http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 07/08/2024
สถิติผู้เข้าชม14,266,655
Page Views16,592,410
« September 2024»
SMTWTFS
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930     
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

ทริปพระชายกลาง พระเท้าเปล่า บุญฝายดินถม เพื่อการอนุรักษ์น้ำและวิถีชีวิตปวงชน

ทริปพระชายกลาง พระเท้าเปล่า   บุญฝายดินถม เพื่อการอนุรักษ์น้ำและวิถีชีวิตปวงชน

บุญฝายดินถม พระเท้าเปล่า

โดย อินทรีดำ ธงชัย  เรื่อง-ภาพ

ธรรมชาติไม่เป็นใจ

ระเบียงริมน้ำหน้าบ้าน หมอกห่มคลุมยามหนาว

               ปลายปีพ.ศ.2521(ตค.-ธค.) ถือเป็นต้นปีงบประมาณ 2522 ผมเดินทางมารับมอบงานการปลูกป่าปรับปรุงต้นน้ำ หน่วยห้วยสามสบ อ.นาน้อย จ.น่าน มีเพียงที่ทำการชั้นเดียวใต้ถุนสูงสองห้อง 4X8 ม. แผนที่หน่วยกับการลงแปลงปลูกป่าไปแล้ว 4,700 ไร่(2513-2521) ห้องแถว 4 ห้องนอนสุดโทรม ทั้งหมดตั้งอยู่ฝั่งซ้ายลำห้วยสามสบและฝั่งขวาลำห้วยสามสบเป็นที่ตั้งบ้านพักคนงาน เบียดเสียดยัดเยียดบนชายฝั่งอันน้อยนิด เหมือนเล้าไก่ โย้เย้ พอพักพิง

กลัวผ้าห่มไม่สอาด ตากแดดซ้ำๆ

            เพียงเดือนแรกที่มาถึง ชะตากรรมทำให้ต้องเผชิญหน้ากับกองกำลังผู้บุกรุกทำไร่เลื่อนลอยในพื้นที่ 62,500 ไร่ จาก 13 หมู่บ้าน ภูเขาสลับซับซ้อนของลุ่มน้ำจากป่าเบญจพรรณได้ถูกแผ้วถางทำไร่เลื่อนลอยเพื่อการปลูกพืชฤดูเดียว เช่น ข้าวโพด ฝ้าย ละหุ่ง และข้าวไร่หรือข้าวดอยหรือข้าวที่อาศัยเพียงน้ำฝนที่หล่นจากฟ้า เพราะที่ราบมีน้อยสมกับชื่ออำเภอนาน้อย ความจำเป็นในการดำรงชีวิตและครอบครัว กับความจำเป็นในการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ นี่คือคู่กัด ศัตรู

ของแจกส่งมาก่อนล่วงหน้า

            ลำพังสภาพป่าเบญจพรรณประเภทมีไม้สัก น้ำฝนที่หล่นจากฟ้าก็ไม่สามารถเก็บกักไว้ได้ตลอดฤดู น้ำจึงมีไหลในลำห้วยเพียงหน้าฝนหลั่ง และเมื่อป่าต้นน้ำถูกแผ้วถางทำไร่เลื่อนลอย ปริมาณน้ำที่ไหลเลยก็ยิ่งมากกว่าการอนุรักษ์ซึมซับโดยดิน แถมฝนตกกัดเซาะดินพังทลาย ทั้งตะกอนและสารพิษปนเปื้อนไหลสะสมลงสู่ลำห้วย ความจำเป็นต้องฟื้นฟูป่าขึ้นใหม่จึงสวนทางกับวิถีชีวิตของชุมชน

ถ่ายภาพกับญาติโยมที่มารอรับ

            “หัวหน้าครับ ถ้าพวกสจ.และชาวไร่ชนะ หน่วยปิด พวกเราก็ตกงาน จะทำไงครับ” คำถามที่เกาะกินใจของคนต้องรับผิดชอบ  ผมไม่ยอม คือคำตอบที่ปลอบใจได้แค่นั้น

เยี่ยมผู้ป่วยติดเตียง

การตัดสินใจสู้ด้วยหลักวิชาและการประสานสัมพันธ์


เดินเท้าเปล่าไปสำนักสงฆ์

         หลักวิชาการป่าไม้คือการปลูกป่าโดยอาศัยชาวไร่ เรียกว่า Toungya  plantation  หน่วยเปิดพื้นที่ปลูกป่าปรับปรุงต้นน้ำแปลงใดแปลงนั้นก็เปิดให้ชาวไร่เข้ามาร่วมปลูกพืชไร่อายุสั้นควบด้วย คนงานมีงานทำตามหลักวิชาการปลูกป่า และมีพื้นที่เหลือจากชาวไร่เลื่อนลอยก็แบ่งปันให้ปลูกพืชไร่นอกเวลาเป็นรายได้เสริมไปด้วย ดังนั้น ยิงนกโป้งเดียว ได้นก 3 ตัวคือ หน่วยปลูกป่าได้ต่อไป ชาวไร่เลื่อนลอยมีที่ทำกิน และคนงานพลอยได้ทำงานรับจ้างและทำงานเสริมได้

            ชาวสวนป่าเดินทางไปทอดผ้าป่าทีละหมู่บ้าน แล้วก็ชักชวนให้มาทำกินร่วมกัน หมู่บ้านแล้วหมู่บ้านเล่า ในขณะเดียวกัน คนงานคือชาวบ้านในแต่ละหมู่บ้านที่กระจายตัวมาหาเลี้ยงชีพด้วยการรับจ้าง เร่ร่อนไปตามงานที่จะมี อยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง ที่ทำกินไม่มีแน่นอน ซ้ำที่อยู่อาศัยเหมือนว่าจะซังกะตายอยู่ไปวันๆ ชีวิตแขวนอยู่บนเส้นด้าย หรือชะตากรรมทำให้ต้องหวั่นไหวไปกับงานเบื้องหน้าที่จะหาเลี้ยงชีพ

กองจัดการที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ กรมป่าไม้    

            ปีนั้น กองจัดการที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ อุบัติขึ้นจากแนวคิดและมันสมองของนายสมเพิ่ม กิตตินันท์ ด้วยหลักการ จัดระเบียบการอยู่อาศัยให้ครอบครัวละแปลง แบ่งที่ดินทำกินให้ครอบครัวละ 15 ไร่ มีบ้านให้พออยู่อาศัย มีโรงเรียนให้ลูกๆได้เรียน มีวัดให้เป็นที่พึ่งทางใจ มีหัวหน้าหมู่บ้านป่าไม้จัดการ มีแหล่งน้ำเป็นสาธารณูปโภค มีการส่งเสริมการเกษตร(ไม้ผลยืนต้นหรือยางพารา) มีการจัดแหล่งน้ำให้เป็นฟู๊ดแบงค์(ประมงปล่อยและเลี้ยงปลา) มีถนนหนทาง แต่ไม่มีกรรมสิทธิ์บนที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยที่ดิน แต่สืบทอดถึงบุตรธิดาได้ตลอดไป โดยมีงบประมาณจัดให้

            แต่ที่ห้วยสามสบ ไม่มีแผนงบประมาณดังกล่าว มีเพียงงบเพื่อการปลูกป่าปรับปรุงต้นน้ำแบบเหมาจ่ายและการบำรุงรักษาสวนเดิม เมื่อตัดสินใจทำการสร้างหมู่บ้านป่าไม้ จึงใช้วิธีเจียดจ่ายงบประมาณเท่าที่มีและหลักการ “เพื่อครอบครัวของใครของมัน” กลางคืนทุกคืนทุกคนไม่เว้นแม้เด็กและคนแก่ ต้องออกมาช่วยพัฒนาตั้งแต่เวลา 18.00-24.00 น.ทุกคืน ไม่มีวันหยุด หลายครอบครัวหนีจากไป แต่ส่วนใหญ่อยู่สู้เพื่อความหวัง จะมีที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินเพื่อครอบครัว เราทุ่มเททำทุกวินาทีเพื่อให้เป็นหมู่บ้านที่สมบูรณ์ ด้วยสองแขนและจอบคนละด้าม พร้าคนละเล่ม

มื้อค่ำวันมาถึง

            โชคช่วย ปลัดจังหวัดน่าน นายอำนวย น้อยเชื้อเวียง ผ่านมาตรวจราชการและขอเข้ามาเยี่ยม ได้เดินลงไปเห็นผลงานของสองแขนหนึ่งจอบ จึงได้ขอพักแรมคืนเพื่อสัมผัสจริง โดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้า พอเช้าตรู่ ท่านเรียกให้เดินตามท่านไป คุยกันไปพลางท่านก็ถามว่า มีงบประมาณเท่าไร ถ้าจะส่งเครื่องจักรกลหนักเข้ามาช่วยจาก รพช.จะมีเงินหาซื้อน้ำมันไหม ซึ่งหน่วยฯมีเพียงรถบรรทุกเก่าๆคันเดียว รถปิ๊กอัพเก่าก็ซื้อมาส่วนตัว จะลองหาดูครับคือคำตอบ

ชาวบ้านเตรียมธรรมาศเทศน์

            นั่นเองที่ทำให้ต้องไปขอเงินจากแม่(แม่เฮียะ เปาอินทร์)  และได้เนื้องานที่ดีกว่าจอบขุดดังที่เห็นทุกวันนี้ พร้อมขุดสระน้ำเพื่อเก็บกัก ต่อมาการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเรียกไปพบที่สำนักงานใหญ่ กทม.เทงบประมาณลงมาให้ชาวบ้านเกิดใหม่มีไฟฟ้าใช้ บุญหล่นทับสองครั้งติดกัน ยังไม่พอ ๆไปเล่าให้เจ๊ร้านค้าในน่านว่า มีเสาไฟฟ้ามาลงแต่ไม่มีเงินจะต่อไฟเข้าบ้านให้ชาวบ้านและโรงเรียน เลยได้รับความเมตตา “ข้าราชการอย่างคุณ เพิ่งเจอนี่แหละ เจ๊ให้แปะได้ทุกอย่าง ให้ชาวบ้านผ่อนเดือนละ 30 บาท”(เสียใจที่จำชื่อเจ๊ไม่ได้)   

ของแจกจากญาติโยม

ฝายดินถม สปินเวย์ และความหวังที่มืดมน

            5 ปีผ่านไปไวเหมือนโกหก เข็นครกขึ้นภูเขามาด้วยกัน รวม 1,825 วันและ 1,825คืน (ถือว่าเสร็จที่ที่พักสงฆ์) น้ำในสระเพียงหล่อเลี้ยงชุมชน เพิ่มศักยภาพทางการเกษตรไม่ได้ เชิญ รพช.มาช่วยวางแผน จึงได้จุดสร้างฝายน้ำล้นที่ข้างวัด จะได้ความจุ 500 ไร่ สันฝายจะสูง 16 เมตร แต่ต้องมีงบประมาณ 2.3 ล้านบาท ฝ่ายปรับปรุงต้นน้ำตอบว่าไม่มีงบ กองอนุรักษ์ต้นน้ำก็ยืนยันว่าไม่มีงบให้ พื้นที่ทำกินครอบครัวละ 15 ไร่ ต้องอาศัยน้ำฝนหล่นจากฟ้า ความหวังดับวูบ

            ปีพ.ศ.2551 มีโอกาสได้เดินทางไปกับคุณจำลอง บุญสอง บก.หน้าท่องเที่ยว นสพ.โพสท์ทูเดย์ และคุณภาวิณีย์ เจริญยิ่ง คอลัมนิสท์ นสพ.มติชน จึงได้กราบนมันสการ พระชายกลาง อภิญาโน ในงานบุญสร้างวัดที่แม่กลางหลวง แดนดินของพี่น้องปกาเกอะญอ ได้ชมไร่กาแฟอาราบิก้าและได้ลิ้มรสกาแฟอาราบิก้า จากกาน้ำร้อนที่ตั้งบนก้อนเส้า ดื่มจากกาที่ใส่กาแฟแล้วรินแต่น้ำดำๆไอพุ่งกระฉูด จากนั้นได้ติดตามท่านมายาวนาน หลังสุดเมื่อไปอำเภอท่าสองยาง จ.ตาก และข้ามไปชมงานทหารกะเหรี่ยง จนถึง กิจกรรมของมูลนิธิสหชาติ


18-19 ธันวาคม 2564 ที่เฝ้ารอ

            “โยมพี่  อาตมาและพวกจะเดินทางไปถึง 18 ธค.64 พักแรมที่โฮมสเตย์ 11 คน 1 องค์ อาหารและที่พักจะสนับสนุนกิจการโฮมสเตย์ของมูลนิธิสมเพิ่มกิตตินันท์ ด้วย กำหนดการคือ เยี่ยมคนป่วยติดเตียง  ไปทอดผ้าป่าสามัคคีร่วมกันที่ศาลาการเปรียญเชิงดอย  แล้วไปดูสถานที่ที่จะสร้าง”ฝายดินถม” ตอนค่ำหลังอาหารคือ เทศนาธรรมะแก่ญาติโยมและเด็กๆนักเรียนทุกคน สถานที่ รอบๆลานกองไฟ” แต่ก่อนที่คณะจะมาได้จัดส่งกล่องพัสดุมากมายมาให้ก่อน 

ค่ำคืนแห่งความงดงาม เทศธรรมรอบกองไฟครั้งแรก

            คืนนั้น พระจันทร์ส่งแสงนวลใยไปทั่วหุบเขา ญาติโยมในหมู่บ้านและเด็กๆนักเรียน มานั่งรอบลานกองไฟที่โฮมสเตย์  เป็นครั้งแรกที่จะได้มีการจุดกองไฟผิง เพื่อไล่ไอหนาวกลางเดือนธันวาคม แสงไฟจากกองฟืนสว่างโพลง เสริมแสงนวลๆของพระจันทร์ เสียงพระอาจารย์เทศเรียบๆแต่เล่นมุกเยอะ เสียงหัวเราะชื่นชอบดังเป็นระยะ  หลังการเทศนาธรรมแล้วมีการแจกของแก่เยาวชนและญาติโยมทุกคน มีถุงสวยๆแบบถุงสุ่ม ได้ตังส์กันไปหลายคน

            “โห๊ะ ม่วนขนาดเน้อจ้าว  หลวงพ่อเทศม่วน เทศสนุก  บ่อยากฮื้อเลิกเล้ย” บุญหลี วิชัยต๊ะ บ่นเบาๆ

            หลังเทศธรรม ถ่ายรูปหมู่ทั้งชาวบ้าน เยาวชน และญาติโยมผู้เมตตาร่วมกับพระอาจารย์ แต่ในภาพจะเห็นถุงของขวัญที่แต่ละคนได้รับ  ปริ่มเปรมด้วยความสุข

            “นี่เป็นการเทศธรรมรอบกองไฟครั้งแรกของอาตมาเลยนะ แปลกดีเหมือนกันนะ”

            ถ้าพระอาจารย์ได้กลับมาเยือนอีก ก็คงจะได้เทศน์ธรรมรอบกองไฟอีก  เว้นแต่ต้องมายามหนาวนะครับ

            ก่อนถึงวันนั้น ผมและเด็กนักเรียนทุน ช่วยกันขนผ้าห่ม หมอน จ้างซักตากแดดหอมกรุ่น  ล้างห้องสุขา กวาดถูพื้นบ้านสามหลัง  เพื่อคณะ 11 คน 1 องค์  และเมื่อคณะเดินทาง(ด้วยเครื่องบิน) ต่อรถยนต์จนถึงโฮมสเตย์   ก็ได้จัดลูกค้าเข้าพักแรมตามสั่ง  ความครึกครื้นเกิดขึ้น โฮมสเตย์ที่เพิ่งต้อนรับแขกกลุ่มแรกของปี วุ่นวายตามสมควร  แต่อย่างไรก็ตาม ที่วุ่นมากกว่าคือญาติโยมผู้มีเมตตาจิต ต้องจัดของเพื่อแจกชาวบ้านและเยาวชนในหุบเขา

            คนใจบุญนี่แม้ต้องทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำ แต่เพื่อแผ่บุญสร้างกุศลกลับทำด้วยความสุข ความสุขที่เห็นได้เมื่อทำไปยิ้มไป ทำไปสนุกสนานไป แม้บิดตัวแก้เมื่อยก็ยังยิ้มได้ อะไรจะแผ่ซ่านได้เท่างานบุญงานกุศลไม่มี 

            “ไปที่ไหน ก็เหนื่อยอย่างนี้แหละค่ะ แต่มันคือความสุขของพวกเราที่ได้มีโอกาสแผ่บุญแก่เพื่อนร่วมโลก”

            หลังเทศธรรมซาบซึ้งไปแล้วก็ถึงเวลาแผ่ทาน จกๆๆๆๆ แถมมีรายการกล่องสุ่ม มีเงินหลายบาทในกล่องพิเศษ เรียกเสียงและรอยยิ้มได้ทั่ว  คืนพระจันทร์แมนสว่างไสว และหัวใจญาติธรรมเบิกบาน 

            “พรุ่งนี้ ทอดผ้าป่าสามัคคีที่สำนักสงฆ์นะครับ  เตรียมหลับนอนพักผ่อนตามสบายครับ”

ผ้าป่าสามัคคี การเดินขึ้นเขาไปชมพื้นที่สร้างฝายดินถม

            พี่น้องผองคนบุญจากแดนไกล ขอเดินไปตามถนนกลางหมู่บ้าน มุ่งสู่ศาลาการเปรียญ เชิงเขา

            “เดิมมีเพียงกุฎีทรงไทยแฝดบนเขา เป็นทั้งที่พักสงฆ์และศาลาการเปรียญ  ต่อมาญาติโยมแก่ชรามากขึ้น

ทอดผ้าป่าสามัคคี

           “ย่างบ่ไหวละเน้อ เขามันสูง แล้วหมู่เฮาก็เฒ่าลงตึงวัน  สร้างศาลาการเปรียญเชิงเขาหื้อสักหลังเตอะเจ้า” และนั่นคือที่มาที่ต้องบอกบุญไปยังเสี่ยโกเมศ เปาอินทร์ ผู้เป็นญาติผู้น้อง และเฮียตั่ว กับพวกเตาปูน กทม. คณะผ้าป่าสามัคคีเดินทางมาปีละครั้ง 3 ปี ศาลาก็สร้างเสร็จ ใช้ทำบุญได้ดังประสงค์

ศาลาการเปรียญเชิงเขา

เดินขึ้นเขาไปชมศาลาทรงไทยแฝดและพื้นที่จะสร้างฝายดินถม

               จากศาลาการเปรียญเชิงเขา ทุกคนเดินตามพระอาจารย์ทั้งสององค์ ขึ้นไปตามทางลาดฝุ่นแดงๆ ไม่สูงมากแต่ก็เล่นเอายืนหอบ 

            “ระหว่างช่องเขาฝั่งโน้นกับฝั่งวัด ที่เรายืนกันนี่ เคยขอ รพช.จน่านมาทำการสำรวจและออกแบบสร้างฝายน้ำล้น ขนาดพื้นที่ 500 ไร่ สันฝายจะสูง 16 เมตร สันฝายจะกว้าง 60 เมตร พร้อมสปินเวย์ ตอนนั้น รพช.ประเมินไว้ 2.3 ล้านบาท(ปีพ.ศ.2525) แต่ผมไม่สามารถหางบประมาณมาได้ จึงสะดุดหยุดลงครับ”

สำนักสงค์หลังเดิมที่กำลังผุพัง

            “ถ้าสร้างฝายตรงนี้ จะกลายเป็นแหล่งน้ำขนาดนับ 100 ไร่ ปริมาณน้ำจากต้นน้ำห้วยสามสบลง ณ อ่างเก็บน้ำนี้ จะทำให้ได้ปริมาณน้ำ ความชุ่มชื้นแก่เรือกสวนรอบๆแหล่งน้ำ จะเป็นแหล่งโปรตีนจากการปล่อยปลาและพืชสัตว์น้ำอื่นๆ ชุมชนจะมีน้ำใช้ได้ตลอดไป ที่ดินทำกินรอบๆอ่างเก็บน้ำจะได้ประโยชน์สูงสุด”

            “ประเมินได้ไหม สักเท่าไร จึงจะทำได้สำเร็จ” พระอาจารย์ชายกลางถามขึ้น

            “นมัสการครับ  ถ้ายกสันฝายสูงเพียง 8 เมตร  สันฝายกว้าง 50-60 เมตร จะใช้งบประมาณเพื่อทำฝายดินถม 1.5 ล้านบาท ก็น่าจะสร้างได้ แต่อาจต้องลดระดับความสูงของสันฝายลงครับ”

            “ช่างหยี่ หน.ช่างของเทศบาลตำบลศรีสะเกษ เคยทำงานกับเราและเป็นช่างสร้างศาลาทรงไทยหลังนี้  จะออกแบบและประเมินรายละเอียดให้อีกครั้งครับ”  

ช่างหยี่ นายช่างอบต.และคณะ

            “การลงมือปฏิบัติ คงต้องพึ่งอำนาจหน้าที่ของหัวหน้าหน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำห้วยสามสบ หัวหน้า สมพล จินดาคำ  ดำเนินการก่อสร้างตามมาตรา 19  หน่วยงานขอทำเองในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ  ส่วนท่านจะลงมือสร้างเองหรือร่วมกับช่างหยี่ ก็คงเป็นหน้าที่ของท่าน  ผมจะอยู่ดูไปด้วยครับ”

            “โอเค  ญาติโยมได้เห็นนะครับ ถ้ามีอ่างเก็บกักน้ำตรงนี้ ห้วยสามสบเหนือวัด จะทำให้หมู่บ้านนี้มั่นคงและมั่งคั่ง อยู่เย็นเป็นสุขกันชั่วกัปชั่วกัลป์ ขอแบบไปแนบเรื่องบอกบุญด้วยนะครับ” พระอาจารย์ชายกลาง ย้ำ

เสียงพร่ำที่คร่ำครวญหามาแสนนาน

            “ลุงธง เมื่อใดหน้อ ฝายน้ำล้นเหนือวัดจะสร้างสักเตื้อ”

            “ลุงธง ถ้าได้ฝายน้ำล้น บ้านเฮาจะได้เลี้ยงปลาในกระชังไหมเนี่ย”

            “ลุงธง ถ้ามีอ่างเก็บน้ำเหนือวัด บ้านเฮาจะมีปลาขายที่ตลาดหน้าหมู่บ้านของเราแน่ๆ”

            “แล้วลุงธงจะห้ามตกปลาเกาะนี่  โหย ม่วนใจ๋ขนาด เปิดบ่อตกปลา”

ผู้ร่วมทางบุญ

            “หอยขมคงมีหลาย ตั้งจำยกยอกุ้งฝอยได้ทุกวันละนะ”

            “จากปี 2525 มาถึงปีนี้ 2564 แค่ 39 ปีเอง  รอได้น่า อย่างฟั้งตายเหียก่อนละกั๋น”

ปลูกต้นมะพร้าวไว้เป็นที่ระลึก

            “พระมาโปรดแล้ว หายห่วง ช้าแต่ได้แน่ สาธุๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ”

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view