นกช้อนหอยดำเหลือบ
โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ
ชื่อสามัญ Glossy Ibis
ชื่อวิทยาศาสตร์ Plegadis falcinellus Linnaeus, 1766
ชื่อวงศ์ THRESKIORNITHIDAE
ถิ่นกำเนิดและการกระจายพันธุ์
ในต่างประเทศ ทวีปแอฟริกา ทวีปเอเชียเช่น อินเดีย ทวีปอเมริกา ทวีปยุโรป
ในประเทศ พบในทุ่งนาภาคกลาง หลังฤดูเก็บเกี่ยว ทุ่งนา หาดโคลน ชายทะเล และพื้นที่ชุ่มน้ำอื่นๆ
การกระจายพันธุ์ แอฟริกา ยุโรป เอเชีย
สถานภาพ นกประจำถิ่น และนกอพยพ หายาก
ลักษณะทั่วไป
เป็นนกขนาด 55-65 ซม. ชุดใบหน้าเป็นเส้นสีขาวแกมสีฟ้า ปากโค้งยาวสีน้ำตาลเข้ม หัวคอและลำตัวด้านบนสีน้ำตาลเข้ม มีลายขีดสีขาวกระจายที่หัวและคอ ปีกและหลังตอนท้ายสีเขียวเข้ม เหลือบเป็นมัน แข้งและตีนสีน้ำตาลเข้ม ชุดขนผสมพันธุ์ หัว คอและลำตัวน้ำตาลแดงเข้มแกมม่วง หน้าผากเขียวเข้ม ไม่มีลายขีดขาวกระจายที่หัวและคอ เส้นรอบหน้าชัดเจนขึ้นสีฟ้าอ่อน สีเขียวที่ปีก และหลังตอนท้ายเหลือบ เป็นมันและแกมสีม่วงมากขึ้น ปากสีน้ำตาลอ่อนมากกว่าช่วงปกติ
นกวัยอ่อน สีหม่น ไม่มีเส้นรอบหน้า หัวและคอมีจุดขาวหนาแน่น
พฤติกรรม ที่พักอาศัยบนต้นไม้สูง พื้นที่หากินน้ำตื้นมาก ใช้ปากยาวโค้งงอซ่อมลงไปในดินโคลนเพื่อหาอาหารประเภท หอย แมลงโตเต็มวัยหรือด้วงน้ำ แมลงปอ ตั๊กแตน จิ้งหรีด แมลงวัน ปลิง ปลา สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำเช่น กิ้งก่า งูขนาดเล็ก ทำรังในดงพืชน้ำขนาดสูงจำพวกต้นกก ธูปฤษี ต้นไม้เตี้ย รังบนง่ามต้นไม้สูง 1 -7 เมตร วางไข่ 3-4 ฟอง พ่อแม่ผลัดเปลี่ยนกันฟัก 20-30 วัน ลูกนกอายุ 7 วัน ออกจากรังได้แต่พ่อแม่ยังป้อนเหยื่ออีก 6-7 สัปดาห์ และเป็นหนุ่มใน 28 วัน
บันทึกผู้เขียนและถ่ายภาพ
เป็นนกอพยพพบยาก เป็นบางพื้นที่ และหากินร่วมกับนกปากห่าง การถ่ายภาพไม่ยากแต่ก็ไม่ง่ายเพราะการซ่อมโคลนทำเร็วมากและไม่อยู่นิ่ง ซ้ำอยู่ในระยะไกล หากย่องเข้าใกล้มักตื่นบินหนีไป แต่อย่างไรก็ตาม เป็นนกนาสนใจชนิดหนึ่งที่แตกต่างไปจากนกน้ำอีกหลายๆชนิด
ผู้ถ่ายได้เห็นภาพจากลำลูกกา คลอง 16 หลายปีก่อน ปีที่ผ่านมามีหลงมาให้พบที่ทุ่งนาบ้านยาง กำแพงแสน นครปฐมเพียง2 ตัว แต่ปีนี้ พบที่ทุ่งนาของม.เกษตร กำแพงแสนในปริมาณที่มากกว่า 20 ตัว ช่วงที่พบเดือน พฤษภาคม มิถุนายน-และกรกฎาคม ยังอยู่