http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 08/05/2024
สถิติผู้เข้าชม14,068,175
Page Views16,380,711
« May 2024»
SMTWTFS
   1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

ในคมขวาน5.อัปสรา เสด็จมาอยู่บ้านระแงง โดยสาวภูไท เรื่อง-ภาพ

ในคมขวาน5.อัปสรา เสด็จมาอยู่บ้านระแงง โดยสาวภูไท เรื่อง-ภาพ

ในคมขวาน ๕

อัปสรา เสด็จมาอยู่บ้านระแงง

“สาวภูไท”

                 อัปสรา หรือ อัปสร หมายถึงนางฟ้า  แต่ในความหมายนี้ไม่ใช่นางฟ้าอย่างที่เป็นแม่ทูนหัวของนางซินเดอเรลล่าในนิทานปรัมปราของฝรั่ง  หากนางอัปราที่พูดถึงนี้สถิตอยู่ ณ ประตูปราสาทหินบ้านระแงง หรือที่รู้จักกันในปัจจุบัน คือ ปราสาทหินศีขรภูมิ  อำเภอศีขรภูมิ  จังหวัดสุรินทร์

        นางอัปสรา(อับ-ปะ-สะ-รา)สององค์นี้เป็นภาพสลักหินทรายสีนวลฝีมือประณีตแบบชั้นครูของเมืองพระนคร  นางดูอ่อนช้อยละมุนละไม  ใบหน้านั้นดูคล้ายจะยิ้มอยู่น้อย ๆ ด้วยความสุขที่ได้ยืนต้อนรับใคร ๆ ที่จะก้าวย่างเข้าสู่ปราสาทหินศีขรภูมิที่นางทั้งสองสถิตอยู่ชั่วกาลนานเป็นพันปีแล้ว หากนับตามอายุของปราสาทที่สร้างในราวปีพ.ศ. ๑๕๕๐-๑๗๐๐(ศิลปะขอมแบบปาปวนผสมกับแบบเมืองพระนคร)

            เป็นที่ทราบกันดีว่า   ดินแดนแห่งที่ราบสูงโคราชมีผู้คนอาศัยสืบเนื่องอยู่มายาวนาน   และครั้งหนึ่งเคยมีราชอาณาจักรเจนละ   แผ่ขยายอิทธิพลครอบคลุมลุ่มน้ำมูลและน้ำโขงก่อนสมัยเมืองพระนคร  ซึ่งมีหลักฐานเป็นโบราณสถาน โบราณวัตถุมากมายสืบเนื่องจนถึงยุคสมัยเมืองพระนครรุ่งเรืองที่ยังเหลืออยู่เป็นร่องรอยแห่งอารยะธรรมให้เห็นถึงปัจจุบัน ดินแดนแห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นถิ่นของชาวเขมรสูง  คู่กับเขมรต่ำทางอีกฟากฝั่งหนึ่งของเทือกเขาพนมดงรักอันเป็นที่ตั้งแห่งเมืองพระนครที่ยิ่งใหญ่

            นางอัปสรารูปสลักจากหินทรายมีดาษดื่นที่นครวัด  ว่ากันว่ามีที่นครวัดมีผู้นับได้ถึง ๑,๖๐๐ กว่านาง  แต่กลับมีไม่มากนักในแถบเขมรสูง  โดยเฉพาะลักษณะสวยงามสมบูรณ์ ประทับยืนอยู่หน้าประตูปราสาทอย่างนี้คงมีแต่ที่ปราสาทศีขรภูมิแห่งเดียว

            ปราสาทศีขรภูมิ  เป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดูไศวนิกายที่นับถือพระศิวะเป็นเทพสูงสุด  สร้างด้วยอิฐ หินทราย  และศิลาแลง ประกอบด้วยปรางค์(ปราสาท)ก่อด้วยอิฐ ๕ องค์ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้าง ๒๕ เมตร โดยมีปรางค์ประธานอยู่ตรงกลาง  และปรางค์บริวารล้อมรอบทั้งสี่ทิศ  เสา  กรอบประตู  และทับหลังทำด้วยหินทรายสลักลวดลายสวยงามโดยเฉพาะทับหลังขององค์ประธานเป็นรูปสลักศิวนาฏราชบนแท่นที่มีหงส์แบก ๓ ตัว เหนือเกียรติมุข  นางอัปสราทั้งสองยืนถือดอกบัวอยู่สองข้างประตูใต้ลงมานี่เอง

        กำเนิดนางอัปสรานั้นมีในคัมภีร์ปุราณะยุคมหากาพย์ของอินเดีย  กล่าวถึงเทวดากับอสูรได้ตกลงร่วมแรงร่วมใจและร่วมมือกันสร้างน้ำอมฤตขึ้นมาโดยทำพิธี “กวนเกษียรสมุทร” มีพระนารายณ์เป็นผู้ควบคุมการประกอบพิธีดังกล่าว

            น้ำอมฤตที่ได้จากพิธีนี้ใครได้ดื่มแล้วจะเป็นอมตะ  ไม่รู้จักตาย ดังนั้นทั้งเทพ และอสูรจึงสามัคคีกันทำพิธีเป็นอันดี หวังว่าจะกลายเป็นอมตะกันทั้งหมด  กรรมวิธีนี้ต้องใช้พญานาควาสุกรี(เป็นนาคห้าเศียร)มารัดพันภูเขาพระสุเมรุ  โดยใช้ลำตัวพญานาครัดพันไว้  ส่วนด้านหัวกับหางที่ทอดยาวออกไปให้เทวดากับอสูรยืนอยู่คนละด้านดึงกันไปกันมาหมุนแกนเขาพระสุเมรุซึ่งกลายเป็นดั่งไม้คนอยู่กลางมหาสมุทรให้น้ำวนไปวนมา กว่าจะกลายเป็นน้ำอมฤตก็คงจะเหนื่อยไปตาม ๆ กันละ ทั้งผู้หมุนและผู้เป็นไม้คน  แต่ก็คุ้มที่ได้น้ำทิพย์มาดื่มให้เป็นอมตะ 

            เสียดายฝ่ายเทวดาเล่นไม่ซื่อ   เมื่อเสร็จพิธีได้น้ำทิพย์ดั่งตั้งใจกันแล้วเทวดากลับให้เล่ห์ความฉลาดดื่มน้ำทิพย์แต่ฝ่ายเดียว  ไม่ยอมแบ่งอสูร  บรรดาเทพเทวดาทั้งหลายจึงเป็นอมตะกัน  และเมื่อเกิดทะเลาะกันกับเหล่าอสูร  ก็สามารถขับไล่อสูรลงจากสรวงสวรรค์ โธ่...เทวดา

            ในระหว่างพิธี ที่เขาพระสุเมรกวนน้ำเป็นวังวนนั้นก็เกิดฟองคลื่นก่อตัวเป็นริ้ว ๆ พลิ้วขึ้นมาเป็นร่างนางอัปสราแสนสวยผุดพรายขึ้นมา นับเป็นผลพลอยได้ที่มหัศจรรย์  และอัปสราองค์แรกเลยก็คือ พระนางลักษมี ผู้ซึ่งได้เป็นพระชายาของพระนารายณ์ในกาลต่อมานั่นเอง

            และอัปสราทั้งหลายก็คล้ายเป็นของขวัญของเหล่าเทพ  หามีใจให้อสูรใด ๆ ไม่ อัปสราในศิลปะขอมนั้นหากนางไม่ยืนอย่างสองนางที่ปราสาทบ้านระแงงนี้ก็มีอีกแบบเป็นลักษณะที่กำลังเคลื่อนไหว  อยู่ในท่าร่ายรำ หรือไม่ก็เหาะเหินเดินอากาศ เธอจะสวยงามเย้ายวนอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับจินตนาการของช่างผู้บรรจงสลักเสลาเธอขึ้นมาด้วยความภาคเพียรละ  เป็นความงามที่เกิดจากศรัทธาและจินตนาการแห่งยุคสมัย

            หลายร้อยปีแล้วที่นางอัปสราคู่หนึ่งยืนอยู่หน้าประตูปราสาทบ้านระแงงแห่งนี้  หลายร้อยปี หรือเป็นพันปีที่ใบหน้าจากจินตนาการของผู้สรรสร้างยังคงอมยิ้มเอียงไปคนละข้างราวกับจะเชื้อเชิญและอวยชัยให้ผู้ที่จะผ่านเข้าสู่ประตูปราสาทด้วยคารวะ

            ครั้งหนึ่งประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๓ ปราสาทศีขรภูมิเคยถูกปรับเปลี่ยนเป็นวัดทางพระพุทธศาสนา(มีหลักฐานเป็นจารึกอักษรธรรม)  แต่ปัจจุบันกรมศิลปากรได้บูรณะฟื้นฟูและขึ้นทะเบียนเบียนเป็นโบราณสถานให้เป็นที่ภาคภูมิใจของท้องถิ่นเขมรสูงอีกแห่งหนึ่งในจำนวนมากมายที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน

            หากเดินทางผ่านแถบนั้นอย่าลืมแวะเยือนนะคะ  อำเภอศีขรภูมิเป็นเมืองที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของจังหวัดสุรินทร์  หากไปทางรถไฟก็ลงที่สถานีศีขรภูมิซึ่งไม่ไกลจากตัวปราสาทนัก ถามใคร ๆ ก็รู้จักกันทั้งนั้น  หากไปทางรถยนต์ก็จะอยู่บนเส้นทางสายสุรินทร์-ศีรสะเกษ

            นางอัปสราแห่งบ้านระแงงยังยืนอยู่คอยผู้คนมาเยือนยลค่ะ

๐๐๐๐๐

           

           

 

Tags : ในคมขวาน4

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view