http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม13,956,906
Page Views16,263,208
« March 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31      
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

ท่องแดนแผ่นดินธรรม ตอนวัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม)

ท่องแดนแผ่นดินธรรม ตอนวัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม)

วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม)

                                                                                                                                                              โดย  ศรัณยา  ท้วมเนตร   เรื่อง-ภาพ


            วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) ตั้งอยู่เชิงดอยสุเทพ  อ.เมือง จ.เชียงใหม่ วัดอุโมงค์เป็นวัดที่สำคัญอีกแห่งของเชียงใหม่ เป็นวัดที่ร่มรื่นและมีขนาดกว้างขวาง ลักษณะการออกแบบเป็นไปตามแบบพุทธศาสนา”ลังกา” มีจุดที่น่าสนในหลายจุด อาทิ


             อุโมงค์ใต้พระเจดีย์ 700 ปี ที่มีความแปลกแบบที่ไม่สามารถพบเห็นได้จากวัดทั่วไป โดยเป็นอุโมงค์ที่เชื่อมต่อกันถึง 4 อุโมงค์ ด้านนอกอุโมงค์มีลานเศียรพระพุทธรูปสกุลช่างพะเยาที่ให้ความรู้สึกขลังยามที่เดินชม นอกจากนั้นยังมีหอธรรมโฆษณ์ พิพิธภัณฑ์ เสาอโศกจำลอง ลานธรรม เกาะกลางน้ำทำบุญให้อาหารปลาฯ รายล้อมไปด้วยความร่มรื่นและสถานที่ปฏิบัติทางสงฆ์ นอกจากนี้ยังมีป้ายข้อคิดต่างๆให้อ่านตลอดทางเดินอีกด้วย


             ในสมัยพระเจ้ามังรายมหาราช ทรงทำนุบำรุงพระศาสนาเป็นการส่วนพระองค์ พระองค์ได้ทรงทราบว่า พระเจ้ารามคำแหงมหาราช พระสหายผู้ครองนครสุโขทัย ได้ส่งคนไปนิมนต์พระสงฆ์จากเมืองลังกา จึงประสงค์จะได้พระลังกามาเป็นหลักพระพุทธศาสนาในเมืองเชียงใหม่บ้าง และได้สร้างวัดฝ่ายอรัญวาสีเฉพาะพระลังกา เพื่อเป็นอนุสรณ์ในการนำพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์มาประดิษฐานในล้านนาไทยเป็นครั้งแรก โดยยึดเอาแบบอย่างการสร้างวัดของเมืองลังกาเป็นแบบฉบับ แบ่งออกเป็นเขตพุทธาวาส และสังฆาวาส ทรงขนานนามว่าวัดเวฬุกัฏฐาราม (วัดไผ่ 11 กอ)

              ต่อมาเมื่อพระเจ้ามังรายสวรรคต ศาสนาพุทธขาดการทำนุบำรุง เพราะมัวแต่ทำศึกสงครามกันเองในเชื้อพระวงศ์ด้วยการแย่งชิงราชสมบัติ


              จนมาถึงสมัยพระเจ้ากือนาธรรมาธิราช ศาสนาพุทธก็ได้รับการฟื้นฟู พระเจ้ากือนาได้สั่งให้คนบูรณะวัดเวฬุกัฏฐาราม เพื่ออาราธนาพระมหาเถระจันทร์จำพรรษาทีวัดแห่งนี้ และตั้งชื่อวัดนี้ว่า “วัดอุโมงค์เถรจันทร์” ตามชื่อของพระมหาเถระจันทร์ มีการซ่อมแซมเจดีย์โดยการพอกปูน สร้างอุโมงค์ไว้ทางทิศเหนือจากเจดีย์ ในอุโมงค์มีทางเดิน 4 ช่องซึ่งเชื่อมต่อกันได้ ลัทธิลังกาวงศ์ซึ่งเคยเจริญรุ่งเรืองมาครั้งหนึ่งสมัยพระเจ้ามังรายมหาราช และได้เสื่อมทรามไปเกือบ 70 ปีนั้น ก็ได้กลับเจริญรุ่งเรืองขึ้นอีกในสมัยพระเจ้ากือนาธรรมิกราชนี้เอง


              เดินชมอุโมงค์ใต้เจดีย์ ชมภาพจิตกรรมที่เลือนราง อุโมงค์ภายในวัดอุโมงค์ สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ากือนาธรรมิกราช เป็นส่วนหนึ่งของการบูรณะวัดอุโมงค์ สร้างขึ้นเพื่อถวายเพื่อให้พระมหาเถรจันทร์ ผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฏกอาศัย โดยได้สร้างอุโมงค์ขนาดใหญ่ ถัดจากฐานพระเจดีย์ด้านเหนือขึ้นหนึ่งอุโมงค์ อุโมงค์ที่ทรงสร้างขึ้นใหม่นี้ทั้งใหญ่และสวยงามมากมีทางเข้าออก 4 ช่อง แต่ละช่องเดินติดต่อกันได้ทั่วถึง ข้างฝาผนังด้านในอุโมงค์ก็เจาะช่องสำหรับจุดประทีปให้เกิดความสว่างเป็นระยะ เพื่อให้สะดวกแก่พระเดินในการจงกรมและภาวนาอยู่ข้างใน เพดานอุโมงค์เขียนภาพต่างๆ ด้วยสีน้ำมันไว้


               ปัจจุบันภายในอุโมงค์มีจิตรกรรมฝาผนังซึ่งอยู่ในสภาพที่ชำรุดลบเลือนมาก เดิมนั้นเกิดการสะสมของหินปูนที่เคลือบลายจิตรกรรมจนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็นสาเหตุเพราะน้ำที่รั่วซึมลงมา เมื่อนำคราบหินปูนออกจึงปรากฏภาพจิตรกรรมที่สวยงาม จิตรกรรมฝาผนังวัดอุโมงค์ในส่วนที่เหลือหลักฐานให้ชมในปัจจุบันอยู่บริเวณเพดานโค้งภายในอุโมงค์ ตัวอุโมงค์ตั้งอยู่บริเวณต่อเนื่องกับเจดีย์ทางทิศเหนือ โดยหันทางเข้าหลักไปยังทิศตะวันออกจำนวน 3 อุโมงค์ในด้านหน้า ซึ่งอุโมงค์กลาง (อุโมงค์ที่ 4) มีขนาดใหญ่ที่สุด ซึ่งสามารถเห็นได้ เพียง 3 อุโมงค์เท่านั้น คือ อุโมงค์ที่ 1, 2, และ 3

 

               พระเจดีย์ 700 ปีเป็นเจดีย์ทรงระฆังกลม มีบันไดนาคเป็นทางขึ้นลงอยู่ทางทิศใต้ ได้รับอิทธิพลจากศิลปะพม่าแบบพุกาม ได้มีการปรับเปลี่ยนแบบของเจดีย์ตามแต่ละยุคสมัย แรกเริ่มก่อสร้างเริ่มขึ้นในสมัยของพระเจ้ามังรายโดยมีโครงสร้างเป็นเจดีย์ทรงระฆัง ทรวดทรงแบบพระเจดีย์ในเมืองลังกา ต่อมาได้รับการบูรณะในสมัยของพระเมืองแก้ว มีการปั้นปูนประดับลวดลายที่ส่วนฐานใต้ทรงระฆัง มีการปรับเปลี่ยนที่ทรงกรวยซึ่งเป็นส่วนบนของเจดีย์ โดยประดับรูปกลีบบัวทรงยาวตามแบบอย่างของเจดีย์มอญพม่า


               เสาอโศกจำลองสร้างเมื่อ พ.ศ. 2507 เพื่อเป็นเครื่องระลึกถึง พระเจ้าอโศกมหาราชผู้เป็นเอกอัครศาสนูปถัมภกและเป็นผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนาองค์แรกของโลก ซึ่งเสาอโศกเป็นเครื่องหมายอันสำคัญดังเช่นที่ค้นพบที่อินเดียและเนปาล เมื่อเสาอโศกตั้งอยู่ที่ใดหมายถึงสถานที่นั้นมีความสำคัญกับองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนา


               หอธรรมโฆษณ์เป็นอาคาร 2 ชั้น หลังคาทรงไทย เนื้อที่ชั้นล่างเป็นห้องสมุดบริการหนังสือธรรมในศาสนาพุทธ พื้นที่บนชั้นสองจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงศิลปวัตถุที่นำมาจัดแสดงเป็นของที่พบในบริเวณวัดอุโมงค์ นอกจากนั้นยังวัตถุที่เป็นของใช้ในวัด อาทิ กลุ่มพระพุทธรูปทำด้วยทองแดง ทองเหลือง เชี่ยนหมากสำริด ไม้แกะสลัก เครื่องปั้นดินเผาโบราณ เครื่องทอง เครื่องเงิน เครื่องเขิน อาวุธ เอกสารตัวเขียน ภาพถ่ายจิตรกรรมฝาผนังรูปนกในอุโมงค์ของวัดอุโมงค์ รูปเทพชุมนุมในกรุวัดอุโมงค์ เป็นต้น


Tags : นกกิ้งโครงคอดำ

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view