http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 07/08/2024
สถิติผู้เข้าชม14,382,558
Page Views16,714,691
« November 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

ช้างตกมันที่กุยบุรี

ช้างตกมันที่กุยบุรี

ช้างตกมันที่กุยบุรี

โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

             ด้วยความมุ่งหวังว่าจะได้ไปถ่ายรูปช้างและกะทิงอีกสักครั้งที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ได้รับความกรุณาจากหัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ให้หัวหน้าหน่วยพิทักษ์อุทยานฯห้วยลึก นายสุมนต์ จงดี และน้องอาร์ท จากที่ทำการ นำเข้าwxด้วยรถยนต์ 4x4 ของทางอุทยานฯ เพื่อบันทึกภาพความเปลี่ยนแปลงของช้างและกระทิงในพื้นที่ห้วยลึก-ป่ายาง ขอขอบพระคุณ


             ใกล้เวลาที่ช้างจะออกมายังเป้าหมายที่เคยพบ เช่นที่โป่งสลัดได หรือบ่อ 5 และอาจจะเป็นช้างอาบน้ำที่หน่วยพิทักษ์ ป่ายาง  หรืออาจจะเป็นหน่วยพิทักษ์หน้าผา ตะวันบ่ายคล้อยไปตามเวลา แต่ด้วยเป็นหน้าร้อนของเดือนมีนาคมปลายๆ จึงยังร้อนแรง หัวหน้าสุมนต์ถามว่าเป้าหมายครั้งนี้เพื่ออะไร ช้าง กระทิง หรือนกเงือก เพื่อจะได้นำทางไปส่องให้ถูกเป้าหมาย


             “ช่วงหลังนี้ ช้างไม่ออกเป็นฝูงใหญ่ และกระทิงหลังเกิดการตาย กระดะไปมาก แทบไม่ได้เห็นเขาเหมือนเก่า” หัวหน้าสุมนต์เล่าไปพลางก็โยกตัวไปตามแรงเหวี่ยงของรถตะลุยบนเส้นทางราดด้วยฝุ่นและหลุมบ่อ

             “คงต้องเหวี่ยงแห โดยจะพาไปตามเส้นทางด่านช้างและสัตว์ป่าทั่วไป”

             รถยนต์หลวง สภาพเสื่อมโทรม กระบะท้ายวางไม้แผ่นให้นั่งแบบตรวจการณ์ สองแถบ ผม หัวหน้าสุมนต์และน้องอาร์ท เท่านั้นที่นั่งหลังเพื่อจะได้เห็นสัตว์ป่าได้กว้างไกลและสะดวกที่จะบันทึกภาพ แรงกระแทกแต่ละครั้ง กระดอนจนก้นแทบไม่ติดไม้กระดาน มันดี เหมือนเมื่อตอนที่ผมยังปฏิบัติหน้าที่ราชการ ปราบปรามการกระทำผิดตามพ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484และพ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ.2507 อยู่ที่จังหวัดน่าน เมื่อยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา และกว่า 29 ปีที่จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ และยโสธร 

            แดดยังแรง สาดใส่จนใบหน้าแสบ แต่เรื่องแค่นี้ “จิ๊บจ๊อย” เราต่างกวาดสายตาไปตามทุ่งโล่ง พงไม้ในป่าดง เสียงเคาะกระบะรถ คนขับหยุดนิ่ง หัวหน้าสุมนต์ชี้ไปทางซ้ายมือ บนยอดยางใหญ่


           “เหยี่ยวครับ” ผมตั้งขากล้องแล้วถ่ายได้รูปเหยี่ยวรุ้งมาหลายภาพจนสะใจ ด้วยกำลังขยายของกล้องพ็อกแพคขนาดเล็กแต่กำลังขยายไกลถึง 1,200 มม. อันเป็นกล้องแนวใหม่ที่ผมเลือกใช้เพื่อใช้ถ่ายภาพสัตว์ป่า นก และวิวทิวทัศน์ จบในกล้องเดียว  เสียงเคาะกระบะส่งสัญญาณให้เคลื่อนรถต่อไป ระหว่างทางบางครั้งเห็นกระต่ายป่ากระโดดหลบเข้าพงถ่ายรูปไม่ทัน  บางครั้งเป็นหมูป่าวิ่งเร็วจี๋หนีไป 

            รถยนต์ห้อตะบึงไปตามทางดิน ผ่านไปหลายเขาและหลายบ่อที่ขุดเพื่อเก็บกักน้ำให้สัตว์ป่าออกมาหากิน แต่ละบ่อน้ำน้อยนิด มีร่องรอยสัตว์ป่าเดินเหยียบย่ำ ทันใด เนื้อทรายตัวหนึ่งออกมายืนขวางทางรถ ผมถ่ายมาได้แม่นเหมือนจับวาง ดูเหมือนว่าจะเชื่องมากกว่าสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ ใช่เลย เขาเป็นสัตว์ที่เพาะเลี้ยงแล้วทดลองปล่อยคืนสู่ป่า ยังเหลือรอดตายให้เห็น อันเป็นการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าอีกทางหนึ่ง เยี่ยมครับ


              รถยนต์ที่แล่นไปเกิดเสียงดังโครมครามนั้นไม่ทำให้สัตว์ป่าตื่นมากนัก คงเกิดจากความจำเจระหว่างรถยนต์คันนี้กับวิถีชีวิตของเขาที่ต้องข้องเกี่ยวกัน เมื่อเห็นและแน่ใจว่า รถยนต์คันนี้ไม่ทำร้ายเขาๆก็ยืนมองเหมือนเพื่อนเข้ามาหา  เป็นความเคยชิน และเป็นปกติที่ต้องได้เห็นกันและกัน เสียงเคาะดังอีก เมื่อพบว่ามีนกกวักข้างลำธาร ครบหมู่พ่อแม่ลูกๆ แต่พ่อกลัวมากวิ่งจู๊ดเข้าดงหญ้าไปก่อน 


               ผมถ่ายได้ 5-6 ภาพ เขาก็พาลูกๆหลบเข้าดงหญ้าข้างชายป่าไป รถยนต์เคลื่อนตัวอีกครั้ง ขณะกำลังไต่ขึ้นเนินเขา ก็หยุดทันใดเมื่อพบว่ามีนกชนิดหนึ่งเกาะกิ่งไม้อยู่ สีเทาดำ ยาว ใหญ่ไม่เกินนกเหยี่ยว แต่ก็ใหญ่กว่านกพิราบป่า ผมถ่ายได้จะจะหลายภาพ ทั้งที่ยังไม่รู้ว่าเป็นนกอะไร ถามหัวหน้าสุมนต์ๆก็ไม่รู้เหมือนกัน ตามหลักการที่ปฏิบัติคือถ่ายไปก่อนแล้วค่อยไปสืบค้นเหมือนเคย


               สารถีเร่งเครื่องยนต์ขึ้นเขาไปทางบ่อ 5 อันเชื่อว่าจะได้พบช้างฝูงหรือกระทิง แต่ไปได้นิดเดียวก็ต้องหยุดรถเมื่อหัวหน้าสุมนต์ชี้ให้เห็นว่า มีช้างงางามมากตัวหนึ่งกำลังเดินจ้ำอ้าวๆอยู่ชายป่า ท่าทางเขาดูเครียดๆ อาการเดินย่างสามขุมและมุ่งดิ่งไปในทิศทางเดียว หัวหน้าสุมนต์จึงให้หยุดรถแล้วบันทึกภาพไว้ กลิ่นเหม็นเขียวหรืออาจเหม็นหืนฟุ้งมาเข้าจมูก


               “ช้างตกมัน สังเกตที่ต่อมเหนือตาเขานะครับ มีน้ำมันไหลเยิ้ม” ผมถ่ายรูปได้เต็มๆแค่ 5 ภาพ ช้างงางามตัวผู้ก็เดินจ้ำหายไปในดงไม้ข้างชายป่า แต่ก็ยังเห็นเงาที่เขาย่างสามขุมมุ่งตรงไป หำช้างขนาดใหญ่โผล่ให้เห็น เราขับรถตามกลิ่นเหม็นเขียวไปเรื่อยๆ แต่ไม่กดดัน


               “ต้องทิ้งระยะ ถ้าไปกดดันเขามากอาจหันกลับมาทำร้ายได้ง่ายๆ มันกำลังอารมณ์ร้อนแรง หงุดหงิด คงจะติดสัด” หัวหน้าสุมนต์เล่าให้ฟัง แล้วกำกับคนขับรถด้วยท่าทีที่เข้าขากัน เป็นความชำนาญงานในหน้าที่และเป็นความรอบรู้ที่ได้บทเรียนจากป่าซึ่งเขาทำงานด้านนี้มากว่า 11 ปีแล้ว  

                ถามว่าตื่นเต้นไหมที่ได้เห็นช้างตกมัน ตอบได้ครับว่าตื่นเต้น เพราะว่าข่าวช้างตกมันใช้งวงฟาดควาญช้างแหลกเกิดขึ้นบ่อยๆ แม้ว่าจะเป็นช้างบ้านหรือช้างเลี้ยง แต่เจ้างางามตัวนี้เป็นช้างป่าและเป็นช้างโทน จึงน่าสะพรึงกลัวมากกว่า เข้าป่าอวดเก่งไม่ได้เลย ต้องฟังผู้นำทางครับ


                 ช้างตกมัน(Musth หรือ Must) เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนเพศผิดปกติ ระดับของฮอร์โมน Testosterone สูงกว่าช้างปกติถึง 60 เท่า ส่งกลิ่นเหม็นจากต่อม Temporin ด้านข้างของหัวทั้งสองข้าง ในภาพจะเห็นชัดเจน ปัสสาวะ จะไหลออกมาแบบกระปิดกระปอย อาจมีอสุจิหลั่งติดมาด้วย สิ่งคัดหลั่งที่ปนเปื้อนออกมา รวมๆกันแล้วกลิ่นที่เหม็นตลบไปไกลนั้น เกิดเฉพาะเมื่อช้างตกมัน จะเกิดนาน 2-3 สัปดาห์ เกิดทั้งตัวผู้และตัวเมีย


                 ช้างตกมันระหว่างอายุ 25-40 ปี สำหรับช้างบ้านเขาควบคุมด้วยการล่ามโซ่ ให้ฟักเขียวกินเพื่อลดอาการ ก่อกองไฟไล่ต่อมไขมันดังกล่าว ให้อาหารน้อยลง แต่สำหรับช้างป่า ไม่มีการควบคุมแต่อย่างใด เว้นแต่ชาร์ทใส่นักท่องเที่ยวก็อาจต้องยิงยาสลบ   เป็นเหตุการณ์ที่ผมไม่เคยคาดคิดว่าจะโชคดีที่ได้พานพบ เป็นประสบการณ์หนึ่งที่เร้าใจ ตื่นๆเหมือนกัน


ต่อมข้างตามีน้ำมันไหลเยิ้ม เหม็นเขียวมากๆ

                  ค่ำแล้ว ตะวันลับขอบเขา รถยนต์แล่นตะบึงเพื่อออกมายังหน่วยฯห้วยลึก เพื่อส่งให้ผมเดินทางกลับไปยังอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ซึ่งผมจะไปฝังตัวนอนรอเจ้านกเงือกและเจ้านกแก๊ก พบเห็นได้ง่ายก็จริง  แต่ช่วงเวลาที่พบกลายเป็นช่วงเวลาที่มืดเกินจะถ่ายรูปได้ งานนี้จึงชวดภาพนกแก๊ก และนกเงือก ก็ไม่เสียใจหรอกนะ เพราะว่าได้ช้างตกมันมาเล่าสู่กันอ่านแล้วไง 

Tags : นกกาแวน

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view