http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 08/05/2024
สถิติผู้เข้าชม14,067,473
Page Views16,379,915
« May 2024»
SMTWTFS
   1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

พม่าไม่ไปไม่รู้ 16 โดยเอื้อยนาง ไหว้พระมหาธาตุเจดีย์ ชเวดากอง รำลึกถึงพระนางชิน สอ บู

พม่าไม่ไปไม่รู้ 16 โดยเอื้อยนาง ไหว้พระมหาธาตุเจดีย์ ชเวดากอง รำลึกถึงพระนางชิน สอ บู

พม่าไม่ไปไม่รู้ ๑๖

 โดยเอื้อยนาง เรื่อง-ภาพ

ไหว้พระมหาธาตุเจดีย์ ชเวดากอง รำลึกถึงพระนางชิน สอ บู

 

               หมู่บ้าน ดากอง(Dagon  ไทยเรียกตะกอง หรือตะเกิง) เป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมงของชาวมอญ  ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามเมืองสิเรียมเมืองท่าสำคัญที่นักล่าอาณานิคมยุคแรก ๆ เข้ามาแสวงหาความร่ำรวยจากการค้าขาย 

            เมืองสิเรียมเติบโตรุ่งเรืองแต่รอบเชิงเขาเชียงกุตตระอีกฝั่งของแม่น้ำ  เมืองตะกองยังเป็นหมู่บ้านชาวประมง  ที่ตั้งอยู่บริเวณอันเป็นเมืองในตำนานแห่งการสร้างพระธาตุเจดีย์ชเวดากอง  ชื่อเมือง โอกกลาปะ      และพระเจ้าโอกกลาปะเป็นผู้สร้างพระธาตุเจดีย์นี้ขึ้นบนภูเขาเชียงกุตตระ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานเครื่องบริขารของพระพุทธเจ้าองค์ก่อนสามพระองค์อยู่แล้ว 

            ภูเขาแห่งนี้จึงเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ที่พระองค์และชาวเมืองให้ความเคารพบูชา  และได้ทรงอธิษฐานตั้งความหวังว่าขอให้ได้อัฐิ(พระธาตุ)บริขารของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน(ช่วงเวลานั้นยังทรงมีชีวิตอยู่)มาไว้เป็นที่สักการบูชาเพิ่มอีก   และก็ทรงได้ตามนั้นเมื่อสองพี่น้องนายวาณิชชาวมอญนำพระเกศาธาตุแปดเส้นของพระพุทธองค์มาถวาย  นับแต่นั้นพระธาตุเจดีย์ชเวดากองก็เพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นอีก  มีการบูรณะเสริมเพิ่มให้ใหญ่โต  และตะเกิงเมืองเล็ก ๆ แห่งนี้ยังสงบสุขใต้ร่มเงาของพระธาตุเจดีย์ชเวดากองเรื่อยมา 

            จนกระทั่งถึง ค.ศ. ๑๗๕๕ พระเจ้าอลองพญา (Alaungpaya) ได้ยึดดากองหมู่บ้านประมงจากชาวมอญ และวางรากฐานสร้างเมืองขึ้นให้นามว่า “ย่างกุ้ง” (เมื่ออยู่ในครอบครองของอังกฤษได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ร่างกุ้ง” แต่ปัจจุบันหันมาใช้ “ย่างกุ้ง” ดังเดิม) ผ่านยุคสมัย  ผ่านวันเวลายาวนานมีภัยพิบัติจากแผ่นดินไหว  อัคคีภัย  และสงครามเกิดขึ้นก็หลายครั้ง  ทำให้มีการบูรณะซ่อมสร้างเสริมเพิ่มเติมพระธาตุเจดีย์เรื่อยมา  จนยิ่งใหญ่อลังการตั้งตระหง่านเป็นมงกุฎทองของย่างกุ้งอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

            เพราะพระมหาธาตุเจดีย์แห่งนี้เป็นเสมินจิตวิญญาณของชาวพม่า(รวมมอญและอื่น ๆ ในพม่า)เชื่อว่า  ไม่มีเหตุเภทภัยใด ๆ จะมาทำลายพระมหาธาตุเจดีย์ที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ลงได้  เมื่อเกิดมีความชำรุดเสียหายจากภัยใดๆขึ้นมา  เมื่อนั้นก็จะมีการบูรณะแต่งเสริมเพิ่มเติมให้ยิ่งงดงามกว่าเดิม

            แท้จริงแล้วพระมหาธาตุสูงตระหง่าน โดดเด่น ตระการตาองค์นี้สร้างครอบสถูปเล็กเก่าแก่ที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุไว้ภายใน และองค์สถูปเล็กก็ยังมีซ้อนกันถึงเจ็ดชั้นทั้งที่สร้างจาก หิน เหล็ก ตะกั่ว  ทองแดง  ดีบุก  เงิน และอิฐปูน

            เป็นความมั่งคั่งน่าอัศจรรย์ในสายตา ในค่ำคืนที่สายฝนเพิ่งขาดหาย เพียงแค่ก้าวขึ้นมาถึงบนลานกว้างที่ปูด้วยหินอ่อนที่ยังเปียกชื้น และออกจะลื่นเป็นเหมือนสิ่งบอกเตือนให้เท้าเปล่าหลายพันคู่ให้ก้าวย่างอย่างระมัดระวัง  อ่อนน้อม ถ่อมตนบนลานกว้างอันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้

            ในสมัยพระนางชินสอบูกษัตรีย์แห่งราชอาณาจักรมอญ ซึ่งมีเมืองหลวงอยู่ที่   หงสาวดี  พระนางได้มาบูรณะซ่อมแซมพระธาตุเจดีย์แห่งนี้  ทรงให้ปรับยอดเนินเขาเชียงกุตตระลงให้ราบเสมอกัน สร้างลานระเบียงและก่อกำแพงโดยรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าด้านเหนือจรดใต้ยาว ๒๗๕ เมตร  ด้านตะวันออกจรดตะวันตกกว้าง ๒๑๕ เมตร ครอบคลุมพื้นที่ ๑๔ เอเคอร์กำแพงสูง ๑๕ เมตร  ตรงกลาง คือมหาธาตุเจดีย์ชเวดากองตั้งอยู่บนฐานไพทีรายล้อมด้วยเจดีย์ทิศ  เจดีย์หมู่รายเรียง วิหาร ศาลา รูปเคารพ เทพนัตศักสิทธิ์ในซุ้ม ในศาล  พระพุทธรูปปางต่าง ๆ  ทวารบาลนั้น ที่มีทั้งสิงหปักษี  ยักษ์ และเทวดา ตกแต่งด้วยลวดลายวิจิตรสีสันตระการตา ล้วนมีความหมาย มีตำนาน ที่มาอันมีเรื่องราวเกี่ยวข้องให้ศักดิ์สิทธิ์

            รายรอบลานด้านกำแพงเป็นที่ตั้งของอาคารต่าง ๆ ทั้งวิหาร ศาลาอันเป็นที่ทำการของสมาคมต่าง ๆ ที่รับผิดชอบดูแลองค์พระธาตุ  ศาลาโรงธรรม  ศาลาที่พักผู้มาปฏิบัติธรรม พิพิธภัณฑ์  พระพุทธบาท ระฆังยักษ์ที่ล้วนเกี่ยวข้องกับตำนาน  มากมายแน่นขนัด อาคารแต่ละหลังแลสวยงามด้วยรูปแบบหลังคาเป็นเชิงชั้นลดหลั่นชั้นซ้อนแบบศิลปะพม่า 

            องค์พระธาตุเจดีย์ชเวดากองตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสวัดโดยรอบได้ ๔๓๓ เมตร ยกซ้อนขึ้นสามชั้น รองรับฐานแปดเหลี่ยมที่เป็นชั้น ๆ อีกที  เหนือฐานแปดเหลี่ยมจึงเป็นฐานกลมที่ตั้งองค์เจดีย์ทรงระฆังวัดโดยรอบได้ ๔๓๓ เมตร ฐานทั้งหมดสูง ๒๔ เมตร องค์เจดีย์สูง ๒๒ เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง  ๑๐๕ เมตร ป้องไฉน ๑๒.๕ เมตร ส่วนที่รองรับฉัตรสูง ๙.๕ เมตร  และตัวฉัตรนั้นสูง ๑๖ เมตร ยอดฉัตรประดับด้วยทองคำ และอัญมณีล้ำค่าสูงอีก ๑๐ เมตร

            การจะขึ้นสู่ลานระเบียงเจดีย์มีบันไดทอดยาวให้ขึ้นทั้งสี่ทิศ ซึ่งมีไม่ต่ำกว่า หนึ่งร้อยขั้นในแต่ละด้าน  ด้านตะวันออกที่เราและนักท่องเที่ยวทั้งหลายใช้ขึ้นไปนั้นเป็นลิฟต์ที่ให้ความสะดวกสบาย ไม่ต้องปีนบันได  ราวกับจะให้ออมแรงไว้เผื่อการเดินรอบลานระเบียงกระนั้น

            ลานกว้างใหญ่เนืองแน่นด้วยผู้คนหลากเผ่าพันธุ์   และสีผิวที่ต่างมุ่งหน้ามากราบไหว้และเยือนยล  ทำให้รำลึกถึงผู้สร้าง  นั่น คือ พระนางชินสอบู

            Shin  Saw  Bu  ชิน  สอ  บู หรือ เช็ง สอ บู ถือกำเนิดเมื่อปี ค.ศ.๑๓๙๔  เป็นกษัตรีย์พระองค์เดียวของราชอาณาจักรมอญ เป็นพระธิดาของพระเจ้าราชาธิฤทธิ์ (Razadarit  ไทยเรียก ราชาธิราช )เชื้อสายพระเจ้าฟ้ารั่ว(มะกะโท ผู้ย้ายเมืองหลวงจากเมาะตะมะมาตั้งที่พะโค สถาปนาเป็นหงสาวดีเมื่อปี ๑๓๖๕) เมื่อสิ้นพระบิดาแล้วพระเชษฐาทั้งหลายไม่ปรองดองกัน เจ้าหญิงชิน สอ บู ซึ่งเป็นม่ายเมื่อยังสาวอยู่จึงถูกพระเชษฐาส่งไปถวายพระเจ้ากรุงอังวะ พระนางมีพระธิดา ๒ องค์ พระโอรส ๑ องค์

            ในฐานะพระมเหสีองค์หนึ่งของกษัตริย์แห่งอังวะ  พระนางได้รับความรักจากพระสวามีจนเป็นที่อิจฉาจากมเหสีองค์ก่อน คือ พระนาง ชิน โบ ไม ผู้ซึ่งมีเชื้อสายไทใหญ่และมีอำนาจมากในราชสำนัก 

             ชิน สอ บู ผู้สวยงามและรักสงบจึงหันเข้าหาศาสนา ได้ศึกษาพระคัมภีร์ พระไตรปิฎกจนแตกฉาน ครั้นพระสวามีสิ้นพระชนม์  พระเจ้าอังวะองค์ต่อมาประสงค์จะให้พระนางเป็นมเหสีอีก   พระนางจึงหลบหนีจากอังวะกลับสู่หงสาวดี ในปี ๑๔๓๐  โดยได้รับความช่วยเหลือจากพระสงฆ์ชาวมอญในอังวะนั่นเอง

              ด้วยความรู้แตกฉานทั้งทางโลกและทางธรรม เมื่อหงสาวดีว่างกษัตริย์ พระนางชินสอบูจึงได้ขึ้นครองหงสาวดี(ปี ๑๔๕๓) ๑๗ ปีที่พระนางชิน สอ บู ครองหงสาวดีถือเป็นช่วงเวลาแห่งสันติสุขของราชอาณาจักร ทรงฟื้นฟูสันติ ยุติธรรม โดยใช้หลักธรรมะของศาสนาในการปกครอง  พระนางได้อุปถัมภ์พระศาสนา ได้อุทิศ สละพระราชทรัพย์บูรณะพระธาตุเจดีย์ที่ยิ่งใหญ่แห่งตะเกิง  และได้ย้ายมาอยู่ที่เมืองเล็ก ๆ แห่งนี้เลยทีเดียว

              ในที่สุดก็ได้ยกพระราชบัลลังก์ให้พระราชบุตรเขย คือ พระธรรมเชดีขึ้นครองกรุงหงสาวดีแทน  และตัวพระนางเองได้ใช้เวลาช่วงปลายของชีวิตทุ่มเทให้พระศาสนา   ดังที่ทราบกันว่าพระนางได้บริจาคทองคำหนักเท่าพระองค์ (สี่สิบกิโลกรัม)ให้นำมาตีเป็นแผ่นหุ้มพระธาตุเจดีย์เชเวดากองแห่งนี้

              ตลอดยุคของพระนาง ต่อด้วยพระธรรมเชดี(บ้างสะกดเป็น  ธรรมเจดีย์)  พระราชอาณาจักรมอญรุ่งเรือง และสงบสุข  หงสาวดีเป็นศูนย์กลางการค้า และการพุทธศาสนาเถรวาท  จนกระทั่งกษัตริย์ตะเบ็งชะเวตี้ยกกองทัพเข้ารวบรวมเอาพม่าใต้เข้าเป็นอาณาจักรเดียวกันของพม่า  ทรงย้ายเมืองหลวงมาอยู่หงสาวดี  ชเวดากองก็เป็นศูนย์กลางความเคารพศรัทธาของชาวมอญ-พม่าสืบมา

               พระนางชินสอบูสิ้นพระชนม์เมื่อปีค.ศ.๑๔๗๒ (บางหลักฐานว่า ๑๔๗๐) พระศพของพระนางถูกฝังอยู่ในสถูปบริเวณที่เป็นเมืองย่างกุ้งในปัจจุบันนี่เอง

๐๐๐๐๐

           

             

Tags : พม่าไปม่ไปไม่รู้ 15.

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view