http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม13,961,119
Page Views16,267,483
« March 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31      
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

ในคมขวาน19 พระสายน์

ในคมขวาน19 พระสายน์

ในคมขวาน ๑๙

พระสายน์

จากวัดโพธิ์ชัยหนองคายสู่วัดปทุมวนาราม กทม.

 

“สาวภูไท”

            เทศกาลตรุษจีน๒๕๕๘ ผู้เขียนกับพิมลพรรณผู้กลายเป็นนักท่องวัดในกทม.ด้วยกันไปแล้ว  ได้ไปกราบพุทธรูปในโบสถ์ นาม “พระสายน์” ณ วัดปทุมวนาราม  ราชวรวิหาร  ปทุมวัน  พร้อมอธิษฐานถึงพระพุทธรูปที่มีชื่อคล้ายกัน  และมักมีการเข้าใจผิดว่าเป็นองค์เดียวกัน นั่นคือพระใสที่วัดโพธิ์ชัย  จังหวัดหนองคาย ซึ่งมีประวัติความเป็นมาเกี่ยวโยงกัน  คือข้ามแม่น้ำโขงจากล้านช้างสู่สยามประเทศในช่วงเวลาเดียวกัน


            ความจริงพระพุทธรูปที่มีนามขึ้นต้นด้วยตัวอักษร “สอ” จากล้านช้างที่ถูกอัญเชิญข้ามโขงในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน(หลังศึกพระเจ้าอนุวงศ์)ยังมีอีกหลายองค์ คือ พระเสริม  พระสุก  พระใส พระเสาร์ พระเสี่ยง พระแสน และพระสายน์องค์นี้


            เพราะนามนั้นออกเสียงใกล้เคียงกัน  และข้ามแม่น้ำโขงจากราชอาณาจักรล้านช้างมาอยู่ที่วัดโพธิ์ชัยหนองคายก่อนเช่นกัน  จึงมักเข้าใจผิดว่าเป็นองค์เดียวกัน

            นั่นคือพระสายน์  กับพระใส

            จึงขอเท้าความจากประวัติศาสตร์ ล้านช้างเวียงจันทน์ถึงประวัติความเป็นมาของพระพุทธรูปศักดิ์คู่บ้านคู่เมืองหนองคายในวัดโพธิ์ชัยก่อนนะคะ


            เมื่อพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช(ครองราชย์ช่วงพ.ศ.๒๐๘๙-๒๑๑๔ )ได้ทรงย้ายเมืองหลวงของอาณาจักรล้านช้างจากหลวงพระบางมาตั้งยังเวียงจันทน์  เป็นยุคแห่งความเจริญรุ่งเรืองยุคหนึ่งของราชอาณาจักร  ทรงเป็นกษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาทั้งด้านการรบและการปกครองบ้านเมือง  เมื่อย้ายนครหลวงมาแล้วก็ทรงปรับปรุงทำนุบำรุงบ้านเมือง  และการพระศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองเป็นการใหญ่  มีการสร้างแปงวัดวาอารามใหม่ ขึ้น  และยังให้มีการซ่อมเสริม บูรณปฏิสังขรณ์วัดเดิม  ทรงส่งเสริมการสร้างพระพุทธรูปสำคัญขึ้นมากมายประดิษฐานไว้ทั้งสองฟากฝั่งแม่น้ำโขง ตั้งแต่พระธาตุหลวงเวียงจันทน์จนถึงพระธาตุพนม


            ไม่เพียงแต่พระองค์เท่านั้นที่มีศรัทธาและทุ่มเทให้การพระศาสนา  แต่ยังรวมถึงข้าราชบริพารใกล้ชิด พระมเหสี และพระธิดาอีกด้วย  ต่างปฏิบัติเพื่อการกุศลโดยสร้าง บำรุงวัด และสร้างพระปฏิมากรประจำพระองค์

            พระธิดาสามพระองค์มีนาม เจ้านางสุก  เจ้านางเสริม  และน้องเล็กเจ้านางใสซึ่งเป็นพี่น้องร่วมพระมารดาเดียวกันคือพระนางจอมมณี  ต่างก็ได้จัดสร้างพระพุทธรูปประจำแต่ละองค์เพื่อเป็นสิริมงคลเช่นกัน

            เป็นพระพุทธรูปงดงามหล่อด้วยทองคำสีสุก  มีนามตามผู้ทรงสร้างว่า  พระสุก  พระเสริม  และพระใส  ประดิษฐานไว้ ณ วัดโพนชัย ที่เวียงจันทน์เป็นที่เคารพสักการของปวงชน

            ต่อมาหลังจากพระเจ้าไชยเชษฐาสิ้นพระชนม์ก็เกิดสงคราม ความวุ่นวายขึ้นในราชอาณาจักร จึงมีการเคลื่อนย้ายสิ่งมีค่าของบ้านเมืองไปหลบซ่อนข้าศึก  พระสุก  พระเสริม  พระใสถูกนำไปเก็บซ่อนในแถบภูเขาควาย ซึ่งมีภูผาหน้าถ้ำลึกลับมากมาย  บ้างแหล่งหลบซ่อนซ่องสุมกำลังคนเพื่อการสู้รบ  บ้างแหล่งที่อยู่ผู้คนผู้ชอบสัณโดษอยู่ห่างไกลความวุ่นวาย 

            ถึงรัชสมัยของพระเจ้าสุริยวงศาธรรมมิกราชนั้นเป็นช่วงบ้านเมืองสงบสุขร่มเย็นพระพุทธรูปทั้งสามได้กลับมาประดิษฐานยังเวียงจันทน์ตามเดิม  แต่ครั้นหมดยุคของพระองค์ความขัดแย้งในราชสำนักก็ก่อตัวขึ้นอีก พระพุทธรูปสำคัญทั้งสามและอื่น ๆ จึงถูกนำไปซ่อนอีกครั้งหนึ่ง

            และในสมัยพระเจ้าสิริบุญสารได้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงกับเสนาบดีผู้ใหญ่เป็นเหตุให้พระวรปิตายกไพร่พลหลบหนีกระทั่งถึงนครจำปาศักดิ์  เกิดการสู้รบไล่ล่าไม่สิ้นสุดจนฝ่ายผู้หลบหนีไปขอพึ่งพระบารมีของพระเจ้ากรุงธนบุรี  เวียงจันทน์จึงถูกตีแตก  พระแก้วมรกต  พระบางถูกอัญเชิญข้ามฝั่งโขงเข้าสยามพร้อมคนลาวจำนวนมากถูกกวาดต้อนมาด้วย  รวมถึงเจ้าอนุวงศ์บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์สองราชอาณาจักรด้วย 

            กระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งรัตนโกสินทร์เจ้าอนุวงศ์ซึ่งได้กลับมาปกครองเวียงจันทน์ในฐานะประเทศราชสยามแล้วต้องการเป็นเอกราช  สงครามจึงเกิดขึ้น  และเจ้าอนุวงศ์เป็นฝ่ายแพ้สิ่งมีค่าก็ถูกซอกค้นเก็บกวาด เคลื่อนย้ายมาอีกคราว


            ส่วนพระสุก พระเสริม  พระใส และพระพุทธรูปสำคัญอื่น ๆ เช่น พระเสาร์  พระเสี่ยง  พระอรุณ  พระเจ้าอินแปลง  และอื่น ๆที่ไม่ทราบชื่อ ถูกอัญเชิญออกจากภูเขาควาย   ลงแพไม้ไผ่ ล่องมาตามแม่น้ำงึม  ครั้นใกล้ถึงปากงึมที่บรรจบกับแม่น้ำโขง ได้เกิดอัศจรรย์มีพายุใหญ่เกิดขึ้น  ฟ้าแลบแปลบปลาบ  แท่นพระสุกได้แทรกแพจมลงใต้น้ำหายไปไม่พบอีกเลย  บริเวณนั้นได้ชื่อว่า  “เวินแท่น”    และเมื่อมาถึงปากน้ำงึม(เฉียงกับที่ตั้งอำเภอโพนพิสัย)ก็เกิดอัศจรรย์ขึ้นอีก พระสุกได้แหกแพจมหายลงไปใต้แม่น้ำโขงอีกที่ตรงนั้นถูกเรียกว่า  “เวินสุก”  ตลอดมา


             แพพระพุทธรูปที่เหลือทวนน้ำขึ้นมาถึงโพนพิสัย(ปากห้วยเดิม)ก็หยุดพัก อัญเชิญพระเสี่ยงขึ้นไว้ในวัดมณีโคตร  แล้วนำแพพาพระพุทธรูปที่เหลือทั้งหมดไปไว้ที่วัดหอก่อง หรือ วัดประดิษฐ์ธรรมคุณ (ปี พ.ศ.๒๓๗๑) ต่อมาเจ้าเมืองและกรมการเมืองหนองคายได้ประชุมตกลงกัน อัญเชิญพระเสริมไปไว้ที่วัดโพธิ์ชัย  ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ และได้บูรณะขึ้นใหม่ให้สวยงาม ใหญ่โต โอ่อ่า เหมาะสำหรับพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองนี้  ไม่นานต่อจากนั้นหลังจากเปลี่ยนรัชกาลในกรุงเทพฯ พระเสริมได้ถูกเคลื่อนย้ายไปไว้ที่กรุงเทพฯ ยังคงเหลือแต่พระใส ที่อัญเชิญจากวัดหอก่อมายังวัดโพธิ์ชัย  และเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองหนองคายมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ (ประชาชนทั่วไปมักเรียกว่า “หลวงพ่อพระใส”  หรือ  “หลวงพ่อเกวียนหัก”)

              พ.ศ.๒๓๙๘ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  ได้ทรงแต่งตั้งเจ้าหน่อคำข้าหลวงให้ออกไปทำการสักเลกขึ้นทะเบียนสำรวจประชาชน ได้มาพัก ณ หนองคายกว่าปี ทำการสักเลกทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขง  พบพระพุทธรูปล้ำค่าในแถบเมืองมหาชัยกองแก้ว   คือ พระแสน และพระสายน์ จึงได้อัญเชิญเคลื่อนย้ายมาไว้ ณ วัดโพธิ์ชัยแห่งเดียวกันนี้ก่อนมีการเคลื่อนย้ายต่อเข้ากรุงเทพฯ เพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


              เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้มีการสร้างวัดปทุมวนาราม(พระอารามหลวงชั้นตรี)ขึ้น  พระแสน  พระเสริม  พระสายน์จึงได้ประดิษฐาน ณ วัดปทุมวนารามแห่งนี้ตลอดมา

              พระสายน์นั้นประดิษฐานไว้ในโบสถ์(ดังในรูป) ส่วนพระเสริม กับพระแสนอยู่ในวิหารต่างหาก  ส่วนพระใสยังคงอยู่ที่วัดโพธิ์ชัย จังหวัดหนองคายดังเดิม

๐๐๐

ข้อมูลจาก  “ประวัติศาสตร์ไทยลาว เรื่องพระสุก  พระเสริม  พระใส  พระแสน  พระสายน์(พระใส)”  โดย  พระมหาวิโรจน์  วิโรจโน(ผาทา) น.ธ.เอก).ธ.๔ พธ.บ.(เกียรตินิยมอันดับ๑) พธ.ม(ปรัชญา)

 

 

 

           

 

                

Tags : ท่องอุบลอย่างคนอุบล20

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view