http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม13,960,475
Page Views16,266,807
« March 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31      
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

ท่องอุบลแบบคนอุบล 5 ทอฝ้าย สายบุญจุลกฐินวัดไชยมงคล

ท่องอุบลแบบคนอุบล 5 ทอฝ้าย สายบุญจุลกฐินวัดไชยมงคล

ท่องอุบลแบบคนอุบล ๕

ทอฝ้าย สายบุญจุลกฐินวัดไชยมงคล

“เอื้อยนาง”

            วันที่ ๕ พฤศจิกา ๕๗ ก่อนวันลอยกระทงหนึ่งวัน พระจันทร์สวยแย้มฟ้า  เป็นช่วงปลายฤดูกฐินแห่งปี  และเช้าวันนี้ที่วัดไชยมงคล อุบลราชธานี ที่ตั้งอยู่คนละฝั่งถนนทางด้านทิศเหนือของศาลากลางจังหวัดหลังเก่า (ที่ถูกเผาไปแล้ว)   มีงานประเพณีที่ชื่องาน ทอฝ้ายสายบุญจุลกฐิน

          นับเป็นงานรวมใจไทอุบลได้ทีเดียว  ทั้งภาครัฐ เอกชน และทางวัดที่ช่วยร่วมแรงแข็งขันจนถนนภายในวัดแน่นขนัดคลาคล่ำท่ามกลางแดดใสแห่งพฤศจิกายน

            เมื่อคืนพระจันทร์สวย  เช้านี้อากาศเย็นน้ำค้างพรม สายมาแดดใส  ผู้คนชาวอุบลชาวคุ้มวัดไชยมงคลแต่งตัวสวยหน้าตาแจ่มใสจะไปร่วมบุญ จุลกฐิน


            กฐินเป็นประเพณีพิธีกรรมทางพุทธศาสนาที่มีช่วงเวลาสั้น ๆ เพียง ๒๙ วันหลังออกพรรษา ของแต่ละปีซึ่งในประเทศไทยแบ่งเป็นสามประเภท คือ กฐินต้น เป็นกฐินที่พระเจ้าแผ่นดินทอด เป็นพระราชกุศลส่วนพระองค์  ทอดวัดใด ๆ ที่ไม่ใช่วัดหลวง อาจเป็นวัดตามหัวเมืองก็ได้  กฐินราษฎร์ เป็นกฐินที่ราษฎรจัดขึ้น อาจมีเจ้าภาพคนเดียว หรือร่วมใจกันเป็นหมู่คณะเรียกว่า กฐินสามัคคี มักทำกันเป็นงานใหญ่ เอิกเกริก จุลกฐิน เป็นกฐินเร่งด่วน ชาวท้องถิ่นเรียก “กฐินแล่น” แต่จริง ๆ แล้วมีขบวนการมากมายที่ต้องผลิตผ้ากฐินให้ได้ในวันเดียว โดยเริ่มตั้งแต่ปั่นฝ้ายให้เป็นเส้นแล้วนำมาถักทอเป็นผืนผ้า เย็บ ย้อม ตากแห้งก่อนนำไปทอดผ้ากฐิน  จึงต้องอาศัยความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจของผู้ชำนาญการต่าง ๆ มากมาย


            อาศัยขบวนการแห่งความร่วมใจนี้ ชาวอุบลราชธานี เครือข่ายชาวอุบลตุ้มลูกตุ้มหลานฮักบ้านแพงเมือง กศน.จังหวัด รวมถึงโรงเรียนหลายโรง ทางวัดและวัฒนธรรมจังหวัด ได้ร่วมแรงให้งานกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของเยาวชนคนรุ่นใหม่ไปด้วย  เป็นสืบสานประเพณีต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๕๒

            วัดไชยมงคล ตั้งอยู่ที่ถนนสุรศักดิ์ ตรงกันข้ามกับศาลากลางหลังเก่า(ที่ถูกเผาไปแล้ว)มีเนื้อที่ ประมาณ ๑๕ ไร่  นับเป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งของอุบลราชธานี ที่ตั้งขึ้นในยุคที่อุบลราชธานียังเป็นศรีวนาลัยประเทศราช ซึ่งทางสยามยังปล่อยให้หัวเมืองลาวยังปกครองแบบจารีตเดิมล้านช้างที่มีคณะผู้ปกครองสูงสุดของเมืองสี่ตำแหน่ง คือ เจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ และราชบุตร เริ่มตั้งแต่เจ้าคำผงจนถึงคนที่ ๔ คือเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งวัดไชยมงคลแห่งนี้

            นับเป็นวัดธรรมยุติกานิกายลำดับที่๔  ของอุบลราชธานี ที่ตั้งขึ้นในช่วงรัชกาลที่๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ตามลำดับมา คือ วัดสุปัฏนาราม  วัดศรีทอง(อุบลรัตนาราม) วัดสุทัศนาราม และวัดไชยมงคลดังกล่าว


            เหตุที่ได้ชื่อวัดไชยมงคล เพราะช่วงนั้นได้เกิดศึกฮ่อรุกรานถึงเวียงจันทน์ซึ่งเป็นประเทศราชของสยามด้วย  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการให้เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์เจ้าเมืองอุบลราชธานียกกองทัพไปช่วยปราบฮ่อ  และสถานที่แห่งนี้เป็นที่ร่มรื่นด้วยเงาไม้ใหญ่เหมาะสำหรับเป็นแหล่งรวมพลตั้งทัพก่อนออกเดินทาง เจ้าเมืองจึงให้จัดขึ้นที่นี่ ครั้นเมื่อได้ชัยชนะกลับมาจึงตั้งวัดขึ้น ณ ที่แห่งนี้ เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะ และให้นามวัดว่าวัดไชยมงคล โดยได้อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญที่ได้มาจากเวียงจันทน์ครั้งนั้นด้วยมาประดิษฐานไว้ (ยังมีพระพุทธรูปสำคัญอีกองค์ที่ได้มาจากเวียงจันทน์พร้อมกันคือพระทองทิพย์ที่ประดิษฐานไว้ ณ วัดศรีทอง)


            เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์นับเป็นบรรพบุรุษที่เคารพคนหนึ่งของอุบลราชธานี เดิมมีนามว่า เจ้าหน่อคำ ผู้สืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าสิริบุญสารแห่งนครเวียงจันทน์  โดยเป็นหลานปู่ของเจ้าอนุวงศ์วีระบุรุษผู้เป็นนักรบกล้าผู้ท้าทายต่ออำนาจกดขี่ของสยาม แม้จะแพ้ในที่สุดจนได้ชื่อว่าเป็นกบฏตามครรลองของผู้แพ้และผู้ชนะ  แต่ก็เป็นผู้ครองใจของชาวลาวตลอดมาจนปัจจุบัน

             สร้างวัดเสร็จจึงได้กราบนิมนต์พระอธิการสีโห(อัญญาสิงห์)จากวัดศรีทองมาเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดไชยมงคล  จนปัจจุบันเป็นรูปที่ ๙ คือ พระครูจิตวิสุทธิญาณคุณ(พระจตุรงค์ ญาณตตฺโม ๒๕๔๓-ปัจจุบัน)ซึ่งเป็นผู้มุ่งมั่นแรงกล้าในการสืบสานมรดก วัฒนธรรมแห่งอุบลราชธานี


            ทอฝ้ายสายบุญจุลกฐิน    ปีนี้เริ่มตั้งแต่เช้าตรู่ของวันที่ ๕ ถนนทุกสายในวัดคลาคล่ำด้วยผู้คน ประชาชนทั่วไป นักเรียน นักศึกษาและนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาร่วมงาน  เพราะเป็นถนนสายบุญและเป็นองค์ความรู้ที่จัดขึ้นไว้ให้ตักตวง  ซึ่งแบ่งเป็นหลายสาย เช่น ถนนข้าวจี่ ถนนข้าวปุ้น  ถนนข้าวปาด  ถนนข้าวเม่า  ถนนข้าวโป่ง  ถนนข้าวหลาม  ถนนข้าวตอกแตก  ถนนข้าวต้มมัด และถนนข้าวกระยาสารท ทุกสายเป็นที่ตั้งซุ้มแสดงสาธิตกระบวนการผลิตข้าวนั้น ๆ ตามชื่อ ซึ่งเป็นการแปรรูปข้าวแบบพื้นเมืองเดิม  พร้อมมีให้ชิม ให้กินกันอย่างเหลือเฟืออิ่มหนำได้ทุกคนอีกด้วย


            นอกจากนั้นยังมีถนนสายฝ้าย และสายไหมที่จัดแสดงสาธิตขั้นตอนการผลิตจากปุยฝ้ายจนกลายเป็นผืนผ้าอีกด้วย

            ที่น่าประทับใจ คือ หมอลำคู่แบบดั้งเดิม(ไม่มีนักเต้น หรือหางเครื่องมาแจม) และสาธิตการละเล่นขาโถกเถกที่เด็ก ๆ ได้ลองฝึกกันสนุก

            บนเวทีใหญ่ที่ตั้งบนลานหน้าโบสถ์นั้นมีการแสดงของโรงเรียนต่าง ๆ ให้ชมตลอดงานค่ะ(ยังมีต่อ)

๐๐๐

  

Tags : ท่องอุบลแบบคนอุบล4

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view