http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 07/08/2024
สถิติผู้เข้าชม14,331,420
Page Views16,660,848
« October 2024»
SMTWTFS
  12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031  
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

สาละวินเดือด โดย อินทรี ดำ ตอน 3. บันทึกประวัติศาสตร์การทำไม้สักเถื่อนครั้งใหญ่ที่สุดในโลก

สาละวินเดือด โดย อินทรี ดำ  ตอน 3. บันทึกประวัติศาสตร์การทำไม้สักเถื่อนครั้งใหญ่ที่สุดในโลก

สาละวินเดือด โดย อินทรี ดำ

ตอน 3. บันทึกประวัติศาสตร์การทำไม้สักเถื่อนครั้งใหญ่ที่สุดในโลก

            กระท่อมวนกร คณะกรรมการสมาคมศิษย์เก่าวนศาสตร์ หลังกลับจากการเดินทางไปดูของจริงภาคสนามหลายวัน เหนื่อยอ่อนไปตามวัย แต่ด้วยจิตวิญญาณของวนกรผู้ทระนงและฝืนทนดูแต่ภาพข่าวทางทีวี หนังสือพิมพ์และวิทยุ ก็ยังเกรียวกราวไปด้วยเรื่องราวที่แตกต่างกันไป สำนักหนึ่งหัวสีชมพู ประกาศเจตนารมณ์จะเขียนความจริงแท้เรื่องของการทำลายป่าไม้สักสาละวิน ส่วนสำนักหัวสีเขียวและหัวสีขาว ต่างก็ไม่ว่างเว้นการนำเสนอข่าวสาร แม้จะใกล้เคียงกันแต่ก็แตกต่างในรายละเอียด เป็นความโชคดีที่กระแสนอนุรักษ์เร่าร้อน โหมกระพือกันจนไฟลุกโพลง เป็นมหกรรมข่าวที่โดดเด่นที่สุดของปี ไม่ใช่สิ ของทศวรรษทีเดียวเชียวแหละ

            บัตรสนเท่ห์จาก ซี 5 ป่าไม้ ถูกเปิดเผยในรายละเอียดว่า ด้วยความร้อนรนทนไม่ได้ วิญญาณเสือกลิ่นสักเข้าสิงสถิต จิตวิญญาณพลุ่งโพลง ต้องเสี่ยงเขียนบัตรสนเท่ห์ส่งให้กับองค์กรพัฒนาภาคเอกชน องค์กรของรัฐ องค์กรทางการเมือง และสื่อมวลชนเพื่อกระตุ้นให้รุกเร้า  เขย่าไม่ให้ตะกอนนอนก้น  เป็นอีกหนึ่งแนวทางต่อสู้ที่มิกล้าเปิดเผยตัวตน เพราะเรื่องเช่นนี้มันอันตรายถึงชีวิตตนเองและครอบครัว 

            ข่าวกระตุ้นว่า เจ้าหน้าที่ป่าไม้คนหนึ่ง สุดทางที่จะทำอย่างไรได้ จึงตอกตะปูต้นสักในป่าอนุรักษ์สาละวิน  เพื่อพิสูจน์ว่าไม้ท่อนที่ถูกถีบลงน้ำสาละวินแล้วขึ้นไปเป็นไม้พม่าใส่โสร่งที่ด่านแม่สามแลบ พิสูจน์ว่า เป็นไม้สักที่ตัดจากฝั่งป่าอนุรักษ์สาละวินของไทย  ด้วยข่าวนี้แหละที่คณะกรรมการสมาคมศิษย์เก่าวนศาสตร์ผู้ซึ่งผ่านร้อนผ่านหนาวมากมาย ร้อนรนทนไม่ได้ จึงได้เรียกประชุมหลังจากไปลงพื้นที่มาแล้วเป็นการต่อเนื่อง

            คณะกรรมการที่เดินทางไปภาคสนามยังป่าสาละวินเข้าประจำตำแหน่ง 

            “กรรมการครบองค์ประชุมนะ  ผมคิดว่าคงจะพักผ่อนกันพอแล้วนะ  ยังแกร่งและแข็งปั๋งใช่ไหม” ท่านชำนาญ ศรีมหาโพธิ์ นายกสมาคมศิษย์เก่าวนศาสตร์ กล่าวเปิดประชุมแบบกันเอง  

           “เมื่อครบองค์ประชุมก็เริ่มกันได้เลย  ที่ผมขอเชิญมาร่วมพิจารณากันนี่ก็ด้วยเหตุผลหนึ่งคือข่าวลงว่า มีเจ้าหน้าที่ป่าไม้ใจกล้าตอกตะปูต้นสักเพื่อพิสูจน์ว่า สักต้นนั้นตัดมาจากป่าสาละวิน นี่ตามข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์นะ  ทุกคนคิดว่าอย่างไรครับ”

           “แหม ไอ้ประเด็นนี้ ผมก็อ่านและดูข่าวจากทีวี แรกก็คิดว่า จิตวิญญาณคนตอกตะปูนี่คงเข้มแข็ง แต่เมื่อผมมาใคร่ครวญดูแล้วก็รู้สึกทะแม่งๆ  คิดไม่ออกว่า ต้นสักที่เขาตอกตะปูต้นนั้นจะมาขึ้นเกยตื้นที่หาดแม่สามแลบ ดูมันจะง่ายไปไหม แล้วจะตามดูไม้ท่อนนั้นได้อย่างไร ผมรู้สึกแปลกๆครับ” ท่านอุทาร กล่าวหัวเราะๆ

           “ผมก็อ่านและฟังข่าว เหมือนวิญญาณเสือ กลิ่นสัก ใน นวนิยายเรื่องร้อยป่า ของพี่พันธุ์บางกอก  รู้สึกไม่ค่อยเชื่อข่าวนี้เท่าไรครับ” ศาสตราจารย์ ดอกเตอร์นิเวศน์ เสริมอย่างแรง

          “น่าจะเป็นการเต้าข่าวเพื่อกระตุ้นให้รัฐบาลเชื่อว่า ไม้สักที่ทำกันออกมานั้น ทำมาจากป่าสาละวิน ในกรณีที่เป็นคนทั่วไป ผมว่าคงมีคนเชื่อและชื่นชมเจ้าป่าไม้คนนี้เอามากๆ แต่ถ้าพิเคราะห์จริงๆแล้ว ไม่น่าจะเป็นไปได้” รองศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ บุญเทียม ชนะวงศ์วาน กล่าวเสริม

           “ผมว่าจะเป็นข่าวเต้าขึ้นหรืออย่างไรก็ตาม ก็เกิดผลดีเชิงบวกแก่กระแสการอนุรักษ์ป่าไม้ได้  เอาละ พวกเราคงไม่เชื่อว่าเป็นไปได้  แต่อย่างไรก็ตาม ผลดีเกิดแก่ วงการอนุรักษ์ป่าไม้ “นิ่งเสียตำลึงทอง” ก็แล้วกันนะ” ท่านชำนาญสรุปสั้นๆ และเปิดเกมส์ให้เดินกันคนละหมาก

           “ผมอยากฟังความคิดเห็นของท่านกรรมการแต่ละท่าน ไม่เว้นกระทั่งประชาสัมพันธ์ของเรา มณีด้วยนะ เชิญครับ”          

          “ผมว่าทรัพยากรป่าไม้ในป่าอนุรักษ์ทั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ แถมป่าสงวนแห่งชาติ สาละวิน รวมกันทั้งหมดคือป่าไม้สักที่หนาแน่นและมีลักษณะการเจริญเติบโตสม่ำเสมอ ลักษณะเหมาะทำแม่ไม้และเหมาะทำไม้ซุงท่อน แถมมีปริมาณมาก  อุดมสมบูรณ์ เหนือกว่าป่าผืนใดๆ แต่น่าเสียดายที่ กฎหมายป่าอนุรักษ์และเจ้าหน้าที่ของเราไม่สามารถปกป้องและรักษาไว้ได้ กฎหมายเป็นหมันครับ” ท่านอุทาร แสวงความดี กล่าวเสียงเข้ม

          “ผมว่าจุดอ่อนของป่าอนุรักษ์ทั้งสองประเภทนี้ แม้จะมีผืนป่าเชื่อมต่อกัน แต่ก็อยู่ตามแนวตะเข็บชายแดน อันมีแม่น้ำสาละวิน ของพม่าเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตได้ง่าย เพียงแค่ถีบไม้สักลงชุบน้ำสาละวิน ก็กลายเป็นไม้สักนุ่งโสร่งไปในทันที ประกอบกับมีข้อตกลงระหว่างประเทศด้วยว่ามิให้มีการลาดตระเวนทางน้ำในเวลาหลังตะวันชิงพลบ 18.00-06.00 น.นั่นคือช่องโหว่รูเบ้อเริ่มเทิ่ม” ท่านอดีตรองผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ท่าน วิชัย ทรัพย์มาก กล่าว

          “สำหรับผม ผมรู้สึกเห็นใจข้าราชการของกรมป่าไม้ทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะหัวหน้าเขตและหัวหน้าอุทยาน สาละวิน ซึ่งนอกจากมีกำลังเจ้าหน้าที่จำกัดแล้ว ยังขาดอาวุธยุทโธปกรณ์ในการทำงาน  เจ้าหน้าที่จึงเหมือนถูกมัดมือชกหน้าเอาๆ เหมือนน้ำท่วมปาก เหมือนต้องเอาหูไปนาเอาตาไปไร่  ทั้งๆที่เป็นป่าอนุรักษ์แต่ไม่มีศักยภาพถึงขั้นจะปฏิบัติการอย่างเสือกลิ่นสักแน่ๆ” รองศาสตราจารย์บุญชอบ คงทวีชัย กล่าวแล้วถอนหายใจเฮือกใหญ่


          “ผมกลับเห็นว่า ตั้งแต่พม่าให้สัมปทานทำไม้ตั้งแต่ปีพ.ศ.2531-2535 แก่นายบุญ  ตีธรรม  คนสนิทของอดีตนายกรัฐมนตรียศพลเอกคนหนึ่ง ป่าไม้สักฝั่งพม่าน่าจะหมดไปแล้ว แต่ไม้สักที่ทำอยู่ทุกวันนี้ อาศัยกองกำลังกะเหรี่ยงอพยพในป่าอนุรักษ์ฝั่งไทยเรานี่แหละที่เป็นกองกำลังการทำไม้  โดยอาศัยเงื่อนไขสำคัญคือ เมื่อตัดไม้สักฝั่งไทยแล้วชักลากลงน้ำสาละวิน กลับขึ้นฝั่งไทยกลับกลายเป็นไม้พม่าไปทันที่ “ ศาสตราจารย์ นิเวศน์ ศรีมังคลา กล่าวขึ้นด้วยน้ำเสียงเข้ม จริงจัง

          “ส่วนเรื่องออริจิ้นไม้นั้น ผมยังคลางแคลงอยู่  พ่อค้าไม้ธรรมดาทำไม่ได้อย่างแน่นอน ตามข่าวที่สื่อมวลชนลงนั้นกล่าวถึงพ่อเลี้ยงศร จันทร และ อดีตนายทหารใหญ่ระดับ นายพลโท รู้สึกจะเขียนกันแค่ว่า ชาติ ชาติเชื้อ วงศ์เจริญกุล อดีตนักเรียนนายร้อยจปร.คนหนึ่ง เบื้องหลังการทำไม้ครั้งนี้คงไม่ธรรมดาครับ” ศาสตราจารย์ ดอกเตอร์นิเวศน์ กล่าวย้ำ

          “ท่านอาจารย์ ประทุมและท่านอาจารย์บุญเทียมละครับ” ท่านชำนาญโยนลูกต่อให้กรรมการคนต่อๆไป

          “ผมมั่นใจว่า การทำไม้สักสาละวินครั้งนี้ เป็นไม้สักฝั่งไทยสวมอย่างแน่นอนครับ  โดยเฉพาะพ่อค้าไม้ผู้ทรงอิทธิพล นายศร นั้นมีอิทธิพลมายาวนานตั้งแต่สมัยที่ไม้สักนำเข้าจากแม่สอด จังหวัดตาก จนถึงขยับขึ้นไปถึงแม่เสรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ศิษย์เก่าของเราหลายคนมาเล่าให้ฟังนะครับว่า พ่อเลี้ยงศรนั้นจะแปรรูปไม้ท่อน ชำแหละส่งขายทันที  ใบเบิกทางนี่ เจ้าหน้าที่ป่าไม้อำเภอและป่าไม้จังหวัดคือเครื่องมือ เงินสะพัดครับ” รองศาสตราจารย์บุญเทียม ชนะวงศ์วาน กล่าว

          “ท่านรองศาสตราจารย์  ประทุม เลขานุการตลอดกาลของเราว่าไงครับ” ท่านชำนาญเสริม

          “ผมเองได้แต่สอนหนังสือแต่ก็ติดตามข่าวสารสองทาง ทั้งจากลูกศิษย์และทางสื่อมวลชน มีความรู้สึกเช่นเดียวกับอาจารย์ทุกท่านว่า เป็นไม้สักฝั่งไทยนุ่งโสร่งเป็นพม่าแน่ๆ แต่ก็ไม่มีเครื่องพิสูจน์ได้เป็นมั่นเหมาะ ลูกศิษย์เล่าว่า อึดอัดมาก เสี่ยงอันตรายมาก ถึงขั้นตายกันเลยทีเดียวหากใครขัดขวางกระบวนการทำไม้สักสาละวิน” รองศาสตราจารย์ประทุม กล่าว

          “ผมจีรัง  เมืองทรัพย์  ผู้อำนวยการส่วนวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจป่าไม้  ขอเรียนว่า เป็นไม้สักไทยนุ่งโสร่ง  และขอจำแนกว่า ส่วนหนึ่งนำเข้าเป็นไม้ซุงท่อนแบบมีใบออริจิ้นจากทางการพม่า และอีกส่วนหนึ่งเป็นไม้ซุงสักที่นำเข้ามาแล้วแปรรูปกระจายขายไปในทันใด  อาจไม่มีออริจิ้น แต่ใช้ขบวนการใบเบิกทางของป่าไม้เราเอง”

          “ผมฟังทุกความเห็นแล้ว อยากขอเรียนถามที่ประชุมว่า เราจะยังอยากจะเขียนบันทึกการทำไม้สักเถื่อนครั้งใหญ่ที่สุดในโลกครั้งนี้อยู่หรือไม่” ท่านชำนาญกล่าวแล้วหยุดพร้อมกับส่ายสายตาไปทั่วใบหน้ากรรมการสมาคม

         “ผมว่าที่เราตั้งเป้าหมาย จะสืบค้นเรื่องราวแล้วเขียนบันทึกประวัตการทำลายป่าไม้สักเถื่อนครั้งมโหฬาร เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ใช้เป็นกรณีศึกษาต่อไปครับ  อ้อ ผมขอเพิ่มเติมความคิดเห็นว่า  เจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่เกี่ยวข้องกรณีป่าสาละวินนี้มีทั้ง เจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่เป็นศิษย์เก่าวนศาสตร์และเจ้าหน้าที่ป่าไม้จากโรงเรียนป่าไม้แพร่  ” รองศาสตราจารย์นิเวศน์ ย้ำ

         “ทุกคนเห็นด้วยว่าต้องบันทึกไว้เป็นอุทาหรณ์แก่วงการป่าไม้ และสมาคมศิษย์เก่าวนศาสตร์นี่แหละต้องเป็นคณะที่เขียนบันทึกครั้งนี้” 

ดูเหมือนคณะกรรมการสมาคมศิษย์เก่าวนศาสตร์จะลืม มณี บันลือ นักวิชาการป่าไม้ชั้นผู้น้อยไปแล้ว  มณีประเมินว่าสมาคมคงจะเขียนบันทึกนี้อย่างแน่นอน  ด้วยความร้อนใจจึงตัดสินใจยกมือขึ้นเหนือหัว ท่านนายกสมาคมฯจึงกล่าวว่า

         “อ้าว เกือบลืมมณีไปเสียแล้ว  เชิญ” ท่านชี้ให้มณีมีช่องที่จะนำเสนอบ้าง  สายตากรรมการทุกคู่จับจ้องมาที่มณี

         “ท่านครับ ผมฟังท่านสรุปแต่ละประเด็นแล้ว รู้สึกว่า เป็นเหตุเป็นผลทุกประการที่จะเขียนบันทึกดังกล่าว ผืนป่าอนุรักษ์มีกฎหมายปกป้อง มีกำลังเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน มรงบประมาณดำเนินการ มีความรู้ความสามารถ มียานพาหนะและเครื่องมือสื่อสาร ครบถ้วนกระบวนการบริหารองค์กร  เกิดการลักลอบตัดไม้ครึกโครมสื่อสารมวลชนตีข่าวเกรียวกราว แต่ผมขอถามสักนิดเถอะครับว่า ฐานข้อมูล ที่จะใช้เขียนหรือเอกสารอ้างอิง จะใช้จากไหนครับ” มณีพูดไม่ทันจบ ศาสตราจารย์นิเวศน์ก็ตอบทันใด

          “เหมือนการเขียนวิทยานิพนธ์ อ้างอิงจากสื่อสิ่งพิม์ สื่อทีวี สื่อวิทยุ และข้อเท็จจริงที่พวกเราออกไปศึกษา เหล่านี้ไง มณีเอ้ย” ท่านศาสตราจารย์นิเวศน์กล่าวด้วยน้ำเสียงเอ็นดูมณีที่เคยเป็นศิษย์เก่า มณีฟังและสบตาท่านศาสตราจารย์ พร้อมกับกล่าวตอบขึ้นอย่างหาญกล้า

         “ท่านนายกสมาคม ท่านอาจารย์และท่านกรรมการที่เคารพครับ  ผมขอเวลาชั่วสิบนาที จะกล่าวโดยสรุปให้สั้นที่สุดครับ หลังจากนั้น ก็แล้วแต่คณะกรรมการจะพิจารณานะครับว่า จะเขียนบันทึกกรณีศึกษาการทำไม้สักสาละวินครั้งใหญ่ที่สุดในโลกหรือไม่ครับ” มณีเว้นช่วงหายใจ แล้วกล่าวโดยสรุปให้สั้นที่สุดใน 10 นาทีตามที่ขอเวลาไว้

          “ท่านครับ  เรื่องมันเป็นอย่างนี้ครับ  สิ่งที่เห็นจากสื่อมวลชนเผยแผ่อาจไม่ใช่ความจริงทั้งปวง อาจจับต้องได้เพียงบางส่วน”  แล้วมณีก็สรุปเรื่องราวเสนอต่อที่ประชุมสมาคมศิษย์เก่าวนศาสตร์ ซึ่งเป็นสมาคมวิชาชีพป่าไม้ หรือสมาคมของนักวิชาการป่าไม้ แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ด้วยน้ำเสียงและลีลาที่หลั่งไหลดุจสายน้ำ

           “ท่านครับ หลังจากผมเรียนจบปริญญาตรีจากคณะวนศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แล้ว ผมได้บรรจุเป็นนักวิชาการป่าไม้ สวนสักห้วยทาก อ.งาว จ.ลำปาง ซึ่งเป็นทั้งสวนป่าไม้สักที่ปลูกขึ้นมานานนับสิบๆปี และเป็นสถานีฝึกนิสิตวนศาสตร์มาทุกรุ่น  ผมมีหน้าที่ปลูกป่าไม้สักและร่วมกับหน่วยป้องกันรักษาป่าจับมอดไม้สักจากป่าธรรมชาติและไม้จากสวนสัก แล้วย้ายไปฝ่ายจัดการป่าไม้ที่ป่าไม้เขตอุบลราชธานี จึงมีประสบการณ์ด้านการสัมปทานป่าไม้ระยะยาว  หลังจากนั้นผมย้ายมาปฏิบัติหน้าที่ ด่านป่าไม้กรุงเทพ กองคุ้มครอง  แล้วก็ไปปลูกป่าปรับปรุงต้นน้ำ ก่อนจะกลับมาทำหน้าที่ผู้อำนวยการาส่วนผลิตสื่อ  ช่วงเวลานี้แหละครับที่ผมได้รับเชิญให้เขียนบทความตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รายวันหลายฉบับ รายสัปดาห์ และรายเดือน ครับ”

          “อื้อ  อื้อ  มณีผ่านประสบการณ์มาหลายสายงานนี่นะ โอเค ต่อไปแบบยาวๆเลย” ท่านชำนาญ ศรีมหาโพธิ์ กล่าวเสริมแล้วนั่งพิงพนักเก้าอี้ด้วยท่าทีสบายๆ

          “เรื่องที่ผมจะกราบเรียนเพื่อพิจารณามีดังนี้ครับ” มณีทิ้งช่วงพักหายใจแล้วเริ่มสาธยายอย่างสั้นและได้ใจความชัดเจน  

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view