http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม14,012,919
Page Views16,322,172
« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

พม่าไม่ไปไม่รู้ 20 หม่องอองไจยะ กับ ราชวงศ์สุดท้ายแห่งพม่า

พม่าไม่ไปไม่รู้ 20 หม่องอองไจยะ กับ ราชวงศ์สุดท้ายแห่งพม่า

พม่าไม่ไปไม่รู้๒๐

หม่องอองไจยะ กับ ราชวงศ์สุดท้ายแห่งพม่า

“เอื้อยนาง”

 

          นับแต่กุบไลข่านทำลายอาณาจักรพุกามลงในคริสต์ศตวรรษที่  ๑๓ ราชวงศ์พม่าถูกแทรกซึมโดยไทใหญ่ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่อังวะ  ทำให้ตองอูค่อย ๆ เติบโตขึ้นโดยข้าราชสำนัก ทหาร และราษฎรที่ไม่ชอบอำนาจใหม่  ส่วนทางด้านมอญค่อย ๆ เติบโตที่เมาะตะมะ  และย้ายมามีศูนย์กลางที่พะโค หรือหงสาวดีจนกล้าแกร่งขึ้น  การค้า การศาสนาเจริญสุดขีดในสมัยพระนางเช็งสอบู จนถึงพระเจ้าธรรมเจดีย์

            ตองอูกลายเป็นศูนย์กลางของพม่าในช่วงศตวรรษที่ ๑๖ ครั้นถึงสมัยพระเจ้าตะบ็งชะเวตี้แห่งตองอู  กับขุนพลคู่ใจบุเรงนอง  พม่าก็เข้มแข็งขึ้นจนกระทั่งสามารถรวบรวมเอาอาณาจักรมอญเข้าไว้ได้อีก และย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่หงสาวดี  สามรถขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง  แม้กระทั่งอยุธยา  ครั้นสิ้นรัชสมัยของบุเรงนองหงสาวดีถูกทำลายโดยตองอูกับยะไข่  พม่าแตกเป็นเสี่ยง ๆ เมืองขึ้นสำคัญ ๆ ต่างแยกตัวเป็นอิสระ  พ่อค้าชาวตะวันตกนำอาวุธเข้ามาค้าขายแลกเปลี่ยนมากขึ้น  เกิดกบฏกลุ่มต่าง ๆ เกิดการสู้รบแย่งชิงเรื่อยมา

            กระทั่งมหาบุรุษผู้หนึ่งถือกำเนิดขึ้น

            เขาคือหม่องอองไจยะ(ค.ศ.๑๗๑๔-๑๗๖๐)

          ท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองวุ่นวาย ไม่แน่นอนนั้น  หนุ่มใหญ่ทายาทผู้ใหญ่บ้านมุตโชโบแถบแม่น้ำมูก็ผงาดขึ้นมาด้วยรูปร่างสูงสง่างาม น่าเกรงขาม บุคลิกน่าเลื่อมใส  เต็มไปด้วยพละกำลัง และอุดมการณ์ที่ป้องกันชาวตำบลในปกครองของตนให้ปลอดภัยทำให้ชาวตำบลใกล้เคียงเข้ามารวมกลุ่มเป็นขุมกำลังที่ใหญ่โตขึ้น

            หนุ่มอองไจยะถูกเรียกตัวเข้าไปสอบสวนในกรุงอังวะในข้อกล่าวหาว่าเป็นกบฏ  แต่ความบริสุทธิ์และไหวพริบ เขาก็สามารถแก้ข้อกล่าวหาได้จนพ้นผิด  จึงถูกปล่อยตัวมา  ประสบการณ์นั้นทำให้เขาตระหนักถึงภัยรอบด้านของชาติบ้านเมือง  จึงรวบรวมผู้คนในตำบลใกล้เคียงมาอยู่รวมกัน  สั่งสมกำลัง  ฝึกอาวุธป้องกันตนเอง  สร้างป้อมค่ายล้อมรอบมุตโชโบ  แม้จะไม่เข้ากับฝ่ายใดแต่การป้องกันตนเองก็เป็นความจำเป็น

            ครั้นได้ยินข่าวว่าแม่ทัพหัวหน้าไทใหญ่ในกรุงอังวะกบฏตั้งตนเป็นกษัตริย์ของพม่าทางเหนือ  ส่วนทางใต้มอญที่หงสาวดีก็กล้าแกร่งยกกองทัพเข้าตีพม่าบ่อย ๆ อองไจยะก็ตั้งปณิธานที่จะกอบกู้บ้านเมือง  และเร่งสร้างค่าย คู รอบมุตโชโบ  มีต้นหมากต้นมะพร้าวเป็นกำแพงเมืองเพื่อป้องกันอาวุธปืนยาว  ปืนใหญ่ที่ใช้กันในกลุ่มกบฏต่าง ๆ

            ด้วยความฉลาด  และกล้าหาญ  เป็นผู้นำที่แข็งแกร่ง  ทำให้ศรัตรูที่ยกกำลังมาโจมตี ล้อมรอบหมู่บ้านมุตโชโบต้องพ่ายแพ้ ถอยกลับไปทุกครั้ง  จึงมีผู้ศรัทธา  ผู้รักชาติบ้านเมืองต้องการกู้ชาติหลั่งไหลเข้ามาร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก  หมู่บ้านมุตโชโบจึงมีทั้งทหารหนีทัพ  นักปราชญ์ราชบัณฑิตจากราชสำนัก  นักเขียน  นายช่างต่าง ๆ  นักบวช และราษฎรที่หนีร้อนมาพึ่งเย็น  มารวมพลังกันเข้มแข็งขึ้นทุกวัน  และหมู่บ้านก็กลายเป็นเมือง  เมื่อสถาปนาอองไจยะเป็นกษัตริย์ก็เปลี่ยนเมืองเป็น ชเวโบ

          กษัตริย์ทรงพระนามว่า  อลองพระ  หรือ  อลองพญา  (Alaungpaya )  ภาษาพม่าออกเสียงเป็น  “อลองเมงตะยาจี”  หมายถึงพระโพธิสัตว์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์อลองพญานั่นเอง  ด้วยเชื่อกันว่าพระองค์เป็นพระโพธิสัตว์มาปราบยุคเข็ญพระองค์ประกาศตนเป็นเชื้อสายแห่งตะโก้ง  พุกาม  อังวะ และพะโค และมีประณิธานจะสร้างพม่ายุคใหม่ให้ยิ่งใหญ่กว่า

            นี่คือปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ อลองพญา (ค.ศ.๑๗๕๒-๑๘๘๕) ตั้งชเวโบเป็นราชธานี  ขณะนั้นอลองพญามีพระชนมายุ ๓๘ ชันษา

            ชเวโบเป็นเมืองหลวงถึงปี ๑๗๖๓  ก็ย้ายไปที่กรุงอังวะ  และในปี ๑๗๘๓ย้ายไปอมรปุระ ย้ายกลับไปอังวะ  กลับมาอมรปุระอีก จนในปี ๑๘๕๙ จึงสร้างกรุงมัณฑเลย์เป็นราชธานี  และมัณฑเลย์ก็เป็นเมืองหลวงจนถึงปีสุดท้ายแห่งราชวงศ์พม่า ในปี ๑๘๘๕ ในรัขสมัยของพระเจ้าธีบอ

 

            แม้จะครองราชย์เป็นกษัตริย์อยู่ช่วงระยะสั้น ๆ เพียง ๘ ปี  แต่พระเจ้าอลองพญาถือเป็นกษัตริย์ยิ่งใหญ่ ๑ ใน ๓ ของกษัตริย์พม่า คือ

            ๑ พระเจ้าอโนรธามังช่อ กษัตริย์ราชวงศ์พุกาม

            ๒ พระเจ้าบุเรงนอง  กษัตย์ราชวงศ์ตองอู

            และ ๓ พระเจ้าอลองพญาแห่งราชวงศ์อลองพญา  ทรงปราบพวกมอญ ขับไล่อังกฤษ ฝรั่งเศสออกจากราชอาณาจักร  ในปี๑๗๕๕ ก่อตั้งเมืองย่างกุ้งจากหมู่บ้านชาวประมงเล็ก ๆ ให้เป็นเมืองท่าสำคัญ

 

            ในปี ๑๗๕๙ ทรงต้องการครอบครองชายฝั่งตะนาวศรีซึ่งขึ้นอยู่กับอยุธยา  และกบฏชาวมอญมักหนีไปพึ่งอยุธยาอยู่จึงยกกองทัพใหญ่สู่อยุธยาสมัยพระเจ้าเอกทัศน์แต่มาล้อมกรุงอยู่ได้ไม่นานพระองค์ก็ทรงประชวรจึงต้องยกทัพกลับ  และสิ้นพระชนม์ต้นปี ๑๗๖๐นั่นเอง  ทรงครองราชย์อยู่เพียง ๘ ปี หลังจากนั้นมาอีก ๗ ปี(ค.ศ.๑๗๕๙)พระราชโอรสผู้สืบทอดพระราชบัลลังก์ได้ยกกองทัพใหญ่กลับมาตีกรุงศรีอยุธยาอีกจนอยุธยาแตกพ่ายในที่สุด

            ราชวงศ์ อลองพญา หรือ คองบอง ของอองไจยะจึงเป็นราชวงศ์สุดท้ายแห่งราชอาณาจักรพม่าโดยแท้จริง เมื่อกษัตริย์อ่อนแอและลัทธิล่าอาณานิคมรุกเข้ามาก็สามารถกลืนกินตั้งแต่ทางตอนใต้ชายฝั่งทะเล และทางตะวันตกที่ติดกับอินเดีย จนในที่สุดก็เจาะถึงไข่แดงใจกลางแผ่นดินแห่งลุ่มน้ำอิรวดีอันอุดมสมบูรณ์ทั้งหมด  จากอองไจยะกษัตริย์หนุ่มผู้เข้าแข็ง กล้าแกร่ง นำพาผู้คนกู้ชาติบ้านเมือง จนรุ่งเรืองแผ่อาณาเขตออกไปไพศาล  สืบทอดต่อกันมาอีกหลายสมัยกษัตริย์จนถึงพระเจ้าธีบอ

                เจ้าชายธีบอ  หรือหม่อง ปู (Maung Pu)  เป็นโอรสของพระเจ้ามินดง  ประสูติในปี ๑๘๕๙ (พ.ศ.๒๔๐๒)  ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองสีป่อ  เมื่อขึ้นครองราชย์ในปี๑๘๗๘จึงได้พระนามสีป่อ  ได้เสกสมรสกับพระนางศุภยาลัต  ซึ่งเป็นพระธิดาของพระนางอเลนันดอ มเหสีองค์หนึ่งของพระเจ้ามินดง  ศุภยาลัตจึงเป็นพระขนิษฐาร่วมพระบิดาเดียวกัน   พระองค์ขึ้นเป็นกษัตริย์โดยความช่วยเหลือและแผนการของพระนางเลนันดอ  ทรงอ่อนแอ  และถูกควบคุมโดยสตรีและขุนนางฉ้อฉล  จนในที่สุดต้องพ่ายแพ้แก่อังกฤษ  พระองค์พร้อมด้วยมเหสีต้องถูกควบคุมตัวไปอยู่เมืองรัตนคีรีในอินเดียอันห่างไกลในปี ๑๘๘๕(พ.ศ.๒๔๒๘) และสิ้นพระชนม์ในอีก ๓๐ ปีต่อมา  ส่วนพระนางศุภยาลัตได้รับอนุญาตให้กลับมาพม่ามาอยู่ย่างกุ้งจนสิ้นพระชนม์ในปี ๑๙๒๕ 

๐๐๐๐๐

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก  ประวัติศาสตร์พม่า  A History  of  Burma  โดย  หม่อง ทิน อ่อง 

Tags : พม่าไม่ไปไม่รู้ 19

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view