http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม13,994,722
Page Views16,303,032
« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

ปั่นจากเขื่อนพ่อสู่เขื่อนแม่ครั้งที่ 2 มิติ ปั่นไปเที่ยวไป

ปั่นจากเขื่อนพ่อสู่เขื่อนแม่ครั้งที่ 2  มิติ ปั่นไปเที่ยวไป

ปั่นจากเขื่อนพ่อสู่เขื่อนแม่ครั้งที่ 2

มิติ ปั่นไปเที่ยวไป

โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

             นิยามคำว่า เขื่อนพ่อ หมายถึงเขื่อนภูมิพล อ.สามเงา จ.ตาก   เขื่อนแม่ หมายถึงเขื่อนสิริกิติ์ อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์            ปั่นจากเขื่อนพ่อสู่เขื่อนแม่ จึงเท่ากับเป็นการปั่นรถจักรยานสองล้อจากเขื่อนพ่อ จังหวัดตากสู่เขื่อนแม่จังหวัดอุตรดิตถ์ ระยะทางโดยประมาณ 200 กิโลเมตร 


             เมื่อปีพ.ศ.2558 เคยมีการปั่นจากเขื่อนพ่อสู่เขื่อนแม่ ครั้งที่ 1 มาแล้ว ปีนี้ ระหว่างวันที่ 17-19 มิถุนายน 2559 เป็นการปั่นจากเขื่อนพ่อสู่เขื่อนแม่ครั้งที่ 2  ถ้ามีการจัดการปั่นจากเขื่อนพ่อสู่เขื่อนแม่ครั้งที่ 3-4-5 กิจกรรมดังกล่าวจะกลายสภาพเป็น “ประเพณีการปั่นจากเขื่อนพ่อสู่เขื่อนแม่”


            กิจกรรมการปั่นจากเขื่อนพ่อสู่เขื่อนแม่ ดำเนินการด้วยการนำแนวคิดมาสู่การปฏิบัติของ นางสาวธมลวรรณ เรืองขจร ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานตาก  สนับสนุนอย่างแรงจากหอการค้าจังหวัดตาก นายสมศักดิ์ คะวีรัตน์  ประธานกรรมการ  ร่วมกันประสานงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานแพร่  และหอหารค้าจังหวัดอุตรดิตถ์  การปั่นครั้งที่ 2 จึงสำเร็จด้วยดี



            นักปั่น เป็นนักปั่นจักรยานกลุ่มออกกำลังกาย  เป็นนักท่องเที่ยวแฝงบนหลังอาน  เป็นผู้มีฐานะเหลือจะกิน (ประเมินจากมูลค่ารถจักรยานแต่ละคัน  เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของนักปั่นแต่ละคน)  เป็นผู้มีเวลาว่างพอที่จะเสียสละเวลาและทรัพย์สินเพื่อร่วมกิจกรรมได้เต็มเวลา  ลักษณะพิเศษของนักปั่นจะมาในรูปแบบกลุ่มหรือชมรมจากแต่ละท้องถิ่น  เหมือนกลุ่มเพื่อนชวนกันมาปั่นไปเที่ยวไป อีกมิติหนึ่งของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์  ลดคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ เสริมสุขภาพให้แข็งแรง


            การบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วม  หอการค้าทั้งจังหวัดตากและจังหวัดอุตรดิตถ์ ทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนเงินสมทบกองกลางแล้วยังทำหน้าที่รับสมัครนักปั่น พร้อมลงทะเบียนเบ็ดเสร็จ   การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานตากเป็นแม่งานหลัก อำนวยการประสานงาน  กำหนดพิธีการ  สำรวจและควบคุม การขับเคลื่อนกิจกรรม

            นักปั่นต้องเดินทางมายังจังหวัดตากด้วยตนเอง มากันเป็นกลุ่มน้อยกลุ่มใหญ่  เสียสละทรัพย์อีกส่วนเพื่อให้พร้อมกันได้ที่ จุดนัดหมาย บางคนมาจากกลุ่มพนัสนิคม จ.ชลบุรี บางกลุ่มมาจากอ.แม่สอด จ.ตาก บางกลุ่มมาจากกรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมกิจกรรมการปั่น ซึ่งถือเป็นการพักผ่อนอีกรูปแบบหนึ่ง เช่นเดียวกับกลุ่มออฟโรด

            ในการปั่น มีการกำหนดกิจกรรมแยกเป็น 2 กิจกรรมคือ ทีมนักปั่นท่องเที่ยววิถีไทย  นำรถจักรยานขึ้นรถปิ๊กอัพ แวะท่องเที่ยวไปตามแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับการกำหนดแล้วเช่น ปั่นแว๊บไปในตรอกบ้านจีน ผ่านวัดสีตลาราม แล้วเลยไปชมหัตถกรรมหมวกสานจากใบลานที่บ้านปากร้องห้วยจี้ อ.บ้านตาก  ชมไม้กลายเป็นหินที่วนอุทยานไม้กลายเป็นหิน   อ.บ้านตาก   

            ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งเป็นทีมนักปั่นระยะไกล   จุดเริ่มต้นอยู่ที่ริมถนนเลียบแม่น้ำปิงหน้าจวนผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เลาะเลียบไปตามถนนริมปิง  และ ฝั่งป่ามะม่วง หนองบัวเหนือ  บ้านตาก  แวะพักถ่ายรูปหมู่ที่วัดป่าสามเงา  และมุ่งสู่เขื่อนภูมิพล   ถ่ายรูปหมู่เป็นที่ระลึกร่วมกัน  แวะพักเติมพลังอาหารกลางวันที่ร้านอาหารเขื่อน

            บ่ายแก่ ๆ(16.00น.) นักปั่นยกทีมไปร่วมกิจกรรม ปั่นตามรอยประวัติศาสตร์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  ที่หน้าศาลพระเจ้าตาก  ริมถนนจรดวิถี   นักปั่นท้องถิ่นจังหวัดตาก 4,000 คน  สวมชุดเสื้อยืดสีม่วง  ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดตาก นาย เจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ให้เกียรติมาเป็นประธานการปล่อยขบวนนักปั่น   19.30 น.มีการแสดงแสงสีเสียง ให้ชมถึงพระบารมี  เจ้าเมืองตากกูแผ่นดิน


            ค่ำ พักแรมโรงแรมเวียงตาก อีก 1 คืน เลี้ยงสังสรรค์ผ่อนคลายความเหนื่อยเมื่อยล้า อาหารอร่อยทุกเมนู โดยเฉพาะลาบหมูคั่วแบบล้านนา ค่ำคืนที่อบอุ่น มิตรภาพที่สอดประสาน รอยยิ้มที่เริ่มเปลี่ยนเป็นเสียงหัวเราะ  เพื่อนร่วมมิตินักปั่นแลกเปลี่ยนนามบัตร เกิดความสัมพันธ์ใหม่  กลายเป็นกลุ่มกลมเกลียวเดียวกัน นักปั่นจากเขื่อนพ่อสู่เขื่อนแม่


              เช้าวันที่ 2  เป็นการพักปั่นทางไกล โดยให้รถจักรยานและนักปั่นขึ้นรถยนต์  เพื่อไปร่วมงาน ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ เดือน 9 เหนือ  วัดพระบรมธาตุบ้านตาก  ซึ่งเป็นพระธาตุสำหรับคนที่เกิดปีมะเมีย   รูปแบบจำลองมาจากเจดีย์ชเวดากอง ประเทศเมียนมาร์  แต่ขนาดเล็กลง  ขบวนแห่แต่ละขบวนสวยงาม  เด็กๆที่มาร่วมขบวนน่ารัก  ชายหญิงบ้านตากสามัคคี  วัดแคบไปถนัดใจ


            ที่ขาดไม่ได้ นักบุญที่มาร่วมงานต้องไป ไหว้พระเจ้าทันใจ กลิ่นธูปควันเทียนคละคลุ้งไปทั่ว  การทอดผ้าป่าของแต่ละครอบครัวนั้น จะถือกระเช้าหรือช่อดอกไม้เงินดอกไม้ทอง เข้าไปบูชาพระด้วยความเชื่อ ของแต่ละครอบครัว บ้างอุทิศส่วนกุศลแด่พ่อ-แม่ผู้วางวาย บ้างอุทิศให้เจ้ากรรมนายเวร  เป็นความสุขใจที่ได้ทำบุญพระบรมธาตุจำลอง


            หลังกินน้ำเงี้ยวที่ปั๊มน้ำมัน ปตท.บ้านตาก แล้วก็ยกขบวนกันเดินทางไปยังอำเภอศรีสัชนาลัย เพื่อผ่านไปยังวัดพระแท่นศิลาอาสน์ อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ กราบไหว้พระพุทธบาทสำคัญคู่บ้านคู่เมืองลับแล เสริมมงคลชีวิต ซึ่งผมเคยมากราบไหว้ตั้งแต่ปีพ.ศ.2515 ในงานประเพณีไหว้พระแท่นศิลาอาสน์  แต่ไปครั้งนี้ รู้สึกหงุดหงิดกับเต็นท์โค้งขวางหน้าอุโบสถ  ทำให้ลดความสวยงามลงไปอย่างสิ้นเชิง


            ภาพเขียนสีบอกเล่าเรื่องราวถึง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ครั้งเสด็จมาปราบก๊กพระฝางเมืองสวางคบุรีแล้วเสด็จมากราบพระแท่นศิลาอาสน์   การเสด็จมาครั้งนั้น พระองค์ทรงพักแรมถึง 3 วัน และได้พระราชทานให้ พระยาสีหราชเดโช เป็นพระยาพิชัย(ดาบหัก)  ต่อเมื่อมีการผลัดแผ่นดิน พระยาพิชัยมิขออยู่เป็นข้าสองนายจึงยอมให้ประหารชีวิตตายตามสมเด็จพระเจ้าตากสินไปในครั้งนั้น


              แล้วก็ออกเดินทางต่อไปยัง ถนนวันวาน เพื่อนั่งรถรางนำเที่ยวไปยังพิพิธภัณฑ์ผ้าตีนจก ไท-ยวน  เลขที่ 31 หมู่ 4 ตำบลชัยจุมพล อำเภอลับแล  ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ของครูโจ-จงจรูญ มะโนคำ  โทร.087-1987353  ครูโจดัดแปลงบ้านให้เป็นพิพิธภัณฑ์ผ้าซิ่นตีนจกไท-ยวน เพื่ออนุรักษ์ผ้าซิ่นโบราณ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวไท-ยวน


            ผ้าซิ่นตีนจกที่วางอวดในตู้โชว์ ประณีต งดงาม สอดแทรกลวดลายจากธรรมชาติ วิถีชีวิต ศิลปะ วัฒนธรรม  ประเพณี  ความเชื่อ โชคลาภ ลงบนผืนผ้าอย่างแนบเนียน  เช่นลายนกคุ่ม ช้าง กระต่าย ฯลฯ ด้วยเทคนิคการจก การยกมุก การปั่นไกควบเส้น การเกาะ การล้วง และการคาดก่าน(มัดก่าน)  ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาวไท-ยวน 


            รถรางนำเที่ยวแล่นตะบึงไปยังบ้านหัวดง แหล่งจำหน่ายทุเรียนหลงลับแลและหลินลับแล แต่เมื่อไปถึง พ่อค้าเล่าว่า ปีนี้แล้งจัด ต้นทุเรียนแห้งตาย ส่งผลให้เหลือหลงลับแลและหลินลับแลไม่มากดังแต่ก่อน จากต้นหนึ่งเคยเก็บทุเรียนขายได้ 40 ผล ก็เหลือเพียง 4-5 ผล โชคดีที่หลายต้นยังไม่แห้งตาย


            แมงกินทุเรียนไม่เคยเกรงหนามทุเรียนและราคา เพราะว่าหลงลับแลวันนั้นผลละ 600-800 บาท ขนาดผลก็มาตรฐานของทุเรียนพันธุ์นี้ ดูตามรูปเอาเถอะว่ามันเล็กกว่าหมอนทองสักแค่ไหน แต่ด้วยรสชาติและกลิ่นหอมมันของหลงลับแล ก็ชนะใจแมงกินทุเรียนทั่วหน้า


            รถรางแล่นกลับลงมายังถนนวันวาน เมืองลับแล ได้ชมตลาดยามเย็น ได้เห็นแม่ย่าแม่หญิงแต่งชุดพื้นบ้าน คาดผ้าสไบเฉียง นั่งเรียงรายกันใต้ร่มต้นจามจุรี เตรียมฟ้อน  แม่ค้าพ่อค้าขายของกินพื้นบ้านเช่น หมี่พัน ทำกันสดๆ เลยไปเป็นกล้วยตากม้วนไส้ทอด ฯลฯ ได้ชมฮูล่าฮุกจากสาวน้อยน่ารักด้วยนะ ค่ำนี้พักแรมที่โรงแรมฟรายเดย์ ในตัวเมืองอุตรดิตถ์ 


            เช้าตรู่  พบกันที่หน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ ไหว้อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก กินข้าวต้มเครื่องไม่ต้องปรุง แถมด้วยหมูทอดข้าวเหนียวนึ่ง  ได้เวลาก็ทำพิธีเปิดเป็นธรรมเนียม  การปั่นเริ่มแล้ว  บนถนนลาดยางอย่างดี เส้นทางอุตรดิตถ์ถึงสวนองุ่นคานาอัน ระยะทาง 25 กม. ที่นี่พักเข้าชมสุขาและชิมองุ่นไร้เมล็ด ของเขาหวานจริง


            เป้าหมายถัดไปเป็นต้นสักใหญ่ ในวนอุทยานสักใหญ่ ที่นี่คือเอกลักษณ์ของต้นสักที่บ่งบอกว่า ต้นสักสามารถเติบโตจนมีขนาดใหญ่ได้ถึง 13 คนโอบ เส้นวัดรอบต้น 1003 ซม. เรียกในภาษาป่าไม้ว่า เป็นลักษณะประจำพันธุ์ของต้นสักที่สามารถจะเติบใหญ่ได้เช่นเดียวกับ ช้างต้องใหญ่ได้ถึง 2 ตัน ไก่เก้าชั่งก็ต้องใหญ่จนมีน้ำหนัก 9 ชั่ง สิ่งเหล่าคือธรรมชาติของสรรพสิ่งทั้งพืชและสัตว์


            เจ้าหน้าที่วนอุทยานต้นสักใหญ่ยืนบริการน้ำดื่มพร้อมผ้าเช็ดหน้าเย็นชื่นใจ  เป็นสิ่งที่คาดไม่ถึง น้ำใจใสกระจ่างกลางป่าใหญ่ ขอขอบคุณคณะเจ้าหน้าที่ทุกท่านด้วยความขอบพระคุณยิ่ง  เลยไปนิดหนึ่งเป็นต้นสักโพรงจำลอง เป็นอาคารศูนย์บริการนักท่องเที่ยว สื่อสารให้รู้ความเป็นมาและความเป็นไป เก๋นะ


            จากนั้นก็เป็นการปั่นยาวไกลจนไปถึงเขื่อนแม่(สิริกิติ์) อ.น้ำปาด แต่ทันใดก็ได้เห็นสิ่งแปลกแต่จริง นั่นคือแม่น้ำสองสี ซึ่งเกิดจากแม่น้ำปาดที่นำพาเอาดินตะกอนสีแดงก่ำลงมาจากต้นน้ำซึ่งน่าจะถูกบุกรุกทำลายจนเป็นภูเขาหัวโล้น เมื่อมาบรรจบกับแม่น้ำน่านใสแจ๋วซึ่งไหลมาจากจังหวัดน่าน  เหลียวไปดูท้องอ่างของเขื่อน มีปริมาณน้ำมากพอสมควรแต่ก็ยังน้อยกว่าเดิมมากมายนัก


            หลังอาหารกลางวันแบบ 2 อย่าง คือก๋วยเตี๋ยวต้มยำรสแซบ และข้าวคลุกกะปิหอมกรุ่น โอย อร่อยเหลือเชื่อ   เมื่อถึงบทสุดท้าย ป้ายถูกขึงแล้วยืนถ่ายรูปร่วมกันก่อนจาก


แห่ผ้าขึ้นธาตุเดือน 9 เหนือ

 

Tags : นกหกเล็กปากแดง

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view