http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม14,010,284
Page Views16,319,467
« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

คึดฮอดเมืองลาว 6 บันทึกจากภูน้อย แขวงจำปาศักดิ์ โดยเอื้อยนาง

คึดฮอดเมืองลาว 6 บันทึกจากภูน้อย  แขวงจำปาศักดิ์   โดยเอื้อยนาง

คึดฮอดเมืองลาว 6

บันทึกจากภูน้อย  แขวงจำปาศักดิ์

                                                                              เอื้อยนาง

 

            บุญทอดกฐิน  ผ้าป่า  คือสาเหตุที่ง่ายที่สุดที่ผู้คนแถบถิ่นฝั่งไทยใกล้โขงจะได้ออกไปเยี่ยมยามพี่น้องป้องปลายฝั่งลาว     โดยเฉพาะบรรพบุรุษฝ่ายแม่ของเอื้อยนาง  คือ พ่อใหญ่  ผาย  อารีย์กุล นั้นพากันอพยพมาจากจำปาศักดิ์ มาตามลำน้ำโขง  น้ำมูล  จนขึ้นลำโดมใหญ่  จึงมีเรื่องเล่า  มีตำนานเกี่ยวกับดินแดนแถบนั้นให้เราเหล่าลูกหลาน เหลน ใฝ่ฝัน ว่าสักวันจะได้ไปพบเจอ

          บ่ายคล้อยวันหนึ่ง    เป็นช่วงปลาย ๆ เมษายนหลังสงกรานต์    รถตู้ ๓ คัน บรรทุกชาวคณะพุทธศาสนิกชนจากฝั่งไทย  ข้ามไปฝั่งลาวใต้  แขวงจำปาศักดิ์  ปีนป่ายไต่อ้อมวกวนขึ้นสู่ภูสูง  เพื่อไปทำบุญที่วัดหนึ่งซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาสูงริมฝั่งแม่น้ำโขง  ชื่อ  วัดภูน้อย


                                     
                                                                          ริมโขง ชีวิตที่เย็นฉ่ำ

           
พระอาทิตย์ยามเย็นส่งลำแสงสีทองอาบไล้ทั่วไพรพฤกษ์  โค้งฟ้าที่เห็นอยู่ลิบ ๆ โน้นคือขงเขตประเทศไทย  เส้นสายสีขาวคดโค้งโน้นคือแม่น้ำโขง  หากนั่งเรือทวนน้ำขึ้น
ไปจากภูน้อยนี้ครึ่งวันก็จะถึงบ้านเวินบึก  หมู่บ้านสุดท้ายของแม่น้ำโขงในเขตไทย

            นกหมู่หนึ่งบินลิบ ๆ ข้ามโขงสู่ภูเขาฝั่งไทย   ไม่นำพาเขตแดน  ผิดกับคนบนสองฝั่งโขงที่ต้องทำบัตรผ่านแดน  จึงจะผ่านสู่อีกฝั่งได้

แต่รถขึ้นไปไม่ถึงยอดภูบริเวณที่ตั้งวัดหรอกนะ  ต้องจอดไว้ที่ลานหินเบื้องล่างแล้วลงเดิน ปีน ไต่โขดหินกันขึ้นที่สูงชันอีกไกลโข  แต่ไม่มีใครบ่นสักคำ  ทั้ง ๆ ชาวคณะส่วนมากเป็นผู้สูงอายุทั้งนั้น  นับว่าศรัทธาแรงกล้าจริง ๆ


                                                     
                                                                    แม่หญิงลาวนุ่งซิ่นงามแท้ๆ

             สิ่งแรกที่กระทบสายตาเมื่อปีนขึ้นมาบนลานโล่งยอดภู  คือท่ามกลางแสงทองขมิ้นแห่งตะวันยามยอแสงนั้น   มีสีสันจ้านจ้าของดอกไม้ป่าหลากพันธุ์ที่บานยามแล้งร้อน เช่น ดอกคูน   ดอกจาน(ทองกวาว)  ดอกรัง  ดอกตะแบก  ฯลฯ  ถูกมัดเป็นกลุ่ม  เป็นกำ  เป็นพวง  เป็นพุ่มระย้า  ระย้อยอยู่ตรงซุ้มประตูเข้าวัด  ตลอดต้นเสาทุกต้นในปะรำชั่วคราวกลางลานวัด  กับชาวบ้านที่มีใบหน้าประดับด้วยรอยยิ้มมาต้อนรับ  ทำให้ความเหน็ดเหนื่อยจากการปีนโขดหินขึ้นมาหายวับ

เมื่อแสงตะวันลับหาย   เดือนเสี้ยวสีซีดก็โผล่มาลอยคว้างอยู่เหนือทิวไม้  คล้ายจะมาเยี่ยม ๆ มอง ๆ ผองชนผู้สาละวนกันอยู่บนยอดภูน้อย  ไม่นานนักแสงสีเหลืองของดวงไฟจากเครื่องปั่นก็ขับไล่แสงสีซีดจางของดวงเดือนที่กำลังถอยร่นจากขอบฟ้า  ลมอ่อน ๆ พัดกระดาษสายรุ้งหลากสีให้ไหวระริก  ผู้คนลาว-ไทย โอภาปราศรัย สรวญเสกัน เสียงดังระงม อาหารการกินถูกยกมา  ในขณะหลาย ๆ คนสาละวนจะเข้าห้องน้ำ  และอาบน้ำอาบท่า 


                                      
                                                    อดีตการทำไม้ฝั่งลาว เหมือนที่เคยเกิดฝั่งไทย

              นี่เป็นวัดเล็ก ๆ บนยอดภู ความไม่สะดวกสบายย่อมมีเป็นปรกติ  วิถีชีวิตของคนที่นี่ทำให้ คณะศรัทธาจากไทยทั้งหลายได้หวนคิดย้อนหลังไปถึงตัวเองเมื่อ ๕๐ ปีที่แล้ว  จะไปห้องน้ำต้องหาไฟฉาย  และไปกันเป็นกลุ่ม  ได้เรียกเอิ้นเตินกันตุ้มโฮม(ร้องเรียกหากันด้วยน้ำใจไมตรี)เสียงเอะอะ เจี๊ยวจ๊าว  ช่างเป็นความรูสึกที่อบอุ่น ใกล้ชิด 

            ในความมืดที่ทุกคนหวาดกลัวนั้น       ครั้นถึงตอนอาบน้ำ  ความมืดกลับกลาย

เป็นมิตรที่ใจดีไปโดยพลัน  เพราะห้องอาบน้ำคือลานโล่งโปร่งสบายในสายลม  จะมีบ้างก็เพียงพุ่มไม้ใบบางให้ได้ตั้งตุ่มน้ำไว้อิงแอบเท่านั้น  ดังนั้นม่านกั้นสายตาผู้คนอย่างดีก็คือความมืดนั่นเอง

            บ่อบาดาลอยู่ถัดไปทางด้านศาลาการเปรียญ    มีเสียงหัวร่อต่อกระซิกของหนุ่มสาวชาวบ้าน   ผู้มาช่วยงาน  ดังพริ้งเพราะเหมือนใครเคาะระฆังในความวังเวงดังขึ้นสลับกับเสียงเทน้ำรินไหลลงในตุ่ม   ให้พวกเราชาวคณะได้อาบอย่างสบาย
           
น้องจับมือซ้าย  อ้ายจับมือขวา  สองรา สองแรงช่วยกันโยกคันน้ำบาดาล 
ให้สายน้ำหลั่งไหลลงในถัง  ในครุ  แล้วน้องก็ใช้มือซ้าย  ช่วยอ้ายที่ใช้มือขวาหิ้วถังน้ำมาเทลงในตุ่ม 


                            
                                                                          อดีตวังเจ้าบุญอุ้ม

             เสียงสาว ๆ หนุ่ม ๆ ชาวลาวที่ช่วยกันลำเลียงน้ำ   เป็นคู่ ๆ หัวร่อต่อกระซิกระริกหวาน  ฉุดหัวใจคนคอยอาบน้ำอยู่ข้างตุ่มให้เพริด

            นี่กระมังคือเสน่ห์แห่งวิถีลาวที่เราใฝ่หา   อยากย้อนไป   อยากได้กลับคืนมา   หรือแค่ได้รำลึกถึงวันเก่า ๆ  เท่านั้นก็ยังดี   หากมีการตุ้ม โฮม(รวบรวม)  กองกฐิน   ป่าผ้าข้ามฝั่งทีไร   ต้องวิ่งแจ้นแล่นไปด้วยแทบทุกครั้ง

            เพราะความเป็นลาววันนี้ก็คือเงาของเราเอง    เงาที่เราลืมหลงไปนานแต่มันไม่เคยหนีหายไปไหน      ยังทอดยาวออกมาให้เห็นทุกครั้งที่มีแสงส่องกระทบ

๐๐๐๐๐๐

           

Tags : OUYNANG

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view