http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม14,009,703
Page Views16,318,874
« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

ย่ำทรายในสายหมอก ตอน2.เมืองเล็กในป่าใหญ่ โดยเอื้อยนาง เรื่อง-ภาพ

ย่ำทรายในสายหมอก ตอน2.เมืองเล็กในป่าใหญ่  โดยเอื้อยนาง เรื่อง-ภาพ

ย่ำทรายในสายหมอก ดูดอกไม้ในทัสเมเนีย
ตอน๒. เมืองเล็กในป่าใหญ่
St.. Helens.
"เอื้อยนาง"


ใยเข็มที่รัก


         
เมื่อเช้ามีพ่อใหญ่คนหนึ่ง ชื่อพ่อใหญ่ เจมส์    เอาฟักทองมาฝากหนึ่งลูก   แกบอกว่าแกปลูกด้วยมือแกเองที่ริมรั้วหลังบ้าน  เห็นแล้วนึกถึงรถม้าที่เสกจากฟักทองในนิทานเรื่องนางซินหรือซินเดอเรลล่าขึ้นมาทันที  เพราะฟักทองลูกนี้ถ้านำไปทำเป็นรถของเล่นให้เด็กๆ นั่งจริงๆ ก็น่าจะได้เลยแหละ

            มันใหญ่โตปานนั้นจริงๆนะใยเข็ม   ลูกเดียวคงกินได้เป็นปีเลยแหละสำหรับคนกินน้อยอย่างข้อยน่ะ   ขอบคุณพ่อใหญ่เจมส์   แล้วข้อยก็ลากเข้าไปในครัวแทบไม่ไหว

            พูดไปทำไมมีเรื่องผลฟักทอง เพราะพืชผลอื่นๆ ต้นผักต้นหญ้าในทัสมาเนียล้วนใหญ่โตผิดหูผิดตาทั้งนั้น  ดูดอกยูคาลิปตัสเหลืองอร่ามในรูปนั่นซีแป็นตัวอย่าง


                      

            เซนต์เฮเลนส์เป็นเมืองเล็ก ๆ ประชากรคงมีประมาณเท่า ๆ ตำบลหนึ่งของบ้านเราเท่านั้น  ด้านทิศเหนือติดชายทะเล  ด้านอื่น ๆ ล้วนเป็นป่าล้อมรอบ  ในวันที่อากาศไม่หนาวเย็นเกินไปที่สวนหลังบ้านจะมีฝูงนกแก้ว  นกกระตั้วสีแปลก ๆ มาเยือนส่งเสียงลั่นราวกับมีงานมหกรรม ตามริมบึง  ริมทะเลจะมีหงส์สีดำลอยนิ่งราวกับมันนอนหลับ

            นี่ถ้าหากเป็นแถบบ้านเรา  คงได้ขึ้นป้ายร้านอาหารแถวชายหาดกันให้พรึด  ทั้ง ร้านลาบหงส์ดำ  ก้อยนกนางนวล  ต้มยำนกแก้ว  ปิ้งไก่ป่า   พร่าจิงโจ้เจ้าเก่า” ….และอื่น ๆ อีกมากมาย  โอ๊ยนึกแล้วน่าสนุก  คงไม่ปล่อยให้นก  ให้หงส์  ให้ห่านป่าทั้งหลายเหล่านี้มาบินร่อนเฉิดฉายท้าทายอยู่เต็มบ้านเต็มเมืองอยู่นี้หรอกน่า

            เล่ามาแค่นี้  เจ้าคงนึกภาพบ้านเมืองที่ข้อยระเห็จระเหินมาเพลิดเพลินอยู่นี่ออกแล้วนะว่า  เป็นบ้านป่าผาดอน  เป็นเมืองเล็กในป่าใหญ่ก็ว่าได้นะ  เมืองที่ใกล้ชิดป่าพงดงกว้าง  ก็ว่าได้นะใยเข็ม

                                     


           
เขาว่า….  แม้จะเป็นหนึ่งในอาณานิคมของอังกฤษ  แต่ออสเตรเลียนั้นแตกต่างจากอาณานิคมอื่นๆ ด้วยในยุคบุกเปิดเริ่มแรกของการตั้งหลักปักฐานสร้างบ้านแปลงเมือง    ผู้อพยพทั้งหลายส่วนใหญ่ไม่ได้เคลื่อนย้ายมาด้วยเหตุผลทางการเมือง  หรือเพื่อไปสู่อาณานิคมอื่น   แต่เคลื่อนมาเพื่อแสวงหาชีวิตใหม่ในทุ่งหญ้าที่เขียวกว่า  พวกเขาเริ่มชีวิตในแบบชนบททำฟาร์มปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์   พื้นราบกว้างใหญ่   ลาดเอียงเป็นเนินสูงต่ำสำหรับเปิดให้เป็นทุ่งหญ้าเป็นหัวใจของนักบุกเบิก ซึ่งท้าทายให้เกิด
ความอุตสาหะวิริยะ  อาศัยสมองและสองมือเป็นสิ่งนำทาง อันเป็นเมนใหญ่ในการกำหนดแบบแผนของชีวิตและสังคม   จนกลายมาเป็นออสเตรเลียนี่  ปัจจุบันกว่าครึ่งโลกที่ผลผลิตจากฟาร์มของออสเตรเลียส่งออกไป  ทั้งผลผลิตจากพืชและสัตว์  ในฤดูเก็บเกี่ยวนั้นทุ่งข้าวสาลีจะเป็นสีทองจรดขอบฟ้า    เช่นเดียวกับทุ่งดอกไม้หลากสีอันเป็นแหล่งผลิตน้ำผึ้ง

                                    

           
พื้นที่ของออสเตรเลียนั้นกว้างใหญ่ไพศาล  ผู้คนกระจัดกระจายอยู่ตามเมืองเล็กเมืองน้อย แถบชนบทประเภทเมืองน้อยในทุ่งกว้าง  เมืองเล็กในป่าใหญ่  บ้านจิ๋วริมทะเล  อะไรทำนองนั้นน่ะมีมากกว่า

            เซนต์เฮเลนส์ก็เป็นเมืองหนึ่งที่มีประวัติการบุกเบิกคล้ายๆ กันก่อนหน้านั้นมีชนพื้นเมืองกลุ่มที่คนขาวเรียกว่าเผ่าจอร์จเบย์อะบอริจิน อาศัยตั้งแคมป์อยู่ริมอ่าวทำการจับปลาล่าสัตว์ป่ากินเป็นอาหาร  แต่ปัจจุบันก็มีแต่เงาร่างๆของพวกเขาเท่านั้นที่เหลือในความทรงจำของผู้คน  เหมือนรูปถ่ายที่ข้อยถ่ายจากกำแพงริมถนนมาให้เจ้าดูด้วย  นี้เป็นภาพเขียนแสดงการวิวัฒน์ของเซนต์เฮเลนส์จากยุคบุกเบกที่ใช้ม้าลากไถ  ต่อมาถึงมีการทำเมืองจนมีรถ มีถนนและผู้คนมากมายขึ้น  คนขาวกลุ่มแรกที่เข้ามาถึงบริเวณนี้เป็นพวกล่าแมวน้ำและปลาวาฬ  มีนักล่าปลาวาฬคนหนึ่งชื่อ William  Dutton  เล่าว่าเขาจับปลาวาฬได้ในบริเวณใกล้ๆอ่าวแห่งนี้  คราวเดียวได้ปลาวาฬถึง 100 ตัว  ปัจจุบันบริเวณท่าเรือใกล้สะพานเซนต์เฮเลนส์ ยังเป็นท่าเรือที่คลาคล่ำไปด้วยเรือประมง

และเรือขนส่ง  ผู้นิยมเกมการตกปลาก็มีเรือตกปลาไว้บริการคิดเป็นชั่วโมง นับเป็นกีฬาที่มีชื่อเสียงมากสำหรับเซนต์เฮเลนส์ในปัจจุบันและในยามเทศกาลแข่งเรือ  จะมีเรือใบหลากสีจอดเรียงรายท่ามกลางฟ้าสีคราม และน้ำทะเลสีเขียว 


                             

           
ผู้ที่เข้ามาเปิดป่าทำฟาร์มปลูกบ้านพักอาศัยคนแรกของเซนต์เฮเลนส์นั้นชื่อ  E.P.Butler  เขาได้รับสิทธิ์จับจองถากถางในเนื้อที่  564  เอเคอร์เมื่อ ค.1830  เป็นบริเวณที่ราบลุ่มปากแม่น้ำจอร์จ   อันเป็นบริเวณที่เป็นวอเตอร์ฟรอน(Water  Front)ใกล้สะพานเซนต์เฮเลนส์   ครอบคลุมไปถึงเขตชอปปิ้งในปัจจุบัน  และในปีต่อๆมา  จึงมีผู้อพยพเข้ามามากขึ้นและพากันบุกเบิกทำฟาร์มลึกเข้าไปตามลุ่มแม่น้ำจอร์จและสาขา  การสร้างบ้านเรือนในยุคแรกๆนั้น คือการโค่นต้นไม้ใหญ่ลงมาทำ  บ้านเรือนในยุคแรกๆจึงเป็นบ้านไม้ หลายหลังยังคงอยู่มาถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะบริเวณถนน  CECILIA  ซึ่งเป็นบริเวณที่ตั้งโบสถ์ของเซนต์เฮเลนส์  ทั้งโบสถ์  Catholic  Church  และ Church  of  England  หรือ  Aglican  Church. 


                           

                       
ก็เหมือนกับบรรพบุรุษของเราชาวอุบลราชธานี  ตอนลูกหลานพระวอพระตาอพยพมาจากเวียงจันทน์สู่จำปาศักดิ์  และจากจำปาศักดิ์มาตั้งหลักที่ดงอู่ผึ้ง(บริเวณเมืองอุบลฯปัจจุบัน) ปลูกบ้านอยู่อาศัยทำมาหากินมั่นคงแล้ว ก็พากันสร้างวัดให้เป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชน  ในวันเวลาแห่งการบุกเบิกในทัสมาเนีย  บ้านอยู่อาศัยคือสิ่งก่อสร้างอย่างแรกที่ต้องทำอย่างรวดเร็วเท่าที่สามารถทำได้  สิ่งต่อมาก็คือโบสถ์เพื่อเป็นศูนย์กลางจิตใจของชุมชน  ซึ่งในช่วงนั้นส่วนมากกระจัดกระจายอยู่ตามฟาร์มห่างไกลกันหลายๆไมล์  สถานที่เดียวที่ทำให้ได้พบเพื่อนบ้านเพื่อพบปะสังสรรค์     แบ่งปันความสุขทุกข์อันเกิดมีขึ้นในชีวิต

   
                          

                    
โดยเฉพาะในช่วงนั้น  ป่าพงดงหนาที่ล้อมรอบยังเต็มไปด้วยสัตว์ร้ายนานา  ที่คอยทำร้ายผู้คน  พืชผล  และสัตว์เลี้ยง  สมาชิกทุกคนในครอบครัวต้องช่วยกันทำงานตัวเป็นเกลียว    มีเหมือนกันที่ล่าถอยกลับไป  เช่น ในปี ค.. 1836  J.H.Wedge  ได้รับอนุญาตให้บุกเบิกในเนื้อที่  640  เอเคอร์  และต่มาเขาขออนุญาติเพิ่มอีก 1,000  เอเคอร์  เพื่อเลี้ยงแกะ และไปบรรทุกแกะมาจาก  Humbug  แต่ปรากฏว่าเสือกินแกะของเขาเกือบหมด ทำให้หมดกำลังใจกลับไปทำงานที่โฮบาร์ต ตามเดิม

                        แต่หลายครอบครัวก็ยังอยู่ต่อสู้กับอุปสรรคซึ่งมีอยู่มากมายอย่างอดทน  และขยันขันแข็ง  พื้นแผ่นดินอันอุดมสมบูรณ์คือความหวังให้ต่อสู้ฝ่าฟัน  ทำการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์อย่างไม่ย่อท้อ    พืชที่ปลูกก็มีมันฝรั่ง  ข้าวโพด  ข้าวสาลีเป็นพื้น   ส่วนสัตว์ที่เลี้ยงได้ดีโตเร็วเหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศที่นี้ที่สุด คือ  แกะและวัว  ส่วนม้านั้นเลี้ยงไว้ใช้งานทั้งลากไถ  และใช้บรรทุกของขับขี่เดินทาง  เมื่อพืชผลในฟาร์มงอกเงยเก็บเกี่ยวแล้วก็ต้องนำไปขายแลกเปลี่ยนสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตใช่ไหมละใยเข็ม  ดังนั้นม้าจึงเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เรือนเลยก็ว่าได้  ยิ่งพวกที่อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดินใหญ่มาก ๆ ก็ยิ่งต้องขนผลิตผลออกมาเป็นระยะทางไกลกว่าจะถึงท่าเรือ  สัตว์พาหนะก็ยิ่งจำเป็นขึ้นไปอีกหลายเท่าเจ้าว่าไหม

                       
ต่อมาในปี ค.. 1784  มีการขุดพบแร่ดีบุกในบริเวณ  Ruby  Frat  ใกล้เซนต์-เฮเลนส์  เหตุการณ์นี้เองเปลี่ยนวิถีชีวิตของชาวบ้านที่นี่ราวกับพลิกฝ่ามือ  นักขุดแร่จำนวนมากเดินทางมาขุดหาสายแร่  เงินจากทุกมุมโลกนำมาลงทุนที่นี่  และนักขุด  นักลงทุนเหล่านี้ก็ต้องการอาหาร  ที่พักอาศัย  ทั้งอาหารให้ตัวเอง  และอาหารสำหรับม้าของเขาที่ขี่มา  พืชผลในฟาร์มของชาวบ้านจึงขายดิบขายดี  ตลาดร้านค้าเกิดขึ้นมากมาย  โรงแรมตามมา  ชุมชนเติบโตเป็นเมือง

                        ปัจจุบันแม้เหมืองดีบุกจะปิดไปแล้ว  แต่เซนต์เฮเลนส์ก็กลายเป็นศูนย์กลางของเมืองแถบตะวันออกเฉียงเหนือของทัสมาเนีย   แต่หาดทรายยังทอดยาวขาวสะอาด ป่ายังรกเรื้อเขียวล้อมรอบเมืองให้เป็นเมืองเล็กในป่าใหญ่

                        ขอบคุณสำหรับซีดีเพลงที่ส่งไปให้  ฟังแล้วคิดถึงบ้านมากรู้ไหม

 

 รักเจ้าหลาย

   จาก ข้อยเอง

 เอื้อยนาง

 

 

 

 

 

 

 

 

Tags : OUYNANG

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view