http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม14,003,361
Page Views16,312,212
« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

พิธีสาร R3 ดันส่งออกผลไม้ไทยสดใส โดยภาวิณีย์ เจริญยิ่ง เรื่อง-ภาพ

พิธีสาร R3 ดันส่งออกผลไม้ไทยสดใส  โดยภาวิณีย์ เจริญยิ่ง เรื่อง-ภาพ

ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

srangbun@hotmail.com

                                 พิธีสาร R3 ดันส่งออกผลไม้ไทยสดใส

                                   คนจีนชอบเล็งขยายเส้นทางอื่น

                 ในชีวิตประจำวันของคนไทยทุกวันนี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเราๆท่านๆต้องบริโภคอุปโภคสินค้าที่มาจากประเทศจีนไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะที่เห็นกันจนชินตาก็คือผักผลไม้จากแดนมังกร ขณะที่ผลไม้ไทยก็ส่งไปขายที่นั่นเช่นกัน

                 เดิมนั้นประเทศไทยส่งออกผลไม้ไปจีนโดยทางเรือ โดยบรรจุผลไม้ในตู้คอนเทนเนอร์จากโรงคัดบรรจุเช่นที่ จันทบุรี  ชุมพร และเชียงใหม่ แล้วลากไปส่งออกที่ท่าเรือแหลมฉบังหรือท่าเรือ คลองเตย ใช้เวลา 5-7 วันที่จะขนไปขึ้นท่าเรือกวางโจว และเข้าไปตลาดขายส่งผลไม้เจียงหนาน เมืองกวางโจวและผลไม้จะถูกกระจายไป  อีกเส้นทางหนึ่งคือการขนส่งทางอากาศจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

                  ส่วนการขนส่งทางบกมีการส่งออกผลไม้จากบ้านเราไปประเทศลาว และส่งต่อไปยังจีน โดยเป็นการค้าชายแดนคือ สินค้าต้องมีการถ่ายลำเปลี่ยนยานพาหนะขนส่งที่ลาว แล้วถึงจะขนสินค้าข้ามแดนเข้าจีนได้  ทำให้ผลไม้เสียหายง่ายและเสียเวลาในการขนถ่ายสินค้า

000ไทย-จีนได้ประโยชน์จากพิธีสาร

                  กระทั่งเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ร่วมลงนามในพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สามระหว่างประเทศไทยและจีน(พิธีสารเส้นทาง R3) กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงควบคุมคุณภาพและตรวจสอบกักกันโรคแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ( AQSIQ) ในวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา และในทางปฏิบัติได้เริมดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2554 ทำให้ไทยสามารถส่งออกผลไม้ไปจีนที่ด่านโมห่าน ซึ่งเป็นด่านนำเข้าของประเทศจีนทางมณฑลยูนาน โดยใช้เวลาไปเมืองคุนหมิง 3 วัน ระยะทาง 700 กิโลเมตร และไปถึงเมืองกวางโจว 4-5 วัน ระยะทาง 2100 กิโลเมตร

                  พิธีสารดังกล่าวส่งผลให้ไทยและจีนส่งออกและนำเข้าผลไม้ได้ตามที่กำหนด  เป็นการร่นระยะเวลาในการขนส่งให้เร็วขึ้น เพราะสามารถใช้ตู้คอนเทนเนอร์จากเมืองไทยเข้าลาวไปยังจีนได้เลย โดยไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายยานพาหนะ ทำให้ผลไม้มีความสดใหม่มีคุณภาพ ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ทางกรมวิชาการเกษตรได้นำผู้สื่อข่าวไปเยี่ยมชมระบบการขนส่งทางบกจากท่าเรือเชียงแสนผ่านประเทศลาว เข้าด่านโมห่านของจีน ผ่านไปยังสิบสองปันนา ไปถึงคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลยูนนาน และกระจายไปยังเมืองต่างๆ

000ผลไม้ไทยเข้าจีนได้23ชนิด

                    คุณอรทัย เอื้อตระกูล นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ กรมวิชาการเกษตร อธิบายว่า ผลไม้ของไทยที่จีนอนุญาตให้นำเข้า จำนวน 23 ชนิด ได้แก่ กล้วย เงาะ ละมุด สละ มะขาม ส้มเขียวหวาน สับปะรด มะม่วง ทุเรียน มะละกอ เสาวรส มังคุด ชมพู่ มะเฟือง ส้มโอ ส้ม มะพร้าว น้อยหน่า ฝรั่ง ขนุน ลองกอง ลำไย และลิ้นจี่ ส่วนผลไม้ที่จีนส่งเข้ามาจำหน่ายในไทย 19 ชนิด อาทิแอปเปิ้ล สาลี่ ลูกพลับ องุ่น และทับทิม ฯลฯ นับว่าไทยได้เปรียบการส่งออกผลไม้มากกว่าจีน

                   คุณอรทัยเล่าว่า การส่งออกผลไม้ไปจีนมี 2 เส้นทางคือเส้นทาง R9 และเส้นทาง R3  ในส่วนเส้นทาง R9  ไทยทำพิธีสารตั้งแต่ปี 2552 เริ่มตั้งแต่ด่านมุกดาหาร ผ่านลาว เข้าจีนที่ด่านผิงเสียง  เขตปกครองพิเศษมณฑลกวางสี ซึ่งจากกวางสีจะไปกวางโจวไม่ไกล ปกติสินค้าที่ส่งออกหรือนำเข้าทางทะเลจะเข้าทางโน้นสะดวกกว่า ใช้เวลา 5 – 6 วัน แต่ถ้าเป็นเส้นทางบกเส้นทาง R9 จะใกล้กว่า ใช้เวลา 3 วัน

                    ปัจจุบันมีการส่งออกตามระบบสากลมากขึ้นหลังจากที่ได้มีการทำพิธีสาร  ไทยสามารถนำตู้คอนเทนเนอร์มาที่ชายแดนจีนได้เลย หลังจากที่เจ้าหน้าที่เปิดตรวจแล้วก็สามารถกระจายไปได้ทั่วประเทศจีน โดยตลาดหลักอยู่ที่กวางโจว ซึ่งผลไม้ที่นำเข้าทั้งของไทยและจีนต้องผ่านการตรวจและมีใบรับรองสุขอนามัยพืช (Phytosanitary certificate ) กำกับไปด้วยและต้องมี การ seal ตู้

                    วันที่คณะผู้สื่อข่าวไปนั้น เริ่มดูกระบวนการตั้งแต่ตู้คอนเทนเนอร์อยู่ที่ด่านเชียงแสน เมื่อผ่านกรรมวิธีการตรวจจากศุลกากรเสร็จแล้วก็เข้ามายังฝั่งลาวที่ด่านบ่อเต็น มุ่งตรงไปที่ด่านโมห่านของจีน ซึ่งจุดนั้นก็มีด่านตรวจ พอโชว์เอกสารการนำเข้าเรียบร้อยแล้วก็สามารถนำตู้ผลไม้เข้าเมืองจีนได้เลย

                   ใครที่เคยไปเส้นทาง R3นี้แล้ว จะรู้ว่าค่อนข้างสะดวก เป็นเส้นทางลาดยางอย่างดี โดยเฉพาะถนนจากด่านโมห่านไปยังเมืองเชียงรุ่ง สิบสองปันนานั้น เรียกว่าไม่มีส่วนไหนเป็นหลุมเป็นบ่อเหมือนถนนบ้านเราสักนิด หลายคนตื่นตาตื่นใจกับการลอดอุโมงค์ลูกแล้วลูกเล่า

                  พอมาถึงเมืองเชียงรุ่ง หรือที่คนไทยคุ้นในชื่อเชียงรุ้ง คณะได้ไปดูการค้าขายผลไม้ไทยที่ตลาด เห็นผลไม้ไทยหลายชนิดไม่ว่าจะเป็นเงาะ มังคุดและทุเรียน ซึ่งเป็นที่นิยมของคนจีน

000ขนส่งทางเรือค่าใช้จ่ายสูง

                    คุณอรทัยบอกว่า สาเหตุหนึ่งที่ผู้ส่งออกไทยต้องการใฃ้เส้นทางสายนี้เนื่องจากว่าถ้าส่งออกทางเรือจะมีการแย่งตู้กัน ปกติในหน้าผลไม้ตู้คอนเทนเนอร์ที่ส่งออกทางแหลมฉบังไปกวางโจวเสียค่าใช้จ่าย 1,000 เหรียญสหรัฐ  แต่บางวันราคาจะขึ้นไปเป็น 3,000 เหรียญ และอาจจะจองตู้ได้บ้างไม่ได้บ้าง  ดังนั้นเส้นทางบกจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง แต่ทั้งนี้ระบบโลจิสติกส์จะต้องดีกว่านี้ ซึ่งจะทำให้การส่งออกสะดวกมากขึ้น

                   ปัจจุบันสินค้าที่ใช้เส้นทางไปด่านผิงเสียงมีไม่มากนัก เนื่องจากว่าเมื่อส่งออกไปเวียดนามแล้วเวียดนามไปค้าต่ออีกต่อหนึ่ง นอกจากนี้บางจุดทางจีนยังอนุญาตให้มีการค้าชายแดนระหว่างเวียดนามและจีนโดยไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งจะมีข้อเสียคือมีพ่อค้าคนกลางเพิ่มขึ้น แต่ข้อดีคือเป็นการเปิดช่องทางนำเข้า และเส้นทางนี้ค่อนข้างดีเพราะจีนได้ตัดถนนเพิ่มอีกหลายเส้นทาง ซึ่งสามารถไปทางจีนตะวันตกได้ เข่นไป เฉินตู ไปซีอาน

                   อย่างไรก็ตามผู้ส่งออกก็ต้องเปรียบเทียบว่าเส้นทางไหนเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า และสินค้าสามารถไปได้โดยที่ยังมีคุณภาพที่ดีอยู่

Oooเล็งทำพิธีสารเส้นทางสายอื่น

                   ทั้งนี้หลังจากทำพิธีสารเปิดเส้นทาง R3 เสร็จแล้ว ฝ่ายไทยจะประเมินร่วมกับจีนว่าเส้นทางนี้มีความพร้อมแค่ไหน ควรจะเปิดอีกหรือไม่ โดยจีนต้องการให้ไทยเปิดเส้นทางน้ำโดยออกจากท่าเรือเชียงแสนแล้วไปขึ้นที่ท่าเรือกวนเหล่ย ซึ่งกำลังปรับปรุงขยายใหญ่ขึ้นเพื่อให้สามารถรับสินค้าทางน้ำได้ถึง 300,000 ตันต่อปี จะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ ขณะที่ไทยกำลังสร้างท่าเรือแห่งที่ 2 ของเชียงแสนอยู่  แต่ข้อจำกัดคือเรือที่วิ่งในแม่น้ำโขงจะใช้ได้ก็ต่อเมื่อหน้าน้ำเท่านั้น

                    ปัจจุบันสินค้าที่ขนจากเมืองไทยไปยังด่านบ่อเต็นยังต้องใช้แพอยู่ เมื่อการสร้างสะพานที่เชียงของเสร็จในสิ้นปีหน้า รถก็สามารถวิ่งข้ามสะพานได้เลย

  ในส่วนของผลไม้นำเข้านั้น ใช่แต่จะมีเมืองไทยเท่านั้นที่ส่งไป ยังมีประเทศอื่นๆส่งไปด้วย อย่างเช่นพม่าส่งมะม่วงปากนก ประเด็นนี้คุณอรทัยแจกแจงว่า

                   “ผลไม้จากเมืองไทยไปจีนจะไม่เหมือนกับผลไม้จากประเทศอื่นเพราะเราเป็นผลไม้เมืองร้อนซึ่งไม่มีประเทศไหนส่งเข้า อินโดนีเซียก็มีมังคุดนิดหน่อย ทุเรียนเขาก็ไม่มีคุณภาพ  มาเลเซียที่ทำสัญญาว่าจะส่งทุเรียนให้ 300,000 ตัน คุณภาพก็ไม่ได้ ซึ่งผิดกับของเรา ผลไม้ที่ส่งไปจีนอย่างที่กวางโจว มีทั้งจากอเมริกาและอีกหลายประเทศที่เป็นผลไม้เมืองหนาวซึ่งจีนเองก็สามารถผลิตได้  แต่ของเราไม่ใช่โดยเฉพาะลำไยจีน ถ้าเราสามารถปรับปรุงเรื่องการขนส่งและสามารถเจาะตลาด เราคงสามารถป้อนผลไม้ให้จีนเท่าไรก็คงไม่พอ”

                    สำหรับราคาผลไม้ในปีนี้ คุณอรทัยบอกว่า ค่อนข้างแพง โดยในต้นฤดูมังคุดจากจันทบุรีส่งออกให้จีนเกือบทั้งหมด รับซื้อกิโลละ 100 กว่าบาท  บางวันลดลงมาเหลือ 90 กว่าบาท

                    ที่ผ่านมาการส่งผลไม้ไทยไปจีน ไม่มีปัญหาอะไร  เช่น ลำไยอบแห้งทางจีนก็ยอมให้มีกำมะถันตกค้างในเปลือกได้ตามที่กำหนด ซึ่งหน่วยงานที่ตรวจเกี่ยวกับสารตกค้างของไทยขึ้นอยู่กับกระทรวงสาธารณสุข ในขณะที่ทางจีนตั้งเป็นกระทรวงควบคุมคุณภาพและตรวจสอบ เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่โดยเฉพาะ

000คนจีนชอบผลไม้ไทยแม้จะแพง

                      คุณอรทัยย้ำให้เห็นว่า การทำพิธีสารระหว่างไทยกับจีนเป็นผลดีต่อเกษตรกรในเรื่องของผลไม้ เพราะปัจจุบันคนจีนมีกำลังซื้อสูงขึ้น  โดยเฉพาะผลไม้จากต่างประเทศที่ไม่มีในเมืองเขาก็ยิ่งอยากกิน  อย่างที่ศูนย์สมุนไพรในสิบสองปันนา จะระบุว่าทุเรียนก็เป็นยา มังคุดก็เป็นยา แต่ต้องกินให้ถูกวิธี ซึ่งหากทางการจีนโฆษณามากเท่าไรก็น่าจะดีกับประเทศไทยเพราะมีประชากรถึงพันกว่าล้าน

                      ในวันที่คณะผู้สื่อข่าวไปดูการซื้อขายผลไม้ที่ตลาดขายส่งในคุนหมิงนั้น เห็นผลไม้ไทยเต็มไปหมด และอยู่ในสภาพสดมากไม่ว่าจะเป็นเงาะ ทุเรียน มังคุด ส้มโอ มะขาม ผลไม้จากประเทศอื่นก็มีอย่างเช่นมะม่วงปากนกจากพม่า หรือองุ่นจากสหรัฐอเมริกา

                      จากการสอบถามพ่อค้าจีนที่นำเข้าผลไม้ไทยระบุว่า คนจีนชอบผลไม้ไทยมาก เพราะแม้ผลไม้บางอย่างจะนำเข้าจากหลายประเทศอย่างเช่น มะม่วงแต่ก็สู้มะม่วงของไทยไม่ได้ ทั้งในเรื่องรสชาติและการบรรจุหีบห่อ และแม้ราคาจะแพงกว่าแต่คนจีนก็ชอบซื้อ

000ผลไม้จีนส่งมาทำอบแห้งในไทย

                      นอกจากผลไม้ไทยจะเป็นที่นิยมของคนจีนแล้ว นักวิชาการเกษตรท่านนี้ยังมองว่า ผู้ส่งออกที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการแปรรูปสินค้าการเกษตรของไทยก็มีอนาคต เพราะมีการผลิตส่งออกจำนวนมาก อย่างเช่น ทุเรียนอบกรอบ หรือกีวี โดยทางจีนจะส่งกีวีสดแล้วไปทำอบแห้งที่เมืองไทยจากนั้นส่งกลับมาขายที่เมืองจีน  ขนุนก็เหมือนกัน คนจีนชอบกินขนุน  โดยไทยส่งออกทั้งสดและอบแห้งมาที่เมืองจีน เนื่องจากผู้ประกอบการไทยเชี่ยวชาญเรื่องการทำอบแห้ง มีการพัฒนาไปไกลมาก ทำให้ผลไม้อบแห้งของไทยมีชื่อเสียงมาก และส่งออกไปขายในหลายประเทศ

                     ฟังอย่างนี้ก็ชื่นใจแทนเกษตรกรบ้านเรา ซึ่งถ้าตลาดเมืองจีนต้อนรับดี อนาคตผลไม้ไทยย่อมสดใสแน่นอน และยิ่งมีเส้นทางการขนส่งที่สะดวกรวดเร็วแบบนี้ คนจีนในฐานะลุกค้ารายใหญ่ก็ยิ่งได้รับประทานผลไม้ที่สดและใหม่

 

 

 

Tags : นานา..อาชีพ..น่ารู้

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view