วัดมหาธาตุวรวิหาร วัดต้นธารองค์จตุคามรามเทพ
โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ
วาดฝันว่า วันหนึ่งจะไปกราบไหว้พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช มาหลายสิบปี และแล้ววันนี้ก็ได้ไปกราบไหว้สมใจ ( 3-6 เมษายน 2558) ดีใจได้ไปและได้บันทึกภาพกลับมาชมพร้อมเขียนเป็นเรื่องราวลงในเว็บไซต์ทองไทยแลนด์ดอทคอม ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก หน้าต่างท่องแดนแผ่นดินธรรม อะฮ้า ความฝันของฉันเป็นจริง
กลับมาค้นคว้าข้อมูลผ่านโลกออนไลน์กูเกิ้ล ได้ความว่า วัดบรมธาตุสร้างขึ้นตั้งแต่พ.ศ.854 โดยเจ้าชายทนทกุมารและพระนางเหมชาลา พร้อมด้วยนักชวช(บาคู) ชาวศรีลังกา รูปแบบศิลปะศรีวิชัย คล้ายๆสถูปกิริเวเทระ เมืองโบโลนบารุ กรุงศรีลังกา
บันทึกต่อมาว่า พระบรมธาตุนครศรีธรรมราชองค์นี้มีความสูง 55.78 เมตร องค์ระฆังสูง 9.80 เมตร ปล้องไฉน 52 ปล้องโดยปลียอดปล้องไฉนหุ้มด้วยทองคำเหลืองอร่ามความหนาขนาดใบตาลสูงถึง 6 วา 1 ศอก รอบๆองค์พระบรมธาตุมีเจดีย์รายรวม 158 องค์
คติธรรมจากองค์พระบรมธาตุคือ ฐานเจดีย์รูปสี่เหลี่ยม หมายถึงพระอริยสัจสี่ รูปพระอรหันต์ทั้ง 8 รูปที่ยืนไหว้พระธาตุหมายถึง มรรค 8 ปล้องไฉน 152 ปล้องหมายถึง 1 คือช่วงอายุพระศาสนา 1 ศตวรรษ 50 คือ 50ศตวรรษ รวมเป็น 5000 ปี และ 1 ศตวรรษของพระศรีอาริยะเมตไตรย ปลียอดทองคำดุจแดนนิพพานในพระพุทธศาสนา
ว่ากันว่า ช่วงเวลาที่อาณาจักรศรีวิชัยรุ่งเรืองคือพ.ศ.1202-ศตวรรษที่ 18 โดยมีศูนย์กลางความเจริญอยู่ที่เมืองไชยา มีวัดพระบรมธาตุไชยาเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรือง
แต่ในเวลาต่อมา ศูนย์กลางความเจริญของทะเลอ่าวไทยได้เคลื่อนย้ายไปที่ กรุงศรีธรรมาโศกราช นั่นคือ พ.ศ.1620 พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชได้สร้างเมืองขึ้นที่หาดทรายแก้ว อันได้แก่เมืองนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน พร้อมกับได้สร้างพระสถูปเจดีย์ เรียกว่าบรมธาตุเจดีย์
ศตวรรษที่ 19 เป็นช่วงเวลาที่กรุงศรีธรรมาโศกราชเป็นรัฐเอกราช ซึ่งตรงกับช่วงเวลาที่กรุงสุโขทัยเจริญรุ่งเรือง เป็นอีกนครหนึ่ง
บันทึกสำคัญต่อมาที่อยากกล่าวถึงคือ ปีพ.ศ.2155-2159 พระเอกาทศรถ ซ่อมแซมปลียอดพระบรมธาตุที่หักลงให้ดีดังเดิม ปีพ.ศ.2190 พระเจ้าปราสาททอง ทรงซ่อมยอดพระบรมธาตุ ปีพ.ศ. 2275-2301 พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ดัดแปลงทางเข้าพระสถูป บริเวณวิหารพระทรงม้า ให้อลังการ ปีพ.ศ.2457 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงติดสายล่อฟ้าป้องกันฟ้าผ่าองค์พระบรมธาตุ
กรมศิลปากร ได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53 ตอน 34 ลงวันที่ 27 กันยายน 2479
วัดมหาธาตุวรมหาวิหารตั้งอยู่ถนนราชดำเนิน อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ประกอบด้วย พระวิหารหลวง วิหารพระมหาภิเนษกรณ์ หรือวิหารพระทรงม้า วิหารเขียน วิหารโพธิ์ลังกา วิหารพระกัจจายนะ หรือวิหารพระแอด วิหารพระปัญญา เจดีย์ราย รอบพระบรมธาตุ พระบรมธาตุเจดีย์ วิหารสามจอม หรือวิหารพระเจ้าศรีธรรมโศกราช วิหารทับเกษตร หรือพระระเบียงตีนธาตุ วิหารพระระเบียง หรือวิหารคด วิหารธรรมศาลา วิหารโพธิ์พระเดิม พระอุโบสถ พระพุทธบาทจำลอง และต้นพระศรีมหาโพธิ์
ในวิหารพระทรงม้าหรือวิหารพระมหาภิเนษกรณ์ มีบันไดทางขึ้นไปสู่ฐานพระมหาธาตุเจดีย์ มีประตูปิดเปิด 2 บาน แกะสลักรูปองค์ท้าวจตุคามบานหนึ่งอีกบานหนึ่งแกะสลักรูองค์ท้าวรามเทพ นี่คือต้นธารที่นำไปเป็นแบบพิมพ์สร้างองค์จตุคามรามเทพกันจนโด่งดังไปทั่วโลก ไม่มีการบันทึกไว้ว่า มีพิธีกรรมในการสร้างองค์จตุคามรามเทพกี่พันครั้งกี่รูปแบบ รู้กันเพียงว่า ด้วยฤทธาองค์จตุคามได้ดลบันดาลให้ผู้ที่เชื่อถือและศรัทธาร่ำรวยเป็นเศรษฐีมหาเศรษฐีกันไปมากมาย จนเป็นที่อัศจรรย์แก่วงการพระเครื่อง วัตถุมงคล สื่อสารมวลชนด้านพุทธศาสนา
ประกอบบุญประเพณีทั้ง 12 เดือน แต่เนื่องจากโลกเปลี่ยนไปจึงเหลือประเพณีสำคัญๆอยู่คือ
ประเพณีแห่ผ้าขึ้นพระธาตุ ตำนานกล่าวว่า พระเจ้าศรีธรรมโศกราช พระเจ้าจันทรภาณุ และพระเจ้าพงษาสุระ กษัตริย์ 3 พี่น้อง กำลังดำเนินการสมโภชพระบรมธาตุอยู่นั้น คลื่นได้ซัดผ้าแถบยาวชิ้นหนึ่ง ซึ่งมีลายเขียนเรื่องราวพุทธประวัติ (เรียกว่า พระบฎ หรือ พระบต) ขึ้นที่ชายหาดปากพนัง ชาวปากพนังจึงนำผ้าผืนนั้นไปถวายพระเจ้าศรีธรรมโศกราช
แม้ซักผ้าจนสะอาดแล้ว แต่ลายเขียนพุทธประวัติก็ไม่ลบเลือน ยังคงสมบูรณ์ดีทุกประการ พระองค์ให้ประกาศหาเจ้าของ จึงได้ทราบว่าชาวพุทธกลุ่มหนึ่ง ตั้งใจนำพระบฎไปถวายเป็นพุทธบูชาพระทันตธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) แต่เรือถูกมรสุมซัดแตกที่ชายฝั่งเมืองนครมีรอดชีวิต 10 คน ส่วนพระบฏถูกคลื่นซัดขึ้นฝั่งปากพนัง
พระเจ้าศรีธรรมโศกราช ทรงโปรดให้นำพระบฏผืนดังกล่าวขึ้นไปห่มพระบรมธาตุเจดีย์เนื่องในโอกาสสมโภชพระบรมธาตุ ชาวพุทธทั้งสิบจึงถวายตามพระประสงค์ พระองค์จึงโปรดให้ชาวเมืองนครจัดเครื่องประโคมแห่แหนผ้าห่มโอบฐานพระบรมธาตุเจดีย์ นับจากนั้นจึงเป็นประเพณีประจำเมืองนครศรีธรรมราชสืบมา
ในภายหลัง ชาวนครศรีธรรมราชร่วมมือร่วมใจกันบริจาคเงินตามกำลังศรัทธานำเงินที่ได้ไปซื้อผ้ามาเย็บต่อกันเป็นแถวยาวนับพันหลา แล้วจัดเป็นขบวนแห่ผ้าขึ้นห่มพระบรมธาตุเจดีย์ ผ้าที่ขึ้นไปห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์เรียกว่า “ผ้าพระบฎ” (หรือ พระบต) นิยมใช้สีขาว สีเหลือง สีแดง ตามศรัทธา
ประเพณีบุญสารทเดือน 10วัน คนนครเรียกว่า “วันชิงเปรต” โดยในเดือนสิบ (กันยายน) ชาวพุทธจะนำเครื่องอุปโภคและเครื่องบริโภคไปถวายพระ อุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษของตน ได้แก่ ปู่ ย่า ตา ยาย และญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว หากทำความชั่วจะตกนรกกลายเป็นเปรต ต้องทนทุกข์ทรมานในอเวจี จึงต้องอาศัยผลบุญที่ลูกหลานอุทิศส่วนกุศลให้แต่ละปีมายังชีพ ดังนั้นในวันแรม 1 ค่ำ เดือนสิบ เปรตจึงถูกปล่อยตัวกลับมายังโลกมนุษย์ เพื่อมาขอส่วนบุญจากลูกหลานญาติพี่น้อง และจะกลับไปนรกในวันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบ
ชาวพุทธเมืองนครถือเอาวันแรม 13 ค่ำเดือนสิบ บรรจุและประดับด้วยสิ่งของ อาหาร ขนมเดือนสิบลงในภาชนะที่เตรียมไว้ เช่น ถาด กะละมัง เป็นต้น 4 ชั้นคือ ชั้นล่างสุด บรรจุอาหารแห้ง ชั้นสองบรรจุพืชผัก ชั้นสามเป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน ชั้นบนสุด ประดับขนมสัญลักษณ์เดือนสิบคือขนมลา ขนมบ้า ขนมพอง ขนมดีซำและขนมกง
ความคาดหวัง จะมีสักวันที่จะได้ไปงานประเพณีแห่ผ้าขึ้นพระธาตุ หรือไม่ก็งานประเพณีบุญสารทเดือนสิบ ผมจะไปแย่งชิงเปรตกินขนม 5 อย่างสักถาด สาธุ บุญมีคงได้ไป เพี้ยง อิมังป๊อด