http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม13,960,891
Page Views16,267,240
« March 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31      
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

ฤาษีแห่งเลตองคุตอน4.วัฒนธรรมการแต่งกาย มิติที่แตกต่าง

ฤาษีแห่งเลตองคุตอน4.วัฒนธรรมการแต่งกาย มิติที่แตกต่าง

ฤาษีแห่งเลตองคุตอน4.

วัฒนธรรมการแต่งกาย มิติที่แตกต่าง

โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

              ในประเทศไทยมีกะเหรี่ยงอยู่ 352,296 คน นับเป็น 46.80% ของชาวเขาในประเทศไทย มีจำนวน 1,993 หมู่บ้าน 69,353 หลังคาเรือน กระจายอยู่ทั่วไปในจังหวัดต่างๆได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน กาญจนบุรี ตาก แม่ฮ่องสอน กำแพงแพชร เพชรบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ แพร่ ฯลฯ แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆได้ 4 กลุ่มคือ กะเหรี่ยงสะกอ คนเหนือเรียก ยางขาว หรือปกาเกอะญอ มีจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย กะเหรี่ยงโปว์ หรือโพลว กะเหรี่ยงปะโอ หรือ ตองสู และกะเหรี่ยงบะเว หรือคะยา สองกลุ่มหลังนี้อยู่ในจังหวัดแม่ฮ๋องสอน

เชวา ชุดของเด็กๆทุกวัยทุกเพศอาจขาวหรือชมพู

              กะเหรี่ยงมีภาษาเฉพาะของตนเองแบ่งได้ถึง 8 ภาษา เป็นภาษากลุ่มจีน-ทิเบต เป็นภาษดั้งเดิมที่ไม่ได้คัดลอกจากภาษาใดๆ มีความเป็นชนชาติด้วยภาษามายาวนาน อันดำรงไว้ซึ่งความเป็นเผ่าพันธุ์เก่าแก่ อังกฤษเรียกกะเหรี่ยงว่า กะเร็น(Karen) พม่าเรียกว่า กะยิ่น เนื่องจากพม่าออกเสียงตัว "ร" ไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม กะเหรี่ยงเป็นเผ่าพันธุ์ที่ไม่ชอบโยกย้ายถิ่นที่อยู่อาศัย การตั้งถิ่นฐานจึงมั่นคง ปลูกพืชผลไว้เป็นหลักฐานเช่นทุเรียน หมาก ระกำ มะไฟ ขนุน มะม่วง 

สาวน้อยสาวนิดใส่ชุดเชวาเทินของไปเฝ้าฤาษี

               ภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวกะเหรี่ยงเห็นได้จากวัฒนธรรมการแต่งกาย หรือเครื่องนุ่งห่ม กะเหรี่ยงรู้จักการปลูกฝ้ายเพื่อใช้เส้นใยในการถักทอเสื้อผ้าไว้ใช้ในครอบครัว ผู้หญิงกะเหรี่ยงทุกคนต้อง ปั่นฝ้าย กรอด้ายจากฝ้าย ย้อมสีด้ายจากเปลือกไม้ เปลือกผลไม้ ใบไม้ แก่นไม้ หรือเมล็ดผลไม้ แต่กะเหรี่ยงไม่มีกรรไกร การถักทอผ้าฝ้ายจึงถักทอพอดีกับการเย็บให้เป็นซิ่น เสื้อชาย เสื้อหญิง ชุดเด็กๆ ชุดสาวๆ แต่ถ้าจำเป็นต้องตัดก็ใช้มีดคมๆตัดหรือกรีดกลางหรือข้างใดข้างหนึ่ง

ชุดเชวาแขวนไว้ใต้ถุนบ้าน ลูกสาวท่าจะหลายคน

              ในการทอผ้าทุกชาติเชื้อเผ่าพันธุ์คล้ายคลึงกัน มีกี่กระตุกเป็นเครื่องมือในการทอ การทอก็ใช้เส้นตั้งและเส้นนอนเหมือนๆกัน เว้นแต่การทอจะละเอียดเนียนแตกต่างกันเพียงใดขึ้นอยู่กับความปราณีตของแต่ละเผ่าพันธุ์ แต่ละคน ลวดลายของผ้าก็จะสร้างขึ้นจากจินตนาการของแต่ละเผ่าพันธุ์ หรือสืบทอดกันมา แต่สำหรับกะเหรี่ยงแล้วส่วนใหญ่ถักทอเพื่อการใช้ในชีวิตประจำวัน งานทอจึงเรียบง่าย ใช้เวลาไม่มาก ผ้าที่ทอแล้วใช้ได้ทนทานนานปี แต่ถ้าเป็นชาวเขาเผ่าอื่นๆบางเผ่าจะแยกแยะออกไปเป็นชุดใส่ทำงาน ชุดใส่ในพิธีกรรมต่างๆ

ชุดแต่งงานแล้ว

              สี กะเหรี่ยงก็เหมือนชาติเชื้อเผ่าพันธุ์อื่นๆที่ล้วนมีภูมิปัญญาที่สั่งสมมาจากบรรพบุรุษว่า อยากได้สีอะไรก็ให้ใช้เปลือกต้นอะไร หรืออยากได้สีเข้มหรือสีอ่อนจะใช้การย้อมระดับไหน กะเหรี่ยงก็สั่งสอนกันเป็นมรดกตกทอดจากแม่สู่ลูก แต่เท่าที่เห็นกะเหรี่ยงที่บ้านเลตองคุมักใช้สีไม่กี่สี เช่น

อะอะ จะพากันไปไหน

              ผ้าทอเป็นสีขาวทรงกระสอบ มักใช้เป็นชุดเด็กชาย เด็กหญิง และใช้ไปจนกว่าจะเป็นสาว หากไม่ได้แต่งงานออกเรือนไปก็จะไม่เปลี่ยนสี ชุดนี้เรียกว่าชุด เชวา หรือ มึกะเหนาะ ดังนั้นหากพบเห็นหญิงกะเหรี่ยงคนใดวัยสาวแก่แต่แต่งชุดเชวาก็แสดงว่าเธอยังโสดอยู่ เธออาจไม่อยากแต่งงาน หรือเธอไม่มีผู้ชายคนไหนสนใจมารักเธอ แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดสาวโสดกะเหรี่ยงก็ต้องใส่ชุดขาวชุดนี้ไปจนวันตาย 

 

 

นั่งเล่นกันทั่วไปในหมู่บ้าน

              เด็กๆผู้ชายชาวกะเหรี่ยงเมื่อพ้นวัยเด็กๆ ก็มักจะใส่เสื้อผ้าคอวีทรงกระสอบสีแดง นุ่งโสร่งหรือกางเกงขายาวสีดำ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ชายชาวกะเหรี่ยงบ้านเลตองคุต้องแต่งตัวไปทำพิธีทางศาสนาอันได้แก่ ลัทธิฤาษี ที่สำนักฤาษี  ผู้ชายผู้ใหญ่จะแต่งตัวด้วยชุดทรงกระสอบสีขาวขลิบชายสองข้างเอวด้วยสีบานเย็นหรือสีชมพู ที่เรียกว่าชุดเชวา ได้ หรือบางกลุ่มก็ไปด้วยชุดนุ่งโสร่งและเปลือยท่อนบน มุ่นมวยผมแล้วคาดด้วยผ้าหลากสี เหมือนพระเอกลิเกคาดสังวาลย์เพชร

ครอบครัวนี้กำลังเดินไปเฝ้าฤาษี

              ฤาษีชายกะเหรี่ยงบ้านเลตองคุ ทุกคนสูบบุหรี่ด้วยการคาบไปป์แบบฝรั่ง ผมเห็นตั้งแต่หนุ่มๆขึ้นไปก็คาบไปป์กันแล้ว แต่เด็กๆไม่เห็นว่ามีใครคาบไปป์บุหรี่ แล้วก็ไม่พบเห็นว่าสูบบุหรี่มวนโดยตรงเหมือนชายไทยตามชนบท ผู้หญิงกะเหรี่ยงที่หมู่บ้านนี้ผมก็ไม่เห็นว่าสูบบุหรี่ ซึ่งผู้หญิงทางภาคเหนือส่วนใหญ่สูบบุหรี่กันทั่วไป(บุหรี่ขี้โย)   

ชายกะเหรี่ยงสูบบุหรี่ด้วยไปป์แบบฝรั่ง

              ผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว มักจะถักทอผ้าซิ่นแต้มแต่งด้วยสีสันฉูดฉาด ส่วนใหญ่นิยมสีแดง สีบานเย็น สีน้ำเงิน สีเหลือง สีดำไม่นิยม ลวดลายมักทำทางขวางมากกว่าทางยาว ส่วนเสื้อมักถักและเย็บเป็นคอวีทรงกระสอบ อาจมีลูกปัดห้อยกระตุ้งกระติ้งเพิ่มความสวยงาม แม้เมื่อเป็นหม้ายก็ยังแต่งด้วยชุดนี้ จะกลับไปแต่งชุดขาว เชวา ก็ไม่ได้ เสื้อชุดนี้เรียกว่า เซ้ซุ

ชายกะเหรี่ยงฤาษีบ้านเลตองคุจักสานคาดผมทุกคน

               ผมไปที่บ้านเลตองคุได้เห็นผู้หญิงโพกหัวด้วยผ้าทอมือ สีสดสวยก็มี สีมอๆเพราะว่าเก่าแล้วก็มี บางคนโพกแล้วดูดีมีราศรี สวยอย่างกับดีไซเนอร์มือเยี่ยมมาออกแบบให้ แต่แท้ที่จริงมันเป็นไปโดยธรรมชาติของชนเผ่า เป็นศิลปะที่กะเหรี่ยงเองก็ไม่เคยจดจาร ทำไปด้วยความเคยชิน เป็นการโพกหรือพันด้วยวิสัยที่เคยปฏิบัติอยู่เสมอๆ

เด็กหญิงใส่ชุดเชวาและสาวอนงค์นั้นก็ใส่

               ส่วนผู้ชายใส่เสื้อคอวีสีแดงมากกว่าสีอื่น มีภู่ห้อยสองเส้นยาวถึงชายเสื้อบ้าง ยาวเลยชายเสื้อก็มี มักมีเส้นลายทางลงเป็นแนวๆ ส่วนกางเกงจะใส่สีดำ หรือนุ่งโสร่งสีต่างๆตามชอบ  ด้วยเหตุที่กะเหรี่ยงหมู่บ้านนี้นับถือลัทธิฤาษี บทบัญญัติ 10 ประการของสำนักฤาษีจึงเหมือนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของลูกบ้านไปด้วย  

ชุดเชวาที่ผู้ชายกะเหรี่ยงใส่ไปเฝ้าฤาษี

Tags : ฤาษีแห่งเลตองคุตอน3. หมู่บ้านเลตองคุ

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view