http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม13,992,372
Page Views16,300,586
« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

ในคมขวาน 4 หลวงพ่อพระใส วัดโพธิ์ชัย หนองคาย ตำนานพระพุทธรูปลาวที่ไม่อยากไปอยู่กรุงเทพ โดย

ในคมขวาน 4 หลวงพ่อพระใส วัดโพธิ์ชัย หนองคาย ตำนานพระพุทธรูปลาวที่ไม่อยากไปอยู่กรุงเทพ โดย

ในคมขวาน๔

 

หลวงพ่อพระใส วัดโพธิ์ชัย  หนองคาย

ตำนาน พระพุทธรูปลาวที่ไม่อยากไปอยู่กรุงเทพ

“สาวภูไท” เรื่อง-ภาพ 

             ในรัชสมัยแห่งพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งล้านช้างเวียงจันทน์  พระราชอาณาจักรลาวล้านช้าง รุ่งเรือง  แผ่ไพศาลครอบคลุมสองฝั่งโขง  ทรงเป็นรัชทายาทและเป็นกษัตริย์ปกครองทั้งล้านนา  และล้านช้าง  เป็นทั้งนักรบ  นักปกครอง  และทรงเลื่อมใสพระพุทธศาสนาอย่างมาก ซึ่งส่งผลถึงคนในราชสำนักด้วย

           อย่างเช่น  พระธิดาของพระองค์ทั้ง ๓ ที่เป็นพี่น้องร่วมอุทรนามว่า   เจ้านางสุก  เจ้านางเสริม  และเจ้านางใส น้องสุดท้อง   ต่างก็ทรงศรัทธา   เลื่อมใส   ในพระพุทธศาสนามาก    ได้โปรดให้ช่างหล่อพระพุทธรูปประจำพระองค์ขึ้นเพื่อสืบทอดพระศาสนา  และความเป็นสิริมงคลแห่งชีวิต  เป็นพระพุทธรูปขนาดลดหลั่นกันตามลำดับพี่น้อง  หล่อด้วยทองสีสุก

           มีเรื่องเล่าเชิงอภินิหาร   ในระหว่างการหลอมทองหล่อพระพุทธรูปทั้งสามองค์ว่า  ขณะตั้งเตาหลอมตามกระบวนการนั้น  ได้มีพระภิกษุ  สามเณร และฆราวาสช่วยกันสูบลมเป่าไฟเร่งความร้อนในเตา  เพื่อให้อุณหภูมิสูงเท่าที่จะสามารถหลอมทองให้ละลายได้    แต่...หนึ่งวันผ่านไป  สองวัน...กระทั่งถึงเจ็ดวัน  ที่ต่างช่วยกันขมีขมันทองนั้นก็ยังไม่ละลาย  ช่างน่าแปลก  และในวันที่แปดนั่นเอง   ขณะนั้นมีเพียงพระภิกษุรูปหนึ่ง กับเณรน้อย   ช่วยกันสูบลมใส่เตาอยู่  ญาติโยมทั้งหลายที่มาช่วยกันต่างนั่งพักอยู่ในศาลา 

 

           จนได้เวลาฉันเพลพระภิกษุกับเณรน้อยจึงหยุดพัก  ขณะนั้นได้ปรากฏมีชีปะขาวตนหนึ่ง เดินมาขออาสาทำหน้าที่สูบลมเป่าไฟแทน  พระภิกษุกับเณรน้อยจึงไปฉันเพล

           “ตาปะขาวคนหนึ่งเขามาอาสาช่วยสูบเตาน่ะ”

            พระภิกษุบอกญาติโยมพลางชี้มือไปที่เตาหลอม  แต่ผู้คนทั้งหลาย ณ ที่นั้นครั้นมองไป  กลับได้เห็นว่ามีคนนุ่งขาวห่มขาวอย่างที่เรียกตาปะขาวมากมาย  หลายคน ช่วยกัน อยู่อย่างขมีขมันทั้ง ๆ ที่พระกับเณรน้อยผู้เพิ่งวางมือจากกระบอกสูบมาหยก ๆ ยืนยันว่า  มีคนเดียว แต่สายตาของคนทั้งหลายก็แลเห็นว่ามีตาปะขาวมากมาย

            “มีคนเดียวที่ไหน  นั่นตาปะขาวตั้งมากมายรุมล้อมเตาอยู่นั่น”  ญาติโยมต่างแปลกใจ  และยิ่งแปลกใจยิ่งขึ้น  เมื่อพระกับเณรฉันเพลเสร็จจึงไปดูกัน   ปรากฏว่าที่นั่นว่างเปล่า  ไม่มีตาปะขาว หรือแม้แต่เงาของตาปะขาว

           “ดูนี่ซีทองละลายแล้ว”

            แม้ไม่มีตาปะขาวให้เห็นแต่ทองคำในหม้อบนเตาก็หลอมละลาย  กลายเป็นของเหลวให้เทลงหล่อพระพุทธรูปกันได้สมใจ  เสร็จสิ้นพิธีการได้พระพุทธรูปงดงาม ๓องค์   ขนาดลดหลั่นเช่นพี่น้อง  

            แล้วเจ้านางทั้งสามจึงให้นามพระพุทธรูปตามนามแห่งตน  คือ พระสุก  พระเสริม  พระใส  ตามลำดับ  และประดิษฐานอยู่เวียงจันทน์เป็นเวลาหลายปี

            ต่อมาราชอาณาจักรลาวเกิดความไม่สงบสุข  มีสงครามแย่งชิงบ่อย ๆ ครั้นเกิดเหตุคราใดชาวเมืองก็จะนำของมีค่าไปซุกซ่อนเพื่อความปลอดภัย  พระพุทธรูปทั้งสามก็เช่นกัน  ถูกนำออกไปไว้นอกเมืองเวียงจันทน์   ครั้นบ้านเมืองสงบร่มเย็นก็อัญเชิญกลับมา  จนกระทั่งราชอาณาจักรลาวถูกสยามเข้ายึดครอง  พระพุทธรูปทั้งสามองค์ถูกนำไปซ่อนยังภูเขาควายต้นลำน้ำงึมอันไหลลงสู่แม่น้ำโขง

            ต่อมาเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ซึ่งถูกนำมาเลี้ยงในราชสำนักสยาม(กรุงเทพฯ)คิดกอบกู้บ้านเมืองลาวของตนกลับคืน  ให้เป็นประเทศอิสระเหมือนเดิม   แต่ถูกปราบราบคาบ   และถูกหาว่าเป็นกบฏ(ต่อสยาม)อันเป็นข้อหาธรรมดาระหว่างผู้ชนะที่จะเรียกผู้แพ้เพื่อชำระโทษให้สาสม

            ด้วยความร่วมมือจากบางส่วนของหัวเมืองลาวเองและเขมร  เวียงจันทน์ก็ป่นปี้  สิ่งของมีค่ารวมทั้งผู้คน  ย่อมถูกเก็บกวาดเอาตามใจผู้ชนะ  พระสุก  พระเสริม  พระใส ถูกอัญเชิญลงมาในแพไม้ไผ่  ตามลำน้ำงึมสู่แม่น้ำโขง เพื่อจะข้ามมาหนองคาย 

             แต่...ครั้นถึงวังน้ำวนในแม่น้ำโขง   ก็เกิดปาฏิหาริย์มีพายุฟ้าคะนองฟ้าผ่าเปรี้ยงลงมาที่แพพระสุก  จนแพแตกจมลงในวังน้ำลึก  รวมทั้งองค์พระสุก  ไม่สามารถงมเอากลับขึ้นมาได้จนปัจจุบัน   พระท่านยังคงจมอยู่ใต้น้ำ   จึงเรียกที่ตรงนั้นว่า “เวินพระ”  หรือ “เวินสุก” สืบมา  มีเพียงพระเสริม  กับพระใสเท่านั้นข้ามฝั่งมาถึงหนองคายได้  พระเสริมประดิษฐาน ณ วัดโพธิ์ชัย ส่วนพระใสถูกอัญเชิญไปวัดหอกลอง  หรือวัดประดิษฐ์ธรรมคุณในปัจจุบัน

            พระพุทธรูปทั้งสองที่เหลือมาได้เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านชาวเมืองทั้งสองฝั่งโขง  เพราะจริง ๆ แล้วต่างเป็นคนเชื้อสายลาวด้วยกัน  ต่างมีความเคารพศรัทธากราบไหว้และเรียกพระพุทธรูปนี้ว่า  หลวงพ่อพระเสริม  กับ หลวงพ่อพระใส

            ครั้นต่อมาในช่วงรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดฯให้อัญเชิญพระพุทธรูปจากหนองคาย คือ หลวงพ่อพระเสริม กับหลวงพ่อพระใสไปยังกรุงเทพฯ

            ในสมัยนั้นก็จะเดินทางด้วยเกวียน  จึงอัญเชิญหลวงพ่อพระใสใส่เกวียนบรรทุกมาบรรจบกันกับหลวงพ่อพระเสริมที่วัดโพธิ์ชัย เพื่อจัดขบวนออกเดินทางพร้อมกัน แต่ก็เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง  เมื่อเกวียนของหลวงพ่อพระใสมาถึงวัดโพธิ์ชัย  เกิดติดหล่ม เพลาหัก ต้องทำการเปลี่ยน  แต่เสร็จแล้วก็ขยับเขยื้อนไม่ได้ แม้จะระดมคนมากมายมาช่วยกันก็ไม่สำเร็จ  ยิ่งช่วยกันดันช่วยกันยกในที่สุดเกวียนนั้นก็หักลง  ครั้นหาเกวียนคันใหม่มาก็ซ้ำรอยเดิม  คนทั้งหลายในที่นั้นเห็นเป็นอัศจรรย์จึงหันหน้ามาปรึกษากัน 

            “หรือว่าหลวงพ่อพระใสท่านไม่อยากไปกรุงเทพ”

            ในที่สุดก็ตกลงตั้งจิตอธิษฐานว่า  หากหลวงพ่อท่านไม่อยากไปกรุงเทพฯ  แต่อยากอยู่ที่นี่ก็ขอให้ยกขึ้นด้วยเถิด  ก็ปรากฏว่าอธิษฐานเสร็จใช้คนไม่กี่คนก็ยกเกวียนขึ้นได้

            เห็นดังนั้นแล้วผู้คนทั้งหลายจึงตกลงนำพระหลวงพ่อพระเสริมไปกรุงเทพฯเพียงองค์เดียว  ส่วนหลวงพ่อพระใสอัญเชิญขึ้นประดิษฐานไว้ ณ วัดโพธิชัยนั่นเอง

            ปัจจุบันหลวงพ่อพระสุกจมอยู่ใต้น้ำโขง

            หลวงพ่อพระเสริมอยู่วัดปทุมวนาราม กรุงเทพมหานคร

            หลวงพ่อพระใสยังเป็นศูนย์กลางรวมจิตใจของคนสองฝั่งโขง  ถือเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองหนองคาย  ประดิษฐานอยู่ ณ วัดโพธิ์ชัย(พระอารามหลวง)  อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย ในวันสำคัญ หรือเทศกาลทางศาสนาจะมีผู้คนเดินทางหลั่งไหลมากราบไหว้เนืองแน่น

               หลวงพ่อพระใสเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย  ศิลปะล้านช้าง  ขนาดหน้าตัก ๒ คืบ ๘ นิ้ว  สูง ๔ คืบ ๑ นิ้ว ลักษณะงดงามมาก  หล่อด้วยทองสีสุก(สำริดที่มีส่วนผสมหลักเป็นทองคำ)

๐๐๐๐๐

 

 

 

 

 

Tags : ในคมขวาน3 

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view