย์  และวัดที่ปราศจากพระสงฆ์ในพระบรมราชวัง

             หอคำหรือพระราชวังของเจ้ามหาชีวิต ทรงฝรั่งเศสผสมนั้นเป็นอาคารยกพื้นสูงชั้นเดียว โดดเดี่ยวเดียวดายอยู่ในดงตาล ดูแล้วเศร้าใจพิลึกครับ

            ตัวหอคำแบ่งออกเป็นห้องฟังธรรม ห้องพิธีการ ห้องพระ ห้องเข้าเฝ้า ห้องโถงพระโรงใหญ่ ห้องรวบรวมวัสดุมีค่าจากการบูรณะปฏิสังขรณ์  พระธาตุหมากโม   วัดวิชุนราช    เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องเพชร เครื่องทอง ลาวเรียกทองคำว่า คำ แต่เรียกทองเหลืองหรือทองสัมฤทธิ์ว่า ทองคำ ห้องจัดเลี้ยง ห้องเสวย ห้องพระมเหสีคำผุยซึ่งเป็นชาวหลวงพระบางที่ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้ามหาชีวิตสว่างวัฒนา

                                

            มีอยู่ห้องหนึ่งล้อมกรอบด้วยลูกกรงเหล็กดูแน่นหนา เป็นที่ประดิษฐาน "พระบาง" อันเป็นพระศิลปะลังกา ปางประทานอภัยทั้งสองพระหัตย์ หรือปางห้ามสมุทร เป็นพระยืนหนัก 54 กก. เป็นทองคำแท้ 90 % มิน่าเล่า ถึงได้ประดิษฐานอยู่ในห้องกรงเหล็กอย่างแน่นหนา  ส่วนพระองค์อื่นๆก็เป็นพระสลักจากศิลา

             ปีพ.ศ.2518 ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบอบสาธารณรัฐประธิปไตยลาว พระราชวังจึงกลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์ตราบเท่าทุกวันนี้ 

            ส่วนอุโบสถที่เห็นอยู่ในภาพนั้น เป็นศิลปะล้านช้างผสมผสานกับล้านนาอย่างยากจะแยกกันออกได้ หลังคาชั้นกลางลดหลั่นสี่ชั้น หลังคาชั้นหน้าลดหลั่นสามชั้น และหลังคาชั้นหน้าสุดลดหลั่นเพียงสองชั้น มีปราสาทเฟื้องอยู่บนหลังคาชั้นกลางที่ลดหลั่นสี่ชั้น ช่อฟ้างดงามคล้ายศิลปะล้านนาหรืออยุธยา บานประตูสลักลวดลายสวยงาม ภายในมีธรรมมาศเทศธรรมคู่ ตกแต่งด้วยลายสลักทาสีทอง รูปลักษณ์เหมือนกับศิลปะล้านนาหรืออยุธยาเช่นกัน

            พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหลวงพระบางตั้งอยู่ริมถนนศรีสว่างวงศ์ ตรงข้ามกับวัดพระธาตุภูสี เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันจันทร์-วันเสาร์ เวล่า 8.00-13.30 น. และเวลา 13.30-16.00 น. ค่าเข้าชม 30,000 กีบ(120 บาท) ค่าธรรมเนียม 5,000 กีบ(20 บาท)

            เมื่อเข้าไปชมแล้วก็ได้แต่สะท้อนใจว่า อันชีวิตของคนเรานั้นช่างไม่แน่นอน วันหนึ่งทรงเป็นเจ้ามหาชีวิต แต่อีกวันหนึ่งเมื่อโลกเปลี่ยนไป ทรงเป็นเพียงอดีตที่ยังจดจำกันได้เท่านั้น แต่จะฟื้นอดีตเจ้ามหาชีวิตกลับคืนมาไม่ได้อีกแล้ว 

             ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน  เป็นอุทาหรณ์สอนใจให้จดจำไว้              

Tags : หลวงพระบาง ลาว

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view