Full Version ต้นแบบเกษตรอินทรีย์..ที่จันทบุรี โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

เว็บไซต์ ทองไทยแลนด์ ดอทคอม > Article

ต้นแบบเกษตรอินทรีย์..ที่จันทบุรี โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ Date : 2010-10-01 14:00:25

 

                                             ต้นแบบเกษตรอินทรีย์..ที่จันทบุรี                   

                                                                                                โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

 

                 ได้รับอีเมลล์เชิญสื่อมวลชนสัญจรจากผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์เขต 7 จันทบุรี คุณเอนก เกตุเอม ให้เดินทางไปชมต้นแบบเกษตรอินทรีที่จันทบุรี ระหว่างวันที่ 13-15 กันยายน 2553 ดีใจครับ และได้ร่วมเดินทางไปอย่างเต็มใจ ด้วยความหวังว่าจะได้ "ต้นแบบเกษตรอินทรี" มาเผยแพร่ให้กับเพื่อนๆที่เข้ามาชมเว็บไซท์ ทองไทยแลนด์ เผื่อว่าใครใคร่ไปชมเพื่อการเรียนรู้ หรือไปเพราะว่าอยากกินผลไม้ที่ปลอดสารพิษกันจะจะ ให้ถึงสวนเลย ชัวร์ หมื่นเปอร์เซ็นต์

                  

                                                       ตามธรรมเนียมปฏิบัติ ถ่ายรูปหมู่เป็นหลักฐาน

               เมื่อถึงจังหวัดจันทบุรี ได้เข้าพบและรับฟังการบรรยายสรุปจากรองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นายพงศธร สัจจชลพันธ์   ท่านได้กรุณาเล่าให้ฟังว่า  จันทบุรีมีพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงในการผลิตสินค้าเกษตร อันเนื่องมาจากลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ทรัพยากรมนุษย์อันเป็นชาวสวนจันท์ ที่รู้จริงทำจริง  ผลผลิตด้านการเกษตรของจันทบุรีจึงส่งขายทั้งภายในและส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ ดังนี้คือ

                   

                                             นายพงศธร สัจจชลพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี

                ปีพ.ศ.2552 ปริมาณผลผลิตผลไม้จากจันทบุรี ได้แก่ ทุเรียน 217,194 ตัน  มังคุด 76,716 ตัน  เงาะ  148,633 ตัน  เป็นผลไม้เกรดA 20% ส่งไปขายตลาดต่างประเทศ ส่วนผลไม้เกรด B-C 80 % ขายภายในประเทศ  แต่ในจำนวนนี้ 10% ส่งไปขายชายแดนกัมพูชา โดยสรุปแล้วพบว่า รายได้เข้าจันทบุรีปีพ.ศ.2552 ถึง 8,087.92 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินมหาศาล คนจันทบุรีเขารวยเงียบครับ  และนโยบายจันทบุรีที่เน้นย้ำและส่งเสริมคือ อยากให้จันทบุรีเป็นศูนย์กลางการค้าผลไม้ปลอดสารพิษ

                   

                                           คุณศิวพร ให้สัมภาษณ์สดๆกลางสวน

                หลังจากนั้น คณะสำนักประชาสัมพันธ์เขต 7 ได้นำพาไปชมสวนกานต์ธิดา ตำบลคลองพลู อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี ซึ่งได้พบกับคุณ ศิวพร  เอืยมจิตสกุล  เล่าว่า พื้นเพเดิมเป็นคนกรุงเทพ  แต่เป็นคนแพ้อาหารที่เจอปนสารเคมีมาก สุขภาพทรุดโทรมลงไปจนทนไม่ไหว ตัดสินใจทิ้งชีวิตเมืองกรุงมุ่งสู่ป่าเขาลำเนาไพร มาได้ที่สวนจันทบุรีเมื่อปีพ.ศ.2532 ซื้อไว้ 30 ไร่เศษๆ ปลูกผลไม้ต่างๆ แต่ก็ยังใช้สารเคมีอยู่

                                                           ตอบข้อซักถามมากมายหลายเรื่อง

                ปีพ.ศ.2543  ได้เข้าอบรมเทคนิคเกษตรกรรมธรรมชาติ คิวเซ รุ่นที่ 193 เมื่อกลับจากฝึกอบรมจึงเริ่มต้นทำการผลิตปุ๋ยใช้เอง ไม่ซื้อปุ๋ยเคมีแล้ว แต่ใช้วัสดุจากเปลือกเงาะ ฯลฯ  ปล่อยให้เงาะซึ่งเป็นผลไม้หลักอยู่อย่างธรรมชาติ ตัดหญ้าด้วยวัวที่ปล่อยให้กินหญ้าในสวน  จำเป็นจริงๆจึงจะตัดหญ้าที่รกเรื้อมากๆออกบ้าง  ในสวนเงาะที่เคยเป็นผลไม้เชิงเดี่ยวก็เริ่มปลูกผสมผสานกันไปหลายๆชนิด มีทั้งผลไม้ยืนต้น พืชอายุสั้น  เลี้ยงหมูและวัวเพื่ออาศัยมูลมาผสมปุ๋ย 

                ปีพ.ศ.2550  ได้รางวัล Organic Thailand และได้ต่อเนื่องมาทุกปีจนถึงปัจจุบันนี้ มีนักศึกษา  ชาวสวนทั่วไปเข้ามาศึกษาและดูงานมาก  แต่ก็ยินดีให้ความรู้เพื่อช่วยกันสร้างระบบการเกษตรอินทรีย์ให้เข้มแข้งยิ่งขึ้น เรื่องการอิงธรรมชาติไม่ง่ายอย่างที่คิด ต้องใช้ความอดทนมาก มากขนาดว่า อาจต้องสูญเสียรายได้ที่เคยได้ไปในช่วงแรกๆ 

                                                             น้ำหมักอินทรีย์

                แต่เหมือนฟ้าบันดาล เหมือนพระเจ้ามีตา 

               ในปีพ.ศ. 2549-2550 ได้ทดลองนำสินค้าแบรนด์ปลอดสารพิษทั้งสดและน้ำเชื่อม ไปวางขายที่ โรงเรียนทางเลือกชื่อว่า โรงเรียนรุ่งอรุณ และโรงเรียนปัญโญทัย ต่อมาปีพ.ศ.2550 ขายให้กับเลมมอนด์ฟาร์ม

                แต่แล้วในปีพ.ศ.2552 จังหวัดจันทบุรีเปิดแนวรบผลไม้อินทรีย์เต็มรูปแบบ จึงได้พบกับผู้บริโภครายใหญ่ๆจากกรุงเทพฯ ทุกวันนี้ส่งขายให้กับ The Mall Group และCentral ราคาขายส่งก็แพงหน่อย อาหารสุขภาพค่ะ     

                             ลองกองหวานปลอดสารพิษ                                                แก้วมังกรลูกสวย

                ปีพ.ศ.2553 ผลผลิตได้ขายในราคาดี สวนดำรงอยู่ได้ แต่มาได้รางวัลเกษตรกรอินทรีดีเด่น ได้กำลังใจเพิ่มขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง ด้วยมาตรการด้านกายภาพที่สวนกานต์ธิดามีห้วยธรรมชาติกั้นจากสวนอื่นๆ ช่วยให้ปลอดสารเคมีมากขึ้น  ด้านสังคมก็ช่วยเผยแพร่ความรู้สู่สังคมชาวสวนอย่างเต็มที่  ด้านเอกสารที่เห็นเป็นรูปธรรมกว่าปกติของชีวิตชาวสวนทั่วไปนิดๆ

                      

                                                 นายสมโภชน์ สิทธิเวช  นายอำเภอเขาคิชฌกูฏ  ช่วยชี้แจง 

                ว่าแล้วคุณศิวพรก็นำขบวนสื่อมวลชนไปชมยังเล้าหมูหลุม ต้นหน่อแดงปลูกผสมในสวนเงาะ  ต้นมะไฟสลับกับทุเรียน เดินไปก็ตกใจได้เห็นกิ้งกือและไส้เดือนตัวเป้งอยู่ตามพื้นดิน     เสียงจั๊กจั่นเรไรร้องกันเซ็งแซ่ หมู่นกและแมลงไม่กลัวสารเคมีในสวนนี้ เพราะว่าปลอดภัยจริงๆ ในอดีตถ้าเราเดินเข้าไปสวนผลไม้แถวจันทบุรี เราจะได้กลิ่นยาฆ่าแมลงฟุ้งไปทั่ว อึดอัดจริง คุณศิวพรพาไปดูการทำปุ๋ยอินทรีย์ง่ายๆ เห็นการหมักน้ำหมักที่ใช้ผสมน้ำแล้วรด "ไล่แมลงและศัตรูพืช" มากกว่าการ "ฆ่า" คุณศิวพรสรุปว่าทุกวันนี้ ได้สุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ไม่แพ้อะไรอีกแล้ว และที่ได้มากคือ ได้ขายผลผลิตปลอดสารพิษให้กับผู้บริโภคมากขึ้นด้วย ขอให้สุขใจขายของดีครับ

                     

                                                                           อ.ถวิล ทำงานหนัก

                ก่อนแยกกันเข้านอนที่สอยดาวรีสอร์ทแอนด์สปา ได้ยินว่ารุ่งขึ้นจะพาไปสวนมดแดง เชื่อเลย ผมคิดว่า จะไปดูสวนเพาะเลี้ยงเพื่อเอาไข่มดแดง ไปขาย  ที่ไหนได้เล่า เมื่อไปถึงกลายเป็นว่า สวนผลไม้อินทรีย์ชื่อสวนมดแดง โว๊ย.!! ผิดหวังมากๆเลย นึกว่าจะได้ดูฟาร์มมดแดงเชียว คุณจำรัส เซ็นนิล ซึ่งเป็นคู่นอนก็ไม่ขยายความอะไรให้ฟังเลย เล่นเอา บก.ทองไทยแลนด์งงจนหลงผิดไปไกลเชียว นี่แหละคนแก่พ.ศ.นี้

                              

                                                                            คุณจินดารัตน์ พีรเธียรเลิศ

                ได้พบกับครอบครัวคุณ จินดารัตน์ พีรเธียรเลิศ   เจ้าของสวนผลไม้ชื่อ "สวนมดแดง"   ที่ปลูกตั้งแต่ทุเรียน เงาะ มะไฟ หมาก กล้วย มังคุด  สารพัดชนิดที่กินได้ขายได้ แต่มีต้น "เขยตาย" อยู่หน้าบ้านพัก กำลังตกผลสีชมพูน่ากินมาก ซึ่งเป็นสมุนไพรที่ชื่อแปลกและมีคุณสมบัติน่าหวาดเสียวตามชื่อเชียว บ้านนี้ลูกสาวคงสวยเหมือนแม่แน่ๆ ถึงได้ปลูกต้นเขยตายเอาไว้ขู่ลูกเขย

                                                               เดินอธิบายให้สื่อมวลชนฟัง

                ใต้พื้นสวนสะอาด แต่ปนเปื้อนด้วยกองปุ๋ยอินทรีย์ที่ถมกองไว้เป็นระยะ เป็นการใช้เศษวัชพืชจากสวนทุกชนิด นำมารวมกองและใส่เชื้อจุลินทรีย์ พด.1 หรือพด.2 ผสมให้เกิดการหมักและย่อยสลายเร็วขึ้น เมื่อมีการพลิกกลับกองปุ๋ยเหล่านี้แต่ละครั้งจะต้องผสมด้วยน้ำหมักเช่นเดียวกับสวนศิวพร ส่วนน้ำหมักของแต่ละสวนจะมีเทคนิคอย่างไร คงต้องไปสอบถามหรือเรียนรู้กันเอาเอง อาจจะเปิดเผยได้ หรืออาจจะเป็นความลี้ลับก็สุดจะเดาใจ

                   

                                                             กองปุ๋ยหมัก 

                สื่อมวลชนที่เดินทางไปด้วยกันร่วมกันสัมภาษณ์การทำปุ๋ยอินทรีย์ไว้ใช้งาน 

                สวนมดแดง อยู่ที่ 53/1 ม.5 ตำบลหนองตาคง อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี โทร.081-9405819

                ความโดดเด่นของสวนมดแดงคือ ผลผลิตมังคุดอินทรีย์ส่งขายได้ราคาสูงถึง กก.ละ 35 บาท ตลอดฤดูกาล ใครอยากได้ใคร่รู้ก็ขอเชิญไปแวะเวียนหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จ้ะ   

                               ให้สัมภาษณ์สด                                                                ไส้เดือนยักษ์...อื่ย!! 

                คุณจินดารัตน์เล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ทำสวนด้วยการใช้สารเคมีมาตลอด แต่เห็นว่ายิ่งใช้ก็ยิ่งมีแมลงเข้ามารบกวนไม่หยุดหย่อน  ดินก็เสื่อมโทรมลงไปทุกปี ต้องเพิ่มปริมาณสารเคมีอัดลงไป จนถึงวันหนึ่งเริ่มสนใจเกษตรอินทรีย์ ฟังเขาเล่าบ้าง ตามไปดูเขาบ้าง เห็นเขาทำแล้วก็อยากลองทำบ้าง ดังนั้นเพื่อความอยู่รอด จึงคิดลดต้นทุนการผลิตจากสารเคมี   ได้เริ่มทำปุ๋ยอินทรีย์อย่างจริงจัง 

                แต่แล้ววันหนึ่ง งานยุ่งมาก ไม่มีเวลาทำพื้นสวนให้สะอาด ก็เลยใช้วัชพืชผสมกับน้ำหมักกองทับๆกันที่พื้นสวนใกล้ต้นผลไม้ เกิดเหตุประหลาดค่ะ มีหิ่งห้อยบินว่อนไปทั้งสวน 

                                   

                                                                            ผอ.ก็จดกับเขาด้วย

               แสดงว่าการไม่เผาทำลายเกิดผลดีมากกว่า ทำปุ๋ยคาพื้นสวนไปเลย กองรวมๆ ใส่น้ำหมักจุลินทรีย์ แล้วก็รอเวลาพลิกกลับ ในที่สุดก็ย่อยสลายคาพื้นสวนนั่นแหละค่ะ ไม่ต้องผสมปุ๋ยหมักในโรงเรือนอย่างแต่ก่อน ประหยัดแรงงาน ประหยัดเวลา และลดค่าใช้จ่ายในการนำไปใส่โคนต้นไม้ จบเบ็ดเสร็จที่เดียวกันนั้นเอง อ้อ..มีอีกอย่างหนึ่ง สังเกตุไหมคะว่า มีกอตะไคร้หอมบ้าง ต้นขี้เหล็กบ้าง พริก  กลอย  ละหุ่ง ปลูกสลับไปทั่ว นั่นละค่ะ สมุนไพรไล่แมลงอย่างดี  

                                                                   ตะไคร้หอม  สมุนไพรไล่แมลง

               หลักการไล่แมลงศัตรูพืชคือ ไม่ให้มีที่อยู่อาศัย  ไม่ให้มีพืชกินได้  พืชสมุนไพรที่ใช้เป็นประเภทมีรสฝาด เผ็ด ร้อน ขม นำมาบดแล้วหมักให้เป็นน้ำหมัก เมื่อนำไปฉีดพ่นต้นผลไม้ โดยหมุนเวียนพืชไม่ให้ซ้ำๆกันจนเกิดการดื้อด้าน ก็มักได้ผลดีเกินคุ้มค่ะ ผลดีคือประหยัดต้นทุนการผลิต  รักษาสุขภาพเจ้าของสวนและพนักงานในสวน  ขายได้ราคาดี และประการสำคัญผู้บริโภคปลอดภัย               

                   

                                                                            เตรียมบุกเขาสอยดาว

                ฟังอย่างนี้แล้ว ก็รู้สึกได้เลยว่า เจ้าของสวนเกษตรอินทรีย์ของจังหวัดจันทบุรีสองรายดังกล่าวนี้ มิได้คำนึงถึงแต่เพียงตนเองจะอยู่รอด หากแต่หวังว่า ผู้บริโภค ซึ่งเป็นลูกค้า ผู้มีอุปการะคุณสูง จะปลอดภัยไร้กังวลอีกด้วย  อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว อยากไปชมและหาข้อมูลเพิ่มเติมก็ติดต่อไปได้เลยนะครับ มีปัญหาติดขัดใดๆ ก็ติดต่อไปที่ สำนักประชาสัมพันธ์เขต 7 คุณฐานิยา โทร.086-3106139 ได้เลยครับ                     

                                        

                                                                 น้ำตกเขาสอยดาวชั้นที่ 5 ฝ่าดงทาก

                เช้าอีกวันหนึ่ง ทางสำนักประชาสัมพันธ์เขต 7 ได้พาไปฟังบรรยาสรุปเรื่องเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว ได้ความรู้เรื่องธรรมชาติอีกโข แถมยังพาไปเดินท่องเที่ยวในป่าดงดิบขณะที่ฝนปรอยนิดๆ ได้ทากกลับมาฝากกันคนละตัวสองตัว พร้อมกับเสียงหวีดว้ายกระตู้วู้ดังลั่นป่าเขา

                "ป๋า หนูกลัว จับมันนออกที ๆ"

                เธอร้องเสียงหลง พร้อมกับยื่นเท้าที่มีทากตัวนิดเดียวไต่อยู่ยุบๆ  

                     

                                                           ถ่ายรูปหมู่เป็นที่ระลึกครับ..ดีใจหลุดโว่มาได้

                "ป๋านึกในใจ ป๋าก็กลัวโว๊ย" ว่าแล้วก็หยิบได้เศษไม้ชิ้นหนึ่งทำการเขี่ยมันออกจากเท้าของยายหนูสื่อสาวรักษ์เกษตรอย่างเร็ว ไอ้ที่ต้องรีบเขี่ยน่ะเพราะว่าเสียงเธอร้องแสบหูจริงๆ กลับมาถึงโรงอาหารก็ย่องเข้าห้องสุขา สำรวจหามวลทากต่างๆกันจ้าละหวั่น

                "ป๋า..โดนกี่ตัว"

                ป๋าไม่ตอบแต่ชู 3 นิ้ว อิอิ  

ปล.ตอนต่อไป  ลำใย"พันธุ์อีดอ" ปลูกที่ เขาสอยดาว-โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี ดีอย่างไร

 

 

 

               

 

    

 

                 

 

 

 

                   

                                                              


ความคิดเห็น